เงาสะท้อนในมีด, เด็กไทยต่อคิวซื้อ iPhone 8 : เรื่องสะท้อนว่าเรารู้จัก cyberbully กันแค่ไหน

ถ้านับข่าวเด่นในช่วงสัปดาห์ก่อน กรณีข่าวของคุณแอฟ-ทักษอร กับคุณสงกรานต์ เตชะณรงค์ คงเป็นหนึ่งในข่าวที่หลายคนให้ความสนใจกันอย่างมาก
และดูเหมือนจะมาจุดพลุเปรี้ยงปร้างเอาตอนปะติดปะต่อว่าต้นเหตุเกิดจากมือที่สาม โดยอิงจากเงาสะท้อนในมีดจากภาพหนึ่งของคุณกวาง-อรการ
จิวะเกียรติ โดยเริ่มต้นจากเพจหนึ่งต่อเนื่องกลายเป็นข่าวที่เหมือนไฟลามทุ่ง ข้อความถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็วประสาโลกดิจิทัล

เราคงทราบกันดีในวันนี้ว่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้มีมูลความจริงอะไรเลย (และเอาจริงๆ
ผมเองก็ยังงงว่าดูออกได้ยังไงว่าเงานั้นเป็นใคร) แต่ที่หลายคนคงจะรู้สึกแย่คือการที่คนจำนวนมากเข้าไปถล่มคอมเมนต์ในอินสตาแกรมของคุณกวางด้วยคำพูดแย่ๆ
ต่างๆ นานา ชนิดที่อ่านแล้วสุขภาพจิตเสียกันได้ง่ายๆ

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากการสรุปข้อมูลแบบจับแพะชนแกะ (แบบมึนๆ)
โดยที่ยังไม่มีหลักฐานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยแม้แต่น้อย

คำถามคือ ทำไมคนจำนวนมากถึงเข้าไปคอมเมนต์ถล่มกันอย่างเมามันได้?

และที่สำคัญคือ ทำไมคนจำนวนมากถึงไม่ได้รู้สึกว่ามันผิดอะไรเลย?

มองกลับมาอีกเคสหนึ่งไม่กี่วันก่อนนี้ที่เด็กไทยไปต่อคิวซื้อ
iPhone
8 คนแรกที่สิงคโปร์แล้วก็มีสำนักข่าวทำข่าวจากกระแส จากนั้นมีคนจำนวนมากเข้าไปวิจารณ์เชิงลบกันอย่างหนักหน่วง
ทำนองว่าคิดอะไรอยู่ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม รวยเหรอ ฯลฯ

อ่านคอมเมนต์เหล่านี้แล้วสงสัยว่าจะไปอะไรกับการที่คนคนหนึ่งเขาไปซื้อของที่เขาชอบ และทำไมต้องพูดจาเชิงดูหมิ่นว่าร้ายกันขนาดนั้น?

ผมเชื่อว่าสองเรื่องดังกล่าวไม่ใช่กรณีแรกๆ
ที่เกิดขึ้นกับโลกออนไลน์ของไทย และแน่นอนว่าก็คงไม่ใช่กรณีสุดท้ายเช่นกัน แต่บางทีเราอาจจะต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้ว่าเรามี
‘วิจารณญาณ’ กับ ‘อิสระเสรี’
ที่มากับโลกออนไลน์นี้ดีแค่ไหน เพราะกลายเป็นว่าคนจำนวนมากตื่นไปกับเสรีภาพประเภทว่าฉันจะพูดอะไรก็ได้
จะวิจารณ์อะไรก็ได้ เพราะนี่คือพื้นที่เสรี โดยไม่ได้มองเลยว่าสิ่งที่พิมพ์ลงไปนั้นทำร้ายคนอื่นหรือไม่

ผมคงไม่ต้องบอกว่าครอบครัวและตัวคุณกวางต้องเจออะไรบ้าง
ต้องรองรับกับอารมณ์ขนาดไหน บอบช้ำเท่าไหร่ในช่วงมรสุมนี้ และต้องเยียวยาขนาดไหนกว่าจะกลับมาได้

คำถามต่อมาก็คือคนที่เข้าไปคอมเมนต์มากมายเหล่านั้นเคยออกมา
‘ขอโทษ’ กันไหม?

เรื่องของการใช้พื้นที่ออนไลน์ที่มีเสรีภาพในการแสดงออก
แต่นำไปใช้ในทางที่ผิดจนทำร้ายคนอื่นนั้นไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดขึ้นในไทย แต่ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโลกและนับวันยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ
ตั้งแต่เด็กวัยรุ่นจนถึงคนธรรมดาที่ถูกนำไปหยอกล้อ พูดจาเสียดสีถากทางจนอับอายเจ็บปวด ไปจนถึงเป็นโรคซึมเศร้ากันนักต่อนัก
บางคนโดนเอารูปถ่ายไปประจาน บ้างก็เอาไปทำมีมกันให้สนุก และคนจำนวนมาก็เฮโลกดไลก์กดแชร์กันเพราะมันสนุกและน่าขบขัน
โดยหารู้ไม่ว่าคนที่เป็นเจ้าตัวนั้นกำลังทรมานขนาดไหน

อันที่จริง ถ้าเรามองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าเราทุกคนอยู่ใกล้กับการ cyberbully
อย่างคาดไม่ถึง ดีไม่ดีเราเองก็อาจจะทำหรือเป็นส่วนหนึ่งของ cyberbully
ด้วย เช่น การกดไลก์ กดแชร์ แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำจนเคยตัว เราเลยคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ
ก็ทำกันและก็คงไม่ได้ผิดอะไร

แต่นั่นหมายความว่าเราทำให้การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องปกติอย่างนั้นหรือ?

และนั่นคือสาเหตุให้ทุกวันนี้มีการรณรงค์เรื่อง cyberbully
จากทั่วโลก ทำแคมเปญกันอย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นให้คนปัจจุบันที่นับวันจะเตลิดไปกับโลกออนไลน์ได้กลับมาตระหนักเรื่องนี้กัน
เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะเจอการทำร้ายกันด้วยคำพูดผ่านสเตตัสที่โพสต์ไปแล้วกลายเป็นตราบาปให้กับคนคนหนึ่ง เพื่อแลกมากับยอดไลก์ยอดแชร์และคนจำนวนไม่น้อยก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ

นี่คือสังคมที่เราอยากให้ลูกหลานของเราอยู่ต่อไปในอนาคตหรือ?

AUTHOR