รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก รู้จัก ‘Fake News’ ข่าวปลอมออนไลน์ที่เราชักเจอจริงบ่อยขึ้นทุกวัน

คำว่า Fake news หรือ ‘ข่าวปลอม’ กลายเป็นคำที่เจอบ่อยขึ้นทุกวัน ส่วนหนึ่งเพราะในอินเทอร์เน็ตมีข่าวลวงมากขึ้นจริง แต่อีกด้านหนึ่ง คำนี้เริ่มถูกใช้กันจนเฝือ เมื่อไม่เห็นด้วยในเนื้อหาก็กล่าวหาว่าเป็น Fake news!

เรื่องข่าวปลอมกลายเป็นประเด็นขึ้นมาจากการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ข่าวปลอมแพร่สะพัดหนักในโค้งสุดท้ายปลายปี 2016 ไม่ว่าจะออกมาในเชิงยกหางผู้เข้าชิงคนใด ดูเหมือนว่าข่าวทำนองเชียร์โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ต้านฮิลลารี คลินตัน จะเป็นที่นิยมกว่า บ้างเชื่อถึงขั้นว่าข่าวปลอมเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

แม้การเลือกตั้งจะจบไปแล้ว แต่ความวุ่นวายเกี่ยวกับข่าวปลอมยังไม่จบและอาจจะเข้มข้นขึ้นอีก ล่าสุด ทรัมป์ออกมาแถลงข่าวด่าแรงใส่สถานีข่าว CNN และเว็บไซต์ BuzzFeed ว่าเป็นแค่กองขยะ หลังทั้งสองสำนักข่าวเผยแพร่บันทึกของอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของอังกฤษ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับรัสเซีย แถมยังมีรายละเอียดว่ารัสเซียแฮกข้อมูลของสหรัฐฯ และเข้ามาปั่นผลการเลือกตั้งจนทรัมป์ได้ชัยชนะ

แม้เรื่องนี้ยังยืนยันข้อมูลไม่ได้ แต่ CNN ก็รายงานข่าวเกี่ยวกับตัวบันทึก ขณะที่ BuzzFeed ลงเนื้อหาฉบับเต็มความยาว 35 หน้า ส่วนสื่ออื่นๆ ก็รายงานเหมือนกัน แต่รายงานว่า ทั้งสองสำนักข่าวเสนอข่าวเหล่านี้อีกที!

ยังไงคือปลอม: พูดมั่ว เขียนใส่ไข่ หรือตีความไม่ถูกใจ

เถียงกันมากเข้า คำว่า ‘ข่าวปลอม’ ก็กลายเป็นคำที่ถูกใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น ทั้งข่าวปลอมแบบออร์แกนิก คือ เป็นข่าวปลอมที่คนเขียนตั้งใจให้เชื่อแบบผิดๆ บ้างก็เป็นข่าวปลอมเพราะคนพูดขี้โม้แล้วดันเป็นข่าว บ้างก็เป็นข่าวปลอมแบบที่คนเขียนไม่คิดอยู่แล้วว่าคนอ่านจะเชื่อแต่หวังยอดแชร์ บางข่าวถูกมองว่าเป็นข่าวปลอมเพราะมาจากการมองต่างมุมทำให้ตีความคนละแบบ ขณะที่บางส่วนเป็นข่าว (จริง) ที่พูดถึงข้อมูลที่อาจจะไม่เป็นจริง

นักข่าว BuzzFeed ไปรวบรวมสถิติเกี่ยวกับข่าวปลอมภาษาอังกฤษที่อยู่ในเฟซบุ๊กตลอดปี 2016 พบว่าเรื่องยอดนิยมก็คือเรื่องการเมืองสหรัฐฯ นั่นเอง! จากข่าวลวงยอดนิยม 50 ชิ้น เป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ ไปแล้ว 23 ชิ้น ถ้านับยอดการแชร์ การคอมเมนต์ หรือการกดปุ่มความรู้สึกที่มีต่อข่าวปลอมทั้งหมดรวม 21.5 ล้านครั้ง เป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ ไปถึง 10.6 ล้านครั้ง

เมื่อไปดูว่า แล้วเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องยอดนิยมสูงสุด โดยคัดเฉพาะข่าวปลอมแบบออร์แกนิก (ไม่ใช่รายงานผิดหรือไม่ใช่การตีความจากมุมมองที่เข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) ก็พบว่า สามอันดับแรกได้แก่เรื่อง ‘โอบามาลงนามให้ยกเลิกการกล่าวปฏิญาณตนในโรงเรียนทั่วประเทศ’ (แชร์ คอมเมนต์ และกดความรู้สึก รวม 2,177,000 ครั้ง) รองมาคือข่าว ‘โป๊ปฟรานซิสช็อกโลก ออกแถลงการณ์หนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นประธานาธิบดี’ (961,000 ครั้ง) และอันดับสามคือข่าว ‘ทรัมป์เสนอตั๋วฟรีขาเดียว บินกลับแอฟริกาและเม็กซิโก’ (802,000 ครั้ง)

แต่จากข้อมูลนี้ BuzzFeed ก็มีหมายเหตุเอาไว้เช่นกันว่า มันบอกไม่ได้หรอกนะ ว่าเวลาคนกดแชร์หรือกดปุ่มปฏิกิริยาต่อเรื่องราวข่าวปลอมเหล่านี้ จะเท่ากับว่าพวกเขาเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง

ถัดจากเรื่องการเมืองสหรัฐฯ หมวดหมู่ข่าวปลอมยอดนิยมลำดับถัดมาก็คือข่าวอาชญากรรมปลอมที่มีเนื้อหาเพี้ยนๆ แบบสุดกู่ เรื่องยอดนิยมสามอันดับแรก คือ ‘จับแล้ว! หญิงสาวปลดทุกข์กลางโต๊ะบอสหลังถูกลอตเตอรี่’ ‘กระป๋องขนมชินนามอนโรลระเบิดในตัวโจรขณะปล้นซูเปอร์มาร์เก็ต’ และ ‘หนุ่มฟลอริดาดับคาห้องแล็บ หลังตดจนก่อประกายไฟระเบิด’

Dave Weasel นักแสดงตลกซึ่งเป็นคนที่เขียนข่าวทั้งเรื่องปลดทุกข์กลางโต๊ะบอสและเรื่องตดในห้องแล็บ ให้สัมภาษณ์กับ BuzzFeed ว่า ความตั้งใจแรกที่ทำเว็บไซต์ข่าวปลอมเพราะจะทำเว็บเสียดสีแนวเว็บไซต์ The Onion พอเริ่มต้นด้วยข่าวปลอม ปรากฏว่างานชิ้นนั้นกลายเป็นไวรัล หลังจากนั้นเขาก็เขียนข่าวปลอมผสมลีลาเสียดสีเข้าไป เขาเดาว่าคนหนึ่งในสามที่อ่านเชื่อว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง และคนส่วนใหญ่กดแชร์โดยไม่ได้คลิกลิงก์ จนเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองที่เพจของเขาถูกเฟซบุ๊กปิดไป เขาก็โวยผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เรื่องเสียดสีกับเรื่องปลอมมันไม่เหมือนกัน จะมาโทษเขาที่ทำให้คนอ่านดันเชื่อเรื่องที่เขาเขียนไม่ได้

ความปลอมไม่ได้เปลี่ยนความคิดคน แต่คนต่างหากที่วิ่งเข้าหาข่าวปลอม

ในงานวิจัยที่นักเศรษฐศาสตร์สองคน Hunt Allcott จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ Matthew Gentzkow จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ลองทำขึ้นโดยตั้งโจทย์ท้าทายความเชื่อที่ว่า จริงไหมที่ข่าวปลอมเป็นอิทธิพลหลักต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเตรียมข่าวสามประเภทไปถามความเห็นจากผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ข่าวสามประเภทนั้น ได้แก่ ข่าวจริงๆ ข่าวปลอม และข่าวปลอมของเก๊ที่ทีมวิจัยเขียนขึ้นมาเอง!

ผลออกมาฟังดูน่ายินดี เพราะพบว่าคนจำนวนมากเชื่อในข่าวจริงมากกว่าข่าวปลอม มีคนแค่เล็กน้อยไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อในข่าวปลอมและข่าวปลอมของเก๊ ซึ่งข้อสรุปหนึ่งออกมาว่า ข่าวปลอมมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยต่อทัศนคติของคน ทว่าที่น่ากังวลในระยะยาวคือ คนมีแนวโน้มจะโหยหาข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับอคติของตัวเอง ซึ่งโลกดิจิทัลมีข้อมูลมากมายให้ใช้เติมเต็มความเชื่อเดิมๆ และให้เสพได้จนสบายใจ

อีกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมคือ เรื่องพวกนี้มีมาก่อนยุคอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ยุคนี้ข่าวสารแพร่กระจายได้เร็วกว่ามาก แม้เว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊กและกูเกิลประกาศจะสู้กับข่าวปลอม แต่นั่นคงไม่พอ เพราะการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียมาพร้อมกับการทลายประตูกลั่นกรองข่าวสารที่ปกติสื่อมวลชนจะทำหน้าที่เหล่านั้นอยู่ พลังโซเชียลพ่วงด้วยจิตวิทยาที่กระตุ้นให้กดไลก์ กดแชร์ มาพร้อมกับโลกที่ใครๆ ก็แชร์ข่าวได้โดยไม่ค่อยจะคลิกอ่าน และตราบใดที่เว็บและบริษัทโฆษณาต่างๆ ยังมีแรงจูงใจและตัวชี้วัดจากยอดวิว ยอดไลก์ ยอดแชร์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดีที่ทำให้เว็บข่าวปลอมขจรขจาย

แต่ต้องไม่ลืมว่า จำนวนแชร์และยอดไลก์ไม่ใช่สิ่งชี้วัดว่าคนจะเชื่อหรือคิดตามเรื่องนั้นๆ หากมองแง่ดี เว็บไซต์ข่าวปลอมเป็นเว็บไซต์ที่คิดคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงความสนใจจากคนอ่านได้ โดยสรรหาลีลาการเล่าเรื่องในแบบต่างๆ ดังเช่นยุคหนึ่งที่มีเว็บ click bait ออกมาจำนวนมาก ซึ่งเน้นแต่จะเขียนพาดหัวยั่วให้คลิก แต่เนื้อในโหรงเหรง

คนอ่านไม่ใช่ท่อนไม้ที่จะไม่เรียนรู้ เพราะเมื่อถูกหลอกสักพักก็ย่อมเกิดอาการเจ็บแล้วจำ ไม่ยอมตกหลุมพลางเดิมๆ อีกต่อไป ซึ่งนั่นแปลว่าเว็บไซต์เหล่านี้ก็ต้องสรรหามุกใหม่มาบริหารใจคนอ่านให้ได้เรื่อยๆ

คุณูปการที่ได้จากเว็บขี้โกงพวกนี้ คือมันสร้างโครงสร้างภาษาและการเล่าเรื่องที่ต่างไป สิ่งที่น่าสนใจคือ เว็บ click bate บางเว็บก็ปรับตัว ทำให้ตัวเองเป็นเว็บที่ไม่ได้เซ็กซี่เฉพาะพาดหัว แต่ทำเนื้อในให้ดีไปเลย ตัวอย่างการสร้างสรรค์แบบนี้น่าจะมีประโยชน์ให้เว็บข่าวคุณภาพทั้งหลายลอกเลียนเพื่อไล่ตามนวัตกรรมการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ที่ให้ได้ครบครันทั้งประเด็นที่แหลมคมและเนื้อหาคุณภาพดีก็ได้

อ้างอิง :

Allcott, Hunt, and Matthew Gentzkow. “Social Media and Fake
News in the 2016 Election.” Stanford University, January 2017. http://web.stanford.edu/~gentzkow/research/fakenews.pdf.

Beres, Damon. “An Important Reminder on Donald Trump and
‘Fake News.’” Mashable, January 12, 2017. http://mashable.com/2017/01/11/trump-fake-news-buzzfeed/#8reJdMxgzqqt.

Irwin, Neil. “Researchers Created Fake News. Here’s What They
Found.” The New York Times, January 18, 2017. https://www.nytimes.com/2017/01/18/upshot/researchers-created-fake-news-heres-what-they-found.html.

Silverman, Craig. “Here Are 50 Of The Biggest Fake News Hits
On Facebook From 2016.” Buzz Feed News, December 30, 2016. https://www.buzzfeed.com/craigsilverman/top-fake-news-of-2016?utm_term=.apLVprEkv#.os1B5O4Yy.

AUTHOR