ทำไมเราถึงควร ‘ลงขัน’ ให้กับศิลปินไทย?

ทุกครั้งที่ได้ไปดู ‘gig’ หรือการแสดงสดดนตรีในผับ คลับ หรือบาร์ ที่ต่างประเทศ วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าค่อนข้างแตกต่างจากในบ้านเราก็คือ ‘ราคา’ ที่เราต้องจ่ายเพื่อเข้าชม

ผมเพิ่งกลับมาจากลียง เมืองใหญ่อันดับสามของประเทศฝรั่งเศส เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องอาหาร ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม จนได้เป็น UNESCO World Heritage Site นอกจากนี้ยังพอจะมีชื่อเสียงเรื่องดนตรีแจ๊ซอยู่บ้าง ผมจึงไม่พลาดที่จะหาแจ๊ซคลับดีๆ เพื่อชมการแสดงสด

ร้านที่ผมไปชื่อ Hot
Club de Lyon เป็นคลับเล็กๆ ใต้ดินที่มีศิลปินหมุนเวียนกันมาบรรเลงเพลงแจ๊ซ วันที่ผมไปเป็นการแสดงสดแบบดูโอจากศิลปินฝรั่งเศสที่เล่นแนวโฟล์ก ใช้กีตาร์ 2 ตัว ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือน Paris Jazz หรือ French Jazz ในหนังเรื่อง Midnight
in Paris
ของวูดดี้ อัลเลน

ประเด็นที่อยากจะเล่าคือ การจะดูดนตรีสดนี้ต้องเสียค่าเข้าชม 8 ยูโร (ประมาณ 300 บาท) ไม่รวมเครื่องดื่มใดๆ ทั้งสิ้น

ถือเป็นเงินที่ช่วยสนับสนุนศิลปิน

การจ่ายเงินค่าเข้าให้กับศิลปินถือเป็นหนึ่งในธรรมเนียมปกติของคลับหรือบาร์ทั่วโลก หรือหากร้านไหนไม่เสียค่าเข้า เขาก็จะมีกล่องเล็กๆ วางอยู่ข้างหน้าเพื่อให้คนเดินมาหยอดเงิน ซึ่งผมไปมากี่ที่ก็พบคล้ายๆ กันว่าพอเล่นจบคนก็จะเดินมามอบสตางค์กันทั้งนั้น เพราะถือเป็นสิ่งที่ ‘ควร’ ทำ ตอนไปดูแจ๊ซที่โตเกียวย่านรปปงหงิ ตัวเจ้าของร้านเดินถือกล่องไปตามแต่ละโต๊ะเลยด้วยซ้ำ

วัฒนธรรมนี้สะท้อนว่าพวกเขามองว่าดนตรีสดมีราคา ไม่ใช่ของฟรี

มองกลับมาที่บ้านเรา ผมยังไม่เคยเห็นร้านไหนกล้าเก็บสตางค์สักเท่าไร เว้นเสียแต่ว่าเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ และก็ต้องมีบัตรแลกเครื่องดื่มด้วย ไม่เช่นนั้นมีโวยแน่

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้จะกล่าวโทษหรือติติงใคร แต่พูดเพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นภาพว่านี่คือหนึ่งในกลไกที่ช่วยให้ศิลปินเล็กๆ ในต่างประเทศพอมีรายได้

ทุกวันนี้ ศิลปินไทยหากไม่รวยมากไปเลยก็แทบจะหารายได้จากการทำเพลงไม่ได้เลย เหตุผลเพราะรายได้หลักของศิลปินมาจากการโชว์ ส่วนเรื่องการขายซีดีหรือมิวสิกสตรีมมิ่งนั้นถือว่าน้อยมาก และถึงแม้ว่าจะมีงานโชว์ แต่ก็อาจจะถูกกดราคาจากเจ้าของร้านได้อีกอยู่ดี

การสนับสนุนโดยคนฟังจึงถือเป็นอีกทางที่ช่วยให้ศิลปินมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่นอกเหนือจากตัวเงิน คือกำลังใจที่ประเมินค่าไม่ได้

ผมไปบาร์ที่ญี่ปุ่นทีไรก็จะเห็นวัฒนธรรมแฟนคลับที่น่ารัก กลุ่มแฟนเพลงเล็กๆ มายืนถือป้ายเชียร์ ซื้อเสื้อผ้าและซีดี ไม่ว่าวงที่เล่นจะโนเนมแค่ไหน แต่พวกเขาก็มุ่งมั่นทำเพลงต่อไปเพราะรู้ว่ามีคนคอยสนับสนุน

ผมคิดว่าแฟนเพลงไทยก็ทำแบบนั้นได้เช่นกัน

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมนี้ ผมคิดว่ามีงานดนตรีเล็กๆ ที่แนวคิดน่าสนใจมาก งานนี้ชื่อ ‘เทศกาลดนตรีลงขัน’ งานดนตรีที่อัดแน่นไปด้วยวงดนตรีคุณภาพอย่าง ภูมิจิต, Ten To Twelve, Plot ฯลฯ แต่กลับเปิดให้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะคุณสามารถ ‘ลงขัน’ ให้กับวงขณะเล่นได้ตามความพึงพอใจของผู้ชม

คุณกิ๊กกี้-ญาณิกา เลิศพิมลชัย สาวน้อยนักดนตรีที่เป็นแม่งานครั้งนี้เล่าให้ The Momentum ฟังว่า โมเดลนี้คือการตัดตัวกลางออกไป

“โมเดลนี้เราดึงตัวกลางออกไปจากที่ศิลปินไปเล่น ไม่ว่าจะเล่นดีแค่ไหนเขาก็จะได้อยู่ที่ราคาเท่าเดิม แต่งานนี้ศิลปินเป็นผู้สื่อสารกับคนดูโดยตรง เล่นดีเท่าไหร่ก็จะได้เท่านั้น”

เธอยังบอกความในใจของศิลปินอิสระอีกด้วยว่า

“ศิลปินส่วนใหญ่เขามองว่าแค่คุณฟังเพลงเรา แค่คุณแชร์เพลงและบอกฟีดแบ็กว่าเพลงเราเป็นยังไง เขาก็รู้สึกดีแล้ว การที่เขาอยากให้พูดถึงเป็นเพราะมันจะนำพาไปสู่งานโชว์ของเขา ซึ่งเป็นหนทางที่ศิลปินจะได้เงินเยอะที่สุด คือถ้าไม่มีใครพูดถึงเขาเลยก็จะไม่มีใครชวนเขาไปเล่น แล้วเขาก็จะไม่ได้เงิน เราต้องทำอย่างอื่นเพื่อมาเล่นดนตรี อีกอย่างคือศิลปินก็จะมีทำของออกมาเรื่อยๆ เราก็อยากให้คนช่วยซื้อเสื้อเรา ซื้อซีดีเราหน่อย ไม่ได้ขออะไรมากกว่านั้นจริงๆ”

ผมมองจากสเกลของงานแล้วก็พอจะประเมินได้ว่านี่คืองานเล็กๆ ที่เป็นเหมือนความในใจของศิลปินอินดี้ แต่อย่างน้อยโมเดลที่ใช้ความพึงพอใจของแฟนเพลงเป็นหลักและการสื่อสารกันโดยตรงระหว่างศิลปินและแฟนเพลงโดยการตัดตัวกลางออกไป ก็ถือเป็นวิธีการที่น่าสนใจ ถ้าหากผลตอบรับออกมาดีก็น่าจะ duplicate เพื่อต่อยอดได้ในอนาคต

ใครที่อยากเห็นวงเพลงไทยมีความหลากหลายและพัฒนาต่อไปการลงขันนี้น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีนะครับ

หมายเหตุ เทศกาลดนตรีลงขันจัดขึ้นวันที่ 15 มกราคม 2559 ณ ACMEN Ekamai Complex (อยู่ระหว่างเอกมัยซอย 13 – 15) เวลา 16.00 – 23.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม แต่ชวนให้สนับสนุนศิลปินโดยตรงจากการลงขันให้ศิลปิน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook l Long Khan ลงขัน

AUTHOR