ไม่มีพลเมือง แต่คือ ‘ลูกค้า’ : เมื่อจีนขับเคลื่อนประเทศด้วยแนวคิดว่าประชาชนคือผู้บริโภค

ลองคิดเล่นๆ คุณคิดว่าในห้าปีข้างหน้า
คุณจะมีรายได้มากกว่าตอนนี้หรือไม่? (ในแบบที่ไม่ใช่แค่การปรับฐานเงินเดือนตามขั้นทุกปี)

คนจีนเกินครึ่ง หรือราว 55 % เชื่อว่าตัวเองจะต้องรวยขึ้นมากๆ
จากตัวเลขนี้ก็ถือว่าคนจีนมีความมั่นใจในสถานะการเงินของตัวเองสูงเมื่อเทียบกับชาวอเมริกันและชาวเมืองผู้ดีในสหราชอาณาจักรที่มีเพียงแค่ราว
30 % เท่านั้นเองที่คิดแบบนั้น

เราเห็นคนจีนอยู่ทุกที่ทั่วโลก โดยเฉพาะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ซึ่งน่าจะช่วยยืนยันได้ว่าประชากรจีนที่กระเป๋าหนักและมีความมั่นใจในการจับจ่ายมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

นับแต่จีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจในปี 1978 ก็เปลี่ยนโฉมประเทศจากยุค ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ ที่ปิดประเทศจากสังคมโลก
ก้าวเข้าสู่จีนยุคโมเดิร์น สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

การปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนเคยนำมาสู่ข้อสงสัยว่า
ถ้าจีนเปิดตลาดก็จะเท่ากับการเปิดโลก
และนำพาความต้องการในประชาธิปไตยมาด้วยหรือไม่ มันคล้ายจะมีเชื้ออยู่บ้าง
แต่ก็เกิดเหตุนองเลือดที่นักศึกษาถูกปราบปรามในเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ไปเสียก่อน นับแต่นั้น
ความวุ่นวายในอุดมการณ์ทางการเมืองก็ถูกกลบไปด้วยการโหมความภาคภูมิใจในชาติที่พัฒนาจนเติบโต
ร่ำรวย และยกระดับคุณภาพชีวิตเชิงวัตถุจนทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ

ขณะที่ความทรงจำของการปราบปรามนักศึกษายังไม่จางหาย
วิธีการปกครองหรือควบคุมประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คือ ทำให้คนรวยเร็วๆ
ยิ่งเศรษฐกิจดี คุณภาพชีวิตดี ก็ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่พรรครัฐบาลได้มากขึ้น

ด้วยความได้เปรียบที่เป็นรัฐใหญ่
มีประชากรถึง 1.38 พันล้านคน จีนบริหารเศรษฐกิจได้แบบไม่ต้องแคร์ใคร
เพราะเพียงพึ่งพิงผู้บริโภคชาวจีนก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากกว่าหลายประเทศรวมกัน

พรรคคอมมิวนิสต์ใช้วิธีควบคุมประชากรของตัวเองด้วยการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตทางวัตถุดีขึ้นเกินกว่าที่ฝันเอาไว้
ด้านหนึ่ง จีนปกครองด้วยการบังคับ กดขี่ ไม่ให้สิทธิพลเมือง ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติกับประชาชนในฐานะผู้บริโภค

เริ่มจากการกระจายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากที่อยู่ในมือรัฐมาให้เอกชนครอบครอง
กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก ส่งเสริมภาคส่งออก เหล่านี้ทำให้ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
ประชากรกว่า 700 ล้านคนพาตัวเองและครอบครัวหลุดออกจากสภาวะความยากจนได้
คนรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ารุ่นปู่ย่าตายาย
เข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต มีข้าวให้กิน มีเงินใช้ไม่ขาดมือ สร้างบ้านหลังโต
ไม่ใช่แค่ได้เรียนสูงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นปู่ย่าเข้าไม่ถึง แต่ความฝันที่จะได้ไปเรียนต่อเมืองนอกก็ดูจะไม่ใช่เรื่องฟุ้งเฟ้อเกินเอื้อม

สถิติของ McKinsey
บริษัทให้คำปรึกษาทางการตลาดชี้ว่า กลุ่มชนชั้นกลาง
ซึ่งในที่นี้วัดจากกลุ่มที่มีรายได้ 75,000 – 280,000 หยวนต่อปี
(หรือราว 380,000 – 1,400,000 บาทต่อปี)
ขยายตัวโตเร็วมาก จากที่เดิมมี 5 ล้านคนในปี 2000
ก็เติบโตมาเป็น 225 ล้านคนใน 15 ปีต่อมา และคาดว่าในปี 220 จะมีจำนวนถึง 275 ล้านคนในปี 2020

ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ยุคนี้ไม่มีความทรงจำของความยากจนแบบที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่มีแล้ว
พวกเขาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ มีความเป็นปัจเจกสูง และมีโอกาสเลือกทำอะไรตามที่ตัวเองต้องการ
โดยไม่ถูกผูกมัดจากความคาดหวังแบบคนยุคเบบี้บูมต้องเจอ

เมื่อมีฐานะ
คนจีนก็จับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผ่านทางออฟไลน์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางออนไลน์ จากที่ในปี 2010 มีคนใช้จ่ายออนไลน์ แค่ 3 % แต่เพียง 5 ปีหลังจากนั้น สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาถึง 15 % Alibaba กลุ่มบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ก็ทำรายได้ไปถึง 101 พันล้านหยวนในปี
2016 ตัวเลขนี้คงไม่น่าตกใจเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่า
มันเติบโตกระโดดจากปีก่อนหน้าถึง 33 % พลังผู้บริโภคชาวจีนยังแสดงออกมาผ่านบรรดานักท่องเที่ยวที่จับจ่ายช้อปปิ้งทั่วโลก
รวมมูลค่าเป็นเงิน 215 พันล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 53 %

เมื่อปีที่แล้ว (2016) ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง แต่ GDP
ของจีนไต่ไปอยู่ที่ 6.7 % โตกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมี
GDP น้อยกว่า 3 เท่า ทิศทางการเติบโตของจีนทำให้จีนยืนผงาดและมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก

หัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีความสุข
คือการมีรายได้ที่เติบโตอย่างมั่นคง มีหนี้ครัวเรือนต่ำ อย่างไรก็ดี นอกจากความกังวลว่าจะฟองสบู่แตกหรือไม่
ยังมีความท้าทายที่รัฐบาลพรรคเดียวของจีนยังแก้ไม่ได้ เช่น
ปัญหาสวัสดิการด้านสุขภาพ การศึกษา ความปลอดภัยทางอาหารและยา
การรับมือสังคมผู้สูงอายุ
และวิกฤตสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศอันมาจากอุตสาหกรรมหนักที่จีนโหมลงทุน

เศรษฐกิจจีนมีผู้บริโภคเป็นหัวใจสำคัญ
ยิ่งประชาชนบริโภคภายในประเทศมากเท่าไร จีนก็ยิ่งพึ่งพิงประเทศอื่นๆ น้อยลง อาวุธที่ชนชั้นกลางจีนมีอยู่ก็คืออำนาจผ่านการจับจ่าย
แต่เวลานี้ แม้ชาวจีนจะมีเงินพอจะซื้อของแบรนด์หรูราคาแพงๆ
แต่กลับไม่มั่นใจในรัฐบาล ตัวชี้วัดหนึ่งคือ
การบริโภคภายในประเทศยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร
ซึ่งนอกจากจะเพราะคนไม่เชื่อมั่นสินค้าในประเทศแล้ว (ยังจำข่าวนมผงปลอมกับไข่ปลอมได้ไหม) อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมจีนไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ทำให้คนมุ่งออมเงินเอาไว้เพื่ออนาคตทางการศึกษา
วางแผนรับมือยามเจ็บป่วย และเก็บเงินไว้ในยามชรา

เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต รัฐบาลจึงต้องสร้างความเชื่อมั่น
ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าระบบราชการแบบโบราณถูกรื้อแก้แล้ว รวมถึงการปรับตัวหลายอย่างเพื่อรักษาความพึงพอใจในหมู่ประชาชน
ถึงขั้นโปรโมตกระแส ‘กรีน’ เพื่อแก้ตัวจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม
คอนเซปต์กรีนนี้ยังลามมาถึงเรื่องการบริหารที่ชูเรื่องการจัดการที่มีประสิทธิภาพไร้คอร์รัปชัน
และทำให้คนรู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋ามาก โดยไม่มีภาระทางภาษีมากนัก

สำหรับสังคมที่ถูกครอบงำด้วยโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลมายาวนาน
นักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์จึงกำลังสนใจว่า ปัจเจกชนคนชั้นกลางเหล่านี้
หากเขาเริ่มเต็มอิ่มในชีวิตแล้ว จะหันมาสนใจคุณค่าในโลกอวัตถุ อุดมการณ์ อย่างเช่นการแสวงหาตัวเลือกทางการเมืองหรือไม่

คนส่วนหนึ่งอาจคิดว่าคนเราต้องรอให้อิ่มท้องก่อนจึงจะมาแสวงหาคุณค่าด้านอื่นๆ
เรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไป สิ่งที่พอยืนยันได้คือ คนจน คนที่อยู่ฝ่ายเสียเปรียบ ก็มองทะลุถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน
ติดที่ว่า ฝ่ายนี้จะมี ‘อำนาจ’ พอที่จะทำให้ผู้กุมนโยบายหันมาสนใจได้เพียงใด


อ้างอิง:

Browne,
Alison, Leonie Dendler, Zhu Di, and Dunfu Zhang. “The Rise of Chinese
Consumer Society: Emerging Challenges and Opportunities for Sustainable
Consumption and Production.”
Discover Society, January 5, 2016. http://discoversociety.org/2016/01/05/the-rise-of-chinese-consumer-society-emerging-challenges-and-opportunities-for-sustainable-consumption-and-production/.

Sieren,
Frank. “Sieren’s China: More Consumption.” DW, January 12, 2017. http://www.dw.com/en/sierens-china-more-consumption/a-37910937.

Stern, Nicholas. “China’s Green Revolution Goes Global.” Financial
Times
, July 8, 2016. http://blogs.ft.com/beyond-brics/2016/07/08/chinas-green-revolution-goes-global/.

The
Economist. “The New Class War.” The Economist, July 9, 2016. http://www.economist.com/node/21701653.

The
Economist. “Still Kicking.” The Economist, April 30, 2016. http://www.economist.com/news/business-and-finance/21697597-free-spending-consumers-provide-comfort-troubled-economy-consumption-china-resilient.

Zipser,
Daniel, Yougang Chen, and Fang Gong. “Here Comes the Modern Chinese
Consumer.”
McKinsey & Company, March 2016. http://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/here-comes-the-modern-chinese-consumer.

AUTHOR