GOOD HOPE Music Academy : ความหวังดีของคนดนตรีเพื่อคนดนตรี

GOOD HOPE Music Academy คือสถาบันดนตรีออนไลน์ที่ต้องการส่งต่อโอกาสในการทำดนตรีให้กับคนที่มีความฝันและรักในเสียงเพลงแต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ด้วยการสอนจากศิลปินมืออาชีพที่พร้อมมาเล่าประสบการณ์การทำงานในวงการเพลงจริงๆ ให้ทุกคนได้ฟัง

สถาบันดนตรีรูปแบบใหม่นี้เกิดจากความตั้งใจของ บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอหนุ่มวัย 27 ปี จากบริษัท ZAAP PARTY ชายหนุ่มที่ต้องการทลายกำแพงข้อจำกัดของการทำดนตรีให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและดำรงตำแหน่ง academy director ประจำโปรเจกต์นี้ นอกจากนี้ยังได้ ตั๊ด-วิรชา ดาวฉาย นักร้องนำจากวง YOUNG MAN AND THE SEA มาเสริมทีมเป็น creative director ที่ช่วยสร้างสรรค์เซสชั่นคอร์สสอนทำเพลงเบื้องต้นต่างๆ ของโครงการนี้ เพื่อที่ GOOD HOPE Music Academy จะได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่ใช่สำหรับคนดนตรีในปี 2018

จุดเริ่มต้นของความหวังดี


บาส:
จริงๆ เราไม่ได้มองถึงขั้นสถาบันดนตรี มันเริ่มมาจากบาสได้มีโอกาสทำคอนเสิร์ต genie fest 19 เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆ บาสเคยได้โอกาสมาครั้งหนึ่งแล้ว เราก็เลยอยากจะส่งต่อให้คนอื่นบ้าง จากจุดเล็กๆ นั้นก็เลยย้อนกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราจะทำอะไรดี สุดท้ายเราก็นึกถึงตอนที่เราเรียนอยู่กรุงเทพคริสเตียน เราฟอร์มทีมกันกับเพื่อนเพื่อทำวง แอบหนีเรียนเพื่อไปแต่งเพลงส่งประกวด ตอนนั้นรางวัลก็ไม่ได้นะ แต่การได้ทำเพลงกับเพื่อนๆ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

ถ้าเราจะไปทำเวทีประกวดเหมือนคนอื่นๆ เขาก็ทำได้ดีอยู่แล้ว เราเลยอยากลองหาอะไรใหม่ๆ ทำ เราบังเอิญเดินผ่านห้องอัดแถวโรงเรียน คุณภาพมันแย่มากแถมยังไม่มีใครมาแนะนำหรือให้ความรู้อะไรเกี่ยวกับการทำเพลงเลย เราเลยคิดออกทันทีว่าเราอยากจะส่งมอบความรู้เรื่องดนตรีและการทำเพลงให้กับคนอื่นๆ โดยโฟกัสไปที่เพลงเลย ไม่มีการประกวด ไม่มีรางวัล ไม่มีอะไรมาผูกมัด นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา แต่เพราะเราเป็นสายออร์แกไนซ์ ไม่ได้มีความรู้ด้านดนตรี เมื่อเราไม่เก่งเรื่องนี้ก็ต้องไปหาผู้รู้มาช่วยซึ่งก็คือพี่ตั๊ด เสนอพี่ตั๊ดไปก็เห็นตรงกัน เราสองคนก็เลยมาดีไซน์ด้วยกัน

Online to Offline เปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง


บาส:
หลักการของ GOOD HOPE Music Academy บาสว่ามันเป็น online to offline เรามีพาร์ทออนไลน์ที่ให้ความรู้พื้นฐานกับทุกคน เป็นเหมือนโรงเรียนที่จุดประกายความฝันให้เขา ให้พอมีแนวว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร เพราะสิ่งที่ยากที่สุดในการทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงก็คือจุดเริ่มต้น มันเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก GOOD HOPE Music Academy เลยขอเป็นหนึ่งทางในการช่วยแนะนำให้เขาเริ่มต้นอย่างถูกวิธี หรือบางทีถ้าเขาเจอทางตัน เราก็อยากให้เขาดูคลิปของเราแล้วจากที่หมดไฟก็กลับมามีไฟและอยากที่จะกลับมาทำเพลงต่อ หลังจากนั้นเราก็จะเข้าสู่พาร์ทออฟไลน์ให้ทุกคนที่สนใจทำเพลงมาหาเรา ทำเดโมส่งมาก่อน ถ้าวงได้ไปต่อ สุดท้ายเราก็จะได้มาทำเพลงด้วยกัน

15 คลาส – 20 วง – 4 เพลง


ตั๊ด:
ขั้นแรกเลยซึ่งจบไปแล้วจะเป็นช่วง GOOD HOPE Class คือการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเพลงผ่านการสอนออนไลน์ โดยมีนักดนตรี นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์มาสอนจริงๆ เลย เรามีทั้งหมด 15 คลาสด้วยกัน แบ่งคร่าวๆ ได้ 3 พาร์ท พาร์ทแรกเราจะพูดถึงศิลปะของการแต่งเพลง วิธีคิด วิธีเขียน พาร์ทที่สองเราจะพูดถึงศาสตร์ของการทำเพลง เทคนิค การทำเดโม การอัดเพลง และพาร์ทสุดท้ายเราจะพูดถึงศาสตร์และศิลป์ของการเป็นนักดนตรี ประสบการณ์ต่างๆ เวลาออกไปเล่นสด และการรวมวง ทั้ง 15 คลาสนี้เป็นเหมือนการทำให้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมดในการทำเพลง เป็นก้าวแรกสู่วงการดนตรี


บาส:
หลังจากจบ GOOD HOPE Class ก็จะเป็นช่วง GOOD HOPE Studio เราเปิดโอกาสให้ทุกวงและทุกคนส่งเพลงเข้ามา จะกี่เพลงก็ได้ เราจะมีทีม A&R (artists and repertoire) (ประกอบไปด้วย รังสรรค์ ปัญญาใจ (บิว Lemon Soup), รัฐ พิฆาตไพรี (รัฐ Tattoo Colour), อนุชา โอเจริญ (อ๊อฟ Rat Records)) คอยฟังและคัดให้เหลือ 2 0 วงที่เราจะเอาเพลงมาพัฒนาต่อเพื่อให้กลายเป็นเดโมที่สมบูรณ์ ช่วงเวลานั้นเราว่ามันจะสนุกแน่นอน มันคงเป็นอารมณ์เดียวกันกับ blind audition เลยนะ มีการไลฟ์สดตอนฟังเพลงทุกวงเดี๋ยวนั้น ไม่มีการเปิดก่อน เราสัญญาว่าจะฟังทุกเพลง ทีม A&R ของเราอาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะมันไม่มีกฎอะไรเลย แต่เราเป็นคนเชื่อเรื่องเพชรในตม มันมีเพชรอยู่แหละ เราแค่ต้องหาให้เจอ ไม่แน่อาจจะมีวงผมส่งไปก็ได้ (หัวเราะ)


ตั๊ด:
จากเดโม 20 เพลง เราจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายคือช่วง GOOD HOPE Song เราจะมีโปรดิวเซอร์ 4 คนคือ รัฐ Tattoo Colour, เป้ Mild, แทน Lipta และโฟร์ 25 Hours มาโปรดิวซ์เพลงใหม่เอี่ยมให้แต่ละวง โดยที่มีพี่อ๊อฟ Big Ass เป็น executive producer โดยที่ทั้ง 4 คนจะเลือกจากเพลงที่เขาชอบมากที่สุด เราไม่อยากใช้คำว่าดีกว่า เก่งกว่า แต่เราว่ามันคือคำว่าเหมาะ ซึ่งในอนาคตเราก็อยากทำให้มันมากขึ้นเรื่อยๆ

20 เสียงใหม่ๆ ที่มีแรงบันดาลใจมาจากคนรุ่นเก่า


ตั๊ด:
เหตุผลที่เราเอารุ่นพี่ในวงการมาแชร์ความรู้เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างคือสะพานจากรุ่นสู่รุ่นเสมอ อย่างเช่นเราหรือพี่อ๊อฟ Big Ass ก็ชอบอัสนี-วสันต์มาก่อน หรืออย่างวง Musketeers ก็ชอบวง Big Ass มาก่อนเหมือนกัน เราเลยมองว่ามันเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่นมากกว่า บ้านเราชอบพูดว่าทำไมเหมือนวงนู้นวงนี้ เฮ้ย! มันไม่จริง เราเชื่อว่าการส่งอิทธิพลต่อกันเป็นเรื่องปกติ ทุกคนต่างมี influence เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราเลยคิดว่าเรามาทำให้มันสนุกสนานกันดีกว่า

เราเลยถามบาสไปเลยว่า “บาสอยากได้เพลงดังไหม ถ้าอยากได้เพลงดัง นี่ทำไม่ได้” มันทำไม่ได้จริงๆ เพราะไม่มีใครรู้ว่าเพลงมันจะดัง ถ้ารู้ว่าเพลงจะดัง เราคงทำวันละเพลงได้เป็นหมื่นเป็นล้านแล้ว ถ้าวัดความสำเร็จเรื่องนั้นมันทำไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้เลยคือการเลือกทีม A&R เราเลือกทีมนี้เพราะเรารู้ว่าเขาใกล้ชิดกับของใหม่เสมอ เรามองว่า 3 คนนี้มีเคมีที่ดีแล้วเขาก็ทำงานด้วยกันอยู่แล้ว เราคุยกับบาสเลยว่าเราไม่รู้นะว่าจะเจอวงดังหรือเปล่า แต่เราคิดว่ามันมีโอกาสมากๆ ที่จะได้เจอเสียงใหม่ๆ ความเพราะแบบใหม่ๆ หรือความตั้งใจใหม่ๆ ซึ่งเราว่ามันน่าสนใจกว่า

การเป็นนักดนตรีคือการสร้างบางอย่างและส่งต่อให้กับผู้อื่น


ตั๊ด:
เราเชื่อว่าทุกครั้งที่ได้สอนใครหรือได้แชร์ประสบการณ์ อย่างแรกคือมันเป็นการได้เรียบเรียงตัวเอง ได้เรียบเรียงสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งหมดว่าเป็นยังไง อย่างที่สองเราว่าคือการได้ทำให้มันกลายเป็นความสุข เราเชื่อว่าพี่ๆ ทุกคนมีความสุข มีพี่ๆ หลายคนอยากเข้ามาแจม เราเชื่อว่าธรรมชาติของการเป็นศิลปินหรือนักดนตรีคือการเกิดมาเพื่อสร้างบางอย่างและมอบให้คนอื่น ทุกวันนี้ยิ่งให้ยิ่งได้ เราไม่ได้มองว่าเขาเสียสละนะ แต่การที่เขาได้ให้ ได้แบ่งปัน มันคงคล้ายๆ การเล่นกีต้าร์ เล่นทำไมให้เจ็บนิ้ว ก็มันมีความสุขไง การได้คุยเรื่องดนตรีก็เหมือนกัน การที่เราได้เห็นคนรุ่นใหม่ๆ กำลังเดินบนเส้นทางเดียวกันกับที่เราเคยผ่านมา มันโคตรมีความสุขเลยนะ

โซเชียลเน็ตเวิร์กกับโอกาสฉายแสงของคนดนตรีที่เพิ่มขึ้น


บาส:
เรามองว่าเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ มันช่วยให้เรามีทางเลือกหรือโอกาสมากกว่าเมื่อก่อน สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องมีค่ายก็เป็นศิลปินได้ แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่ของด้วยว่าดีจริงหรือเปล่า ถ้าเด็กรุ่นใหม่สนใจแค่ปลายทางโดยไม่รู้จุดเริ่มต้นของตัวเองว่าเราอยู่ตรงจุดไหนและหลงคิดไปเองว่าเพลงเราดีแล้ว แต่จริงๆ แล้วมันยังไม่ดีพอ สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝันอยู่ดี ต่อให้เราเสียเงินค่าบูสต์โพสต์เท่าไหร่ยังไงก็ไปไม่ถึงฝัน ฉะนั้นเราเลยคิดว่าจุดเริ่มต้นกับการรู้ตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด


ตั๊ด:
เราคิดว่าศิลปินทุกคนเป็นนักสร้างสรรค์ ศิลปินคือคำที่คนอื่นมีไว้ใช้เรียกเรา ไม่มีใครตื่นขึ้นมาแล้วตะโกนว่ากูเป็นศิลปิน มันคงไม่เป็นอย่างนั้น เพียงแต่คนรุ่นก่อน การที่จะได้เป็นศิลปินมันต้องถูก pick up จากใครสักคน เหมือนกับเราไปฟังเพลงจากวงดนตรีที่เล่นในร้านเหล้า พี่เขาเล่นโคตรดีเลยนะ แต่ก็เป็นได้แค่นักดนตรีอยู่ดี ไม่มีสิทธิ์บอกได้ว่าตัวเองนี่แหละเป็นศิลปิน เพราะการเป็นศิลปินต้องได้รับการฟังจากคนอื่นแล้วบอกว่าคุณคือศิลปิน แต่สมัยนี้มันไม่จำเป็นแล้ว คนสามารถเป็นได้ทั้งนักดนตรีและศิลปิน มันมีช่องทางให้เราแสดงตัวมากขึ้น มีไฟหลายดวงส่องมาถึงง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยูทูป เฟซบุ๊ก หรือแม้กระทั่ง GOOD HOPE Music Academy เองก็เหมือนกัน เราเชื่อว่าคนที่ทำงานสร้างสรรค์และคนที่รักดนตรีมีเท่าเดิมและมีความสามารถเสมอมา เพียงแต่ยุคนี้มันมองเห็นได้ง่ายขึ้น เข้าถึงเนื้องานมากขึ้น และเราก็เชื่อเหมือนกันว่างานจะต้องดีขึ้นเพราะทุกคนทำได้


Facebook | GOOD HOPE Music Academy

goodhopemusicacademy.com/


ภาพ
นิติพงษ์ การดี และ GOOD HOPE Music Academy

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี