บทบาทของ Food Bank ที่เปลี่ยนไป ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

หนึ่งในเครื่องมือการพัฒนาระบบอาหารที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมานับร้อยปี หนีไม่พ้นการสร้างธนาคารอาหาร หรือ Food Bank ที่โดยพื้นฐานแล้วคือการรวบรวมอาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือการบริจาคโดยปัจเจก มาบริหารจัดการที่ส่วนกลางและกระจายอาหารที่ยังคุณภาพดีไปยังผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่คือคนจนเมือง กลุ่มคนเปราะบางอย่างคนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้พิการ เพื่อช่วยเยียวยาหรือพยุงให้พวกเขาเหล่านั้นผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด เพราะตัวเลขขยะอาหารกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณผลผลิตต่อปี นั้นสะท้อนชัดว่าการจัดการระบบอาหารให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจและแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

โดยเฉพาะตลอดช่วงวิกฤตโควิด-19 โมเดลธนาคารอาหารทั่วโลกยิ่งถูกให้ความสำคัญทวีคูณ จากทั้งจำนวนกลุ่มคนเปราะบางที่เพิ่มมากขึ้นกะทันหัน รวมถึงการที่ห่วงโซ่การผลิตอาหารถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากโรคระบาด สงคราม และภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ยิ่งทำให้ธนาคารอาหารกลายเป็นโอเอซิสที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมต้องเข้ามาร่วมมือกันพัฒนา

ในบ้านเราเองกับโครงการ BKK Food Bank ที่กรุงเทพมหานคร เพิ่งลงนามความร่วมมือพัฒนาโครงการต้นแบบธนาคารอาหารไปเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำว่าโมเดลธนาคารอาหารไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว และกำลังจะเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในบริบทโลกปัจจุบัน 

อย่างในประเทศอังกฤษเอง ธนาคารอาหารอย่าง Broke not Broken ได้เปิดเผยสถานการณ์ระบบอาหารของเมืองผู้ดีไว้อย่างชวนให้กังวลใจ ด้วยเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด-19 ธนาคารอาหารอาจมีความสำคัญกับกลุ่มคนตกงานกะทันหัน คนไร้บ้าน หรือคนจนเมืองเท่านั้น แต่ปัจจุบันธนาคารอาหารมีความสำคัญกับแม้กระทั่งคนที่มีงานประจำทำหรือนักเรียนนักศึกษา “ถึงเขาเหล่านั้นจะมีรายได้แน่นอน แต่รายได้เหล่านั้นเพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงไม่หยุด” Louise Scott อาสาสมัครจาก Broke not Broken ย้ำ 

แน่นอนว่าราคาแก๊สที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวของหลายประเทศในยุโรปเพราะผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความหิวโหยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักพัฒนาระบบอาหารต้องกุมขมับ แต่ในมรสุมก็ยังคงมีความหวัง เพราะปัจจุบันการพัฒนาโมเดลธนาคารอาหารนั้นรุดหน้าไปไกล ทั้งยังไม่ใช่เพียงการพัฒนาระบบแต่รวมถึงการเติมความคิดสร้างสรรค์และความใส่ใจลงไปในการสร้างธนาคารอาหารอย่างมีศิลปะด้วย 

ความก้าวหน้าของธนาคารอาหารนั้นมักปรากฏให้เห็นในพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับระบบอาหารและสิทธิประชาชนมานาน หนึ่งในเคสน่าสนใจคือ ‘the food markets’ โมเดลธนาคารอาหารของเกาหลีใต้ ที่ออกแบบธนาคารอาหารให้อยู่ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ โดยรัฐจะแจกบัตรสำหรับใช้แลกอาหารซึ่งมีจำนวนเครดิตที่สอดคล้องกับระดับรายได้และจำนวนสมาชิกในครอบครัวของผู้ถือบัตร และมอบสิทธิให้ผู้ถือบัตรนำมาเลือกอาหารใน the food markets ได้อย่างอิสระ ซึ่งแน่นอนว่าอาหารที่เรียงรายอยู่ในนั้นล้วนมีต้นทางมาจากอาหารเหลือคุณภาพดีที่รัฐและภาคประชาสังคมนำมาบริหารจัดการและบรรจุไว้

ข้อดีของโมเดลธนาคารอาหารรูปแบบนี้นั้น นอกจากกลุ่มผู้เปราะบางสามารถเลือกอาหารตามความต้องการของตัวเองได้อย่างแท้จริง ยังช่วยลดขั้นตอนการบริหารจัดการในการแจกจ่ายอาหารซึ่งปกติยุ่งยากซับซ้อน แถมบางครั้งอาหารเหล่านั้นยังไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของคนรับอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือคนป่วยที่มักมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ การแจกจ่ายอาหารด้วยวิธีเดิมๆ จึงอาจตอบโจทย์ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคม 

อีกหนึ่งโมเดลธนาคารอาหารที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ไม่ไกลจากบ้านเรา นั่นคือโปรเจกต์ The Bank Card Programme ในประเทศสิงคโปร์ ที่ภาครัฐจับมือกับภาคประชาสังคมจับมือกันรับอาหารเหลือคุณภาพดีจากหน่วยต่างๆ มาบริหารจัดการ และนำมาบรรจุไว้ใน ‘ตู้กดอาหาร’ ที่กระจายอยู่ทุกมุมเมือง โดยกลุ่มคนเปราะบางหรือผู้ต้องการอาหารอย่างฉุกเฉินจะได้รับบัตรที่บรรจุเครดิตสำหรับกดรับอาหารในตู้ดังกล่าวได้ตามต้องการ ที่สำคัญคือสามารถกดรับอาหารได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดต้นทุนการจัดการลงได้มหาศาล ทั้งยังทำให้ผู้คนเข้าถึงอาหารได้สะดวกและได้รับอาหารตรงกับความต้องการที่แท้จริงมากขึ้นด้วย 

หรือจะมองไกลขึ้นอีกหน่อย กับการพัฒนาธนาคารอาหารในอิสราเอลที่นอกจากจะคำนึงถึงระดับฐานะทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคิดถึงรูปแบบการกินทางศาสนาที่บางครั้งสำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายด้านศาสนาสูง และมีข้อบังคับทางศาสนาที่บังคับใช้เข้มข้นอย่างอิสราเอล โดยโมเดลธนาคารอาหารนี้มีชื่อว่า Leket Israel ที่นอกจากจะนำอาหารเหลือคุณภาพดีมาบริหารจัดการและกระจายสู่คนเปราะบางต่อ ยังคิดค้นรูปแบบการกระจายอาหารผ่าน ‘ซุปผัก’ ที่คัดสรรวัตถุดิบที่ตรงตามหลักการทางศาสนาทั้งยูดาห์ อิสลาม หรือคริสต์ มาปรุงและฟรีซเป็นถุงพร้อมทาน ส่งตรงถึงมือคนชราหรือคนป่วยที่ไม่สามารถทำอาหารกินเองได้ โดยซุปดังกล่าวสามารถเก็บไว้ได้นานร่วมเดือนและง่ายต่อการนำมาอุ่นกิน ไม่ต้องมีขั้นตอนการปรุงซับซ้อน สำคัญคือเป็นอาหารที่ตรงตามหลักศาสนาซึ่งเป็นปัจจัยที่ประชากรส่วนใหญ่ในอิสราเอลยึดถือ จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะกล่าวว่า ในโลกที่กำลังปั่นป่วนจนความอดอยากหิวโหยเพิ่มจำนวนอย่างน่ากังวล โมเดลธนาคารอาหารนั้นเป็นหนึ่งในเครื่องมือทรงประสิทธิภาพที่ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมทั่วโลกให้ความสนใจ

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเรื่องความอดอยากหิวโหย คือธนาคารอาหารในหลายประเทศกำลังเดินหน้าเพื่อตอบโจทย์รายละเอียดของวิถีชีวิตที่หลากหลาย อันขึ้นอยู่กับทั้งเรื่องอายุ พื้นที่การทำงานที่เปลี่ยนไป ความเชื่อทางศาสนา​ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ด้วยนักพัฒนาระบบอาหารต่างรู้ดีว่า อาหารนั้นไม่เพียงเป็นเรื่องของปากท้อง ทว่าเชื่อมโยงกับ ‘ความมั่นคง’ ของทั้งระดับปัจเจก ครอบครัว และสังคม

>อ้างอิง:

https://greenly.earth/en-us/blog/ecology-news/global-food-waste-in-2022

https://brokenotbroken.org

AUTHOR