คุยกับผู้สร้าง Far Cry 6 เกมต่อสู้ที่เปิดเผยเฉดสีเทาของกบฏและเผด็จการ

ไม่ว่าจะเป็น Star Wars ภาคใหม่, ซีรีส์ The Lord of the Rings หรือนิยายชุด The Hunger Games ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวของประชาชนผู้ร่วมมือกันโค่นล้มผู้นำเผด็จการนั้นเป็นเส้นเรื่องที่พบได้มากมายในสื่อต่างๆ เป็นพลังความหวังให้กับคนทั่วโลกว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง far cry 6

แต่เมื่อหันมามองโลกความเป็นจริง การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการนั้นไม่ตรงไปตรงมาเหมือนเรื่องราวการต่อสู้ของพระเอกและตัวร้าย ในโลกความเป็นจริง การต่อสู้ทางการเมืองนั้นซับซ้อน ทั้งฝ่ายผู้กดขี่ที่อาจใช้พลังอำนาจทางการเมืองสร้างความเจริญให้กับประเทศจนหลายคนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าที่จะแลกเสรีภาพเพื่อความมั่งคั่งมั่นคง หรือการที่หลายครั้งการต่อสู้พาผู้ต่อต้านไปแตะเส้นศีลธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพจนโหดร้ายแทบไม่ต่างกับฝั่งผู้กดขี่เสียเอง

น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นการต่อสู้เฉดสีเทาเช่นนี้ในสื่อบันเทิงกระแสหลัก โดยเฉพาะในโลกวิดีโอเกมที่เอะอะก็ใช้การต่อสู้ทางการเมืองมาเป็นฉากหลังอย่างฉาบฉวย กระทั่งวันนี้ที่บริษัท Ubisoft กล้าที่จะออกมาชำแหละคอนเซปต์ของการลุกขึ้นสู้ทางการเมืองอย่างถึงพริกถึงขิงผ่านเกมใหม่ล่าสุดของพวกเขาอย่าง Far Cry 6 

โชคดีที่เรามีโอกาสสัมภาษณ์ Navid Khavari ผู้เป็น Narrative Director ของเกม Far Cry ภาคนี้ถึงเหตุผลในการเปลี่ยนมาเล่าเรื่องการเมืองในเฉดสีเทา จนเกมสามารถสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศpไทยได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Far Cry 6

สำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่เกมเมอร์ Far Cry เป็นแฟรนไชส์เกมเดินหน้ายิงจาก Ubisoft บริษัทเกมยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส เกมนี้มีจุดเด่นที่เรื่องราวการต่อสู้ของคนธรรมดาๆ ที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องลุกขึ้นสู้กับตัวร้าย ผสมกับระบบการเล่นบู๊ระเบิดที่ปล่อยให้ผู้เล่นมีอิสระในการทำภารกิจ จะแอบแทรกซึมฐานศัตรูเพื่อทำภารกิจเงียบๆ หรือจะระเบิดภูเขาเผากระท่อมศัตรูให้วอดวายก็ได้ตามสไตล์ที่ถูกใจ

เรื่องราวของ Far Cry 6 เกิดขึ้นที่ประเทศ Yara เกาะสมมติในแถบคาริบเบียนที่เกมอ้างอิงจากประเทศคิวบาในโลกความเป็นจริง ยาราถูกปกครองโดย Antón Castillo จอมเผด็จการผู้พลิกประเทศจากเกาะคอมมิวนิสต์จนๆ ที่ประเทศเสรีทั่วโลกกีดกันให้กลายเป็นประเทศสำคัญในระดับนานาชาติด้วยการส่งออก ‘Viviro’ ยาวิเศษจากใบยาสูบท้องถิ่นที่รักษามะเร็งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

แม้จะฟังดูดีแต่ความสำเร็จนี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตเนื่องจากการสังเคราะห์วิวิโร่ต้องใช้สารพิษรุนแรงฉีดพ่นลงไปบนใบยาสูบเพื่อให้เกิดเป็นตัวยา คนท้องถิ่นและศัตรูทางการเมืองที่รัฐเกณฑ์มาเป็นแรงงานจึงต้องสังเวยชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกลุ่มกบฏติดอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อปลดปล่อยประเทศจากระบบเผด็จการให้ได้ 

ในเกมภาคนี้ ผู้เล่นจะรับบทเป็น Dani Rojas วัยรุ่นชาวยาราและอดีตทหารเกณฑ์ที่ทนชีวิตในระบอบเผด็จการไม่ไหวอีกต่อไป (ผู้เล่นสามารถเลือกให้แดนี่เป็นเพศชายหรือหญิงก็ได้) แดนี่และเพื่อนสนิทตัดสินใจหนีออกนอกประเทศไปยังอเมริกา แต่เคราะห์ร้าย แผนการหนีของแดนี่ล้มเหลว ทำให้แดนี่ต้องเข้าร่วมกับกองกำลังกบฏลิเบอร์ตาด (Libertad) และจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในขบวนการต่อสู้ล้มรัฐบาล

อ่านดูแล้วแฟนๆ ของซีรีส์ Far Cry น่าจะพอเห็นภาพว่าเรื่องราวในภาคนี้ยังคงสูตรเรื่องเล่าดั้งเดิมของซีรีส์ไว้อย่างครบถ้วน ถึงอย่างนั้น นี่ก็เป็นการพัฒนาคอนเซปต์ไปอีกขั้น คือไม่ได้แค่เล่าแต่ความโหดของตัวร้ายอย่างเดียวแต่ยังเล่าไปถึงสภาพสังคมและการเมืองแวดล้อมที่ทำให้เกิดจอมเผด็จการอย่างละเอียดและรอบด้านที่สุดเท่าที่ซีรีส์นี้เคยมีมา

อะไรที่ทำให้เกิดเผด็จการ?

อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้คนคนหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเผด็จการจอมโหดที่กล้าทำสิ่งเลวร้ายแบบไม่แคร์ใคร? เงินมหาศาลจากการคอร์รัปชั่น? อำนาจล้นฟ้าอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้?

“เพราะความรักในประเทศชาติของเขาล้วนๆ ครับ” Giancarlo Esposito นักแสดงผู้รับบทเป็นเผด็จการแอนต้อนเล่าถึงตัวละคร ‘ท่านผู้นำ’ ที่เขารับบท (ก่อนหน้านี้หลายๆ คนอาจจะรู้จักเขาจากบทตัวร้าย Gus Fring ในซีรีส์ Breaking Bad และ Moff Gideon จาก The Mandalorian มาแล้ว)

“ที่ผมเลือกรับบทนี้ ส่วนหนึ่งเพราะผมรู้สึกว่าแอนต้อนไม่ได้เป็นแค่ผู้นำเผด็จการดาดๆ ที่แค่อยากรวยหรือมีอำนาจแบบคนอื่นๆ เขาเป็นผู้นำที่รักประชาชนของเขามากๆ ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศเจริญ เขาเชื่อสุดตัวเลยว่าประเทศชาติสำคัญกว่าครอบครัว สำคัญกว่าความรัก สำคัญกว่าความยุติธรรมใดๆ”  

พ่อของแอนต้อน Gabriel Castillo เป็นอดีตเผด็จการที่พัฒนายาราให้เป็นเพชรงามของทะเลแคริบเบียนยุค 60s ก่อนจะโดนฝ่ายคอมมิวนิสต์ล้มรัฐบาลในปี 1967 แอนต้อนต้องมองพ่อตัวเองโดนประหารต่อหน้าต่อตา ก่อนโดนส่งไปใช้แรงงานหนักในไร่ยาสูบนับสิบปี เขาเฝ้ามองประเทศที่รักของพ่อค่อยๆ พังพินาศ เศรษฐกิจฝืดเคือง ประเทศโดนดูถูกโดยสังคมโลก ความแค้นและความรักประเทศดันให้เขาลง ‘เลือกตั้ง’ ประธานาธิบดีจนได้ขึ้นครองตำแหน่งพร้อมความหวังจะพาให้ประเทศรุ่งเรืองอีกครั้ง

แต่ว่าความรักในประเทศบ้านเกิด อยากเห็นบ้านเมืองเจริญนั้นคุ้มค่ากับการแลกด้วยเสรีภาพและชีวิตของประชาชนจริงๆ หรือ? นี่เป็นคำถามที่เกมทิ้งไว้ให้ผู้เล่นได้ขบคิดขณะต่อสู้กับเผด็จการที่ไม่ได้เป็นแค่ตัวร้ายแบนๆ แต่เป็นผู้นำที่เห็นตัวเองเป็นฮีโร่ พร้อมทำทุกทางเพื่อประเทศและเพื่อคนที่เขารัก แม้จะต้องทำเรื่องเลวร้ายสุดกู่ก็ตาม

ซึ่งหนึ่งในคนที่แอนต้อน คาสติโญ่รักมากที่สุดนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวน Diego Castillo หนึ่งในตัวละครที่สำคัญที่สุดในภาคนี้

เราต่างเชื่อมโยงกันผ่านเรื่องครอบครัว

“จากที่ทางทีมงานลองหาข้อมูลมา พวกเราค้นพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่ผู้นำเผด็จการทั่วโลกหมกมุ่นมากๆ นั่นคือเรื่องของครอบครัวพวกเขา” นาวิด คาวารี Narrative Director ของเกมภาคนี้เล่า “ผู้นำทุกคนอยากเห็นระบอบของตัวเองคงอยู่ต่อไปหลังจากที่พวกเขาตายไปแล้ว และจะมีใครที่เหมาะสืบทอดอุดมการณ์ในเรื่องอะไรแบบนี้ได้ดีไปกว่าลูกๆ ของพวกเขาเอง”

นั่นเป็นที่มาของตัวละคร ดิเอโก้ คาสติโญ่ ลูกชายวัย 13 ของแอนต้อนที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจ ที่น่าสนใจคือ ดิเอโก้ยังเป็นผ้าขาว เป็นเด็กวัยรุ่นที่พยายามหาจุดยืนของตัวเองว่าจะยอมเป็นเด็กดีของพ่อแม้จะต้องทำในสิ่งเลวร้ายมากมาย หรือจะยอมเสี่ยงชีวิต ทิ้งตำนานของครอบครัวเพื่อสร้างอนาคตของตัวเอง

“นี่เป็นครั้งแรกที่ตัวร้ายในซีรีส์ของเรามีคนรุ่นลูกมาวนเวียนอยู่ในชีวิต ผมคิดว่าพอเราเห็นวิธีการที่ตัวร้ายเลี้ยงดูลูกของตัวเองมันยิ่งทำให้ตัวร้ายมีมิติและน่ากลัวมากขึ้นอีก ภาคนี้เป็นครั้งแรกด้วยที่ผู้เล่นสามารถมีผลกับการเติบโตของครอบครัวของตัวร้ายได้ คุณจะได้พบเจอกับดิเอโก้ตลอดเกม และทุกการกระทำของคุณสามารถช่วยโน้มน้าวเด็กผู้ชายคนนี้ได้” นาวิดบอก

far cry 6

อาจจะฟังดูแปลกๆ ว่าทำไมเกมเดินหน้ายิงอย่าง Far Cry ถึงได้ให้เวลากับการพูดเกี่ยวกับเรื่องอุ่นๆ อย่างความสัมพันธ์ครอบครัว แต่นาวิดเองก็ได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจ

“ถ้าสังเกตดีๆ แกนหลักของเรื่องราวทั้งหมดในซีรีส์ Far Cry นั้นพูดเรื่องครอบครัวมาตลอด ทั้งภาค 3 (พี่น้องโจรสลัดต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอาณาจักรเกาะ) ภาค 4 (พ่อแม่ของตัวเอกอาจมีส่วนเกี่ยวข้องลึกซึ้งกับการต่อสู้กับกษัตริย์) และภาค 5 (ครอบครัวพี่น้องบ้านแตกที่ปกป้องตัวเองด้วยการตั้งลัทธิหัวรุนแรงขึ้นมาเพื่ออยู่ด้วยกัน)” 

ประเด็นเรื่องครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนบนโลกล้วนมีประสบการณ์ร่วมนี่เองที่เป็นเคล็ดลับความเข้มข้นของเนื้อเรื่องของ Far Cry แต่ละภาค รวมถึงภาคใหม่ล่าสุดนี้ที่เน้นเรื่องการสืบทอดเจตนารมณ์ในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างที่ไม่เคยมีภาคไหนพูดมาก่อน 

ไหนๆ ก็พูดเรื่องครอบครัวแล้ว เราก็คงจะไม่พูดถึงอีก ‘ครอบครัว’ อย่างฝ่ายกบฏลิเบอร์ตาดไม่ได้

จะไปต่อยังไงในวันที่กลุ่มกบฏชนะรัฐบาล

ลิเบอร์ตาดเป็นกองกำลังกบฏติดอาวุธที่ทำสงครามกองโจรกับรัฐบาลมาหลายปี นำโดย Clara Garcia อดีตนักข่าวที่ผันตัวมาเป็นผู้นำฝ่ายกบฏ ภายใต้การแนะนำของ Juan Cortez อดีตนักสู้ยุค 60s และสายลับ KGB ของสหภาพโซเวียตที่ต้องการให้ประชาชนลุกฮือขึ้นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีคาสติโญ่ให้ได้ 

กองกำลังกบฏในเกมนี้ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มโจรห้าร้อยธรรมดาที่แค่มารวมตัวกันเพื่อโค่นรัฐบาลให้ได้แล้วประกาศชัยชนะแบบที่แทบทุกเกมแนวนี้ทำกัน แต่เกมยังอาศัยฝ่ายลิเบอร์ตาดในการพูดถึงการต่อสู้ขั้นต่อไปหลังจากล้มจอมเผด็จการได้แล้วอย่างละเอียดอ่อน

far cry 6

“แกคิดว่าฉันอยากเป็นประธานาธิบดีแทนแอนต้อนงั้นเหรอ” คลาร่า ผู้นำกบฏตอบเมื่อแดนี่ถามเธอตอนต้นเกมว่าจุดหมายสุดท้ายของการปฏิวัติคืออะไร “ประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมาแป๊บเดียวเดี๋ยวก็โดนเก็บ เดี๋ยวเผด็จการคนใหม่ก็โกงเลือกตั้งเข้ามา ไม่ก็มีหุ่นเชิดที่ประเทศมหาอำนาจส่งมาคุมประเทศเราสักคน 

“หน้าที่ของลิเบอร์ตาดไม่ได้เป็นการยึดอำนาจมาเป็นของพวกเรา แต่เราจะเป็นคนสู้ให้ประชาชนได้เสรีภาพในการเลือกตั้ง แล้วเราก็จะถอยจากสายตาคน คอยเฝ้าสถานการณ์อยู่ห่างๆ เพราะเชื่อเถอะ สักวันหนึ่งก็จะมีคนลุกขึ้นมาย่ำยีเสรีภาพของพวกเราอีกครั้ง และเมื่อนั้นเราก็จะออกมาสู้เพื่อเอาเสรีภาพกลับคืนมา ไม่มีวันจบ นี่คือหน้าที่ของเราที่ต้องสู้ต่อไปจนวันตายเพื่อเสรีภาพของพวกเราทุกคน”


นี่เป็นแนวคิดของกลุ่มลิเบอร์ตาดที่พูดถึงกระบวนการต่อสู้กับอำนาจทางเผด็จการทางการเมืองได้อย่างละเอียดรอบด้านแบบที่ไม่เจอในเกมทั่วไป และน่าจะสะท้อนกับสภาพการเมืองในประเทศของเราได้อยู่ไม่น้อย

นอกจากอุดมการณ์จะมีความละเอียดอ่อนแล้ว ตัวกลุ่มกบฏเองก็มีความซับซ้อนไม่แพ้ฝั่งผู้นำ กองกำลังฝ่ายกบฏใน Far Cry 6 ไม่ได้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวกันทุกคน ลิเบอร์ตาดเองเต็มไปด้วยตัวละครหลากหลายที่ล้วนมีความต้องการของตัวเอง รวมถึงมีความลับที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้อยู่มากมาย จนเราอดคิดไม่ได้ว่าสำหรับบางตัวละครแล้ว การลุกขึ้นมาล้มรัฐบาลครั้งนี้เป็นการทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อใครกันแน่

Far Cry 6 review - Chaos in paradise | VG247

ยารา ลาตินอเมริกา และประเทศเผด็จการทั่วโลก

ถึงฝ่ายกบฏจะมีความมุ่งมั่นแรงกล้าในการสู้กับเผด็จการแค่ไหน การต่อสู้นั้นไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ นี่นำมาสู่สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในเกมภาคนี้ นั่นคือฝ่ายการเมืองท้องถิ่นที่ผู้เล่นต้องโน้มน้าวให้มาเข้าร่วมกับกองกำลังลิเบอร์ตาด เพื่อชวนให้คนทั่วประเทศลุกฮือในที่สุด ทั้งสามฝ่ายประกอบด้วย

1. ครอบครัวมอนเตโร (Montero) หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรประจำภาคตะวันตกของประเทศ ที่เกษตรกรทั้งประเทศให้ความนับถือเหนือรัฐบาล ถ้าสามารถชวนมาร่วมฝั่งกบฏได้ก็จะได้ฐานเสียงมาจำนวนมาก แต่ก่อนอื่นผู้เล่นต้องช่วยให้คนในครอบครัวที่มีความเห็นเรื่องการเมืองไม่ตรงกันหันมาเห็นให้ตรงกันให้ได้ก่อน

2. แม็กซิมาส มาตานซาส (Maximas Matanzas) คู่หูดูโอ้ศิลปินแรปต้านการเมืองที่กล้าพูดเรื่องต้องห้าม เบิกเนตรประชาชนจนโดนทางการหมายหัว ต้องหนีลงใต้ดิน คนหนึ่งยังอยากสู้รัฐบาลสุดใจขาดดิ้น ในขณะที่อีกคนยอมแพ้ไปแล้ว เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องโน้มน้าวให้ทั้งสองกลับมาร้องเพลงเพื่อเป็นกระบอกเสียงกันอีกครั้ง

3. กลุ่มกบฏวีรชนนักศึกษาคนกล้ารุ่นพ่อ ที่เคยล้มรัฐบาลของพ่อแอนต้อนได้สำเร็จจนกลายเป็นฮีโร่ของประเทศ และกลุ่มกบฏลาตินอเมริกาเด็กรุ่นใหม่ Gen Z  ที่หมดหวังทั้งกับวีรชนรุ่นใหญ่และกลุ่มลิเบอร์ตาดเลยตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง เป็นหน้าที่ของผู้เล่นที่ต้องดึงให้กบฏรุ่นเดอะเยอะประสบการณ์มาร่วมมือกับเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง เพื่อให้เกิดเป็นสุดยอดกบฏ 2 วัยที่ทำงานร่วมกันได้สมบูรณ์

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าบรรดากลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ ใน Far Cry 6 ข้างต้นนั้นแม้จะสร้างขึ้นมาจากวัฒนธรรมลาตินอเมริกา แต่หลายๆ กลุ่มเองกลับมีลักษณะคล้ายคลึงกับฝ่ายการเมืองในประเทศไทยของเรา เป็นที่น่าสนใจว่าแม้วัฒนธรรมจะแตกต่างกัน แต่ความเป็นสากลของการต่อสู้ระบอบเผด็จการนั้นสามารถแตะใจคนได้ทั่วโลกอย่างไม่น่าเชื่อ

เล่ามาทั้งหมดนี้อาจจะดูว่าเกมนี้ต้องเครียดมากๆ แน่ๆ แต่บอกเลยว่าเสน่ห์ของซีรีส์ Far Cry ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างเนื้อหาซีเรียสจริงจังและ gameplay สุดมันยังอยู่ครบแน่นอน

“พวกเราหาข้อมูลเกี่ยวกับนักปฏิวัติในประเทศต่างๆ ขณะสร้างเรื่องราวของเกมภาคนี้อย่างละเอียด นักสู้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการจะลำบาก โหดร้ายและน่ากลัวในหลายๆ ครั้ง แต่ในระหว่างนั้นพวกเขาก็มีโมเมนต์ที่ได้หัวเราะ เล่นสนุก ร้องเพลงด้วยกันในป่าเขาในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ด้วยเหมือนกัน เราเลยอยากให้ผู้เล่นได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติครั้งนี้แบบเต็มที่ ให้ผู้เล่นได้รับประสบการณ์ในทุกด้านของการต่อสู้ทางการเมืองทั้งตอนบู๊และตอนสนุกอย่างสมจริง” นาวิดเล่า

เล่าแค่นี้คงยังไม่พอ เอาเป็นว่าเราขอแนะนำให้คุณได้ลองเล่น Far Cry 6 สักครั้ง เพื่อสัมผัสเกมฟอร์มยักษ์ที่กล้าแตะประเด็นการเมืองได้อย่างถึงรสชาติและเป็นสากล จนเนื้อหาที่เกิดขึ้นในโซนลาตินอเมริกาสมมติอาจพูดแทนความในใจของคนไทยหลายๆ คนในยุคนี้ได้อย่างแน่นอน


เกมนี้เพิ่งวางจำหน่ายในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาบน PC, PS4, PS5, Xbox One, Xbox X/S และบนแพลตฟอร์มออนไลน์ Amazon Luna และ Stadia และภาคนี้มีการแปลซับฯ และเมนูเป็นภาษาไทยเอาใจแฟนๆ คนไทยบ้านเราโดยเฉพาะด้วย

AUTHOR