เมื่องานที่เรารักโบยตี อะไรคือเหตุผลที่ยังทำงานนี้อยู่ | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

“ลูกมาแล้ว”

น้องในกองบรรณาธิการคนหนึ่งพิมพ์ข้อความดังกล่าวมาในกรุ๊ปไลน์ของพวกเราพร้อมกับส่งรูปลูกที่เขาว่ามาด้วย แน่นอน คำว่าลูกที่เขาว่าหมายถึงนิตยสารที่พวกเราช่วยกันลงแรงผลิตเดือนละเล่ม

แม้เป็นประโยคเรียบง่ายแต่ผมพบว่ามีความน่าสนใจซ่อนอยู่

ผมสนใจที่เขาเรียกสิ่งที่ทำว่า ‘ลูก’

ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เรียกสิ่งที่ตัวเองผลิตด้วยคำคำนี้

ก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามารับงานในตำแหน่งใหม่ไม่กี่วัน ผมถือโอกาสนัดเจอเพื่อนสมัยฝึกงานที่นิตยสาร a day เมื่อราว 10 ปีก่อนเพื่ออัพเดตชีวิตกันและกัน บทสนทนาบนโต๊ะรสชาติดีไม่แพ้อาหารที่เสิร์ฟ เท่าที่สังเกตเพื่อนแต่ละคนเติบโตขึ้น วันเวลาและประสบการณ์ทำให้เหล่าเด็กไร้เดียงสาในวันวานกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

ในวงสนทนา เพื่อนผมคนหนึ่งชื่อโจ้พาลูกวัยไม่ถึงขวบมาด้วย ลูกของเพื่อนน่ารักน่าชัง รอยยิ้มของเขาบ่งบอกว่าโลกนี้ยังพอมีสิ่งสวยงาม และนั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นเพื่อนตัวเองในอีกมุม

วันนั้นผมคุยกับโจ้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องงานและชีวิตในมิติอื่นๆ แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือชีวิตของเขาหลังมีอีกชีวิตถือกำเนิดมาให้เขาและภรรยาช่วยกันดูแล

ผมสนใจว่าชีวิตหนึ่งเปลี่ยนอีกชีวิตหนึ่งไปมากน้อยแค่ไหน มันเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือสวนทางกับภาพในอุดมคติ

“เหนื่อยไหมมีลูก” ผมถามโดยที่พอเดาคำตอบได้ ใครคิดว่าการเป็นพ่อเป็นแม่สบายคนนั้นคงโง่เต็มที แต่ที่ถามเพราะผมอยากรู้ในระดับรายละเอียด

“โคตรเหนื่อย” โจ้ตอบทันทีคล้ายมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ได้ชวนประหลาดใจอะไร ผมเห็นเขาลงภาพต่างๆ ในโลกโซเชียลฯ ถึงภารกิจในแต่ละวันก็พอคาดเดาได้อยู่แล้ว

เหนื่อย แต่มีความสุข–โจ้ย้ำกับผมแบบนี้ด้วยแววตาที่ยืนยันว่าที่พูดคือเรื่องจริง

“กูมีความสุขตอนเห็นหน้าเขา เห็นว่าสิ่งที่กูทำทำให้เขาดูเติบโตดีมีความสุข ซึ่งถ้าไม่ใช่ลูก กูจะมีความรู้สึกนี้กับใครได้”

กูจะมีความรู้สึกแบบนี้กับใครได้–คำถามนี้ของเพื่อนติดค้างอยู่ในใจตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้

จะมีใครหรือสิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ได้อีก

ย้อนกลับไปในวันที่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ผมเคยมีความเชื่อแบบเด็กหนุ่มไร้เดียงสาว่าเมื่อได้ทำงานที่เรารัก ชีวิตเราจะมีความสุข แต่เมื่อทำงานมาจนเข้าขวบปีที่สิบ ผมพบว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เรื่องตลกร้ายคือบางเวลากลับเป็นงานด้วยซ้ำที่นำพาความทุกข์ใจมาให้

ใช่, บางช่วงเวลามันเหนื่อย มันยาก มันบีบคั้นใครบางคนจนหัวใจเสี่ยงจะแหลกสลายได้ง่ายๆ หากไม่ประคับประคองให้ดี ยังไม่นับปัญหาโลกแตกที่การงานพรากพาเวลาของเราไปจากผู้คนรอบตัวในชีวิต ไม่แปลกที่บนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยงหรือในกรุ๊ปไลน์ที่ไม่มีเจ้านาย เราจึงมักบ่นกันถึงความเหนื่อยยากจากงานที่ทำ

คำถามคือเมื่องานที่เรารักโบยตีเรา เรายังพอมองเห็นเหตุผลที่ยังยืนอยู่ที่เดิมหรือเปล่า ในเส้นทางที่เต็มไปด้วยหนามแหลมคม เรายังพอมองเห็นดอกไม้อยู่ไหม

กล่าวอย่างถึงที่สุด งานที่ทำมันใช่จะมีแต่แง่มุมที่กัดกร่อนเพียงเท่านั้นหรอก ในบางเวลางานก็ถมเติมความว่างเปล่าในใจเราด้วย

กับคนอื่นไม่รู้เป็นอย่างไร แต่สำหรับผม งานบอกสอนบทเรียนที่สำคัญในชีวิต งานปลูกฝังวิธีคิดต่อสิ่งรอบตัว เราเติบโตเพราะงาน วันพ้นวันไปอย่างไม่น่าเสียดายก็เพราะสิ่งนี้ และนอกจากเราเองที่เติบใหญ่ สิ่งที่เราทำก็ค่อยๆ งอกงามเติบโตเช่นเดียวกัน ซึ่งในแง่มุมนี้ ผมว่าบางทีมันอาจจะคล้ายๆ กับการเลี้ยงลูก

“กูมีความสุขตอนเห็นหน้าเขา เห็นว่าสิ่งที่กูทำทำให้เขาดูเติบโตดีมีความสุข ซึ่งถ้าไม่ใช่ลูก กูจะมีความรู้สึกนี้กับใครได้” ประโยคนี้ของเพื่อนผู้เป็นพ่อยังคงก้องดังในใจ

แน่นอน มันไม่ได้มีแต่แง่มุมความสุขหรอก ไม่ได้เป็นอย่างเรื่องเล่าในอุดมคติอย่างที่ใครว่าหรอก แต่บางครั้ง เราขอเพียงเมจิกโมเมนต์เดียวเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะบรรเทาความเหนื่อยล้าและบาดแผลที่ผ่านพบมา

แล้วผมก็นึกถึงตอนที่น้องในกองบรรณาธิการพิมพ์มาในกรุ๊ปไลน์ว่า “ลูกมาแล้ว”

เป็นช่วงเวลานั้นเองที่รอยยิ้มของพวกเราปรากฏ

 


สั่งซื้อ a day 225 ฉบับ Working Culture ย้อนหลังที่นี่

AUTHOR