เมื่อสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คิดการใหญ่พลิกเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นรันเวย์ล้านนาโอต์กูตูร์ หน้านิวส์ฟีดเฟซบุ๊กของใครหลายคน (รวมถึง a team เองด้วย) จึงลุกเป็นไฟด้วยความร้อนแรงและแพงมากของ ‘
เชียงใหม่-ใหม่’
ชุดภาพถ่ายของ CMU Ambassador 2017 ที่ไม่ได้ขายแค่ความสวยหล่อของเหล่าทูตกิจกรรมมหาวิทยาลัย
แต่ยังถ่ายทอดมุมมองหนุ่มสาวที่มีต่อเชียงใหม่ผ่านแฟชั่นได้อย่างน่าทึ่ง
เราหลงรักพลังหนุ่มสาวสโมสรนักศึกษาทุกคณะ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันที่ช่วยกันมะรุมมะตุมรุมน้อง Ambassador ให้เฉิดฉาย พร้อมกับขยายภาพเมืองเชียงใหม่ให้น่าสนใจกว่าที่คิด
โดยเฉพาะมุมธรรมดาอย่างสามแยกที่มีรถแดงผ่านไปมา รถเข็นปิ้งไก่ของคุณลุง หรือประตูเมืองเก่า จนเราต้องชวน
แพง-ธวัชชัย ถกลกิจสกุล Director & Fashion Stylist, เม่น-ดำรงศักดิ์ รอดเรือน ช่างภาพของภารกิจครั้งนี้ และทีมงานจากคณะต่างๆ
เท่าที่ติดต่อได้ทันเวลา มาเล่าเบื้องหลังไอเดียสร้างสรรค์ ตลอดจนกระบวนการทำงานสุดหินที่ให้ผลลัพธ์เกินคาด จนถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ปล่อยคอลเลกชันภาพถ่ายลงบนเพจ
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เชียงใหม่มุมมองใหม่
แพง : ถ้าทุกคนจำได้คือปีที่แล้วเราไม่ได้จัดกิจกรรมดาวเดือนมหาวิทยาลัย
สโมสรนักศึกษาฯ เขาเลยเกิดไอเดียว่าปีนี้จะนำกิจกรรมนี้กลับมาอีกครั้ง
แต่ต้องยิ่งใหญ่ และแปลกใหม่กว่าเดิม อย่างแต่ก่อนทุกคนจะใช้คำว่า CMU PR STAR SEARCH เป็นการเฟ้นหาดาวเดือนปกติ แต่ปีนี้เปลี่ยนมาเป็น CMU Ambassador
คือทูตกิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่แค่สวยหล่อ
แต่ยังนำเสนอความเป็นเชียงใหม่ได้ด้วย
แพงเข้ามาช่วยภารกิจน้องๆ ตามคำชักชวนของ
ลาบีม (ภาณุพงศ์ ใจรักษา) รุ่นน้องมหาวิทยาลัยที่ทำงานอยู่ในสโมสรนักศึกษาฯ ซึ่งคอนเซปต์หลักที่น้องๆ ให้มา คือ ‘The Reminisce ครั้งหนึ่งในความทรงจำ’ เอามาทำการบ้าน
จากนั้นจึงไล่ดูตารางกิจกรรมของน้องๆ ก็ไปสะดุดกับกิจกรรมการเก็บตัวของน้องๆ
ที่เชียงใหม่ศิลาดล (ร้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่การเคลือบสีเขียวมรกต
เนื้อดินใช้ดินจากดอยสะเก็ดมาผสมผสาน) ซึ่งน้องทุกคนจะได้เรียนรู้ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน แพงเลยเลือกที่จะให้น้องๆ นำเสนอความทรงจำเกี่ยวกับเชียงใหม่ในอดีตผ่านแฟชั่น ผ่านมุมมองคนหนุ่มสาว
เพื่อสร้างความทรงจำครั้งใหม่ เกิดเป็นแนวคิดการถ่ายภาพครั้งนี้ว่า ‘เชียงใหม่-ใหม่’
รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง
แพง : ตอนเริ่มทำกลัวนะ แต่เราตั้งใจให้ภาพรวมทุกอย่างเป็น high fashion จริงๆ เพราะรู้สึกว่าดาวเดือนไม่ได้เป็นแค่ดาวเดือน เราหาคนที่พร้อมทำงานได้ทุกด้าน ไม่ใช่แค่ประกวด
แต่อยากให้เกิดคุณค่ามากขึ้น มากกว่านั้นคือการสร้างกระแสที่ดีกับเชียงใหม่ด้วย ทุกอย่างเป็นความฟินของเด็กมหา’ลัยมากเลยนะ เราเห็นงานของเวทีใหญ่ๆ งานของนิตยสารดังๆ แล้วก็มีความฝัน
อยากลุกขึ้นมาทำบ้าง อยากท้าทายตัวเองบ้างถึงจะเป็นแค่กิจกรรมของมหาวิทยาลัยก็ตาม
เราเรียกประชุมพี่เลี้ยงทุกคณะแล้วก็เสนอแนวคิดให้ทุกคนเข้าใจว่าพวกเราสามารถสื่อสารความเป็นเชียงใหม่ได้ผ่านแฟชั่น เป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
ให้แต่ละคณะไปสร้างสรรค์ชุดได้เต็มที่
ทุกคนก็จัดเต็มสู้กันมาก ใช้เครื่องเงินวัวลาย ผ้าทอไทยภูเขามาทำให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
แต่ละคณะก็จะส่งแบบมาก่อนเพื่อคัดกรองว่าชุดนี้เยอะพอไหม น้อยไปรึเปล่า
ต้องเติมตรงไหน เอาจริงๆ ทุกคณะผ่านหมดเลย
น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้
ล้านนาโอต์กูตูร์เจ้า
แพง : เรื่องเสื้อผ้าทุกคณะสู้กันมาก ฟาดกันมาก สร้างสรรค์มาก
อย่างคณะรัฐศาสตร์นี่เขาหาชุดกันเอง เราชอบตรงที่เลือกใช้ม่อฮ่อม หรือม่อฮ่อมลายซิกแซกคล้ายกับสภาพภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่ที่เป็นภูเขา ซึ่งเขาทำให้มันดูแพงและมีความสตรีทในตัว
อย่างของน้องผู้หญิง
(โอบอ้อม-ปารีณา นิมาแสง) จะผสมผสานความทันสมัยเข้าไปด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาว
แล้วแทนที่น้องจะใส่กระโปรงก็ดีไซน์ชุดให้เป็นกางเกงซึ่งเท่มาก
นอร์ทเทิร์น (หนึ่งในทีมงานที่ช่วยดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้เข้าประกวดคณะรัฐศาสตร์)
: เราต้องการใส่ความมั่นใจและสนุกสนานลงไปในความเป็นเมืองเหนือ
สุภาภัทร วัณชิดนัย คนออกแบบหลักเป็นเพื่อนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
เขาก็ดีไซน์ให้ชุดผู้ชายเป็นเสื้อโค้ตแต่จับคู่กับขาสั้น ส่วนผู้หญิงเราเพิ่มลูกเล่นเข้าไปที่ตัวเสื้อเชิ้ตสีขาวที่มีความเป็นเมือง
ตัดกับชุดที่ทำจากผ้าม่อฮ่อมด้านใน ซึ่งเรามีพี่
มาร์คกี้-อรรถพล กาวินเครือ มาช่วยสไตล์ลิ่งชุดให้ออกมาอย่างที่เห็น
แพง : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะมีรุ่นพี่แพงเข้ามาช่วยออกแบบ ตัดเย็บหนึ่งวันก่อนถ่ายเท่านั้น เราเลือกใช้สะลี
คือที่นอนหรือฟูกลายโบตั๋นมาตัดเย็บเป็นชุด เพราะต้องการนำความคุ้นชินของคนเชียงใหม่ระดับล่างถึงกลางมาถ่ายทอด
แม้ว่าผ้านี้จะไม่ได้เกิดในเชียงใหม่
แต่ว่าคนเชียงใหม่หลายๆ ครอบครัวก็ใช้กัน บวกกับสถานที่ถ่ายซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนคนจีนด้วย เราก็เลยออกแบบชุดให้เป็นจีน
ญี่ปุ่น ชุดน้องผู้ชาย (เป้-กรศุทธิ์ สีหะวงษ์) ตั้งใจตัดที่นอนลายโบตั๋นให้คล้ายกิโมโน ต่อแขนด้วยผ้าสีดำยาวคลุมปิดมือเหมือนชุดขุนนางจีนสมัยก่อน น้องผู้หญิง (เจจู-นภัสสร นาเนกรังสรรค์)
นำสะลีโบตั๋นมาตัดเป็นกระโปรงทรงฟักทอง ให้ความรู้สึกว่าฉันเป็นเจ้าหญิงแห่งกาดหลวง เป็นความฟินของพี่ดีไซเนอร์เขา เขาอยากให้เดินกาดหลวงแล้วพรึม! (หัวเราะ)
อีกคณะที่ดูแพงมากคือคณะวิจิตรศิลป์ รุ่นพี่คณะเขาออกแบบและตัดเย็บมาให้น้องเอง เป็นมาดามมาก เพราะเขาเติมพวกขน พวกเฟอร์เขาไป เครื่องหัวเป็นเครื่องทองเชียงใหม่
แล้วมาเป็นสีทองคณะเดียวเลย
อีกคณะที่ชอบมากคือคณะสังคมศาสตร์ ชุดน้องผู้ชาย (ออล-อติวิชญ์ ยาโน) เขาผสมผสานเสื้อคอเต่ากับเสื้อโค้ตปกข้างในเป็นผ้าไทยภูเขาสีขาว-ดำ
จับคู่กับเครื่องเงิน กางเกงขาสั้นที่ดูสตรีท ทุกอย่างลงตัวมาก เราเห็นยังรู้สึกเลยว่าฉันสามารถใส่แบบนี้ในกรุงโซลได้ แล้วบวกกับลุคน้องเขาที่ดูเกาหลี มันเลยส่งเสริมกันไปหมด
แต่ถ้าถามเรื่องอินเนอร์
ต้องยกให้คณะสื่อสารมวลชนเลย ประทับใจมาก เขานำเสนอชุดที่ใส่ออกมาได้ดูแพงมาก ยิ่งรูปคู่ ทั้งต้าร์ (ภูริณัฐ ชัยบุญลือ) และการ์ด (มโนรส สิทธิไชย) จะเห็นว่าน้องทั้งสองไปกาดหลวงด้วยความมุ่งมั่นมาก
เปลี่ยนเชียงใหม่ให้กลายเป็นรันเวย์
แพง : พอได้แบบชุดมาเราก็พยายามวางโลเคชั่นคร่าวๆ ให้แต่ละคณะ ถ่ายตั้งแต่ถนนท่าแพ ถนนช้างม่อย ไปถึงถนนกาดหลวง มีตั้งแต่โลเคชั่นง่ายๆ อย่างเสาไฟฟ้า ป้าย ตึกธรรมดาที่คนผ่านไปมาทุกวันไม่ได้เงยหน้าขึ้นไปมอง จริงๆ ตึกตามถนนเส้นที่เลือกมาหลากหลายมาก เป็นสถาปัตยกรรมทั้งยุคโมเดิร์น โคโลเนียล ล้านนา ผสมผสานกันไปเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านภาพถ่าย ส่วนนี้ต้องบอกก่อนว่าเราก็มีทีมถ่าย VTR เขาก็จะไปสเกาต์สถานที่ให้ก่อน
วิธีลำดับก็ใช้การจับฉลาก คณะแรกคือคณะมนุษยศาสตร์ เราก็ตั้งใจเปิดด้วยประตูท่าแพ เป็นจุดที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น มีเรื่องราวในตัวและเป็นจุดที่มีคนพลุกพล่าน มีรถผ่านไปผ่านมา กับอีกจุดคือวัดเก่าแก่ที่คนไม่ค่อยนึกถึง เช่น วัดมหาวัน วัดนามธารี
กระบวนการทำงานที่ร้อนแรงแข่งกับแสงแดด
เม่น :
โจทย์ที่ได้จากทีมคือการนำเสนอผู้เข้าประกวดผ่านการแต่งกายด้วยภูษาอาภรณ์และเครื่องประดับ
ที่สะท้อนภาพเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน ซึ่งน้องๆ แต่ละคณะจะอยู่ตามจุดต่างๆ ตามที่ทีมวีดีโอได้กำหนดไว้ในละแวกประตูท่าแพไปจนถึงกาดหลวง
โดยมีเวลาถ่ายภาพให้เพียงคณะละ 20 นาที พอเวลามีจำกัด
ผมจึงใช้สัญชาตญาณตัวเองส่วนใหญ่ในการหาจุดเด่นของน้องๆ เสื้อผ้า
และองค์ประกอบรอบข้างในบริเวณนั้นซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้มากนัก
เพราะจำเป็นต้องทำงานให้ได้ภาพทันเวลา
แพง
: ตอนแรกพวกเรากลัวว่าจะถ่ายทันไหม จะได้ไหม
เพราะเราใช้เวลาการถ่าย 2 วัน 20 คณะ คณะละ 40 นาที แบ่งเป็นภาพนิ่ง 20 นาที VTR 20 นาที เริ่มถ่ายตั้งแต่เก้าโมงเช้า และต้องจบให้ได้ภายในห้าโมงครึ่งก่อนแสงจะหมด ถ้าแสงหมดก่อน น้องคณะที่ได้คิวสุดท้ายก็จะเฟล เราต้องจัดการทุกอย่างให้ดี ให้ความสำคัญกับน้องๆ เท่ากัน อยากบอกว่าทุกฝ่ายเต็มที่มากๆ บางคณะหาชุดมา บางคณะทำชุดมาเอง
เขาดูแลน้องดีมาก พี่ช่างภาพก็มาคนเดียว ถ่ายเอง แต่งภาพเอง น้องดาวเดือนหลายคนก็ไม่เคยผ่านงานแบบนี้แต่เขาก็พยายามนำเสนอชุดที่ใส่
นำเสนอโลเคชั่นเมืองเชียงใหม่ออกมาได้
อยากเล่นใหญ่ ใจต้องสู้
แพง
: ตอนแรกเราจัดเรียงคณะให้เข้ากับสถานที่ถ่ายทำต่างๆ
แต่พอถึงหน้างานปุ๊บมีเรื่องผิดแผนไปมาก ปัจจัยต่างๆ ทำให้เราไม่สามารถจัดเรียงได้ตามแผน
ทำให้ผลที่ออกมาไม่ได้มีเรื่องราวต่อเนื่องกันมากเท่าที่คิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเกินความคาดหมายคือความหลากหลาย กลายเป็นว่าความไม่ตั้งใจบางครั้งก็สร้างผลลัพธ์ดีๆ
ที่คาดไม่ถึง อย่างคณะแพทยศาสตร์ ตอนแรกเราแพลนว่าอยากให้ได้กาดดอกไม้ แต่ด้วยชุดน้องกับส่วนสูงของน้องที่ไปอยู่ในนั้นแล้วดูคับไปหมด
บวกกับแสงที่ใกล้จะหมด ก็มีน้องคนหนึ่งบอกว่า ถ่ายกับรถสามล้อไหม กลายเป็นว่าลงตัว
ส่วนน้องผู้ชาย (แจ็ก-สุรพศ แซ่เยี่ยง) ก็ถ่ายกับรถเข็นขายไก่ปิ้ง ไม่ได้ตั้งใจไว้ แต่กลายเป็นว่าพวกเราได้ภาพที่สื่อให้เห็นความวุ่นวายของตลาด โดยเฉพาะช่วงห้าโมงครึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างกาดเช้าเพื่อไปกาดกลางคืน แล้วแสงเย็นที่ส่องมาที่น้องซึ่งเป็นคณะสุดท้ายพอดี พวกเราทุกคนก็รู้สึก โอ๊ย! โล่งใจมาก
เม่น : เราถ่ายทำกันกลางแดดจัดทั้งสองวัน ซึ่งวันแรกที่ถ่ายมีฝนตกมาด้วยอีกต่างหาก
แถมสถานที่ถ่ายทำเป็นพื้นที่สาธารณะมีผู้คนพลุกพล่านและรถสัญจรไปมาตลอดเวลา
ในแต่ละภาพก็จะมีความยากง่ายที่ต่างกันออกไป สิ่งต่างๆ ที่พูดมานี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ทำได้เพียงแค่อาศัยจังหวะกดชัตเตอร์เพื่อให้ได้ช็อตที่ต้องการ
การจัดแสง ในการถ่ายครั้งนี้เป็นการถ่ายกลางแดดจัดซะส่วนใหญ่ และต้องอาศัยความรวดเร็ว ย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ผมจึงเลือกใช้แค่ไฟแฟลชตัวเดียวโดยมีน้องทีมงานคอยช่วยถือให้ การรีทัชผมเน้นไปที่มู้ดแอนด์โทนของภาพโดยรวมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า
ส่วนตัวคิดว่าโจทย์ไอเดียที่ได้เป็นสิ่งท้าทายและน่าตื่นเต้น ตอนถ่ายผมก็สนุกไปกับสิ่งที่ทำและทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่ปัจจัยต่างๆ จะเอื้อได้ในขณะนั้น
แพง
: ทีมสโมสรฯ เองคาดหวังว่าไม่โดนด่าก็พอแล้ว (หัวเราะ)
เรากลัวมาก เพราะครั้งแรกที่ประชุมกับคณะเขาก็งงๆ เหมือนกัน เฮ้ย! เอาแล้ว งานยากแล้ว
คณะเขาจะด่าไหม? รูปที่ออกมาจะดีไหม? คุณภาพงานจะออกมาดีไหม? แต่ก่อนเรื่องรูปถ่ายชุดนักศึกษาเราทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ทุกคนชื่นชมในตัวน้อง ภาพลักษณ์น้อง
แต่ครั้งนี้พวกเราอยากให้เขามองเห็นเมืองเชียงใหม่ ความเป็นเชียงใหม่ผ่านเสื้อผ้า
ผ่านสถานที่ ผ่านตัวตนน้องๆ พวกเราเล่นใหญ่มาก ไม่เคยทดลองทำภารกิจใหญ่ขนาดนี้มาก่อน
หลายคนใหม่มากกับเรื่องนี้ พอภาพออกมาทุกคนใจเต้นเลย คือดีกว่าที่เราวาดไว้ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเพราะทุกคนสู้
และเต็มที่กับงานครั้งนี้มากจริงๆ
ภาพ ดำรงศักดิ์ รอดเรือน และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่