Naiipa Art Complex ห้องทำงานกลางต้นไม้ใหญ่ในฝันของทุกคน

เราได้ยินชื่อของ Naiipa Art Complex พื้นที่รวมตัวคนรักและทำงานด้านศิลปะแห่งใหม่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง และเคยได้ไปเยี่ยมเยียนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตัวอาคาร 2 หลังที่เชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหลและกลมกลืนไปกับต้นไม้เขียวๆ ขนาดใหญ่ทำเราตื่นเต้นไม่น้อย เพราะไม่ค่อยเจอพื้นที่แบบนี้บ่อยในกรุงเทพฯ พอได้ข่าวว่าเดือนมิถุนายนปีนี้ที่นี่จะเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการ ทั้งในส่วนของออฟฟิศให้เช่า คาเฟ่ และโคเวิร์กกิ้งสเปซใกล้ๆ ชื่อ Pencave ให้คนเมืองได้มาใช้เวลาในวันหยุดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เลยเป็นเหตุผลให้เราชวน เก้-ศาณ์ปัฏ รักษ์ขิตวัน Co-Founder ของพื้นที่นี้ และ ดิว-ชนาสิต ชลศึกษ์ ตัวแทนสถาปนิกผู้ออกแบบจากบริษัทสถาปนิกน้องใหม่ที่น่าจับตามอง Stu/D/O Architects มาย้อนพูดคุยกันถึงไอเดียและขั้นตอนการก่อร่างสร้างพื้นที่แห่งนี้กันตั้งแต่เริ่มแรก

1

พื้นที่ของครอบครัว

ศาณ์ปัฏ: “ที่ตรงนี้มีมาตั้งแต่สมัยทวด ทวดพายเรือมาตั้งแต่สุขุมวิทยังเป็นคลอง แล้วก็ตกมาถึงรุ่นตายายจนถึงพ่อแม่ เขาก็ปลูกต้นไม้กันเยอะมาก พอคิดจะใช้ที่ตรงนี้ทำอะไรสักอย่างก็เป็นจิตสำนึกง่ายๆ ว่าเราไม่อยากให้ตัดต้นไม้เลย เพราะต้นไม้พวกนี้แก่กว่าผมอีก เลยบรีฟกับทีมสถาปนิกไปง่ายมากเลย คือทำยังไงก็ได้ แต่ต้องเก็บต้นไม้ไว้หมด ห้ามตัด”

“ตอนแรกก็มีคุยกับสถาปนิกเจ้าอื่นไว้ก่อน แต่พอดีทีม Stu/D/O Architects นี่ได้เพื่อนของคุณแม่แนะนำมาอีกที เราก็ประทับใจที่พี่เขาให้ความสำคัญกับการเก็บต้นไม้ พอเราบอกโจทย์ไป เขาก็เห็นว่าดี อยากทำ และน่าจะคิดโครงการเจ๋งๆ ขึ้นมาได้ ก็เอาเลย เพราะสถาปนิกบางคนเขามองว่าการเก็บต้นไม้ใหญ่เป็นภาระเพิ่มของเขานะ แต่กับทีมนี้ไม่ใช่แบบนั้น เขาสนุกกับเรา ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นงานแรกๆ ของเขาเลยด้วย”

2

เชื่อมโยงกันด้วยศิลปะ

ชนาสิต: “ตัวโปรแกรมตอนเริ่มต้นยังไม่นิ่งมาก เราก็ปรึกษากับคุณเก้ว่ามีโปรแกรมลักษณะไหนบ้างที่เหมาะสมกับทำเลที่ตั้งและบริบทโดยรอบ ซึ่งโปรแกรมสุดท้ายที่เรานำเสนอคืออาร์ตคอมมูนิตี้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความสนใจในศิลปะด้านต่างๆ ของเจ้าของโครงการ”

ศาณ์ปัฏ: “ผมเองทำงานด้านกราฟิก พี่สาวเปิดโรงเรียนสอนเต้นและการแสดง ส่วนน้าผมก็ทำห้องอัดดนตรี พอมาดูทั้งหมดก็เกี่ยวกับศิลปะ เราเลยอยากทำเป็นออฟฟิศกัน และไหนๆ ทำแล้วก็เปิดให้คนอื่นมาเช่าด้วยเลยดีกว่า เป็นคอมมูนิตี้ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนทำงานสายอาร์ตทั้งหมด จะได้ช่วยเปิดวิสัยทัศน์และมุมมองของเราให้กว้างขึ้นด้วย มีร้านกาแฟ มีแกลเลอรี่ไว้โชว์งานศิลปะ แต่ถ้าใครอยากจะเช่าพื้นที่ตามตึกตามบันไดไว้โชว์งานก็ได้นะ ไม่ปิดกั้น”

3

อาคารกลางต้นไม้ใหญ่


ชนาสิต: “พอต้นไม้เป็นพระเอก จะทำยังไงให้สถาปัตยกรรมมันเข้าไปอยู่ในต้นไม้อย่างกลมกลืน เราเริ่มสำรวจพื้นที่ว่าต้นไม้เดิมอยู่ตรงไหนบ้าง พื้นที่ไหนสามารถสร้างอาคารได้โดยไม่รบกวนต้นไม้ แบบที่เสนอไปตอนแรกมี 2 แบบคือ อาคารที่เรียบๆ แล้วไปเล่นกับที่ว่างข้างใน อีกแบบคือเล่นกับฟอร์มที่ค่อนข้างออร์แกนิก บิดเบี้ยวๆ แทรกเข้ากับธรรมชาติ ซึ่งคุณเก้ก็ชอบทั้ง 2 ไอเดีย ก็เลยเอามารวมกันให้แมสของอาคารนิ่งๆ และมีพื้นที่เชื่อมตรงกลางแทรกไปตามฟอร์มของต้นไม้ ซึ่งแบบนี้ก็ดูทำได้จริงด้วย เพราะถ้าสร้างอาคารหลักให้บิดไปตามฟอร์มของต้นไม้จะค่อนข้างยากและแพง”

“เราแบ่งอาคารเป็น 2 ส่วน คือตึก A รูปทรงแนวนอน เพราะเงื่อนไขคือมีต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ต้นใหญ่มากที่อยู่ตรงกลาง ถ้าสร้างตึกสูง 3 ชั้น ต้นไม้อาจตายได้เพราะได้รับแสงไม่พอ กับตึก B ไม่มีต้นไม้อะไร เราก็สามารถทำได้ 3 ชั้นเต็มพื้นที่”

4

ลื่นไหลไปตามกิ่งก้าน


ชนาสิต: “พื้นที่ตรงกลางเป็นกลุ่มต้นไม้ค่อนข้างเยอะ เราเลือกทำเป็นพื้นที่โล่งๆ ไว้จัดอีเวนต์หรือนิทรรศการศิลปะกลางแจ้ง ส่วนทางเดินเชื่อมระหว่างตึก A กับตึก B ออกแบบให้เป็นโครงสร้างเหล็กจะได้กระทบต้นไม้น้อยที่สุด เพราะไม่มีน้ำปูนที่จะทำให้ต้นไม้ตาย แถมยืดหยุ่นปรับไปตามรูปทรงกิ่งก้านต้นไม้ที่ยื่นออกมาได้ง่ายกว่าคอนกรีต”

“แบบที่ทำไว้ตอนแรกแทบไม่ได้ใช้เลย เพราะเรารู้แค่ตำแหน่งต้นไม้ แต่เราไม่รู้ว่า พออาคารขึ้นมาเป็น 3 มิติแล้วกิ่งก้านต้นไม้จะอยู่ยังไง สุดท้ายเราต้องปรับงานออกแบบของเราไปตามลักษณะของต้นไม้ ซึ่งต้องชมผู้รับเหมาว่าทำได้ดีในงานที่ค่อนข้างซับซ้อน”

5

ต้นไม้สำคัญที่สุด

ศาณ์ปัฏ: “พอมีต้นไม้ด้วยเราก็ต้องมาดูว่าจะตัดรากยังไง ก่อนที่จะเทปูนหรือเจาะเสา เราจะคิดก่อนเลยว่า เฮ้ย! มันมีรากต้นไม้เปล่าวะ ก็ต้องขุดดู ตอนแรกทั้งผมและผู้รับเหมาไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้ว่าจะต้องตัดยังไง แต่โชคดีมากที่เราได้ครูต้อ (ธราดล ทันด่วน) รุกขกรมาช่วยดูให้ฟรีๆ เลย ครูต้อจะรู้ว่ารากต้นไม้แผ่ไปมากแค่ไหน และยังส่งลูกน้องมาช่วยดูตอนตัดแต่งกิ่งต้นไม้ด้วย หรืออย่างตอนจะเทปูนก็ต้องเชิญครูต้อมาช่วยดู”

6

การออกแบบที่ต้องระดมสมอง

ชนาสิต: บันไดตรงชั้น 2 ของตึก A ก็ปรับกันใหม่ตอนก่อสร้าง เพราะตอนแรกออกแบบให้ขึ้นตรงๆ แล้วเราต้องตัดกิ่งต้นชมพูพันธุ์ทิพย์เยอะ เลยทำเวิร์กช็อปกับน้องๆ และเด็กฝึกงานในออฟฟิศ ประกวดแบบกันภายในว่าจะทำยังไงให้ได้บันไดที่เดินแทรกในต้นไม้ลงตัวที่สุดและสร้างได้จริง ก็ออกมาเป็นรูปแบบที่พาดข้ามระหว่างกิ่งของต้นไม้ ทำให้ยังเก็บกิ่งใหญ่ๆ ไว้ได้หมด”

7

เพิ่มพื้นที่ป่าด้วยกระจกสะท้อน


ชนาสิต: “เราไปไซต์งานบ่อยเลยค่อนข้างเข้าใจสภาพแวดล้อมมากพอสมควร อย่างโซนด้านหน้าที่ติดถนนจะค่อนข้างร้อนเพราะไม่มีต้นไม้ เราเลยมีไอเดีย ทำส่วนนี้ให้เป็นกระจก 2 ชั้น (Double Skin) แต่ด้วยพื้นที่ขายของโครงการมีไม่เยอะ เราเลยทำได้แค่บางส่วน และเลือกใช้กระจกฝ้า (Translucent Glass) ช่วยกรองความร้อนบางส่วนและสร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ออฟฟิศเช่าด้วย ส่วนห้องรังนกตรงกลางที่เป็นห้องจัดแสดงงานศิลปะ ก็ใช้กระจกสะท้อน (Reflective Glass) ช่วยขยายมิติของความเป็นป่าให้กว้างขึ้น ลวงตาให้ขอบเขตของอาคารกลืนหายไปกับต้นไม้ ถ้ามองจากด้านนอกเข้าไปด้านในที่มืดกว่า เราก็จะเห็นภาพสะท้อน แต่ถ้ามองจากข้างในก็ยังเห็นข้างนอกชัดอยู่นะ”

ศาณ์ปัฏ: “ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับตอนก่อสร้างนี่แหละครับ บางอย่างเปลี่ยนวัสดุแล้วมันดีในระยะยาวก็ต้องทำ อย่างกระจกสะท้อนที่ทำมาก็ต้องติดฟิล์มซึ่งเป็นรอยไม่ได้ เราเลยต้องเอากระจกมาเสริมอีกชั้นหนึ่ง สรุปเป็นบัง 3 ชั้น ถ้าคิดในแง่ที่ลูกค้าจะได้ก็ช่วยลดความร้อนไป มันก็โอเค แต่ว่าผมก็เจ็บไปอีกสเต็ปหนึ่งเหมือนกัน”

8

เปิดเมื่อพร้อมที่สุด

ศาณ์ปัฏ: “ความจริงต้องเสร็จตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่ก็บอกเดือนหน้าๆ มาหลายรอบแล้ว (หัวเราะ) กำหนดการเสร็จที่มันช้าลงไปเรื่อยๆ เพราะเราเจอปัญหาหน้างานตลอด แต่เราก็ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ”

ชนาสิต: “ปัญหาใหญ่ๆ น่าจะเป็นเรื่องน้ำกับฝน เพราะเราออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิดที่ถ่ายเทอากาศได้ดี กลายเป็นว่าพอฝนตกแรงๆ น้ำก็ซัดเข้ามา ต่อให้ปิดม่านแล้วก็ยังมีน้ำเข้าอยู่ ปัญหาที่เจอก็ยังต้องแก้กันต่อไป”

9

ทำเพื่อให้เป็นความทรงจำ

ศาณ์ปัฏ: “เราตั้งใจให้คนที่มารู้สึกอินไปกับธรรมชาติได้ เพราะศิลปะกับธรรมชาติเป็นคอนเซปต์ของโครงการอยู่แล้ว เวลาเลือกออฟฟิศที่จะมาเช่าพื้นที่ก็ต้องติสต์ก่อน (ยิ้ม) อาจจะยึดจากการคุยกันว่าชอบหรือไม่เป็นหลัก เลยอยากให้ที่นี่มีสิ่งที่ตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของคนสายอาร์ต มีพื้นที่ให้แชร์ไอเดียและพบปะคนคอเดียวกัน เป็นประโยชน์และตัวอย่างของสังคมที่มุ่งเน้นการเห็นความสำคัญของต้นไม้และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในอนาคตก็อยากจัดตลาดนัดหรืออะไรที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น”

“ตอนงาน Wallpaper* Handmade Exhibition 2015 เราก็ดีใจที่คนมาเยอะ ชื่นใจขึ้นหน่อยว่าคนเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าของต้นไม้ เพราะระหว่างที่ทำเราก็เจอคำพูดบั่นทอนมาเยอะเหมือนกัน เก็บต้นไม้ไว้ทำไม ไม่คุ้มหรอก ตัดออกไปให้หมด ทำคอนโดฯ ได้เงินเร็วกว่าตั้งเยอะ แต่เราก็ทำไม่ลงนะ เป็นโจทย์แรกอยู่แล้วว่าจะเก็บที่ดินที่ทวดให้ไว้ เก็บทุกอย่างที่เป็นความทรงจำ”

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข, ศาณ์ปัฏ รักษ์ขิตวัน, Stu/D/O Architects และภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

AUTHOR