อุทยานจุฬาฯ 100 ปี : สวนสาธารณะยุคใหม่ที่ตั้งใจตอบโจทย์กรุงเทพฯ ในอีก 100 ปี

ใครๆ ก็รู้ว่าพื้นที่สีเขียวจำเป็นสำหรับมนุษย์ เมื่อได้ยินว่ากรุงเทพฯ กำลังจะมี ‘อุทยานจุฬาฯ 100 ปี’ สวนสาธารณะกลางเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อฉลองวาระครบหนึ่งศตวรรษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราจึงรีบรุดไปชมข่าวดี สวนใหม่เอี่ยมนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ของจุฬาฯ ออกแบบโดยบริษัท LAND PROCESS และ N7A Architects เป็นสวนที่ต่างจากสวนสาธารณะที่เราคุ้นเคยทั้งหน้าตาและวิธีคิด เพราะคนสร้างตั้งใจให้เป็นสวนยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่เป็นปอดให้คนเมือง แต่ยังเป็นห้องทดลองนวัตกรรม เป็นพื้นที่ที่ช่วยตอบโจทย์เมืองของเราในอนาคต

ยามเย็นที่พระอาทิตย์กำลังตกดิน เราเงยหน้ารับลมเย็นสดชื่นที่พัดผ่านต้นไม้และสระน้ำของอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ก่อนนั่งลงฟังความช่างคิดเบื้องหลังสวนนี้จาก กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกสาวแห่ง LANDPROCESS ที่ร่วมสร้างสวนมาตั้งแต่ยังเป็นเส้นความฝันบนกระดาษ

\\

สวนที่เปรียบเหมือนรากจามจุรี

กชกรเล่าว่า เรื่องราวของสวนแห่งนี้เริ่มต้นใน พ.ศ. 2555 เมื่อจุฬาฯ จัดประกวดออกแบบพื้นที่ประมาณ 30 ไร่บริเวณสวนหลวง-สามย่าน ซึ่งในแผนผังกำหนดไว้เป็นสวนสาธารณะมาแต่ต้นให้เป็น ‘อุทยานจุฬาฯ 100 ปี’ เพื่อฉลองวาระจุฬาฯ ครบหนึ่งศตวรรษ LANDPROCESS เป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ด้วยไอเดียที่อยากสร้างสวนยุคใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สีเขียวแต่มีหน้าที่ช่วยเมือง โดยมองไปข้างหน้าว่าอีก 100 ปี สวนนี้ควรเป็นตัวอย่างแก่สังคมในด้านไหน

หลังศึกษาค้นคว้า ทีมงานพบว่ากรุงเทพฯ ใน 100 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จะต้องพบสถานการณ์ภัยแล้งสลับกับน้ำท่วม LANDPROCESS จึงตั้งใจออกแบบสวนเพื่อเป็นตัวอย่างพื้นที่จัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาเปรียบสวนนี้กับรากของต้นจามจุรี (Rain Tree) ต้นไม้สัญลักษณ์ของจุฬาฯ ที่นอกจากให้ร่มเงาเกื้อกูลสิ่งรอบข้าง ยังมีรากที่มีศักยภาพเก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินด้วย

สวนที่ช่วยเมืองดูแลน้ำ

แนวคิดที่แตกต่างสะท้อนสู่สวนสาธารณะที่ไม่เหมือนใคร หน้าที่แรกของอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ คือกักเก็บน้ำทุกหยดไว้ใช้ พื้นที่โดยรวมของสวนจึงถูกยกขึ้นจนลาดเอียงเพื่อให้น้ำฝนไหลมารวมกันที่สระรับน้ำด้านหน้าสุด (Retention Pond) รวมถึงไหลลงด้านข้างที่มีส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ไว้รองรับน้ำ ขณะที่บริเวณอื่นซึ่งเป็นผืนดินก็มีทั้งสนามหญ้าและต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำ ส่วนตรงไหนเป็นปูนก็ใช้วัสดุอย่างคอนกรีตรูพรุน (Porous concrete) แทนคอนกรีตปกติที่น้ำซึมสู่ดินไม่ได้ และถ้ามีน้ำเหลือบนพื้น น้ำนั้นจะไหลไปสู่สวนน้ำฝน (Rain Garden) ทางระบายน้ำที่ไม่ได้มีการวางท่อ แต่เป็นทางที่เรียงรายด้วยไม้พุ่มและพืชคลุมดินต้นไม้เล็กๆ ซึ่งช่วยซับน้ำ

นอกจากกักเก็บ อุทยานนี้ยังช่วยบำบัดน้ำเสียให้กลับใสสะอาดโดยต่อเชื่อมไปยังละแวกเพื่อนบ้านให้น้ำซึ่งผ่านการบำบัดแล้วรอบหนึ่งไหลมาบำบัดต่อที่ส่วนระบบบำบัดน้ำ Wetland ด้านข้าง นอกจากนี้น้ำในสวนเองเมื่อไหลลง Rain Garden สู่รากต้นไม้เล็กๆ ในทางระบายน้ำนั้นก็มีคุณสมบัติช่วยบำบัดน้ำด้วย

สวนที่เป็นห้องเรียนกลางแจ้ง

นอกจากเป็นตัวอย่างเรื่องจัดการน้ำ อุทยานแห่งนี้ยังตั้งใจจะเป็นห้องเรียนนอกห้องเรียนของเหล่านิสิตจุฬาฯ และชุมชนที่น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้หลัก แต่แทนที่จะยกส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ไว้ตรงกลาง กชกรเลือกใช้วิธีใหม่คือกระจายส่วนห้องเรียนไว้รอบๆ เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวคึกคักรอบขอบสวน สร้างความปลอดภัยรวมถึงชวนให้คนอยากเข้ามาใช้พื้นที่ ขอบสวนแต่ละด้านจึงถูกแบ่งออกเป็นห้องเรียนกลางแจ้ง 8 ห้อง แต่ละห้องคอนเซปต์ต่างกันไป เช่นห้อง Herb Room ที่มีสวนสมุนไพรและพื้นที่ให้นั่งเล่นได้ และห้อง Earth Room ที่มีที่นั่งก่อจากดินหลากสีที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ใครๆ ก็มาใช้พื้นที่นี้ได้อย่างอิสระ หรือถ้าอาจารย์อยากพานักเรียนทั้งห้องมา แค่โทรมาจองไว้ก่อนก็เรียบร้อย

สวนที่ยืดหยุ่นตามผู้ใช้

พื้นที่
30 ไร่ของสวนถูกคิดไว้รองรับคนใช้ตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพัน เช่น ถ้ามากันไม่เกิน 50 คนก็นั่งกระจายตามห้องเรียนกลางแจ้ง ถ้าคนชักเยอะก็ใช้ส่วนสนามหญ้าโล่งกว้างและพื้นที่ที่เรียกว่า Outdoor Amphitheater หรือส่วนที่นั่งทรงครึ่งวงกลมแบบโรงละครสมัยก่อนซึ่งกระจายอยู่ทั่วสวน ไม่ใช่แค่ปริมาณคนยืดหยุ่น กชกรยังตั้งใจให้สวนนี้ใช้งานได้หลากหลาย นอกจากมานั่งเรียน เราเลยน่าจะได้เห็นเด็กๆ สายละครเวทีมาฝึกซ้อมละคร คนในชุมชนใกล้เคียง มาวิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นว่าวในยามแดดร่มลมดี คนทั่วไปมาจัดอีเวนต์เชิงสร้างสรรค์ที่สนุกสนาน และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่ผู้ใช้ต้องการ

สวนที่ตั้งใจเป็นป่าในเมือง

เมื่อก้าวเข้ามาในสวน เราจะได้เจอต้นไม้เขียวทั้งเล็กใหญ่ กชกรบอกว่าเธอตั้งใจไม่ใช้ต้นไม้ต่างถิ่น แต่ใช้พันธุ์ไม้ป่าแปลกตาที่คิดมาแล้วว่าเหมาะกับกรุงเทพฯ และสวนสาธารณะ ในสวนนี้เลยมีไม้ป่าชื่อคุ้นอย่างไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้ตะเคียน จนถึงต้นไม้ชื่อแปลกอย่างขานาง มะหาด เสม็ด โดยจะเลือกต้นไม้ประจำถิ่นของจังหวัดต่างๆ ไปปลูกใน 8 ห้องเรียนกลางแจ้งแบบ 1 ห้อง 1 พันธุ์ นอกจากคัดสรรพันธุ์ไม้ ทีมงานยังตั้งใจคัดขนาด โดยไม่เลือกล้อมต้นไม้ใหญ่มาปลูก แต่เลือกเพาะพันธุ์จากกล้าและต้นไม้วัยหนุ่มสาวเพื่อให้ทุกต้นเติบโตไปพร้อมพื้นที่อย่างมั่นคง

สวนที่ไม่ได้มีแค่ที่โล่ง

ในสวนแห่งนี้ไม่ได้มีแค่พื้นที่กลางแจ้ง แต่ยังมีอาคารเอนกประสงค์หลังใหญ่ 1 หลังที่คอนเซปต์เท่ไม่เหมือนใคร เพราะมันซ่อนตัวอยู่ใต้ส่วนเนินดินด้านบนสุดซึ่งเรียกว่า Green Roof หรือหลังคาดินที่เขียวชอุ่มด้วยวัชพืช นอกจากแทบไม่ต้องดูแลรักษา เนินที่ว่ายังช่วยดูดซับและกระจายความร้อนให้ตัวอาคาร ตึกนี้จึงเป็นพื้นที่ที่ทั้งสวยแปลกตาและเย็นสบายน่ามาใช้งานเป็นที่สุด

สวนที่ปลอดภัยแต่ไม่ปิดกั้น

สวนแห่งนี้มีรั้วกั้นที่เปิด-ปิดได้ แต่ขณะเดียวกันรั้วที่ว่าก็ไม่ได้ปิดทึบ เพราะกชกรอยากให้คนนอกสวนและในสวนมองเห็นกันได้เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเช่น การฉกชิงวิ่งราว ความโล่งโปร่งของพื้นที่และบริเวณขอบที่เป็นบรรยากาศห้องเรียนยังช่วยเชื้อเชิญให้คนอยากเข้ามาใช้สวนมากขึ้น

สวนที่ไม่สิ้นสุดแค่ในสวน

อุทยานจุฬาฯ 100 ปีไม่ได้สิ้นสุดแค่แนวรั้วหรือส่วนห้องเรียนตรงขอบสวน แต่ยังกินความถึงถนนจุฬาฯ 100 ปี (ซอยจุฬาลงกรณ์ 5) ที่อยู่ติดกัน แต่เดิมจุฬาฯ ตั้งใจพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงถนนนี้ให้เป็นตึกสูงลิ่ว ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าด้านหน้าต้องเป็นพื้นที่ถนน 30 เมตร ถนนสายนี้จึงกว้างขวาง กชกรและทีมงานลงมือเปลี่ยนแปลงถนนที่เคยมีจุดหมายเชิงธุรกิจให้เป็นถนนเพื่อคนเดินและการปั่นจักรยาน เพื่อช่วยต่อแนวแกนหรือแนวเครือข่ายพื้นที่สีเขียวของจุฬาฯให้เชื่อมโยงกันชัดเจน ไม่ขาดตอนเหมือนที่ที่ดินของจุฬาฯ มีถนนพญาไทผ่ากลาง จากถนนสี่เลน ถนนจุฬาฯ 100 ปีโฉมใหม่กลายเป็นถนนสองเลน มีเลนจักรยาน มีทางเท้ากว้างขวาง รวมถึงปลูกต้นไม้ร่มรื่นและยังมีทางระบายน้ำแบบ Rain Garden ตลอดแนวถนนที่ช่วยให้ฝนตกแล้วไม่ไหลลงท่อสูญเปล่า แต่เพิ่มความชุ่มชื่นให้รากไม้และงอกงามเป็นร่มเงาสู่ถนน เพราะฉะนั้นไม่ต้องเดินเข้าไปถึงในสวน แค่เดินริมถนนใกล้ๆ ก็จะได้เห็นการจัดการพื้นที่ซึ่งช่วยทั้งเมืองและคนอยู่อาศัย ตามความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากรังสรรค์พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในวันนี้และอนาคต

“เราคิดว่าไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ใช้พื้นที่กลางแจ้ง แต่มันไม่มีโอกาส เราไม่มีวิถีชีวิตหรือไม่มีการช่วยให้วิถีชีวิตอย่างนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเราว่าที่สวนนี้น่าสนใจเพราะเป็นสวนสาธารณะระดับชุมชนอยู่ใกล้จุฬาฯ อยู่กลางเมือง แล้วเราก็พยายามสร้างนวัตกรรมให้คนมาใกล้ชิด มาเรียนรู้ธรรมชาติได้ และปกติแล้วถ้าสร้างอะไรเราคงไม่ได้คิดว่ามันต้องอยู่ต่อไปอีกร้อยปี แต่เราว่าสวนนี้เป็นการมองไปในอีกร้อยปีข้างหน้า คนรุ่นเราทิ้งอะไรไว้ให้จุฬาฯ ให้คนรุ่นต่อไปมาเรียนรู้พักพิงเราคิดว่าสวนนี้เป็นการส่งต่อจุฬาฯ ในศตวรรษใหม่ที่ยั่งยืน” กชกรกล่าวทิ้งท้าย

Facebook l LANDPROCESS

ภาพ LANDPROCESS และ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

AUTHOR