ทุกคนน่าจะเห็นภาพและวิดีโอการฉลองความสำเร็จในการสร้างตึกมหานครไปเมื่อช่วงเวลา
2 ทุ่มของวันจันทร์ที่
29 สิงหาคมที่ผ่านมาทางเฟซบุ๊กของเพื่อนหรือการถ่ายทอดสดในทีวี
การแสดง MAHANAKHON BANGKOK RISING โชว์แสงสุดอลังการที่น่าตื่นเต้นและทำให้เราตาลุกวาวนั้นเกิดมาจาก
ต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข ผู้กำกับโชว์แห่งบริษัท DuckUnit เราจึงอยากชวนเขาพูดคุยถึงหลายๆ
เรื่องของโปรเจกต์นี้ ตั้งแต่ไอเดียของโชว์ไปจนถึงงานด้านโปรดักชั่นทั้งหมดว่าเขามีการทำงานทดลองอย่างไร
กับโปรเจกต์ใหญ่ยักษ์ที่เขาไม่เคยทำมาก่อน
01 หัวใจของงาน
“เราได้รับบรีฟการจัดงานมาจากบริษัท FRESH AIR FESTIVAL โดยพี่วินิจ เลิศรัตนชัย และพี่เกเว่น ปูริซิม่า จาก ONE BALL PRODUCTION โดยเจ้าของโครงการบอกว่าอยากจะจัดโชว์แสงสีเสียงบนตึกมหานคร ให้ยิ่งใหญ่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเขาก็มีภาพไว้ในหัวอย่างชัดเจนแล้วว่าอยากจะใช้แสงเป็นตัวสร้างเรื่องราวและเติมชีวิตกับตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย
โดยงานนี้ผมและทีม DuckUnit ได้รับมอบหมายให้ดูแลและออกแบบโชว์เรื่องแสงและเสียงทั้งหมด สิ่งแรกที่ผม
พี่เกเว่น และทีมคิดคือ อยากเอาไฟไปไว้ในจุดที่สูงที่สุดของประเทศ
แล้วยิงแสงขึ้นไปให้ถึงจุดที่ไม่เคยมีแสงไหนไปถึงมาก่อน
ซึ่งแค่แนวความคิดแรกของเราก็รู้แล้วว่ามันจะยากขนาดไหนตอนที่ทำโปรดักชัน”
02 ร่างกาย
“เมื่อได้แนวไอเดียหลักซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของงานแล้ว
สิ่งถัดมาคือเราก็เริ่มสำรวจพื้นที่ของตึก พื้นที่โดยรอบตัวตึกเป็นกระจกทั้งหมด
สูงจากพื้นดินขึ้นไป 314.2 เมตร
การจะปูพื้นที่ที่สูงที่สุดในประเทศให้เต็มไปด้วยแสง
เราก็คิดถึงการวางไฟจากด้านล่าง แล้วยิงขึ้นใส่ตึก
เหมือนใช้ไฟฉายส่องจากด้านล่างขึ้นไป
ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าจะมีไฟฉายอะไรที่จะส่องแสงขึ้นไปได้สูงขนาดนั้น รวมถึงต้องคำนวณเรื่องระยะการวางไฟ
เพราะบางด้านของตึกก็อยู่ใกล้กับอาคารอื่นๆ
โดยรอบ แต่แนวความคิดนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะสามารถส่องแสงไปได้ถึงยอดตึก
เราจึงพักแนวความคิดนี้ไว้ก่อนเพื่อหาความเป็นไปได้อื่นๆ”
“ความคิดที่ว่า
เราจะยิงแสงไฟจากด้านในตึกก็ผุดขึ้นมาในหัวโดยที่เราไม่สนใจความเป็นไปได้ใดๆ
ทั้งสิ้น ตอนลงพื้นที่เรายืนอยู่ที่หน้าตึก น้องๆ
ในทีมช่วยกันนับจำนวนหน้าต่างในหนึ่งชั้นแล้วคูณ 77 ชั้นและคูณ
4 ด้านเข้าไป ตัวเลขที่ออกคือมีกระจกประมาณ 6,776 บาน หมายถึงถ้าจะให้ทุกบานกะพริบได้ทั้งหมดก็ต้องใช้ไฟจำนวน 6,776
ดวง ซึ่งเป็นภาพในฝันที่อยากให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เราทดไว้ในใจก่อน
เพราะคิดว่าน่าจะยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีก”
03 หน้าตา
“เมื่อมองย้อนกลับไปที่การออกแบบอาคาร
จุดที่ตึกเว้าเข้าไปนั้นถูกออกแบบมาให้เลื้อยพันกันจากด้านล่างขึ้นไปจนถึงยอดที่สูงที่สุด
เราเรียกจุดนี่ว่าริบบิ้น ซึ่งเป็นส่วนที่สวยที่สุดของอาคารด้วย
ตัวริบบิ้นถูกออกแบบให้มีความลึกที่แตกต่างกัน บางชั้นยื่นออกไป บางชั้นหุบเข้าไป
หากจะเลือกสิ่งที่จะเป็นหน้าตาของตึก จุดที่จะสามารถพูดกับคนดูทั้งกรุงเทพฯ ได้
เราก็เลยจะเลือกจุดนี้เป็นที่แรก
ไอเดียเรื่องการใช้ไฟไปวางในทุกห้องให้หน้าต่างทุกบานกะพริบได้
ถูกนำมาใช้กับไอเดียนี้เพื่อให้ความสำคัญกับจุดที่เด่นที่สุดก่อน”
04 แขนขา
“การเคลื่อนไหวของไฟในงาน
หากไม่มีแขนขา เราคงไม่รู้จะเต้นให้คนดูดูได้ยังไง ไฟบีม (แสงจะพุ่งเป็นลำ) หรือที่เราเห็นแสงเป็นเส้นๆ
ในงานคอนเสิร์ตถูกเลือกนำมาใช้ ซึ่งเมื่อเรานำมาวางที่ตึกแล้ว
จากไฟที่เคยเห็นลำแสงขนาดใหญ่ชัดเจน
ถูกสเกลความใหญ่ของตึกทำให้ไฟหนึ่งดวงดูเล็กลงไปในทันที
เราแก้ปัญหาจุดนี้ด้วยการวางไฟบีมให้เยอะที่สุดเท่าที่พื้นที่ของตึกจะสามารถทำได้
ดังนั้นจึงมีไฟบีมกว่า 300 ดวงถูกจัดและวางไล่กันไปตามริบบิ้นอาคาร
จากล่างสุดขึ้นไปจนถึงปลายยอดของอาคาร และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวให้คนดูแล้ว”
05 การประกอบร่าง
“เมื่อได้ชิ้นส่วนต่างๆ
ของไฟที่จะใช้ในงานแล้ว
หน้าที่ถัดมาคือการสำรวจพื้นที่และความเป็นไปได้ในการทำจริง
หน้าที่นี้ตกไปอยู่ที่บริษัท Lightsource ที่เราไว้วางใจ
ทางทีมขึ้นไปสำรวจทีละชั้น เข้าไปทีละห้อง ใช้เวลานับเดือน และกลับมาพร้อมความเป็นไปได้ต่างๆ
ที่จะสามารถทำภาพในหัวของทีมเราให้เป็นจริงได้
แม้ว่าความฝันบางส่วนจะหายไปแต่ก็เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา
เราสามารถขนไฟขนาดใหญ่ขึ้นไปไว้บนดาดฟ้าของตึกได้
การติดตั้งไฟบีมที่ริบบิ้นของตึกก็เป็นไปได้”
“ส่วนของร่างกาย เราได้พระเอกคนใหม่เป็นไฟฉายขนาดยักษ์ที่ชื่อ SKY TRACKER7k เหมือนไฟแบทแมน นึกภาพว่าจะฉายไฟแบบแบทแมนก็ใช้แค่ดวงเดียว
แต่ในงานนี้เราใช้ไฟแบทแมนจำนวน 56 ดวง
วางด้านล่างเพื่อส่องขึ้นไปให้ถึงยอดตึก เพื่อย้อมให้ตึกสามารถเปลี่ยนสีสันได้ หน้าต่างกะพริบได้ และไฟบีมก็ไล่จากข้างล่างขึ้นบนไปจนถึงปลายยอดที่มีไฟแบทแมนอีกจำนวน
16 ดวงเพื่อส่องขึ้นไปบนฟ้าพร้อมกัน
ถึงจังหวัดที่เราติดตั้งไฟทั้งหมด
เราก็เชื่อว่าเราพร้อมที่จะมีชีวิตและพูดคุยกับคนทั้งกรุงเทพฯ แล้ว”
06 การพูดคุย
“ในส่วนของโชว์นั้นถูกออกแบบให้แสดงภายใน
4 นาทีพร้อมเสียงประกอบ เราเริ่มต้นโชว์เมื่อพระอาทิตย์ตก
เสียงหัวใจเต้นนับถอยหลังในความมืดสนิท หลังจากนั้นก็เต้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ
จนวินาทีที่แสงทุกดวงในอาคารสว่างพร้อมกันในทีเดียวเหมือนกับการลืมตาตื่นของอาคาร
“หลังจากนั้นเราทิ้งจังหวะกะพริบตาไว้อีกประมาณ
40 วินาทีเพื่อให้ตึกค่อยๆ ลืมตามองสิ่งที่อยู่รอบตัว
จังหวะถัดมาเสียงเพลงที่มีการเคลื่อนไหวก็ดังขึ้นเพื่อให้แขนขาได้ทำงานอย่างเต็มที่
ไฟบีมจำนวน 300 กว่าดวง
ก็กวัดแกว่งจากตึกไปทั่วทุกทิศทางในจังหวะที่แตกต่างกัน ในช่วงกลางของโชว์คือเนื้อหาหลักของการแสดง
4 นาทีนี้
หลังจากเราปล่อยแสงกวักมือเรียกให้คนเข้ามามองเราแล้ว ไฟของตึกที่เตรียมไว้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนสีตึกทั้ง
4 ด้านให้กลายเป็นลายธงชาติไทย
พร้อมทั้งไฟที่อยู่บนยอดตึกก็ส่องขึ้นไปบนฟ้า เพื่อพูดกับคนทั้งประเทศว่าเราคือตึกที่สูงที่สุดในประเทศ
“หลังจากนั้น
ไฟทั้งตึกจะกะพริบรัวเพื่อนำคนไปสู่ช่วงสุดท้ายของโชว์
ไฟทั้งหมดที่เตรียมไว้จะสาดส่องจากจุดที่สูงที่สุดออกไปทุกทิศทาง
จนเมื่อรู้สึกว่าพร้อม ไฟทุกดวงที่ส่องไปทุกทิศทางนั้นจะค่อยๆ
หันหน้าขึ้นไปบนฟ้าอย่างช้าๆ รวมตัวกันเป็นลำแสงขนาดใหญ่ที่พุ่งไปถึงจุดที่ไม่เคยมีแสงใดในกรุงเทพฯ
เคยไปถึงมาก่อน”
07 และหลับตา
“เมื่อการแสดงจบแล้ว เรารู้สึกว่าการจัดแสงไฟให้อาคารเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศเรา ทั้งอุปกรณ์ที่มีความพร้อมและความรู้ต่างๆ ตัวผมเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานด้านนี้มากพอที่จะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หากการทดลองใดๆ ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสงหรือผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่โดยรอบ
ในฐานะโชว์ไดเรกเตอร์ขอน้อมรับไว้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาในครั้งต่อไป
การจัดแสงครั้งนี้มีการทดลองเล่าเรื่องด้วยวิธีต่างๆ มากมายเพื่อให้คนได้มองเห็นจากทุกทิศทาง สิ่งที่อธิบายไป แสงไม่สามารถพูดได้ชัดเจนว่าตอนนี้ฉันทำหน้าที่อะไรอยู่ แต่แสงสามารถอธิบายอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดที่เราตั้งใจให้เกิดขึ้นได้โดยที่คนดูจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจ ตื้นตัน สนุกสนาน มากยิ่งกว่าคำพูดที่ชัดเจนซะอีก”
วิดีโอ : DuckUnit
CREDIT
PACE DEVELOPMENT
FRESHAIR FESTIVAL: Executive Producer วินิจ เลิศรัตนชัย
ORGANIZER: ONEBALL PRODUCTION เกเว่น ปูริซิม่า
DuckUnit
Show Director: เรืองฤทธิ์ สันติสุข
Lighting Operator: อภิภูริช อมรวรางค์
DuckUnit Team
พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์
สุวุฒิ แพ่งยัง
พีรวัส ชูรักษา
กันต์
ลีฬหะสุวรรณ
คธา พรหมสุภา
ปิติ บุญสม
วรธร พีรพงศ์พรรณ
ศิโรรัตน์ สิทธิธรรม
มนทิรา แจ่มศรี
ลภนภัทร ดวงพลอย
ภานุพงศ์
ศิริวัฒนสกุล
Sound Design
ตุล ไวฑูรเกียรติ (ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า) / yaak lab
LIGHTSOURCE: Lighting Equipment
นรเศรษฐ สมบูรณ์วงศ์
ฐิติชญาน์ วุฒิกุล พรรณวดี
ขำศรี
อาทร เหลื่อมเพชร
Sound System : JACK SOUND
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และ DuckUnit