เคยรู้สึกเหมือนกำลังแบกก้อนหินหนักๆ ไว้ในหัวไหม?
ฉันนึกไปถึงวันแรกของการเริ่มทำงานในที่ใหม่ ซึ่งต้องรับมือกับการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อนร่วมงาน บรรยากาศการทำงานที่เปลี่ยนไป การสร้างความสัมพันธ์ในสังคมใหม่ที่เสมือนต้องเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง เป็นเพราะลึกๆ ฉันคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยดี
ไม่ใช่แค่เรื่องนั้นที่สร้างความกังวล ปัญหาที่ติดพันมาด้วยทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อน ดราม่ารอบตัวก็พากันถาโถม ฉันหอบหิ้วทุกเรื่องสะสมมาเป็นความเครียดจนเริ่มฟุ้งซ่านเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกประหม่าที่จะก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง และเผลอปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่รู้ตัว
เรื่องไม่สบายใจเหล่านี้อาจระบายให้ใครสักคนที่เป็นเซฟโซนของเราฟังได้ แต่กับบางเรื่องที่ไม่รู้จะเล่ายังไง การกลับมานั่งคุยกับตัวเองก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยสำรวจจิตใจได้ ทำให้นึกถึงการฮีลลิงใจง่ายๆ ทำได้ด้วยตนเองอย่างการเขียนบันทึกที่คล้ายไดอารี ในรูปแบบ ‘Free Writting’ หรือชื่อในภาษาไทยคือ ‘การเขียนแบบอิสระ’
เป็นการเขียนที่เน้นฟังเสียงหรือฟังความรู้สึกนึกคิดที่ผุดเข้ามาในหัว ณ ตอนนั้น (แม้จะเป็นความคิดที่เราอยากจะปฏิเสธมันก็ตาม) แล้วปลดปล่อยผ่านการเขียนมันออกมาโดยไม่หยุดมือ ไม่ต้องลบหรือย้อนกลับไปอ่านทวน ไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางภาษา ไม่ต้องลำดับเนื้อเรื่องและบทสรุป ไม่ต้องใช้กระบวนการคิด และไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตัดสินจากใคร
เราไม่ได้เขียนเพื่อให้คนอื่นมารับรู้เรื่องราวของเรา แต่เป็นการเขียนที่ให้พื้นที่กับความคิดเพื่อคลี่คลายปัญหาที่วนเวียนอยู่ในหัว เพื่อเยียวยาและโอบกอดตัวเราจากสิ่งที่เกิดขึ้น วิธีนี้พึ่งพาแค่เวลาสัก 10-15 นาทีของทุกๆ วัน มุมสงบที่เป็นส่วนตัว อุปกรณ์อย่างปากกาและสมุดสักเล่มที่พร้อมจะมาเป็นโถส้วมประจำตัวให้เราได้อ้วกสิ่งที่อยู่ในหัวออกไปแค่นั้นก็พอ
‘มาทำงานวันแรกก็รู้สึกแย่เลย เพราะไม่ได้ไปกินข้าวกับเพื่อน ฉันเป็นคนชวนคุยไม่เก่ง ยิ่งถ้าไม่สนิทกับใครก็จะชอบนั่งเงียบๆ กลัวทำบรรยากาศพังก็เลยไม่กล้าไป’
‘ระหว่างเดินทางกลับบ้าน เห็นน้องหมาอยู่ข้างถนนตัวผอมมาก ดูเหมือนจะหิว แต่ฉันเลือกเดินผ่าน ทำไมไม่ซื้ออะไรให้มันกินเลยนะ โห แต่ประชุมโปรเจกต์เมื่อวานมันเหนื่อยมากเลยว่ะ เพิ่งมาทำงานที่นี่เข้าวันที่สองแต่ยังงงๆ อยู่เลย แล้วเนื้องานก็ยากต้องมานั่งคิดไอเดียอีก เออ แล้วฉันก็เอาแต่คิดอยู่ตลอดเวลาจนเมินหมาอะ เนี่ยขนาดเพิ่งตื่นนอนเมื่อกี้ เรื่องแรกที่ผุดเข้ามาในหัวก็เป็นเรื่องงาน เรื่องเพื่อนร่วมงานที่เรายังไม่สนิทสักทีและไม่รู้จะคุยอะไรด้วย’
เมื่อเปิดโอกาสให้ความคิดได้โลดแล่น มือก็เขียนไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่หยุดมือ ก็นับเป็นช่วงเวลาที่จะได้ดำดิ่ง ขุดค้นก้อนความรู้สึกลึกๆ ในใจไปสู่การมองเห็นตัวเองอีกมุมหนึ่ง ฉันรับรู้สาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้น มาจากความจริงว่าที่ ฉันกลัวจะทำงานไม่ดี และเข้ากับคนในออฟฟิศใหม่ไม่ได้ แม้ว่านี่จะเป็นการรับรู้ความรู้สึกเชิงลบของตนเอง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือความหนักอึ้งที่เคยแบกไว้เริ่มทุเลาลง ความกังวลต่างๆ ลดน้อยลง ไม่จมอยู่กับความคิด และกลับมามีความรู้สึกเชิงบวกอีกครั้ง
ผลลัพธ์ที่ว่านี้สอดคล้องไปกับการศึกษาในปี 2014 ที่ได้ตีพิมพ์ใน Cognitive Therapy and Research อธิบายไว้ว่า การเขียนสิ่งกระทบกระเทือนจิตใจ ช่วยลดอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าได้ เพราะเราจะหันกลับมาสังเกตความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ส่งผลต่อการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น ตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า สิ่งใดควรแก้ไข สิ่งใดทำแล้วรู้สึกดี ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจในตนเองได้ดี
นอกจากนี้การเขียนติดต่อกันทุกๆ วันช่วยฝึกการจัดลำดับเรื่องราว ส่งผลดีกับคนที่พูดไม่เก่ง ไปจนถึงการจัดระเบียบอารมณ์และความคิด ที่ช่วยให้เราโฟกัสกับการใช้ชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน และไม่ไขว้เขวไปกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แม้จะเป็นเรื่องที่ยากไปบ้างที่เราจะรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘สุขภาพจิตที่ดี’ ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่อย่างน้อยวิธีนี้ก็ทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองได้เร็วล่ะนะ
จากเดิมที่เดินเข้าออฟฟิศมาด้วยความงุ่มง่าม คิดมากว่าจะทักทายเพื่อนร่วมงานใหม่ยังไงดี ทุกๆ วันจะต้องมีสมุดเล่มสี่เหลี่ยมเล็กๆ ไว้พึ่งพาใจก่อนเริ่มวันใหม่ แต่ฉันในวันนี้กลับสามารถยิ้มทัก ชวนคุยและไปกินข้าวกลางวันกับพวกเขาได้อย่างสบายใจแล้ว ทั้งยังรู้สึกว่าในหัวจะเปิดโล่งรับแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัวนี่เอง
ถ้าเป็นก่อนหน้านี้คงมองไม่เห็นไปแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยเนอะ
การเขียนเป็นอีกหนึ่งวิธีฮีลใจที่ช่วยเรียกตัวตนกลับมา ใครที่กำลังเครียด หรือกำลังแบกรับอะไรสักอย่างจนรู้สึกหลงทางและกำลังมองหาทางออก ลองถอยหลังหลบเข้ามุมสงบแล้วหยิบกระดาษปากกามาเขียนตามเสียงในหัวดูนะ แล้วเธอจะกลับมายิ้มให้ตัวเองได้อีกครั้งแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง: https://seattleanxiety.com/psychiatrist/2023/4/4/writing-to-heal#end1