แก่กว่าแล้วไง? เบื้องหลังความฝันมันๆ และ ‘เอลวิส’ ที่ซ่อนอยู่ในวงดนตรี ‘เดอะชราภาพ’

ตอนอายุขึ้นเลข 3 และมาครึ่งทางแล้วก่อนจะเข้าเลข 4 คุณคิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปขนาดไหน?

ฉันอายุใกล้เลข 3 มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ทันไรก็รู้สึกว่าพลังวัยรุ่นถดถอยไปโดยธรรมชาติ พอต้องมาสัมภาษณ์กลุ่มผู้ชาย 5 คนที่เป็นเพื่อนกันมานาน ก่อนจะลงเอยมาเล่นดนตรีในนามวง ‘เดอะชราภาพ’ ด้วยกัน ความรู้สึกจึงปะปนไปด้วย 2 เรื่อง

หนึ่ง สัมภาษณ์ยากชะมัด…เพราะเขาหัวเราะกันครึกครื้นและปล่อยมุกกันตลอดเวลา! อย่าเรียกสัมภาษณ์เลย เรียกปาร์ตี้สังสรรค์ของหมู่เพื่อนที่บังเอิญมีฉันโผล่มาในวงดีกว่า และ สอง เอาตรงๆ เลยคือพวกพี่อายุจะ 40 กันแล้ว ทำไมยังปล่อยพลังกันได้ขนาดนี้

‘เดอะชราภาพ’ คือวงดนตรีคอนเซปต์ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาผู้สูงวัยและดนตรีมันๆ ที่ดูไม่เข้ากันอย่างสไตล์ร็อก เนื้อหาเพลงก็ไม่เหมือนวงทั่วไป มีตั้งแต่ ศาลาคนเศร้า เพลงเล่าเรื่องการไปงานศพเพื่อน, เพลง ตรวจสุขภาพประจำปี เพลงน่ารักพูดถึงการตรวจสุขภาพประจำปี, เพลง อัลไซเมอร์ เนื้อหาตรงตามชื่อเพลง, เพลง สวัสดีวันจันทร์ พูดถึงวัฒนธรรมเมาท์มอยสไตล์คนแก่ที่ชอบรูปสวัสดีวันต่างๆ มาในไลน์และล่าสุดคือเพลง เอลวิสยังอยู่

เอลวิสไม่ได้หมายความแค่นักร้องผู้โด่งดังในอดีต แต่ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าความฝันที่จะไม่บุบสลายไปตามวัยเมื่อเราแก่ตัวลง ฉันได้ดูการแสดงเพลงนี้บนเวที TEDxBangkok 2017 แม้ไม่เคยสนใจจริงจัง แต่เนื้อเพลงและพลังเสียงของดนตรีก็ทำให้ฉันและหลายคนในงานน้ำตาซึม

เมื่อมาคุยและหัวเราะกับพี่ๆ จนดึกดื่น ฉันก็ได้รู้ความหมายของ ‘เอลวิส’ ในเนื้อเพลงว่ามันมาจากไหนกันแน่

เราไม่ได้เป็นคนดีอะไรแต่เราแค่อยากสนุก

“มันไม่ได้สวยงาม ไม่ได้ลึกซึ้ง ไม่ได้เชิดชูคนแก่” พลพรรคทุกคนพร้อมใจกันตอบข้อมูลน่าเซอร์ไพรส์เมื่อฉันถามถึงที่มาที่พวกเขามารวมตัวกันทำวงดนตรีพูดเรื่องนอกสายตาแบบนี้

ชายหนุ่มทั้ง 5 ประกอบด้วย วิน ยศ กิต ดร และโจ้ หรือชาร์ลี มีทั้งคนที่ทำงานสายโฆษณาและคอนเทนต์ คนที่เป็นนักดนตรี หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานเป็นทนายความและอาจารย์ การรวมตัวครั้งนี้เกิดจากคำชวนมาทำวงดนตรีสนุกๆ กัน แต่มีข้อแม้ว่าโปรเจกต์นี้พวกเขาต้องทำอะไรแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร

“ตอนแรกไม่อยากให้เป็นวงที่เป็นเบส-กลอง-กีตาร์ เพราะสุดท้ายเราจะไม่รอด เราไม่มีอะไรไปขาย ฝีมือเราสู้ไม่ได้ มีแต่หน้าตา” คำพูดวินเจ้าของโปรเจกต์เรียกเสียงหัวเราะครืนจากทั้งวง “เลยคิดว่าเราทำคอนเซปต์แบนด์ดีกว่า มานั่งคุยกันว่าเอาคอนเซปต์อะไรดี มีหลายคอนเซปต์ที่คิดไว้ เช่น คนเล่นดนตรีไม่เป็น พยายามใช้คอร์ดเหมือนคนเล่นไม่เป็น ก็ไม่รอด มันออกมาไม่เป็นเพลงจริงๆ พอมาดูตอนหลัง คอนเซปต์ชราภาพมันชัดสุด เนื้อเพลงได้ วิธีพรีเซนต์ก็ได้”

อย่าเรียกพวกเขาว่าเป็นคนอินคนแก่ แต่น่าจะเรียกพวกเขาว่าเป็นคนทำงานสร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่แค่เนื้อเพลงเท่านั้น แต่คอนเซปต์ความชราภาพแพร่กระจายอยู่ในดนตรีที่ใส่กลิ่นอายดนตรียุคก่อนลงไปด้วย ทั้งในการสื่อสารที่พวกเขาจะไม่เปิดเผยตัวตนแท้จริงแต่เลือกใช้ภาพผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะในภาพโปรโมต ในเอ็มวี หรือบนเวทีแสดงก็ตาม (แถมระหว่างทางก็ยังมีการเล่นสนุกอีกมาก เช่น การทำให้ฉากเอ็มวีเป็นนิทรรศการพวงหรีดแบบสร้างสรรค์ หรือชวนศิลปินตัวจริงมาครีเอตภาพธีมสวัสดีวันต่างๆ ให้คนแก่ได้เอาไปใช้จริงๆ)

แต่ด้วยความคอนเซปต์จัดของพวกเขานี่แหละที่ทำให้วงต้องมีผู้สูงอายุตัวจริงมาแจมในการทำเพลง…แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น!

อายุไม่เท่ากัน แต่เราเป็นเพื่อนกันได้นี่นา

จะชวนคนแปลกหน้าสักคนมาทำงานก็ว่ายากแล้ว แต่เดอะชราภาพยังเล่นท่ายากกว่า ชวนคนแก่ที่ไม่รู้จักกันมาทำงานทดลองแปลกๆ ไล่ชวนตั้งแต่ญาติผู้ใหญ่รอบๆ ตัว ไปจนถึงคุ้ยหากลุ่มเฟซบุ๊กของผู้สูงวัยแล้วทักไปหา ยกตัวอย่างเช่น คนแก่ที่อยู่ในภาพโปรโมตบ่อยๆ ก็คือ ลุงหมานพนักงานรักษาความปลอดภัยที่บ้านของดร หรือเจ้าของเสียงที่โผล่มาในเพลง สวัสดีวันจันทร์ ก็คือคุณแม่ของผู้กำกับหนุ่ม เต๋อ นวพล

“ด้วยเนื้อเพลงแบบนี้ มันจะถึงก็ต่อเมื่อคนถ่ายทอดเป็นคนแก่จริงๆ พอเล่าแล้วมีพลังกว่า แล้วพอมีอะไรแบบนี้เข้ามา มันก็เป็น input ของเราด้วย” กิตเล่า

ในการทำงานมักมีเรื่องเซอร์ไพรส์เกิดขึ้น และมันทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้สูงวัยในมุมใหม่ๆ เช่นว่าต่อให้เป็นคนแก่ที่ร้องเพลงได้ พอมาเจอเพลงที่เรียบเรียงแบบสมัยใหม่ก็มีเหวอเหมือนกันเพราะพวกเขาจะฝึกร้องด้วยวิธีการจำเป็นหลัก แต่แม้จะไม่รู้จักกัน เมื่อเชิญชวนมาร่วมงาน ส่วนใหญ่คนเหล่านั้นก็ตอบตกลงอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากจะทำการบ้านกับงานมาก่อนเจอหน้ากันแบบเคร่งครัด (ซึ่งไม่ใช่นิสัยของคนสมัยนี้เท่าไหร่-วงลงความเห็น) พวกเขายังมาพร้อมพลังที่ทำให้ทึ่ง

“ก่อนจะเป็นเพลงเอลวิส มันมีอีกเพลงนึงที่เราตามหานักร้อง อยากให้เป็นนักร้องรุ่นใหญ่ท่านหนึ่ง ทดไว้ในใจว่าเขาคงไม่มาร้องหรอก แต่แกก็มา” วินยิ้ม ก่อนที่โจ้จะรีบรับช่วงต่อ “แกมาวันที่ประชุมงานกับ TEDxBangkok เปิดประตูใส่เสื้อแดงโผล่มา ส่งเสียงว่า ‘ผมมาแล้วค้าบบบบ’ แกพลังเยอะ เรียกมาอัดเพลงตั้งแต่สองทุ่มถึงตีสองแกก็ยังอยู่ ทั้งที่คนอื่นดูง่วงแล้ว”

“แกมืออาชีพจริงๆ ทัศนคติดี ไม่มีการถามว่าทำงานเสร็จแล้วยังๆ” ยศเสริม

“เมื่อก่อนผมจะไม่ค่อยคุย ไม่ได้ extrovert กับคนแก่ขนาดนั้น” โจ้แทรก “แต่พอเจอกันหลังๆ ก็เหมือนเป็นเพื่อน อย่างพี่โจ้ที่เป็นเอลวิสเมืองไทยซึ่งมาร่วมงานกันก็คุยเลอะเทอะไปเลย (หัวเราะ) เราก็รู้สึกว่า เออ ก็คุยได้นี่หว่า เหมือนพวกฝรั่งที่ไม่มี age boundary เจอกันก็ หวัดดีพี่ กินข้าวยัง”

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ใกล้ชิดกับคนแก่ พอมาทำงานร่วมกัน มีแนวคิดอะไรของเราที่เปลี่ยนไปบ้าง” ฉันโยนคำถาม

“คือพูดตรงๆ ว่าตอนนี้เจอคนแก่ข้ามถนนเราก็ไม่ได้จะไปอุ้มไปแบก (หัวเราะ) แต่ช่วงนี้ผมย้อนคิดเรื่องที่บ้าน ปกติผมไม่ค่อยสนิทกับที่บ้าน ด้วยความที่ย้ายออกมาอยู่คนเดียวด้วย ตอนเด็กๆ ก็เคยทะเลาะกัน แต่ล่าสุดพี่ชายส่งข้อความมาถามว่าไปเที่ยวไต้หวันไหม พาพ่อแม่ไป ปกติเราปฏิเสธตลอด ทำตัวแปลกแยก แต่ก็คิดว่า เออว่ะ ทำไมเราเลือกจะไม่ทำกับคนที่ใกล้ตัวเราจริงๆ งั้นก็ลองไปดู” โจ้ให้คำตอบน่าสนใจ

“เราพยายามคุยกับเขาให้มากขึ้น เจออะไรก็มาคุย พูดได้ว่ามันเป็นผลกระทบจากการทำงานตรงนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องทำตัวห่างกับเขา คนมักบอกว่าพ่อแม่เราก็คือเราตอนแก่ เราก็รู้สึกว่าแล้วเราต่อต้านเขาทำไมวะ ไม่ต้องทำก็ได้ เลยกลับไปคุยแบบเพื่อน ไม่ต้องมีชั้นวรรณะ เราได้สิ่งนี้จากการทำวงนี้แหละ ได้รู้ว่าทุกคนก็คือคน แค่อายุเยอะขึ้นเท่านั้นเอง”

เราทุกคนมี ‘เอลวิส’ เป็นของตัวเอง

ทุกสัปดาห์ ในวันพุธหรือพฤหัสบดี บ้านของยศจะกลายเป็นฐานทัพ สมาชิกวงจะมาอยู่พูดคุย ทำเพลงกัน ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำไปจนดึกดื่น บางคืนถึงตีสอง แล้วยามเช้าทุกคนก็จะกลับไปทำงานประจำตามปกติ ทำแบบนี้จนเป็นกิจวัตร

การทำวงดนตรีคอนเซปต์จัดแบบนี้ไม่ง่าย บางเพลงอย่าง อัลไซเมอร์ ก็ต้องค้นคว้าข้อมูลจริงจัง

พวกเขาบ่นอุบปนขำว่ากว่าจะทำโชว์ได้สักครั้งก็ต้องปาดเหงื่อ เพราะต้องทำงานกับคนนอกหลายคน อย่างเช่นการแสดงครั้งล่าสุดที่ต้องรวบรวมคนแก่มากมายมาเต้นสนุกบนเวที อย่างลุงอ้วนนักเต้นเท้าไฟในเพลง ตรวจสุขภาพ ที่ทุกคนเห็นบ่อยๆ ก็ต้องเดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัด และอย่าพูดถึงรายได้ งานคอนเซปต์ลักษณะนี้แค่ไม่ควักเนื้อพวกเขาก็พอใจ กระบวนการมากมายทำให้คิดขึ้นมาเล่นๆ ว่าน่าไปตั้งวงใหม่ที่ทำงานง่ายกว่านี้

พวกเขาสารภาพโดยสัตย์จริงว่าเพลง เอลวิสยังอยู่ เกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาการหานักร้องยาก เมื่อลองควานหานักร้องรุ่นเก่ามือเก๋า ในหัวก็ผุดนึกถึงเอลวิส จนได้ เอลวิสโจ้-สุขนิรันดร์ สุขหลวง นักร้องเอลวิสเมืองไทยมาถ่ายทอดพลังเสียงให้

แต่ในความรู้สึกฉัน สัญลักษณ์ ‘เอลวิส’ ในบทเพลงที่เป็นตัวแทนความรักและหลงใหลบางสิ่งอย่างไม่คลาย กลับสอดคล้องกับพวกเขาอย่างประหลาด เพราะแม้จะต้องสละเวลาส่วนตัว ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ผู้ใหญ่อย่างพวกเขาก็ยังไม่คิดจะเลิกเป็นเดอะชราภาพ

แต่ละเพลงที่เกิดขึ้นคือการแก้ปัญหาจากเพลงก่อนๆ ลูกเล่นที่เห็นจึงไม่เคยซ้ำ เช่น ถ้าผู้ใหญ่ร้องเพลงลำบาก ก็จะทำเพลงที่ให้ ‘พูด’ แทนเสียเลย พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็นวงขี้เบื่อ อยากแต่จะทดลองอะไรที่ยังไม่เคยมีคนทำ ทำพลาดก็ไม่เป็นไร ขึ้นโชว์แล้วผู้ใหญ่แสดงสดไม่เป๊ะก็ไม่ใช่ปัญหา แค่เรียนรู้จากมันแล้วปรับกลยุทธ์ใหม่ในเพลงต่อไป และประสบการณ์จากวงนี้ก็ทำให้พวกเขามีความสุข ทั้งจากการทำงานดนตรี และจากผู้คนที่พบเจอ

“ส่วนตัวพี่คือ อายุขนาดนี้แล้วอะ ทำด้วยกันแล้วยังสนุกอยู่ก็ทำไปเถอะ อนาคตไม่รู้จะเป็นยังไง ยิ่งมันเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างรายได้ มันเป็นความสนุกล้วนๆ เลยรู้สึกว่ายังสนุก ยังมีเวลาทำ ก็ทำ แค่นั้นเลย” ยศตอบแทนความในใจของทุกคน

“มันไม่มีกรอบ ไม่มีอะไรผิด มีแต่อะไรที่เราคิดว่าน่าจะถูก” โจ้ผู้ทำงานดนตรีเป็นหลักและมีประสบการณ์จากวงแบบอื่นๆ เล่า “แต่ละคนก็ทำหน้าที่ได้ดี ไว้ใจได้ ไม่ต้องมีใครมาบรีฟเรามากกว่านี้ เป็นงานเพียวที่เกิดจากคน 5 คน เราสร้างงานได้โดยไม่ต้องอยู่ในค่ายเพลง ทำให้เราไม่ต้องสูญเสียอะไรไปเลย เพราะเราไม่ได้เอาอะไรไปแลกมา”

“มีคนเคยบอกว่าวงแบบนี้ทำไปสักพักมันจะตัน แต่เราก็ทำได้” กิตเล่า “มันเหมือนสนามเด็กเล่น อยากทำบ้าอะไรก็ลอง อย่างเอ็มวีเพลงแรกที่จัดเป็นนิทรรศการก็รู้สึกว่า เชี่ย แม่งบ้าบอว่ะ (หัวเราะ) สนุ้กสนุก ไม่กดดันว่าเพลงจะต้องดัง ต้องหล่อ เอาแค่ให้มีความชราภาพก็พอ”

เป้าหมายในรายละเอียดของพวกเขาต่างกันไปบ้าง เช่น วินทำเพลงเพราะอยากให้คนแก่ที่ยังมีของได้ออกมาทำอะไรสักอย่าง แต่เป้าหมายหลักของทุกคนคือมาสนุกและตั้งใจทำเพลงไปเรื่อยๆ จนได้ครบอัลบั้ม “พี่ๆ ทุกคนจะชอบพูดเหมือนกัน เอาให้ดีนะ ต้องทำให้ดี ตั้งแต่แม่เต๋อหรือพี่โจ้” วินเล่ายิ้มๆ

แล้วพวกเขาเหล่านั้นทำให้พี่ๆ ได้เรียนรู้อะไรเรื่องความแก่บ้างหรืออยากโตไปเป็นคนแก่แบบไหน ฉันถามคำถามสำคัญที่เตรียมมา

“เมื่อก่อนกลัวความแก่ แก่แล้วก็ป่วย อยู่บ้านอย่างเดียว” วินตอบ “แต่ผมได้ relearn จากเคสพี่ตูน พี่ที่เราชวนเขามาเล่นระหว่างทาง เขาเป็นนักเปียโนที่เล่นกับวงเพรสซิเด้นท์ เราชวนแกมาเล่นเปียโนให้แม่เต๋อร้องเพลง เขาเป็นลุงนะ แต่ทุกวันนี้เขาก็ยังมีชีวิตวัยรุ่นมาก เขามีผับของเพื่อนที่รวมตัวกันไปเล่นดนตรี ไม่ได้เล่นหาเงินด้วย ตัวเรากำลังจะแต่งงาน พอแต่งงาน สักพักมีลูก ก็กลัวไอ้ความสนุกมันจะหายไป เพราะเรามีภาพจำจากพ่อแม่ว่าเดี๋ยวภาระก็มา แต่พอเห็นพี่ๆ แล้วก็ เออ เขาทำตัววัยรุ่นได้ปกติเลยว่ะ”

“พวกเรามีความคิดคล้ายกันทุกคนคือ ไม่อยากแก่แล้วแก่เลย” ดรผู้กำลังจะแต่งงานในอีก 3 วันแชร์บ้าง “เรามีความคิดถึงขั้นว่า ถ้าเรายังมีแรง เราจะไปผับไปกับเทศกาลดนตรีกับลูก เรากำลังจะเป็นพ่อคนก็จริง แต่เราจะพยายามไม่เป็นคนน่าเบื่อ ที่ตั้งใจไว้คือพวก Fuji Rock หรือ Summer Sonic ที่ญี่ปุ่น ต้องได้ไปกับลูกสักครั้ง”

“งาน Cat Radio ปีที่แล้ว เราไปยืนดูคอนเสิร์ตพร้อมลูกศิษย์ มันมีความรู้สึกว่า ดีจังถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้จนแก่ ยืนดูวง Slot Machine แล้วร้องเพลงเดียวกันได้ถึงจะเป็นคนละเจนน่ะ” กิตผู้เป็นอาจารย์เล่าบ้าง แล้วสมาชิกคนอื่นก็เล่าแถมว่าคอรัสที่มาช่วยงานวันโชว์ก็เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนนี้นี่แหละ

“เอาง่ายๆ เลย อย่างแม่พี่ นอกจากจะเชียร์ลูก ไปยืนดูงานแคท ดูเดอะชราภาพ เขาบอกสนุกมาก ต่อให้ไม่นับว่าเป็นวงลูกตัวเองก็รู้สึกเอ็นจอย ถ้าเราแก่แล้วยังเอ็นจอยได้แบบนี้คงรู้สึกดีนะ ไม่งั้นมันคงห่อเหี่ยว” ยศหันกลับมาพูดปิดท้ายยิ้มๆ การสัมภาษณ์สบายๆ ของเราจบลง แต่ค่ำคืนการสังสรรค์ของพวกเขายังอีกยาวไกล

เสียดายที่ฉันจากมาโดยไม่ได้บอกว่า พอได้ยินเสียงหัวเราะบ้าบอในคืนนี้แล้ว ถ้าอนาคตมีคนถามว่าอยากแก่ไปเป็นแบบไหน ฉันอาจจะตอบว่าแบบพี่ๆ เดอะชราภาพนี่แหละดี!


ติดตามผลงานมันๆ ของเดอะชราภาพได้ที่ เพจ The Charapaabs หรือไล่ฟังเพลงให้ครบที่ Channel ของพวกเขาเลย


ภาพ
เดอะชราภาพ และ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR