Local Pillow : สตาร์ทอัพจองโฮมสเตย์ผสานกิจกรรมแสนสนุกที่ไม่ใช่แค่ไปนอนพักเฉยๆ

หลายคนคงรู้จักเว็บไซต์ Airbnb สตาร์ทอัพรวมที่พักชื่อดังระดับโลกที่มีแนวคิดปันพื้นที่ว่างในบ้านให้เป็นห้องพักแก่นักท่องเที่ยว หรือเคยใช้บริการ agoda เว็บไซต์เน้นให้บริการจองที่พักแถบเอเชียแปซิฟิก นี่เป็นตัวอย่างของเว็บไซต์จองห้องพักหลายเจ้าที่เปิดให้เราใช้งานได้อย่างสะดวก ง่ายและรวดเร็ว

แต่ไม่นานนี้ เราเพิ่งเห็นเว็บไซต์จองโฮมสเตย์สัญชาติไทยอย่าง Local Pillow สตาร์ทอัพน้องใหม่ที่เปิดตัวมาได้ 7 เดือน ความน่าสนใจคือเจ้าของเป็นหนุ่มรุ่นใหม่อายุ 24 ปี เอิร์ธ-นพเดช เตยะราชกุล เรียนจบด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรอยู่หนึ่งปี ก่อนจะจับมือกับ หลี-วินัย ณัฏฐาชัย อายุ 29 ปี ผู้ดูแลการออกแบบและสร้างเว็บไซต์ เพื่อทำสตาร์ทอัพจองห้องพักแบบโฮมสเตย์ในจังหวัดที่ขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวของไทย อย่างจันทบุรี ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี เชียงใหม่ และน่าน

สำหรับเรา Local Pillow เลยทั้งน่าจับตามองในแง่การให้บริการจองห้องพักที่เน้นความชิลล์ของโฮมสเตย์ ควบคู่ไปกับอาหารพื้นบ้านและกิจกรรมท้องถิ่น รวมถึงน่าพูดคุยในแง่ที่ว่าทำไมพวกเขาถึงทำสตาร์ทอัพรูปแบบนี้ ในเมื่อมีเว็บไซต์ที่รองรับการจองห้องพักอยู่มากมาย สิ่งที่พวกเขาทำจะโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นยังไง เอิร์ธ หนึ่งในผู้ก่อตั้งจะมาไขข้อสงสัยให้เราฟัง

“ผมอยากให้เกิดชุมชนของคนชอบเที่ยว ให้คนกลุ่มนี้รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว” เอิร์ธเปิดบทสนทนาว่าอย่างนั้น เขาเน้นว่าตัวเองชอบเที่ยวมาก ในทีแรกเราก็ไม่รู้ว่ามากของเขาคือแค่ไหน แต่หลังจากเพิ่มเขาเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก เราเลยร้องอ๋อ เมื่อเห็นภาพเขาไปปรากฏตัวอยู่ในหลายสถานที่ทั่วโลก

“ผมชอบการแบ็กแพ็กเดินทางไปเที่ยวหลายประเทศ ปกติแล้ว พอเราอยู่ในที่ของคนต่างชาติ เราไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นท้องถิ่น มันน่าเสียดาย เพราะผมชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนแต่ละชาติ บางคนชวนคุย ชวนกินข้าว หรือชวนดื่ม ถ้าไปเที่ยวยุโรป ผมอาจไม่ดูปราสาทตามแลนด์มาร์ก แต่ผมได้ไปว่ายน้ำหรือเล่นเกมสนุกๆ กับคนในพื้นที่ แม้ไม่ได้ไปในสถานที่ดังๆ แต่ประสบการณ์ที่แตกต่างทำให้เราประทับใจไม่แพ้กันเลย”

แล้วประสบการณ์นั้นกลายมาเป็นสตาร์ทอัพได้ยังไง เราถามเอิร์ธเพราะยังไม่เห็นแรงจูงใจให้เกิดธุรกิจ

“พอเราชอบ เราก็อยากเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แล้วต้องเป็นการเที่ยวที่ทำให้คนท้องถิ่นที่ชอบรู้จักคนใหม่ๆ และนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยือนได้เป็นเพื่อนกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไอเดียนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าธุรกิจท่องเที่ยวเซ็กซี่ มีช่องให้เล่นกับเสน่ห์มากกว่าสถานที่ที่ถูกระบุไว้ในไกด์บุ๊กทั่วไป” เอิร์ธเล่าด้วยตาเป็นประกาย

นั่นเป็นส่วนเกริ่นนำของการเริ่มต้นธุรกิจที่นำมาสู่การสร้างเว็บไซต์ GoYeppey ในปี 2558 ด้วยเป้าหมายเชื่อมชุมชนนักเดินทางกับคนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน พอลองทำจริงเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี โมเดล GoYeppey ไม่ชัดมากพอ เอิร์ธเลยได้รับคำแนะนำจากการร่วมโครงการ AIS the Startup และ MaGIC Accelerator Program (โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย) และเริ่มเห็นว่าธุรกิจนี้ต่อยอดยาก เลยต้องหยุดลงในที่สุด

“เราไม่รู้สึกว่ามันเสียเวลา ถ้าไม่มีโมเดลตัวแรก จะไม่นำมาสู่ตัวที่สอง มันเป็นการเดินทางที่พาเราเดินต่อไป ทุกอย่างคือการเรียนรู้ เลยหันมามองการท่องเที่ยวในประเทศไทยว่ายังขาดอะไรบ้าง ผมเห็นว่าที่พักบ้านเรามีศักยภาพ แต่ไม่มีเทคโนโลยีไปช่วยจัดการให้การบริการจองห้องพักง่ายขึ้น พอเห็นช่องโหว่นี้ เลยคิดว่าเราเลือกทำธุรกิจใหม่ได้ แถมยังมีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวบ้านเราดีขึ้นด้วย”

จากนั้น Local Pillow เลยถูกคิดและออกแบบอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน โดยตอนเริ่มเปิดก็มีโฮมสเตย์เปิดให้จองถึง 30 แห่งแล้ว “ตอนทำ GoYeppey ผมพยายามสร้างเว็บไซต์ให้มีลูกเล่นของเทคโนโลยี และทำให้ภาพลักษณ์ดูไฮโซ แต่มันใช้งานยากไป พอเป็น Local Pillow เลยเริ่มต้นความคิดด้วยการพยายามทำให้ทุกอย่างง่าย แล้วค่อยๆ ปรับฟีเจอร์ไปเรื่อยๆ การทำ Local Pillow ในช่วง 5 เดือนแรก ผมหาซัพพลายเออร์และทำการตลาด สำรวจว่าคนสนใจที่พักแนวโฮมสเตย์มากแค่ไหน กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ซึ่งโฟกัสที่การสำรวจโฮมสเตย์ที่คนเขาถึงยาก ตั้งเป้าด้วยคอนเซปต์ให้นักท่องเที่ยวได้นอนพักและได้ทำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นไปพร้อมกัน”

“ธุรกิจของเราไม่ใช่แค่การเข้าไปนอนในห้องแล้วถือว่าเป็นการพักผ่อนจบไป แต่เรามองว่าธุรกิจท่องเที่ยว คือบริการด้านการสะสมประสบการณ์ของผู้ใช้ นอกจากเที่ยว คุณจะได้เพื่อนใหม่ที่เป็นเจ้าของที่พัก ได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ กิจกรรมที่คุณจะได้จากโฮมสเตย์มีหลายอย่าง เช่น ล่องแพ ให้อาหารเหยี่ยว หรือปลูกป่าชายเลน มันคือประสบการณ์และพลังงานที่ดีที่เราจะมอบให้กัน”

“สิ่งที่เราแตกต่างจากคนอื่นมี 3 อย่าง อย่างแรกเราเน้นที่พักแบบโฮมสเตย์ ให้อยู่ง่าย กินง่าย สบายๆ ส่วนใหญ่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของที่พักใน Local Pillow ไม่มีในเว็บไซต์อื่นๆ เราเป็นตัวกลางทำให้คนเที่ยวกับที่พักได้มาเจอกัน จุดที่เว็บไซต์เราเข้าไปแก้ไขคือการเข้าถึงที่พักของเขายาก คนไม่มีข้อมูล เราจัดระเบียบข้อมูลต่างๆ และทำให้เกิดการรีวิว แสดงความคิดเห็น อย่างที่สอง เราทำเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย ขั้นตอนน้อย และเป็นกันเอง อย่างสุดท้าย Local Pillow ไม่ใช่แค่การจองที่พัก แต่คุณเลือกจองกิจกรรมที่รองรับให้คนเข้าพักได้ทำ แล้วยังมีมื้ออาหารท้องถิ่นให้ได้จองด้วย ทุกอย่างเลยถูกรวมไว้ เพราะเรามองว่าประสบการณ์ของการท่องเที่ยวและเข้าพักมีองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน เช่น อาหารที่เขาทำแบบบ้านๆ คุณกินกับเขาได้ สิ่งนี้เป็นประการณ์ที่สนุกแน่ๆ”

ตอนนี้ Local Pillow มีโฮมสเตย์ให้เลือกใช้บริการประมาณ 100 แห่ง แต่เอิร์ธตั้งใจจะขยายจำนวนเยอะขึ้นให้ครอบคลุมทุกภาค ปีนี้เลยตั้งเป้าหมายให้มีที่พัก 500 – 600 แห่ง และต้องการเจาะตลาด Business To Business อย่างเช่น บริษัทที่ต้องการพาพนักงานไปเอาต์ติ้ง หรือเป็นคนต่างชาติที่สนใจการท่องเที่ยว ซึ่งเอิร์ธบอกว่า Local Pillow จะแก้ปัญหาให้ชาวต่างชาติที่ไม่รู้ว่าจังหวัดต่างๆ มีอะไรให้เที่ยวบ้าง ด้วยการทำหมวดหมู่ที่พักเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ชัดเจนให้เลือกได้ง่ายๆ ตั้งแต่ Seaside, Artistic House, Sleep Eat Play, Mountain, Garden หรือ Organic Farm

“ประเทศไทยมีที่พักเล็กๆ น่าสนใจซ่อนตัวอยู่ในหลืบที่เรามองไม่เห็นมากมาย แต่กลับเข้าถึงยากและกระจายกันไปหมด ถ้าทำให้ทุกคนมาร่วมมือกันได้ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องไปหาเอง ซึ่งชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรายได้ส่วนนี้จริงๆ เขาจะเอาเงินก้อนนั้นมาเป็นทุนทำสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตดีขึ้นได้ ผมว่าถ้าช่วยตรงนี้ได้น่าจะเป็นการกระจายรายได้ให้ชุมชนขนาดเล็กพัฒนาขึ้น ผมอยากให้การท่องเที่ยวที่ทำโดยคนตัวเล็กยั่งยืน Local Pillow จะมาเป็นตัวกลางที่เชื่อมทุกส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งผมมองว่าจุดนี้เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก” เอิร์ธทิ้งท้ายบทสนทนาตลอดหนึ่งชั่วโมงกับเราไว้อย่างนั้น ด้วยความหวังว่าสิ่งเล็กๆ ที่เขาเริ่มต้นทำจะส่งผลอย่างยั่งยืน

facebook | Local Pillow

website | Local Pillow

ภาพ Local Pillow และ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR