จิตต์สิงห์ สมบุญ : คุยกับศิลปินชื่อดังผู้นำพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปร่วมจัดแสดงที่นิวยอร์ก

เราก้าวเข้าไปในสตูดิโอของ จิตต์สิงห์ สมบุญ นักออกแบบสุดเก๋าและศิลปินที่มีสไตล์การวาดภาพเป็นเอกลักษณ์
ที่ผนังมุมหนึ่งของสตูดิโอ เราเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
แขวนอยู่เรียงราย จากนักศึกษาหนุ่มของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เริ่มวาดภาพในหลวงเพื่อส่งเข้าร่วมประกวด
ทุกวันนี้ เราได้เห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ฝีมือจิตต์สิงห์ปรากฏสู่สายตาบ่อยครั้ง ศิลปินสุดฮอตคนนี้เป็นอีกคนที่สร้างสรรค์พระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงออกมาได้งดงาม
ที่สำคัญคือมีเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคแพรวพราว ตั้งแต่เลเซอร์คัต วาดด้วยวงเวียน
แปะเทป ไปจนถึงล่าสุดที่กำลังจัดทำคือการใช้หลอดไฟนีออนมาจัดวาง

และเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
จิตต์สิงห์และเพื่อนศิลปินได้บินไปจัดนิทรรศการที่นิวยอร์กร่วมกับกลุ่มศิลปินไทยที่นั่น
นิทรรศการนี้ชื่อว่า THAI COMBO, BKK-NYC 2016 โดยก่อนจัดแสดง
ศิลปินแต่ละคนก็สร้างผลงานโดยตีโจทย์ความเป็นไทยไปแตกต่างกัน
แต่จิตต์สิงห์เลือกวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมมากกว่า 20 ชิ้น

“ผมนั่งนึกว่าจะเอาอะไรไปจัดแสดงดี
ไปแสดงมวยไทยที่นั่นดีหรือเปล่า หรือเขียนตัวอักษรไทยสวยๆ เท่ๆ ไปมาๆ ผมก็คิดว่าใกล้จะวันที่
5 ธันวาแล้ว ผมจะมีงานแสดงที่หอศิลป์เจ้าฟ้าที่เกี่ยวกับในหลวง แล้วผมก็อยากวาดพระบรมสาทิสลักษณ์อยู่แล้ว
เลยคิดว่าเอาภาพวาดในหลวงไปแสดงที่โน่นดีกว่า น่าจะเจ๋งดี”

พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงชุดนี้มีชื่อว่า
The Master (NYC) มีจำนวนงาน 23 – 24 ชิ้น มีทั้งผลงานเก่าที่หยิบมาทำใหม่
และผลงานใหม่เอี่ยมซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นภาพสเกตช์หลากหลายขนาด

“เราไปกันเอง
ไม่มีบริษัทหรือแกลเลอรี่ที่โน่นจัดการ ฉะนั้น ต้องหิ้วไปเอง
จะทำงานชิ้นใหญ่ก็ต้องม้วนไปเอง ผมก็เลยคิดว่า ทำเป็นภาพสเกตช์ดีกว่า เหมือนบนผนังที่สตูดิโอผมซึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่
9 ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ติดไว้ เป็นผลงานแบบที่ขนส่งไปได้ง่าย ซึ่งหลักในการเลือกพระบรมฉายาลักษณ์มาวาดของผม
ง่ายๆ เลยนะ คือพระบรมฉายาลักษณ์ที่ดูเท่ ผมมักจะชอบเลือกที่อยู่ในช่วงประมาณ ค.ศ.1960 – 1970 คือผมเกิดช่วงปี 1962 ก็รู้สึกว่าได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์อย่างนั้น แล้วพระองค์ท่านในช่วงพระชนมพรรษานั้นเป็นช่วงที่ดีมาก เวลาเห็นพระบรมฉายาลักษณ์แล้วจะรู้สึกว่าเจ๋ง
เท่ มีพลัง มีความเป็นผู้ใหญ่ และผมก็รู้สึกว่าเป็นช่วงที่พระองค์ท่านได้รับการยอมรับจากนานาประเทศอย่างสูงด้วย อีกอย่างที่ผมเลือกคือน้ำหนัก เนื่องจากผมเขียนภาพขาวดำ ผมเลยจะเลือกน้ำหนักที่รู้สึกอยากวาด ไม่ใช่ว่าหยิบรูปไหนก็ได้”

“ส่วนเรื่องสไตล์ภาพมาจากผมอยากกลับมาฝึกมือเพราะไม่ได้เขียนนาน
ผมนั่งอยู่ที่โต๊ะแล้วก็หยิบปากกา หยิบกระดาษรียูส แล้วก็เริ่มสเกตช์เลย ลองมือ
เขียนไปหน้านึง ไม่สวย เขียนใหม่อีกหน้านึง เฮ้ย สวยดีว่ะ เลอะเทอะหน่อย
เพราะผมจะใช้ลิขวิด ใช้ปากกาหมึกซึม ก็เกิดเป็นสไตล์ขึ้นมา ผมชอบงานที่ดูรกๆ หน่อยอยู่แล้วด้วย
ทีนี้ก็เริ่มเลือกภาพข้างหลังกระดาษ เช่น ภาพบัตรประชาชนที่ซีรอกซ์ไว้ มีอันที่บังเอิญมีพระบรมสาทิสลักษณ์ติดมาอยู่ข้างหลังด้วย
มันก็เริ่มกลายเป็นคอนเซปต์ขึ้นมา แล้วก็มีที่สเกตช์ในสมุดโน้ต ทีนี้พอไปถึงที่โน่น
ผมก็อยากมีงานที่เมดอินนิวยอร์ก ดูเท่ดี ก็เลยมีรูปนึงที่เขียนที่นี่แบบยังไม่เสร็จ
แล้วไปจบ เซ็นชื่อที่นิวยอร์ก แต่หลังรู้ข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ก็มีพระบรมสาทิสลักษณ์อีก
3 รูปเกิดขึ้นระหว่างผมอยู่ที่นิวยอร์ก นอกจากนี้ ก็มีสเกตช์ของโครงการใหม่ผมที่จะเอาหลอดไฟนีออนมาเรียงเป็นภาพในหลวงรัชกาลที่
9 ด้วย”

“ผลงานทั้งหมดนี้มีชื่อชุดรวมว่า
The Master (NYC) คือผมรู้สึกว่าในหลวงคือต้นแบบของผม ที่ทำให้ผมทำอะไรได้หลากหลายอย่าง ผมรู้สึกว่าท่านมีพระอัจริยภาพหลายด้าน เพราะฉะนั้นผมไม่ได้มองแค่เรื่องศิลปะที่พระองค์ท่านมีความชำนาญ
คนมักมาถามผมว่า จิตต์สิงห์ได้แรงบันดาลใจจากพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของในหลวงรัชกาลที่
9 ยังไง ผมบอกว่าไม่ ผมโตมาไม่ได้เห็นในหลวงทรงวาดรูปเลย เห็นแต่พระองค์ท่านทรงงาน ไปที่นู่นที่นี่
แต่พอเรียนศิลปะก็รู้ว่าในหลวงทรงวาดรูปด้วย แต่ผมไม่ได้มองตรงนั้น มองตรงทั้งหมดที่พระองค์ท่านทรงทำมากกว่า
แล้วพระองค์ท่านก็ทรงทำได้ดีด้วย ถ่ายรูปก็ดี ศิลปะก็ดี เล่นเรือใบก็ดี แล้วพระองค์ท่านก็ทรงทำทุกอย่างเพื่อประเทศ ผมเลยรู้สึกว่า
เราไม่ต้องทำอย่างเดียวก็ได้ แต่ก็ต้องทำหลายอย่างนั้นให้ดี
กลับเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น”

ผู้คนในนิวยอร์กจึงมีโอกาสชมพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่
9 อย่างเต็มอิ่ม ซึ่งจิตต์สิงห์เล่าว่า ผลงานบางชิ้นก็ขายได้เรียบร้อยตั้งแต่ระหว่างจัดแสดง
ไม่ได้อยู่รอให้ศิลปินนำกลับมาเมืองไทยด้วย อย่างไรก็ตาม
หากใครอยากชมพระบรมสาทิสลักษณ์สวยๆ เทคนิคน่าสนใจฝีมือศิลปินดังคนนี้ ลองแวะเวียนไปดูได้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งจิตต์สิงห์ร่วมแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์กับเหล่าศิลปินศิษย์เก่าอีกหลายคน
และในเดือนธันวานี้ เราน่าจะมีโอกาสได้เห็นนิทรรศการเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเขาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า และผลงานการจัดเรียงหลอดไฟเป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ศูนย์การค้า Siam Center ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559-22 มกราคม 2560 ด้วยนะ

ภาพ: ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR