ท่วงทำนองของเก่งฉกาจ นักดนตรีแจ๊สชาวไทยที่พิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับในนิวยอร์ก

คุณว่าคนไทยที่ไปใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีแจ๊สในนิวยอร์กได้เป็นคนเก่งไหม เก่งฉกาจ

แค่ดูจากประโยคเดียวตรงนี้ ผมว่าก็เก่งแล้ว

แต่ถ้าจะอธิบายเพิ่มว่าเขาคนเดียวกันนี้ไม่ได้เป็นแค่นักดนตรีแจ๊สธรรมดา แต่เป็นนักดนตรีที่มีผลงานอัลบั้มของตัวเองวางขายที่สหรัฐอเมริกาด้วย 

คุณจะมองว่าเขาเก่งขึ้นหรือเปล่า

ผมคิดแบบนั้น

เพียงแต่เมื่อได้สนทนากับเจ้าตัว ภายใต้ความเก่งที่เป็นเหมือนคำยกยอสรรเสริญ เก่ง–เก่งฉกาจ เก่งการค้า กลับทำให้ผมคิดว่าตัวเขามีอะไรมากกว่านั้นอีก

การพูดคุยของเราเกิดขึ้นโดยมีระยะห่างระหว่างกันกว่า 8,650 ไมล์

ผมอยู่กรุงเทพฯ เก่งอยู่นิวยอร์ก ฉากหลังผมเป็นตอนเช้า ฉากหลังเขาเป็นตอนดึก

“ปกติก็ทำงานเวลาประมาณนี้” เก่งบอกผมพร้อมรอยยิ้ม 

งาน–ในที่นี้เขาหมายถึงงานดนตรี ที่ปัจจุบันเก่งทำงานเป็นศิลปินแจ๊สอิสระและเป็นโปรดิวเซอร์ ควบคู่ไปกับการเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่ The Jazz Gallery ซึ่งนี่แหละคือความสงสัยแรกที่ผมพกมาสอบถามเขา

จากเด็กหนุ่มที่เติบโตในประเทศที่ดนตรีแจ๊สไม่ผลิบาน แต่ปัจจุบันในวัย 30 ปี เก่งได้มาใช้ชีวิตการทำงานอยู่ในมหานครที่นักดนตรีแจ๊สทั่วโลกใฝ่ฝัน อะไรคือเรื่องราวระหว่างทางเหล่านั้น

แต่มากไปกว่านั้น ผมก็อยากรู้ว่าท่วงทำนองชีวิตที่พาเก่งมาใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กทำให้เขาเห็นความแตกต่างระหว่างบ้านเกิดและสหรัฐอเมริกายังไงบ้าง

เราคุยกันโดยมีเปียโนและสตูดิโอของเขาเป็นฉากหลัง ชั่วขณะเดียวกันนั้น เสียงเพลงระหว่างบรรทัดของเก่งก็ค่อยๆ บรรเลงไปพร้อมกับการบอกเล่าเรื่องราวของเขา

เรื่องราวของนักดนตรีแจ๊สชาวไทยคนหนึ่งที่ฟังแล้วผมก็ได้แต่คิดว่าเขาเก่งชะมัด

ไม่ได้เก่งธรรมดา

แต่เก่งฉกาจเลยล่ะ

Departure Time  เก่งฉกาจ

‘นิวยอร์ก’ มหานครแจ๊สแห่งความฝัน 

ถ้าจะย้อนไปที่จุดแรกเริ่มของเสียงดนตรีแจ๊สในวันนี้ เราคงต้องพูดถึงวันเวลาที่เด็กชายเก่งฉกาจ เก่งการค้า เริ่มเล่นเปียในปาร์ตี้ของพ่อและให้แม่ร้องเพลง

ด้วยความที่บ้านของเขาเป็นร้านอาหารและพ่อของเก่งก็มีแผ่นเสียงและซีดีเยอะมาก เสียงเพลงแจ๊สจึงเป็นแบ็กกราวนด์มิวสิกในชีวิตเขามาตั้งแต่จำความได้ จะเรียกว่าความชอบได้ไหม เก่งบอกผมว่าก็อาจใช่ แต่เขาไม่เคยคิดไปไกลกว่านั้นเลย

“การยึดดนตรีเป็นอาชีพไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย พ่อแม่ไม่เคยห้ามอะไรนะ แต่เหมือนผมไม่เคยได้รับการปลูกฝังมาว่าเราสามารถยึดดนตรีเป็นอาชีพได้ เลยไม่เคยมองตรงนั้น พอมหาวิทยาลัยผมจึงเลือกเรียนด้าน Industrial Design แทน เพราะทั้งพ่อและแม่ผมเป็นนักออกแบบทั้งคู่”

แต่ก็เหมือนกับทุกความฝันที่มีจุดเปลี่ยน ระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัยที่เก่งเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก วันหนึ่งด้วยความอยากรู้อยากเห็น เขาจึงพาตัวเองออกไปจากรั้วมหา’ลัยเพื่อไปเปิดหูเปิดตาดนตรีของมหาวิทยาลัยอื่นบ้าง โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่าชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไป

“ผมไปลองประกวดดนตรีที่มหาวิทยาลัยรังสิตและได้เจออาจารย์เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี เขาชวนผมไปเข้าค่ายดนตรีแจ๊สที่ ม.รังสิตช่วงปิดเทอม ซึ่งผมพบว่า 2-3 อาทิตย์ที่อยู่ในค่ายเหมือนผมได้ขึ้นสวรรค์

“ผมได้อยู่กับดนตรีทั้งวันทั้งคืน ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยได้ทำ ได้ซ้อมดนตรีกับเพื่อน ได้เห็นว่าเพื่อนที่เล่นดนตรีมาด้วยกันสมัยมัธยมฯ เขาไปไกลขนาดไหนแล้ว ทั้งหมดทำให้ผมมีความสุขมาก ส่งผลให้พอเปิดเทอมใจผมไม่ได้อยู่กับ Industrial Design เลย แม้ตอนนั้นจะเรียนมา 4 ปีแล้ว แต่ผมก็เริ่มมีความคิดว่าปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ ผมเลยสอบถามทาง ม.รังสิตว่าพอเป็นไปได้ไหมที่ผมจะย้ายไปเรียนเอกเปียโนแจ๊สที่นั่น”

“เรียนมาตั้ง 4 ปี พ่อแม่คุณโอเคไหมในการย้ายสายเรียน” ผมสงสัย

“ตอนแรกไม่โอเคหรอก วันแรกที่ไป ม.รังสิตพ่อผมยังพยายามไปหาอาจารย์เพื่อให้ช่วยโน้มน้าวผมไม่ให้เรียนดนตรีอยู่เลย แต่กลายเป็นว่าพอถึงเวลาจริง อาจารย์กลับโน้มน้าวพ่อจนเขายอมให้ผมเรียนแทน” เก่งหัวเราะถึงความทรงจำในอดีต ก่อนอธิบายต่อ

“แต่ผมเข้าใจพ่อแม่นะที่เป็นห่วง เพราะ 4 ปีที่เรียน Industrial Design มันก็ไม่ใช่เวลาน้อยๆ และพอโตขึ้นผมก็ยิ่งเข้าใจที่คนบอกกันว่า ‘นักดนตรีเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง’ มันคืออะไร แต่พอรู้แบบนั้นผมเลยตั้งใจพยายามประกวดงานดนตรีให้ชนะตั้งแต่แรกที่ย้ายมาเรียน ผมพยายามโชว์ให้พ่อแม่เห็นว่าเราหาเงินได้ ผมสามารถทำมาหากินด้วยอาชีพนี้ได้ ซึ่งพอเริ่มทำได้พ่อแม่ก็หายห่วงและโอเคกับผมในที่สุด

“แต่ถ้าให้กลับมาย้อนคิด ผมว่าการโตมาในประเทศไทยทำให้ขาดตรงนี้แหละ หลายอย่างในชีวิตไม่มีใครชวนเราตั้งคำถาม เราเองก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ถามตัวเองว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร โอกาสในการเกิดคำถามเหล่านั้นมันน้อย กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมก็น้อย อย่างผมถ้าไม่ได้เข้าค่ายดนตรีแจ๊สในวันนั้นคงไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองชอบดนตรี และก็คงไม่มีผมในตอนนี้”

Arrival Time

ท่วงทำนองชีวิตของนักดนตรีแจ๊สชาวไทยในนิวยอร์ก เก่งฉกาจ

หลังจากหักเหชีวิตมาสู่เส้นทางสายดนตรีที่ตัวเองรัก เก่งไม่ได้สร้างท่วงทำนองของเขาแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะก่อนเรียนจบไม่กี่ปีเขาตัดสินใจอิมโพรไวส์ชีวิตตัวเองโดยการตั้งเป้าหมายให้ไกลไปสู่ต่างประเทศ และนั่นเองคือก้าวแรกที่ส่งผลให้วันนี้ผมต้องสัมภาษณ์เขาด้วยระยะทางที่ห่างกันกว่า 8,000 ไมล์

การมานิวยอร์กเริ่มต้นได้ยังไง

ต้องอธิบายก่อนว่าด้วยความตั้งใจเดิมพ่อกับแม่อยากให้ผมเรียนต่อต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะพ่อก็เคยอยู่นิวยอร์กช่วงปี 70s เขาเลยอยากส่งเสริมให้ผมไปบ้าง ผมเองก็โอเค ตั้งไว้เป็นเป้าหมายอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ตอนนั้นนิวยอร์กไม่ได้อยู่ในความคิดเพราะต้องใช้เงินเยอะมาก ตกปีละเป็นล้าน และผมก็คิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้น แต่จุดเปลี่ยนคือช่วงปีท้ายๆ ที่เรียนดนตรี ผมได้มีโอกาสมาเที่ยวนิวยอร์กด้วยการสนับสนุนจากคุณน้า เพราะเขาอยากให้ผมได้เจอ ‘ของจริง’ 

ซึ่งพอได้มาเห็นมันก็คุ้มค่ามากพอให้ผมเปลี่ยนเป้าหมายเป็นนิวยอร์ก 

เก่งฉกาจ

คุณเห็นอะไร

ผมคิดว่ามันคือโอกาสและความตั้งใจ นักดนตรีแจ๊สที่นี่ไม่ว่าจะรุ่นใหญ่หรือรุ่นเล็กทุกคนล้วนเต็มที่ และไม่ว่าจะวัยไหน ทุกคนมีโอกาสไปต่อได้เท่าๆ กันเพราะเขามีพื้นที่ให้เราเสนอตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น แทบทุกร้านที่นี่มี jam session เพื่อให้ทุกคนได้โชว์ศักยภาพ เหมือนมันมีโอกาสให้ทุกคนเสมอ นี่แหละที่ทำให้ผมเริ่มหาทุนและหาที่เรียนต่อ

ขั้นตอนหลังจากนั้นเป็นยังไงบ้าง

ส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนดนตรีที่นี่จะคัดเลือกนักเรียนจากทั่วโลกผ่านการออดิชั่น 2 รอบ รอบแรกคือให้ส่งวิดีโอเข้าไป ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่รอบ 2 ที่จะให้มาออดิชั่นที่โรงเรียน ผมเองก็ทำตามขั้นตอนคือส่งวิดีโอสมัครเรียนไปหลายที่ แต่สุดท้ายหนึ่งในโรงเรียนที่ให้ผ่านรอบแรกคือ Manhattan School of Music ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนดนตรีที่ดังและดังมากในสหรัฐอเมริกา ผมเลยตัดสินใจบินมาออดิชั่น

ตอนนั้นคาดหวังมากน้อยขนาดไหน

เป็นความคาดหวังอยู่ลึกๆ มากกว่า เพราะก็อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้มั่นใจในตัวเองขนาดนั้น แต่เพราะตอนนั้นผมตั้งใจมาก ผมเลยคิดแค่ว่าต้องทำให้ได้ มันเลยมีลึกๆ ที่อยากให้ภาพฝันเกิดขึ้น ซึ่งโชคดีที่สุดท้ายก็สอบติดหลักสูตร ป.โท สาขาการแสดงเปียโนแจ๊สจริงๆ

เก่งฉกาจ

ตอนมาเที่ยวกับตอนมาเรียนจริง คุณพบความแตกต่างบ้างไหม

(นิ่งคิด) คงเป็นความจริงที่ว่าทำไมทุกคนที่นี่เก่งกันจัง คือตอนไปเที่ยวมันก็เริ่มเห็นสิ่งนี้อยู่บ้าง แต่พอมาเรียนเราจะได้เห็นเลยว่าทุกคนที่เรียนกับเราเขาเก่งมาก เก่งเกินมนุษย์มนา เพราะด้วยความที่นิวยอร์กเป็นมหานครที่คนเก่งระดับหัวกระทิมารวมกัน รอบๆ ตัวเราเลยมีคนเก่งเกินจินตนาการ ทุกคนมีความสามารถพอที่จะเป็นศิลปินที่ดีได้ทั้งนั้น

พอเห็นแบบนั้นแล้วคุณรู้สึกยังไง

สารภาพว่าผมก็ท้ออยู่เหมือนกัน

คุณท้อในจุดไหน ในความเก่งที่คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่เท่าคนอื่นหรือเปล่า

ส่วนหนึ่ง เพราะด้วยความที่ผมย้ายไปเรียนคนเดียวด้วย การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมอเมริกันจึงเป็นเรื่องยาก ความมั่นใจในการเล่นเลยน้อยลงไปอีก ช่วง 2 ปีแรกของผมจึงค่อนข้างตรากตรำอยู่พอสมควร ทุกครั้งที่เล่นผมจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งเลย ผมห่วยกว่าทุกคน ผมสู้ใครไม่ได้ แล้วนี่ผมจะรอดไหม มันเกิดความสงสัยตลอดเวลาจนสภาพจิตใจแย่มาก

คุณผ่านมาได้ยังไง

ผมคิดว่ามันไม่ได้มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนขนาดนั้น เหมือนพอเวลาผ่านประสบการณ์ก็สอนผมเองว่าควรคิดยังไง แต่เหตุการณ์หนึ่งที่ชัดเจนคือมีเพื่อนลูกครึ่งไทย-สวีเดนคนหนึ่งชื่อ ‘สิรินทิพย์’ เขาบอกผมว่า ‘เก่งอย่าลืมนะว่าเรามาจากประเทศไทย ประเทศที่ไม่ได้มีโอกาสให้พัฒนาตัวเองมากเท่าอเมริกา ดังนั้นการที่เก่งมากถึงจุดนี้ได้ถือว่าเก่งมากแล้ว’ ผมคิดว่ามันคือตรงนี้แหละ ช่วงแรกผมอาจจะลืมไปว่าตัวเองก็มีดี เพราะพอมาคุยกับเพื่อนนักดนตรีทีหลัง ทุกคนเขาแฮปปี้กับเราหมด ไม่มีใครคิดว่าผมด้อยกว่าเลย มีแค่ผมนี่แหละที่คิด ดังนั้นผมคิดว่าสภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อผมผ่านมันมาได้แล้ว ผมถึงจะเจอว่าแท้จริงแล้วตัวเองมีจุดเด่นที่ตรงไหน

ถ้าให้วิเคราะห์ จุดเด่นในฐานะนักดนตรีของคุณคืออะไร

อาจจะเรื่องการแต่งเพลง เพราะผมสังเกตุว่าเพื่อนๆ แฮปปี้ที่จะเล่นเพลงที่เราแต่ง เพราะผมเอาแนวคิดของดนตรีไทยมาผสมกับแจ๊ส เกิดเป็นแนวทางของตัวเองที่ทำให้เพื่อนๆ สนใจ ทำให้เริ่มมีคนชวนไปเล่น

เก่งฉกาจ

เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาต่อหรือเปล่า

ถ้าตามแผนเดิม จริงๆ หลังเรียนจบ 2 ปีผมตั้งใจจะกลับไทย ไม่ได้ตั้งใจอยู่ที่นี่ต่อ เพราะผมอยากกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ถึงหลังเรียนจบจะมีโอกาสด้านการงานเข้ามาแล้ว แต่ผมอยากกลับไปเทคแคร์ครอบครัวมากกว่า แต่พอได้คุยกับพ่อเรื่องอนาคต พ่อบอกผมว่า ‘ถ้ายังมีอะไรให้ทำต่อที่นู่นก็ยังไม่ต้องกลับไทยหรอก ไม่ต้องห่วงทางนี้ พ่อกับแม่โอเค’ ผมเลยสบายใจขึ้นและตั้งเป้าหมายใหม่อย่างชัดเจนว่าจะทำมาหากินที่นี่ 

พอตั้งเป้าแบบนี้แล้วการเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นยังไงบ้าง

ผมคิดว่ามันก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ช่วงปีแรกอาจไม่ได้มีงานให้เล่นเยอะ แค่เล่นตามร้านคนไทย เล่นกลางคืน งานแจ๊สมีนิดหน่อย แต่พอเวลาผ่านไปงานแสดงดนตรีก็เริ่มมากขึ้น เริ่มมีเพื่อนเรียกให้ไปเล่น ผนวกกับผมขวนขวายหาโอกาสโดยขอเข้าไปฝึกงานที่ The Jazz Gallery ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้จนเขาเริ่มจ้างประจำ หลังจากนั้นก็ได้รู้จักคนมากขึ้น จนปัจจุบันก็ทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายโปรดักชั่นที่ The Jazz Gallery ควบคู่กับการเป็นนักดนตรี

ถึงรายได้จะยังไม่ถือว่าดี แต่โดยรวมตอนนี้ถือว่ามั่นคงแล้ว

เก่งฉกาจ

แล้วไปไงมาไงคุณถึงมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง

ตอนแรกผมตั้งใจจะทำเองปล่อยเอง โดยวางคอนเซปต์เป็นชื่ออัลบั้มไว้ว่า ‘Lak Lan’ (ลักลั่น) ที่มาจาก ‘ลักลั่นย้อนแย้ง’ ผมมองว่าคำนี้มันคือตัวผมใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือการที่ผมเป็นคนไทยที่ย้ายมาอยู่อเมริกาแล้วต้องต่อสู้ว่าผมควรปรับตัวยังไง ส่วนที่สองคือความลักลั่นที่ผมจากประเทศไทยมา ที่พอหันกลับไปมองแล้วผมรู้สึกว่าหลายๆ อย่างมันแปลกๆ ไม่ลงตัว ผมตั้งใจอยากใช้ความรู้สึกทั้ง 2 อย่างนี้มาถ่ายทอดเป็นคอนเซปต์เพลง ซึ่งก็เรียกเพื่อนมาช่วยทำตามกระบวนการปกติ แต่ตอนแรกคิดว่าพออัลบั้มเสร็จจะเอามาปล่อยที่ไทย เพราะไม่กล้าปล่อยที่นี่ เขิน 

แต่สุดท้าย Lak Lan ก็ถูกปล่อยออกมาในนามค่าย Outside in Music ที่อเมริกา

(พยักหน้า) พอทำอัลบั้มเสร็จมันประจวบเหมาะกับที่ผมตัดสินใจเปลี่ยนแผนอยู่อเมริกาต่อพอดี ทีนี้มีรุ่นน้องคนไทยที่เขากำลังฝึกงานอยู่ที่ค่าย Outside in Music มาแนะนำว่าค่ายกำลังหาศิลปินใหม่ ให้ผมลองส่งผลงานไปดู ผมเลยลองส่งไป สุดท้ายเขาสนใจและเรียกเข้าไปคุย ลงเอยกันที่เขาตกลงจะปล่อยอัลบั้มของผมผ่านค่ายเขา

https://www.youtube.com/playlist?list=OLAK5uy_nCgkR8SwsT-5lNMQ0Ch7grdRAwnf1nWUk

เหมือนฝันที่เป็นจริงไหม

ใช่ และสำหรับผมมันไม่ใช่แค่การมีอัลบั้มในอเมริกาเท่านั้น เพราะผมได้มีโอกาสทั้งการเห็นชื่อตัวเองในนิตยสารแจ๊สที่เราอ่านมาตั้งแต่เด็กอย่าง DownBeat หรืออย่างการที่มีบทวิจารณ์ที่ดีจากหลายๆ ที่ออกมา มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนตัวเองได้ถูกจารึกไว้แล้วว่าเคยได้มาเหยียบวงการดนตรีแจ๊สที่นิวยอร์ก แฮปปี้มาก ซึ่งที่จริงช่วงปีที่แล้วผมมีแพลนจะทัวร์ที่ฝั่ง West Coast ของอเมริกาด้วย จะได้ไปเล่นคอนเสิร์ตในสถานที่ที่ใหญ่มากๆ ใน L.A. แต่ทุกอย่างก็ต้องพับไปเพราะโควิด-19

กำลังมาดีเลย 

จังหวะดีสุดๆ (หัวเราะ) ก็เซ็งอยู่เหมือนกัน ตอนแรกเศร้ามากด้วยซ้ำเพราะปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกเลยที่ผมรู้สึกว่าตัวเองสามารถอยู่ที่นี่ได้แล้วจริงๆ เพราะนอกจากอัลบั้มยังมีโปรเจกต์ Artist in Residency ที่ผมได้มีโอกาสทำงานกับไอดอลของตัวเองอย่าง Vijay Iyer เหมือนผมได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือต่ออีกเยอะ แต่ทุกอย่างก็ล่มหมด ช่วงแรกนี่ไม่เป็นอันทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ รับไม่ได้ แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว ค่อยๆ เดินต่อแล้ว

ดังนั้นอัพเดตงานปัจจุบันกันหน่อย ตอนนี้คุณทำอะไรอยู่บ้าง

ถ้าหลักๆ คืองานที่ The Jazz Gallery อย่างที่บอกไป ผมทำเกี่ยวกับการไลฟ์สตรีมและจัดการเรื่องคิวการแสดงของคนที่จะเข้ามาทำงานหรือซ้อม แต่นอกจากนั้นก็มีงานที่รับบริหารตารางดนตรีของร้านอาหารด้วย ส่วนงานเพลงปัจจุบันผมมีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับแฟนที่เป็น visual artist เพื่อนำดนตรีของผมไปสร้างเป็นภาพ ส่วนงานโชว์และงานโปรดิวเซอร์ก็มีบ้างประปราย เรียกได้ว่าช่วงนี้ก็กลับมายุ่งแล้ว กลับมามีงานมีเงินแล้ว (ยิ้ม)

ถ้านับตั้งแต่มาเรียนจนถึงตอนนี้ คุณอยู่นิวยอร์กมากี่ปีแล้ว

6 ปีครับ

นานกว่า 2 ปีอย่างที่คิดไว้เยอะอยู่เหมือนกันนะ

(หัวเราะ) นานกว่าเยอะเลย

จากประสบการณ์ 6 ปีที่ผ่านมา ความแตกต่างระหว่างวงการดนตรีแจ๊สในไทยกับนิวยอร์กในสายตาคุณคืออะไร

ผมคิดว่าที่นี่มีโอกาสให้เราสร้างดนตรีมากกว่า เราสามารถนำเสนอผลงานตัวเองอย่างสร้างสรรค์ได้โดยที่มีคนฟัง เพราะคนที่นี่เขามีความต้องการใหม่ๆ เสมอ มีคนที่สนใจเรื่องราวต่างๆ เยอะแยะไปหมด เหมือนเขาไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ แต่ถามว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นแบบนี้ไหม ผมคิดว่ามีแนวโน้มนะ 6 ปีที่ผ่านมาวงการแจ๊สในประเทศไทยก็เปลี่ยนไปมาก ความนิยมของผู้คนก็เริ่มหลากหลายมากขึ้นแล้ว

ส่วนเรื่องสถานที่ ส่วนนี้ที่นิวยอร์กต่างกับที่ไทยเยอะมาก ที่นี่มีร้านที่พร้อมให้นักดนตรีมาขวนขวายอยู่เต็มไปหมด พวกเขาใช้พื้นที่ร้านเพื่อปล่อยผลงานและพูดสิ่งที่อยากพูดได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดคือแทบทุกบาร์ใกล้บ้านที่นิวยอร์ก นักดนตรีสามารถเดินเข้าไปถามเจ้าของร้านได้เลยว่าอยากเล่นดนตรีที่ร้านนี้ คุณสนใจไหม ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็เริ่มได้เลย โอกาสมันเปิดถึงขนาดนั้น

โอกาสเป็นของคนที่ไขว่คว้า

(พยักหน้า) นิวยอร์กคือเมืองที่ให้คุณ Do It Yourself อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นมันก็มาจากการที่เขามีส่วนกลางและองค์กรเอกชนที่สนับสนุนในด้านนี้ มันทำให้คนที่มีความฝันอยู่ได้ ไม่ว่าใครก็สามารถเขียนขอทุน อาจไม่ได้มีสำหรับทุกคน แต่จากที่อยู่มา 6 ปี ผมว่ามันก็เพียงพอ ผู้คนเองก็พร้อมซัพพอร์ต

แล้วในฐานะคนที่มีที่ยืนแล้วในวงการดนตรีแจ๊สที่นิวยอร์ก คุณมีอะไรจะแนะนำคนที่อยากตามมาไหม

(นิ่งคิด) ถ้าไปถามคำถามนี้กับนักดนตรีแจ๊สในนิวยอร์ก ผมเชื่อว่าหลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันนะ ว่าสุดท้ายคำตอบของทุกอย่างคือเรื่องของเวลา

ว่ากันตามตรงนิวยอร์กไม่ใช่เมืองที่อยู่ง่าย หลายคนมาแล้วก็ไป คนที่อยู่จริงๆ มีไม่เยอะ ดังนั้นเคล็ดลับความสำเร็จของการอยู่นิวยอร์กจึงเป็นเรื่องนี้ คือขอให้คุณอดทนพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่นานที่สุด เพราะพออยู่นานคุณจะยิ่งรู้จักคนเยอะขึ้น มีโอกาสเยอะขึ้น ดังนั้นก็อยู่ให้นานกว่าคนอื่น

เพราะสุดท้ายถ้าคุณทำได้ วันหนึ่งก็ต้องมีคนเรียกคุณไปร่วมงานแน่

Goods to Declare

สรุปแล้ว 6 ปีในนิวยอร์กทำให้เก่งเรียนรู้อะไรบ้าง ประสบการณ์ตรงนั้นทำให้เขาหันกลับมามองประเทศไทยแบบไหน เราชวนเขามาถาม-ตอบทิ้งท้ายในบรรทัดต่อจากนี้

เรื่องที่คนอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับอเมริกา

เคยมีพี่คนหนึ่งแชร์วิดีโอสัมภาษณ์ของผมไป แล้วบอกเล่าจากประสบการณ์ของเขาว่า “นิวยอร์กไม่ใช่สรวงสวรรค์ และคนที่อยู่ที่นั่นไม่ใช่เทวดา” ผมว่าประโยคนี้ค่อนข้างสรุปและตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนเลยทีเดียว

เรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้ก่อนมาอยู่อเมริกา

ขยายต่อจากคำตอบที่แล้วเลย อเมริกาไม่ได้ง่ายและสวยหรูแน่ๆ มันมีความลำบากที่ต้องเจอ อย่างผมเองสิ่งที่เจอมาจริงๆ ก็เกินกว่าที่คิดไว้มากๆ ทั้งด้านดีและร้าย ดังนั้นผมว่าเตรียมเปิดใจ เตรียมเปิดรับ และเตรียมพร้อมที่จะลุยกับสิ่งที่เจอได้เลย

เก่งฉกาจ

อเมริกาเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของคุณไปบ้าง

ผมคิดว่าที่นี่ทำให้ผมเป็นคนที่เปิดกว้างมากขึ้นนะ ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างเปิดกว้างมากอยู่แล้ว แต่พอได้มาอยู่ที่นี่จริงๆ กลายเป็นว่าผมเป็นคนแคบมากไปเลย

คิดว่าอเมริกาเหมาะกับคนแบบไหน

อันนี้ผมว่าตอบยาก เพราะทุกคนน่าจะมีวิธีจัดการกับความคิดหรือใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับความจำเป็นด้วย แต่ถ้าให้ตอบผมคิดว่าอเมริกาอาจจะเหมาะกับคนที่ชอบเมือง ชอบชีวิตที่มีอะไรให้ทำตลอด

สิ่งที่เจอในอเมริกาและอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง

(นิ่งคิด) ความเปิดกว้าง ความคิด และอีโก้ของคน ไม่ใช่ว่าที่นิวยอร์กหรือทุกคนที่นี่เปิดกว้างเสมอไปนะ แต่อย่างน้อยผมว่าบรรยากาศในการรับฟังถือว่าค่อนข้างดี ที่นี่สอนให้คนเปิดกว้าง ซึ่งพอเปิดกว้างก็ทำให้เราให้เกียรติทุกคนมากขึ้น พอทุกคนเคารพกันสังคมเลยดีขึ้นตาม

เก่งฉกาจ

AUTHOR