มายาฤทธิ์ : แหวกม่านคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังโรงละครสำหรับเด็กและเยาวชนแห่งแรกของไทย

คล้ายค้นพบดินแดนมหัศจรรย์-เรารู้สึกอย่างนั้นเมื่อเดินขึ้นบันไดของตึก JJ OUTLET แล้วพบโรงละครซึ่งมีเหล่านักแสดงอาสากำลังขะมักเขม้นฝึกซ้อมซ่อนตัวอยู่

มายาฤทธิ์คือโรงละครสำหรับเด็กและเยาวชนแห่งแรกของไทย
ก่อตั้งโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (หลายคนอาจรู้จักสถาบันนี้ในชื่อกลุ่มละครมายา)
พื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้เป็นโรงละครกะทัดรัด ขับเคลื่อนด้วยแรงกายแรงใจของอาสาสมัครและเม็ดเงินจากผู้ชม
แม้อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ยืนระยะมาได้เกือบ 2 ปี มีหลายครอบครัวติดใจละครสนุกคุณภาพคับเวทีจนสมัครเป็นแฟนประจำ เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเล่นจบไปคือ ชีวิตรุ่งเรืองด้วยปัญญา Aesop’s Timeless Wisdom Cabaret ที่เอานิทานอีสป 9 เรื่อง เช่น ราชสีห์กับหนู หมากับเงา มาตีความใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น แล้วนำเสนอในรูปแบบน่าสนุกอย่างคาบาเร่ต์

สมศักดิ์ กัณหา ผู้อำนวยการโรงละครรอเราอยู่ที่ด้านหน้า
เรานั่งลงพูดคุยกับเขาถึงจุดเริ่มต้นของมายาฤทธิ์และอีกหลากหลายคำถามรอบจักรวาลของละครเวทีสำหรับเด็ก
เป็นบทสนทนาที่เรารู้สึกได้ว่ามีพลังงานดีๆ อัดแน่น

เชิญพบกับมายาฤทธิ์และโลกของละครเวทีเด็กได้ตั้งแต่บรรทัดถัดจากนี้ไป

โรงละครแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นได้ยังไง
มายาฤทธิ์เป็นแผนงานของสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาหรือกลุ่มละครมายา
ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยใช้สื่อละคร
เราตระหนักถึงพลังของการใช้ละครในฐานะสื่อที่มีประสิทธิภาพในการให้ความรู้ และมันไม่ได้ให้แค่ความรู้อย่างเดียว
แต่ให้ทั้งข้อมูล อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะก่อรูปเป็นทัศนคติ ขณะเดียวกัน
ตัวละครเองก็พัฒนาความคิดสร้างสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ
สร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ ด้วย ละครที่เราทำมีหลายรูปแบบ
ตั้งแต่ละครเร่ เล่นในสลัม ในชุมชน หรือละครเวที ฯลฯ ที่จริงเราเคยมีโรงละครชื่อมายาบ็อกซ์
อยู่แถวลาดพร้าว 71 เมื่อ 20 ปีก่อน แต่มันเล็กมาก พอมีทุนหน่อยนึง
เราเลยขยับขยายมาที่นี่

 

ที่จริงแล้วทำละครน่าจะเล่นที่ไหนก็ได้
ทำไมต้องมีโรงละครของตัวเองด้วย
มันเป็นที่เพาะบ่ม
เพราะละครเวทีต้องฝึกซ้อม ถ้าคุณไปเช่าที่อื่นก็ต้องเช่าเวลาปกติ
แล้วเราจะเอาเวลาไหนไปทำ เพราะเราเองต้องทำงานด้วย หรือนักแสดงที่เรียนหมออยู่
เลิกเรียนปุ๊บ บึ่งมาจากธรรมศาสตร์กัน มาซ้อมถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง ถ้าซ้อมทั้งวันมันก็เป็นไปไม่ได้
ที่อื่นไม่เปิดโอกาสให้เราอยู่แล้ว หรือถึงเปิดโอกาส คิดดูว่าค่าเช่าจะมหาศาลขนาดไหน

แล้วทำไมต้องทำเป็นโรงละครสำหรับเด็ก
เราเห็นปัญหานึงว่าเยาวชนไม่มีนันทนาการสร้างสรรค์หรืออาร์ตสเปซสำหรับเด็กเลย
ซึ่งผู้ใหญ่เองก็ไม่มีอยู่แล้ว (หัวเราะ) ทีนี้ถ้าคุณจะพัฒนาประเทศไป
ขณะที่ประเทศกำลังย่ำแย่ขนาดนี้ เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถ้าคุณไม่ดูแลเขาวันนี้
คุณจะไปดูแลเขาตอนไหน วันนี้คือวันของเขา สถาบันที่ดูแลเด็กคืออะไร โรงเรียนเหรอ
เด็กอยู่ในโรงเรียน 200 วัน มันจะพอเหรอ การเรียนรู้ของคนเรามีสองอย่าง เรียนรู้ตามระบบ
กับเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย ละครเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย
เราก็เห็นความจำเป็น อีกอย่างคือในแง่ของการรณรงค์ ในแง่เชิงสัญลักษณ์มันก็จำเป็น
เพราะคุณต้องบอกกับสังคมว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีโรงละครสำหรับเด็ก เหมือนที่ต้องมีร้านหนังสือ
มีพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก เราก็เลยคิดว่าเอาล่ะ ทำได้แค่ไหนก็ทำแหละ เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นยังไง
เพราะคิดว่ามันไม่ใช่ธุรกิจ อย่างมากก็ขาดทุน ก็กลับไปที่เดิมที่เราอยู่
ใครอยู่ที่ไหนก็กระจายกันไป คิดแค่นั้น

ละครเวทีสำหรับเด็กต่างจากละครผู้ใหญ่ไหม
จริงๆ โดยกระบวนการนี่ไม่ต่างเลย
แต่ละครเด็กสำหรับเราจะเล่าเรื่องประณีตมากขึ้น
การใช้ภาษาที่ต้องคำนึงถึงผู้รับสารของเรามากๆ เพราะเด็กที่มาดูมีทั้งเด็กอนุบาล 3
ขวบ จนถึงผู้ใหญ่เลย เพราะงั้นภาษาที่ใช้ในละครจะเป็นภาษาที่สละสลวย เราคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของคนทำงานที่ต้องประณีตกับงานมาก
อีกจุดที่แตกต่างคือมีสปอนเซอร์ได้ แต่ต้องมีแบบที่เขาเข้าใจธรรมชาติของเรา
อาจจะมีปรากฏในสูจิบัตร แต่ไม่ใช่เอาของมาแจก หรือวางให้เด็กบนเวที
คุณจะเอาสินค้าไปวางในเวทีให้เด็กเห็นได้ยังไง เป็นไปไม่ได้หรอก
ประเทศที่เจริญแล้วนี่ไม่มีทางเลย เพราะว่าเด็กต้องได้รับการพิทักษ์
เมื่อเด็กพร้อม เขาตัดสินใจเลือกได้ มันง่ายมากที่จะเอาตัวแบรนด์สินค้าไปติด
แต่ทำไม่ได้ คนทำก็ไม่แฮปปี้

 

แล้วโรงละครสำหรับเด็กต้องมีอะไรต่างจากของผู้ใหญ่มั้ย
ความแตกต่างอย่างนึงคือละครสำหรับเด็ก
ถ้ามันไกล เสียงต้องผ่านไมค์ มันจะไม่เห็นแววตา ไม่เห็นน้ำเสียงของนักแสดงใกล้ๆ
ละครเด็กต้องมีสิ่งที่เรียกว่าความใกล้ชิด เพราะเด็กเขารู้สึกได้ เวลาเด็กเขามาดู
เขาอินมาก ถ้าเรามีเงินมากกว่านี้ ก็อาจจะทำโรงใหญ่กว่านี้หน่อยนึง แต่ก็ยังเน้นให้ใกล้กันอยู่

 

เลือกยังไงว่าจะหยิบเรื่องนี้มาแสดงเป็นละครให้เด็กดู
สิ่งสำคัญที่เราคิดถึงคือต้องเป็นเรื่องที่ดี
เป็นเรื่องที่ให้ความหวัง ให้แรงบันดาลใจ ปลูกปัญญาเด็ก อย่างเรื่องแรกเราเปิดด้วย มุกหนอก (Mugnog Kinder!) เป็นละครเวทีสำหรับเด็กจากเยอรมัน
เป็นละครการเมืองสำหรับเด็กที่พูดถึงเรื่องสิทธิเด็ก
ความยาวสองชั่วโมงครึ่ง แต่เด็กสนุกสนานมาก ตอนแสดงมีอยู่รอบนึง อาจารย์เสกสรรค์
ประเสริฐกุลมาดูคนเดียว ที่เหลือเป็นเด็กอนุบาลหมดเลย เพราะจริงๆ ละครเรื่องนี้เล่นมาตั้งแต่ประมาณช่วงปี
2521 เป็นละครเวทีที่โด่งดังเรื่องนึงแล้วก็เป็นละครคลาสสิกของโลก

ไม่กลัวว่าเล่นเรื่องยากแล้วเด็กจะดูไม่รู้เรื่องเหรอ
เด็กไม่รู้หรอกว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร
แต่ในเรื่องมีฉากที่เด็กถูกผู้ใหญ่แย่งของรักไป เด็กรู้แต่ว่าเขาถูกแย่งของ
การรู้สึกได้ รู้สึกเสีย เป็นความรู้สึกที่แรงมาก เขาไม่รู้ว่าสิทธิเด็กคืออะไร
แต่เมื่อคุณโดนคนแย่งของ คุณก็ต้องต่อสู้ ผมมองว่าละครเวทีสำหรับเด็กมันต้อง over learning มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเรื่องยากหรือไม่ยาก
แต่อยู่ที่เราจะใช้ช่องทางสื่อสารยังให้เด็กเข้าใจ รู้สึกไปกับมัน ผ่านภาพ
ผ่านเพลง ผ่านการแสดง การตีความ ซึ่งแน่นอน ก็ยังยากอยู่ดี เพราะเรายืนยันว่าทำละครยาก
ผู้ใหญ่ดูก็ยาก แต่เราไม่ต้องคิดแทนเด็ก ให้เด็กเขาดูเถอะ ถ้าเขาไม่ชอบ
เขาก็ไม่ชอบเองแหละ แต่ละครต้องพาเด็กไปไกลกว่านั้น ตัวละครพูดว่ากำลังจะตายก็ได้
แต่ตัวละครอาจจะบอกว่าฉันกำลังจะไปบ้านแห่งความตาย
ความตายเป็นเพื่อนของความหลับใหลไม่ใช่หรือ ภาษามันก็สวยกว่า ซึ่งเด็กอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด
แต่อย่างความตายก็คล้ายๆ ความหลับ ฉากในเรื่อง Happy Prince ที่นกนางแอ่นจะตาย
พอนกพูดอย่างนี้ เด็กร้องห่มร้องไห้กัน เขารู้แหละว่ามันจะต้องตาย ผมว่าเราต้องให้อะไรที่ยากๆ
กับเด็ก ต้องท้าทายเด็ก ไม่ใช่ให้อะไรที่มันง่าย
ถ้ามันง่ายเพราะมันประณีตมากจนดูง่ายน่ะใช่ แต่อยู่ภายใต้วิธีคิดที่เข้มข้นที่สุด
งานเด็กน่ะต้องแบบนั้นเลย

เรามีความเชื่อชุดนึงคือไม่คิดว่าเด็กเป็นสัตว์โลกที่อ่อนแอ
เราคิดว่าเด็กเป็นบุคคล ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ด้วยนะ เป็นบุคคลเทียบเท่าเรา
เพียงแต่ว่าเขามาในรูปของเด็ก เพราะอย่างนั้น เวลาสื่อสารกับเขา เราไม่ได้ใช้วิธีการที่ซับซ้อนเลย
ก็สื่อสารเหมือนกับเขาเป็นผู้ใหญ่ คุณมีสิทธิ์ มีหน้าที่ มีเสรีภาพ เด็กมาดูละครเรา นั่งดูด้วยความเต็มใจ ภูมิใจ
มีที่นั่งสำหรับเขา ไม่เหมือนกับการนั่งตัก แค่นี้ก็สร้างความมั่นใจให้กับเด็กเยอะมาก

ละครเวทีเด็กต้องสั่งสอนมั้ย
ผมเชื่อในละครความรู้
อาจจะสอนตรงหรือสอนอ้อมก็ตาม แต่หนึ่งในสิ่งที่ละครก็คือ ความรู้ เพราะอย่างนั้นละครก็เลยจำเป็นต้องให้ความรู้ด้วย
แต่ถามว่าสั่งสอนหรือเปล่า มันก็ไม่เชิงสั่งสอนนะ มันไม่ใช่การสอนว่าเธอต้องเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้
ไม่มีใครบังคับใครได้อย่างนั้นหรอก เขาอาจจะเชื่อ ไม่เชื่อ อาจจะรัก ไม่รัก ได้หมด
มันเป็น free choices สิ่งที่สำคัญคือ เราพยายามจะกระตุ้นให้เขาคิด การคิดเป็นเรื่องสำคัญ
แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ จะเรียกสั่งสอนหรือเปล่าก็ไม่รู้ เช่น อัตตาหิ
อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่เป็นทักษะที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด
คุณจะเชื่อฟ้าเชื่อฝนเหรอ เมื่อมีปัญหาก็ต้องรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง
มันเป็นความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด

การทำละครเด็กเรื่องหนึ่งมีกระบวนการทำงานยังไง
ก็เริ่มจากเรื่องก่อน
อาจจะมีผู้กำกับสนใจเรื่องนี้ เอาประเด็นนี้มาคุยกัน ซึ่งอาจจะมาจากตัวบทละครเด็กดั้งเดิมที่มีชื่อเสียง
วรรณกรรมเด็กที่เป็นตัววรรณกรรมจริงๆ บางเรื่องก็เป็นหนังสือภาพ ไม่มีคำ เวลาทำบท
คุณก็ต้องประมวลภาพ แล้วก็แปลภาษาบางอย่างซึ่งไม่ได้เขียนแต่ภาพกำหนดมา
หรือบางทีก็ต้องพัฒนาบทละครต้นฉบับขึ้นมาเลย แต่มันต้องเริ่มที่ผู้กำกับก่อน
ต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องมีแพสชัน รู้สึกกับเรื่องนี้
มองเห็นประเด็นที่จะขับเคลื่อนได้ แล้วก็โน้มน้าวให้ทุกคนเห็น พอเลือกเรื่องเสร็จ
ก็เป็นหน้าที่ของผู้กำกับที่จะต้องไปสร้าง เชื่อมโยงกับประสบการณ์บางอย่าง
ความรู้สึก ความสะเทือนใจที่เขารู้สึก แล้วก็แปลงทั้งหมดนี้ให้กลายเป็นโปรดักชัน
ดีไซน์ คุยกับดีไซเนอร์ส่วนต่างๆ ว่าคอนเซปต์ชุดต้องการแบบนี้
เมกอัพต้องการแบบนี้ เวทีต้องการแบบนี้
ส่วนใหญ่ที่นี่ผู้กำกับทำบทเอง เพราะเราเป็นละครโรงเล็กก็ต้องทำให้เบ็ดเสร็จเลย
คุณต้องการภาพอะไร ก็ทำบทอย่างนั้น ฝ่ายผลิตก็จะทำตามคุณ

หาเงินทุนมาหล่อเลี้ยงสิ่งนี้ได้ยังไง
รายได้ตอนนี้คือค่าตั๋วอย่างเดียว
ซึ่งทีมงานที่นี่ไม่มีใครได้ค่าตอบแทนเลย รายได้ทั้งหมดคือแค่ครอบคลุมค่าสถานที่
ค่าผลิต ค่าไฟ แล้วก็ค่าแอร์เท่านั้น โชคดีที่ผู้ปกครองมาดูแล้วบอกต่อ
เราไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์เลยนะครับ ไม่มีแมสมีเดียช่วยเลย เป็นสื่อโซเชียลมีเดียหมด
เป็นการบอกต่อกัน ถ้าลองมาดู จะเห็นเลยว่าเด็กที่มาดูนี่บอกต่อกันน่ะ
เป็นเครือข่ายของครอบครัวที่เลี้ยงลูกประณีตมาก

ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง
ดีมาก
ผู้ปกครองรักโรงละคร บางคนพาเด็กมาดู บินมาจากปัตตานี จากตรัง จากเชียงใหม่
เด็กก็ชอบ มีผู้ปกครองบอกว่าสิ่งแรกที่ลูกทำตอนกลับไปบ้านคือเอาโปสเตอร์ไปติดที่หน้าห้องนอน
แล้วก็ร้องเพลงนี้ตลอด จนต้องมาสั่งซื้อซีดีส่งกลับไปเลย พ่อแม่เขาสะท้อนมาด้วยว่าเด็กมีสมาธิเยอะขึ้น ลูกเขาเรียกร้องอยากดูละครแบบนี้
เรื่องง่ายๆ ไม่ดู แล้วก็มันจะมีหนังสือให้เด็กไปอ่าน เด็กอ่านหนังสือกันเยอะ อ่านจบเป็นเล่มเลย
แล้วถามว่าตอนนี้ไม่แสดงเหรอ พ่อแม่เขาก็จะถามว่ามีหนังสืออะไรแนะนำ
มันก็นำไปสู่การอ่านด้วย

เรื่องยากที่สุดที่เจอตั้งแต่ทำมายาฤทธิ์มาคืออะไร
เรื่องประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องหนัก เราไม่ได้มีทีมประชาสัมพันธ์ที่มีศักยภาพเก่งกาจ
แล้วเราก็มัวแต่ทำละคร บางทีก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ อีกเรื่องนึงคือเรื่องงบประมาณ ตอนนี้เราก็ยังจัดการให้มันอยู่ได้
แต่ในระยะยาวคงจะอยู่ไม่ได้หรอก แต่ก็อาจจะอีกสักสองปี สามปี
ตอนนั้นค่อยมาว่ากัน
เพราะบุตรธิดาบู๊ลิ้มน่ะนะ ออกท่องยุทธจักรก็อย่าหวั่นกลัวอะไร (หัวเราะ)
มาขนาดนี้แล้ว จะไปคิดอะไร ชีวิตก็เป็นเรื่องสมมติอยู่แล้ว
ไม่ได้ก็กลับไปทำงานเดิม ปัจจุบันมันยังมีอนาคต ยังมีคนมา ยังอยู่ได้
สิ่งที่เรากลัวมากกว่าคือพลังสร้างสรรค์จะหมด แต่เราก็เชื่อในเรื่องภาวะร่วมสร้างสรรค์จากการทำละครเวทีนะ คือการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่ายได้แบ่งปันความคิดกันโดยอยู่ภายใต้การตัดสินใจของผู้กำกับ ตราบใดที่ทุกคนร่วมสร้างสรรค์ ละครก็อยู่ได้

 

คุณเองได้อะไรจากการทำละครบ้าง
เราได้ความสุข แล้วถ้าความสุขนี้มันจะทำให้คนอื่นได้เติบโต
ได้อานิสงส์ของสิ่งที่เราทำ เราก็มีความสุข ซึ่งเราบอกไม่ได้หรอก มันไม่มีผลวิจัยที่บอกเป๊ะๆ
แต่ที่เราทำละครผ่านมา 30 กว่าปี มีอาจารย์บางท่านมาดูละครเรา
แล้วเล่าให้ฟังว่าเคยดูละครที่โรงละครที่เก่าแล้วชอบมาก เลยตัดสินใจเรียนละคร กลายเป็นอาจารย์สอนละคร
มีเด็กหลายคนที่ดูละครเราแล้วมาเจอตอนโต บอกว่าเคยดูละครที่ไปเล่นในโรงเรียน
มันเปลี่ยนชีวิตเขาในเรื่องการบริโภคอาหารกรุบกรอบ และผู้ชมก็ยังมาดูอย่างสม่ำเสมอ
กลับไปแล้วก็ยังมาอีก แสดงว่าละครที่เราทำก็ต้องมีอะไรแหละนะ

Facebook l Mayarith Theatre โรงละคร มายาฤทธิ์

ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง

AUTHOR