อรรถ บุนนาค : จิบชานั่งสนทนากับชายผู้ฟื้นวรรณกรรมญี่ปุ่นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรม
การวิจารณ์ รวมไปถึงค่อนข้างคลั่งไคล้วัฒนธรรมป๊อปๆ สไตล์ญี่ปุ่นอยู่บ้าง ก็น่าจะพอคุ้นชื่อของอรรถ
บุนนาค
ชายหนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นใส่กรอบแว่นสี่เหลี่ยมคนนี้ ผู้เป็นทั้งพิธีกรฝีปากกล้าและนักเขียนลีลาจัดจ้านจากผลงานความเรียงเล่ามุมมองวิพากษ์วัฒนธรรมทั้งไทยและญี่ปุ่น

แต่สำหรับบทบาทหนึ่งซึ่งเราอาจไม่ค่อยคุ้นนักคือการทำหน้าที่บรรณาธิการต้นฉบับ
ที่อรรถใช้ความผูกพันกับญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก ลงมือคัดสรรวรรณกรรมคลาสสิกร่วมกับเพื่อนพ้องคนทำหนังสือมานำเสนอให้นักอ่านชาวไทยในนามของสำนักพิมพ์
JLIT
ซึ่งจัดพิมพ์ออกมาให้เราอ่านกันแล้ว 2 เล่มในวาระเทศกาล Bangkok
Book Festival 2016 เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ ‘สูญสิ้นความเป็นคน (人間失格)’ วรรณกรรมเลื่องชื่อของดะไซ โอซามุ และ ‘ฝันสิบราตรี
(夢十夜)’
รวมเรื่องสั้นของนัตสึเมะ
โซเซกิ ซึ่งนี่เองเป็นเหตุผลที่เราชวนเขามานั่งคุยกันในวันนี้ ว่าด้วยความตั้งใจของคนทำหนังสือตัวเล็กๆ
ที่อยากปูให้ที่ทางของวรรณกรรมญี่ปุ่นในสังคมไทยกว้างใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

รวมพลคนทำหนังสือญี่ปุ่น

“ต้องเล่าก่อนว่าเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว นิตยสาร IMAGE
ตั้งสำนักพิมพ์อิมเมจขึ้นมาและทำเลเบลหนังสือแปลภาษาญี่ปุ่นโดยเฉพาะในชื่อ
‘JBOOK’ ที่ผมเป็นบรรณาธิการตอนนั้น มีหนังสือที่ดังมากๆ
อย่าง คิทเช่น ของโยชิโมโต บานานา หรือซีรี่ส์ ริง คำสาปมรณะ
ของซุสุกิ โคจิ สักพักก็แยกออกมาและเปลี่ยนเป็นสำนักพิมพ์ ‘Bliss Publishing’
ซึ่งมีเบียร์-พรพิรุณ กิจสมเจตน์ มาดูแลต่อ รวมถึงอาจารย์น้ำทิพย์
เมธเศรษฐก็เป็นนักแปลของสำนักพิมพ์มาแต่ไหนแต่ไร ก็รู้จักและพูดคุยกันในแวดวงคนทำหนังสือญี่ปุ่นกันมาตลอด”

“วันหนึ่งพี่เบียร์มีต้นฉบับเรื่อง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ที่แปลออกมาแล้วและนำไปเสนอสำนักพิมพ์ แต่มีเหตุขลุกขลักบางอย่างทำให้พิมพ์ออกมาไม่ได้
พวกเราเลยคุยกันว่าตั้งสำนักพิมพ์กันเองไหม ตัดสินใจง่ายๆ อย่างนั้นเลยด้วยเหตุผลว่าถ้าไม่ทำตอนนี้ก็คงไม่ได้ทำแล้ว
เป็นความฝันของทุกคนด้วยว่าก็อยากทำสำนักพิมพ์กัน ซึ่ง JLIT มีหมุดหมายว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ
ที่พิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกของญี่ปุ่นซึ่งหมดลิขสิทธิ์แล้วและแปลจากภาษาญี่ปุ่นโดยตรง
เพราะเรายังเห็นหนังสือญี่ปุ่นในไทยที่แปลจากภาษาอังกฤษ จากภาษาจีนก็มี เริ่มจากที่มีต้นฉบับอยู่แล้วคือ
‘สูญสิ้นความเป็นคน’ และชวนพ่ง-ภาวนา แก้วแสงธรรม มาเป็นบรรณาธิการให้ รวมกันเป็น 4 คน”

เสียงตอบรับจากกลุ่มนักอ่านที่หลากหลาย

“วรรณกรรมสร้างสรรค์เคยบูมมากๆ
ช่วงยุค 70 ด้วยบรรยากาศของบ้านเมืองที่ขบวนการนักศึกษาเบ่งบาน
หนุ่มสาวกระหายตัวอักษร ทำให้งานเขียนของมิเชล ฟูโกต์ หรืองานวรรณกรรมของนักเขียนคนอื่นๆ
ถูกแปลและอ่านกันมาก ถ้าถามว่าทำไมถึงตัดสินใจทำสำนักพิมพ์กันตอนนี้
เรามองว่าคนอ่านสมัยนี้มีพื้นฐานการอ่านที่ดีขึ้นมากและภาษาอังกฤษก็แข็งแรงทำให้เลือกอ่านต้นฉบับกันได้เยอะ
แต่กลับกัน วรรณกรรมญี่ปุ่นยังหาคนที่อ่านจากต้นฉบับได้น้อย แต่มันมีฐานของกลุ่มคนที่อยากอ่านอยู่
อาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่แมส แต่เราเชื่อว่าขายได้แน่นอน”

“กลุ่มคนอ่านที่มองไว้คือวัยรุ่นมัธยมปลายที่กำลังค้นหาตัวเอง
มีความคิด สนใจการอ่าน ไปจนถึงวัยทำงานอายุ 30
ปี รวมไปถึงแฟนๆ หนังสือญี่ปุ่น เราโชคดีตรงที่มีฐานแฟนคลับจาก JBOOK
อยู่แล้วด้วย เขาคุ้นเคยกับชื่อพี่เอง ชื่ออาจารย์น้ำทิพย์
ทำให้มั่นใจว่างานของเราไม่ได้ทำกันอย่างลวกๆ มีการตรวจแก้ต้นฉบับกันอย่างจริงจัง
แต่พอวางขายไป เรากลับตกใจที่พบว่ามีผู้อ่านอีกกลุ่มค่อนข้างใหญ่เลยคือกลุ่มโอตาคุที่เสพมังงะ
ดูอนิเมะ อาจเพราะเขารู้จักหนังสือเรื่อง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ กันอยู่แล้ว มีเพลงที่แต่งและร้องโดยไอดอลของพวกเขาที่ชื่อว่า Dazai
Osamu yonda ka? (เธอเคยอ่านดะไซ โอซามุ แล้วหรือยัง)
ออกมาด้วย เลยทำให้เกิดผู้อ่านกลุ่มนี้ค่อนข้างใหญ่”

ทำสิ่งไม่ป๊อปให้ป๊อป

“เราตั้งเป้าไว้ว่าควรมีหนังสือออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี
อีก 3 เล่มที่จะพิมพ์ในปีนี้ก็ยังเป็นงานของดะไซ
โอซามุ และนัตสึเมะ โซเซกิ อยู่ แต่ปีหน้าเราก็เลือกวรรณกรรมป๊อปๆ อย่างนวนิยายสืบสวนสอบสวนสยองขวัญของเอโดงาวะ
รัมโป มาด้วย ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลในวงการวรรณกรรมและซับคัลเจอร์ของญี่ปุ่นมาก
วิธีการเลือกหนังสือมาแปลคือต้องเป็นเล่มที่นิยมในญี่ปุ่น และตัวพวกเราเองคิดว่าอยากให้คนไทยได้อ่านกัน
ซึ่งจุดแข็งของเราคือความหลากหลายนี่แหละ ทุกคนไม่ใช่คนที่อ่านแต่วรรณกรรมสายแข็งอย่างเดียว
หรือไลต์โนเวลอย่างเดียว แต่เราอ่านได้หมดและรอบด้าน อย่างผมเองก็อ่านทั้งนวนิยายและ
non-fiction เป็นบ้าเป็นหลัง ไปญี่ปุ่นเห็นอะไรก็หยิบกลับมาอ่านหมด”

“ที่เราตั้งใจทำสำนักพิมพ์ JLIT ขึ้นมาก็เพราะอยากให้เกิดกระแสการอ่านงานเขียนญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ วรรณกรรมป๊อป รวมไปถึงนิตยสาร การ์ตูน หรือแม้แต่หนังสือ non-fiction ให้ขยายวงกว้าง เกิดเป็นแฟนคลับของหนังสือญี่ปุ่น
โดยมีสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกันทั้งหมด
ซึ่งก็มีแนวโน้มมากที่วรรณกรรมญี่ปุ่นจะกลับมานิยมในไทยอีกครั้งนะ เพราะก็มีหลายสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานวรรณกรรมญี่ปุ่นออกมา
อย่างสำนักพิมพ์กำมะหยี่ สำนักพิมพ์ Sunday Afternoon หรือสำนักพิมพ์เล็กๆ
อย่าง Hummingbooks ที่พิมพ์เรื่อง กุหลาบเลือด (ブラディ・ローズ) ของอิมะมุระ
อายะ ออกมา ก็ช่วยส่งเสริมกัน”

“ที่ญี่ปุ่น ทุกสิ่งอันจะถูกแปลให้อ่านหมดไม่ว่าจะเป็นปรัชญายากๆ
อย่างนวนิยายไทยก็ถูกแปลไปมากมาย เช่น งานของปราบดา หยุ่น หรือวรรณกรรมในประเทศพม่า
เวียดนาม เราเป็นเพื่อนบ้าน เรายังไม่เคยอ่านงานของเขาเลย เราอยากให้สังคมการอ่านไทยเป็นอย่างนั้น
สิ่งที่เรากำลังทำก็คือใช้ความเชี่ยวชาญ ส่งผ่านวรรณกรรมดีๆ
ของญี่ปุ่นให้คนไทยได้อ่านกัน ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้สำนักพิมพ์อื่นๆ
หรือคนที่เชี่ยวชาญภาษาอื่นๆ ได้ผลักดันให้มีวรรณกรรมของชาตินั้นๆ
ออกมาอย่างคึกคัก”

วรรณกรรมเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

“ยุคนี้การเข้าถึงงานวรรณกรรมญี่ปุ่นสำหรับคนไทยเริ่มง่ายขึ้นนะ
เพราะคนไทยมีภูมิหลังเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นพอสมควร ตรงนี้ก็ช่วยนักแปลได้มาก
อย่างเวลาเราพูดถึงเสื่อทาทามิ หรือฉากการกินข้าวบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่น คนไทยจะเข้าใจเลยเพราะเคยเห็นในการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก
คนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในเมืองไทยเยอะจนเราเจอกันจนชิน รวมไปถึงการเดินทางไปญี่ปุ่นที่ง่ายขึ้นมาก
เราได้ไปเห็นของจริงมาแล้ว เวลาอ่านเรื่องราวก็จินตนาการได้ชัดเจนและทำให้การอ่านมีอรรถรสขึ้น
สนุกสนานมากขึ้น และทำให้การอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นมันแพร่หลาย สารภาพว่าผมเองก็ชอบอ่านงานของ
Sophie Kinsella แต่เวลาอ่าน
เราก็ยังจินตนาการได้ไม่ชัด ยังมีภาพเบลอๆ คลุมอยู่เหมือนอ่านเป็นตัวอักษรมากกว่าภาพที่มีในหัว”

เพื่อนกันทางวรรณกรรม

“งานเขียนญี่ปุ่นไม่ว่าจะนวนิยายหรือการ์ตูน
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำการบ้านมาอย่างดีของนักเขียน ศึกษาภูมิหลังของวงการนั้นๆ
ไปสัมภาษณ์ และเขียนออกมาได้ดีให้คนอ่านเชื่อได้ อย่างหลังๆ มานี้
นวนิยายสืบสวนสอบสวนก็พูดถึงประเด็นปัญหาสังคมมากขึ้น ในขณะที่วรรณกรรมสร้างสรรค์จะเล่าไปถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
ตัวละครพูดกับตัวเอง มีความฮิปสเตอร์ขึ้น แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งคนไทยเราอาจมีประสบการณ์ร่วมก็ได้”

“อย่าง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ก็พูดถึงการค้นหาตัวตน เป็นไบเบิลของวัยรุ่นญี่ปุ่นที่จะก้าวผ่านช่วงวัยนี้ไปได้
ซึ่งผมเองก็เคยแปลกใจว่าเรื่องความเหงา ความโดดเดี่ยวที่อยู่ในงานเขียนของฮารุกิ
มูราคามิ คนไทยจะเข้าใจเหรอ เพราะบริบทของสังคมไทยเราอยู่ในสังคมที่ไม่เคยเหงา
เราต่างรู้เรื่องของกันและกัน ทั้งพ่อแม่พี่น้อง คนข้างบ้าน
แต่พอสังคมเริ่มเปลี่ยนมาสู่สังคมเมือง การเป็นครอบครัวเดี่ยว และคนเราไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งหมด
ความรู้สึกแปลกแยกก็เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งก็คงมีบางคนเข้าใจได้กับสภาวะนี้ หรือบางคนก็แค่ดูว่ามันเป็นกระแสอย่างหนึ่งของสังคมนะ
การอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นเลยมีสาระให้จับได้เยอะมาก หรือแค่จะอ่านเอาอรรถรส
ความสนุกเฉยๆ ก็ได้”

facebook | JLIT

ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง

AUTHOR