สรุป : เพจเฟซบุ๊กที่ย่อยข่าวยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องสนุกแสนเข้าใจง่าย

ลองนับข่าวสารที่ไหลผ่านนิ้วมือที่เราไถหน้าจอเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในแต่ละวันคงมีมากเกินกว่าจะใช้นิ้วทั้งยี่สิบ
(รวมนิ้วเท้าด้วย) นับ แต่ใช่ว่าทุกเรื่องจะน่าสนใจหรือควรค่าแก่การเสียเวลาและค่าอินเทอร์เน็ต
4G กดเข้าไปอ่านเสียหมด
ยิ่งข่าวไหนดูยุ่งยาก มีเนื้อหาซับซ้อนชวนปวดสมองก็แทบจะปิดหนีทันที
จนสุดท้ายพอจบวัน เราอาจพบว่าในบรรดาข่าวมากมายที่เห็นผ่านตา
เราไม่ได้รับรู้เนื้อหาละเอียดไปกว่าหัวข้อข่าวที่แต่ละเว็บไซต์ล่อให้เราคลิกไปเลย

โชคยังดีที่เราเป็นหนึ่งในคนจำนวนกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นที่กดไลก์เพจเฟซบุ๊ก ‘สรุป’ เพจสุดขยันที่คอยรายงานข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนหนึ่งคนควรรู้ในฉบับเข้าใจง่าย
ไม่สั้นจนงงว่าอ่านไปทำไม แต่ก็ไม่ยาวเกินกว่าจะกดผ่านไปเฉยๆ
ข้อมูลแน่นปึ้กบวกวิธีการเล่าแสนเป็นกันเองแบบที่ไม่เหมือนเพจเล่าข่าวอื่นๆ
ทำเราอดสงสัยไม่ได้ว่าใครคือทีมงานเบื้องหลังสุดอัจฉริยะที่รวบรวมข้อมูลมหาศาลมายำให้เราได้อ่านกันเข้าใจต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวต่างๆ
อย่างนี้

หลังติดต่อขอพูดคุย เราได้คำตอบกลับมาว่าแอดมินของเพจดังมีทั้งหมด
3 คนที่ตอนนี้ต่างทำงานกันคนละวงการ
แถมอยู่กันคนละที่บนโลกอีกต่างหาก สุดท้ายเราเลยต่อสายตรงพูดคุยกับหนึ่งในแอดมินวิศวกรหนุ่มที่ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นขณะนี้
และไม่ประสงค์ออกนามซึ่งเราไม่ติดขัดอะไร เพราะแค่ได้รู้ถึงกระบวนการสรุปข่าวของพวกเขาก็น่าสนใจพอแล้ว…

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้
แต่มีไม่กี่คนที่จะเป็นสื่อที่ดี

แอดมิน 3 คนที่ไม่ได้เจอหน้ากัน
“เพจสรุปเป็นไอเดียของพี่ที่เริ่มต้นมาจากกรุ๊ปไลน์ของเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยที่เรียนวิศวะมาด้วยกัน
เรามักจะคุยเรื่องข่าวสารบ้านเมืองทั้งในไทยและประเทศต่างๆ สารพัด ทั้งกฎหมาย
ภาษี การวางแผนเกษียณอายุก็มี อย่างพี่อยู่ญี่ปุ่นก็จะคอยอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ที่ในไทยยังไม่มีให้เพื่อนๆ
ฟัง บางทีมันมีข่าวที่นานแล้ว แต่เพื่อนไม่ได้ติดตาม
ก็จะเข้าไปอ่านแล้วสรุปให้เพื่อนฟัง ตอนหลังก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำเป็นเพจดูสนุกๆ
ช่วงแรกมีคนกดไลก์หลักสิบเอง จนตอนหลังก็ไปชวนเพื่อนอีก 2 คนที่ดูน่าจะว่างๆ
และชอบอ่านชอบเขียนมาทำด้วยกัน คนหนึ่งจบด็อกเตอร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และตอนนี้ก็ศึกษาเพิ่มด้านนิติศาสตร์อยู่ที่ต่างจังหวัด ส่วนอีกคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเงิน”

สรุปข่าวให้เข้าใจกว่าที่อื่น
“ช่วงแรกเพจเราก็แค่แชร์ลิงก์ข่าว เขียนคำอธิบายสั้นๆ
ว่าประเด็นสำคัญคืออะไร ทำไมอยากนำเสนอ แล้วให้เข้าไปอ่านต่อเองหรือแสดงความคิดเห็นกันซึ่งมันก็จะจบแค่ในโพสต์นั้นๆ
แต่เราเห็นว่ามันมีบางข่าวที่มีเรื่องราวภูมิหลังมาก่อน และมีประเด็นให้ชวนคิดต่อไป
ถ้าเราสรุปเท่าที่สื่อกระแสหลักนำเสนอมา คนที่เขาไม่ได้ตามข่าวมาก่อนก็อาจไม่สนใจ
อ่านไม่รู้เรื่อง เราเลยคิดว่าถ้าข่าวที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งอย่างนี้ก็ลองเล่าให้ยาวขึ้นหน่อย
หาข้อมูลเพิ่มจากแหล่งข่าวหลายๆ แห่งมาประกอบ
แต่ถ้าเขียนยาวไปเลยคนอ่านก็จะเหนื่อยอีก ก็คุยกันว่าลองเขียนเป็นหัวข้อๆ
แต่ละข้อมีประเด็นชัดเจน คนอ่านก็จะได้มีจังหวะการอ่านที่พอดี พอทดลองเขียนแล้วผลตอบรับก็ดีกว่าช่วงแรก
เราเลยทำแบบนี้มาเรื่อยๆ”

คุณค่าที่คุณคู่ควร
“พวกเรา 3 คนจะคุยกันตลอดว่าช่วงนี้มีเหตุการณ์อะไรที่สังคมกำลังสนใจบ้าง
จะดูกันว่าเป็นเรื่องที่เราสนใจไหม อยากเขียนไหม
และต้องดูด้วยว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์นะ เราจะไม่ยัดเยียดความสนใจของเราไปให้คนอื่น
อีกข้อคือถ้าสื่อกระแสหลักนำเสนอข่าวนี้ได้ครอบคลุมมากพอ ไม่มีประเด็นอะไรเพิ่มเติมหรือเขียนเข้าใจง่ายแล้ว
เราก็จะไม่เขียนแล้ว แชร์ต่อจากเขาไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเรายังมองเห็นประเด็นเพิ่มเติมหรือคิดว่าจะเขียนได้เข้าใจง่ายกว่าก็จะทำ
เงื่อนไขสุดท้ายคือพวกเราต้องว่างกันด้วย เพราะแต่ละคนก็มีงานประจำกันอยู่
เราไม่ได้บีบตัวเองว่าต้องเขียนให้ได้วันละกี่โพสต์ ทำเท่าที่เราสบายใจ”

“มีบางเรื่องเหมือนกันที่อยากเขียนแต่ไม่ได้เขียน
อย่างเร็วๆ นี้คือข่าวที่ชายพิการถูกวัยรุ่นรุมทำร้ายจนเสียชีวิต
เราคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและมีประเด็นอยากเล่า แต่ด้วยจังหวะที่ยุ่งกัน
และพวกเราเองก็ยังไม่มีข้อสรุปที่โอเคพอ เขียนร่างกันไว้แล้วแต่อ่านไปก็รู้สึกว่าไม่ได้ช่วยให้คนเข้าใจมากขึ้น
หรืออาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย เลยคิดว่าหยุดดีกว่า
พอเลยจุดที่คนสนใจไปแล้วก็คิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะตอกย้ำมันด้วย”

ทำงานกันหนักไม่ต่างจากสำนักข่าว
“พอได้ข่าวที่อยากเขียน พวกเราก็ต้องไปค้นข้อมูลจากที่สื่อนำเสนอมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด
โดยเฉลี่ยประมาณ 10 แหล่ง
ขึ้นอยู่ว่าเราต้องตรวจสอบรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้มีแหล่งที่จะไปตามเฉพาะเจาะจง
ถ้าเป็นข่าวก็ดูจากเว็บไซต์ข่าว หนังสือพิมพ์ ว่าเจ้าไหนนำเสนอบ้าง แต่ถ้าเรื่องนั้นมีข้อมูลที่ต้องอ้างอิงทางกฎหมายหรือวิชาการ
ก็ต้องตามไปค้นในเว็บไซต์ของหน่วยงานทั้งรัฐบาล เอกชน
หรือมหาวิทยาลัยที่เขาทำวิจัย”

“เราจะแชร์ข้อมูลที่มีทั้งหมดร่วมกัน
คุยกันผ่านกรุ๊ปไลน์นี่แหละว่าเรื่องนี้เป็นยังไง
พอเริ่มตกตะกอนก็ร่างสิ่งที่อยากเขียนออกมา สามคนจะแบ่งกันว่าเรื่องนี้ใครสนใจอยากเขียน
คนนั้นก็ไปเขียนมา อีก 2 คนจะทำหน้าที่เป็น บ.ก. ตรวจให้ว่าครบประเด็นที่ต้องการนำเสนอหรือยัง ตรงไหนต้องตัดออก ตรวจกันจนรู้สึกว่าโอเคล่ะ
บางเรื่องอาจจะร่างกัน 4 – 5 ดราฟต์
เพราะฉะนั้นข่าวของเราเลยจะไม่ค่อยเร็ว (หัวเราะ)”

เริ่มด้วยคำถาม จบด้วยความคิดเห็น
“แต่ละโพสต์ของเราจะตั้งหัวด้วยคำถามต่างๆ
ที่คิดว่าคนอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใคร ทำอะไร สาเหตุคืออะไร
แล้วปูพื้นฐานให้เข้าใจร่วมกันก่อนสั้นๆ ข้อต่อไปก็จะตอบคำถามที่เราตั้งไว้อย่างกระชับ
แล้วปิดท้ายด้วยสิ่งที่เราวิเคราะห์ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป
ส่วนที่เป็นความคิดเห็นของเราจะอยู่ในข้อสรุปสุดท้าย ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราแตกต่างจากเพจอื่นคือไม่ได้เริ่มจากการนำเสนอมุมมองส่วนตัว
แต่เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง”

“คำถามที่เราตั้งหัวมันเกิดจากตอนที่เข้าไปอ่านเนื้อหาจากสื่อต่างๆ
เราจะคิดเสมอว่าเราไม่เข้าใจข่าวนี้ ไม่รู้เรื่องมาก่อน แล้วอ่านดูว่าข้อมูลที่เขาให้มาตอบโจทย์สิ่งที่เราไม่รู้หรือยัง
หรือบางทีถ้าไปอ่านตามเพจแชร์ข่าวอื่นๆ ก็จะมีคนมาแสดงความเห็นเป็นคำถามที่เขาไม่เข้าใจบางจุดที่เพจนั้นนำเสนอ
เราก็เอาคำถามนั้นแหละมาใช้ว่าควรอธิบายอะไรเพิ่มให้คนอ่าน”

“โพสต์ของเราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันต่อ
เราแฮปปี้นะที่หลายคนมีข้อสงสัย
ซึ่งถ้าเรามีข้อมูลอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่ค้นคว้าก็จะตอบให้
บางทีก็มีคนรู้จริงในเรื่องนั้นมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย”

ยาวไปไม่ใช่ประเด็น คุยเล่นๆ
เหมือนเล่าให้เพื่อนฟังสิสำคัญ
“คนจะอ่านหรือไม่อ่านอะไรยาวๆ
มันขึ้นกับว่าเขาสนใจเรื่องนั้นหรือเปล่า แล้วถ้าอยากอ่าน
เนื้อหานั้นน่าสนใจพอที่จะดึงให้เขาอ่านจนจบหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนทนอ่านจบได้แม้ว่าการเขียนจะไม่ค่อยน่าสนใจเพราะเขาอยากรู้เรื่องนั้นจริงๆ
แต่บางคนพอเห็นว่าการนำเสนอไม่น่าสนใจเขาก็ทิ้งกลางทาง ไม่อ่านต่อ เป็นโจทย์หนึ่งของสื่อที่ต้องกลับไปทำการบ้านว่าทำยังไงให้คนอ่านอยู่กับเราจนจบ”

“ที่เราทำอยู่คือเขียนเหมือนเล่าข่าวให้เพื่อนฟังอย่างที่เราเล่าในกรุ๊ปไลน์
ใช้ภาษาพูดตีซี้กับคนอ่านให้เขาอยากอ่านต่อ ไม่เห็นภาพก็ยกตัวอย่างประกอบ
และพยายามลดทอนรายละเอียดพวกชื่อ ตัวเลขต่างๆ ที่เขาไปดูได้ในสื่อต่างๆ อยู่แล้ว
เพจเราไม่ใช่สื่อกระแสหลักที่รายงานข่าวทันเหตุการณ์ เพราะเราทำไม่ได้
แต่เราเป็นเพื่อนกับคุณได้”

ตั้งคำถามก่อนเสมอ
“ทุกวันนี้ข่าวประเดประดังมาหาเราจากทุกทิศทาง
เพียงแต่คนไม่มีเวลามากพอที่จะตามอ่านได้ทุกเรื่อง เลยต้องอาศัยสื่อมาอธิบายให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
ปัญหามันอยู่ที่สื่อซึ่งแย่งกันนำเสนอข่าวให้คนสนใจในเวลา 8 วินาทีที่เฟซบุ๊กวิจัยกันมาว่าเป็นเวลาที่คนจะสนใจอ่านอะไรบางอย่าง
ทุกเจ้าเลยไปเล่นกับหัวข้อข่าวที่หยิบเอาสีสันขึ้นมา
เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่พอเห็นหัวข้อข่าวก็ตีความไปตามนั้น เอามาถกเถียงกันโดยไม่ได้ตามต่อว่าข้อเท็จจริงมีอะไรมากกว่านั้น
สื่อเลยเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คนรับข่าวสารคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป”

“คนสมัยนี้ตื่นตัวเรื่องข่าวสารกันมากขึ้น
ก็ต้องมีหน้าที่แยกแยะว่าสิ่งที่เห็นเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ลองตั้งคำถาม อย่าตัดสินไปก่อน
บางสื่อก็นำเสนอข่าวสีสันเพื่อเรียกกระแสให้คนสนใจ แต่ทุกครั้งเราจะเห็นว่าจะมีอีกสื่อออกมาโต้แย้งความเห็นที่ผิดพลาดนั้นเสมอ
จุดนั้นแหละที่เราจะเข้าใจเรื่องราวที่แท้จริงได้ ตรงนี้เปลี่ยนพฤติกรรมคนทำสื่อได้ด้วยว่าจะทำยังไงให้ตอบสนองคนอ่านที่สงสัยมากขึ้นทุกวัน
ที่ผ่านมาสื่อพูดอะไร คนจะเชื่อหมดว่าเป็นเรื่องจริง แต่ยุคนี้สื่อมีหลายแนว
เราต้องตั้งคำถามให้เยอะๆ ยิ่งข่าวที่มีประเด็นขัดแย้ง เราเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยพื้นฐานความจริง
เราศรัทธาเขา หรือเพราะเราเกลียดอีกฝ่าย ลองตั้งคำถามว่ามีหลักฐานอะไรชี้ชัดว่าเขาเป็นอย่างนั้น
ถ้าข้อมูลมากพอแล้วค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย”

“ความตั้งใจของเพจ ‘สรุป’ คือพยายามทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ
ด้วยข้อเท็จจริงที่เราสืบหามา แล้วให้คนอ่านตัดสินต่อจากจุดนั้น เราดีใจกับความคิดเห็นคนอ่านที่เขียนมาว่า
‘อ่านที่ไหนก็ไม่เข้าใจ มาเข้าใจที่นี่’ เพราะนั่นแปลว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราทำมันก็สำเร็จ
สิ่งที่เขียนไปมีคนเข้าใจมันจริงๆ”

facebook.com/in.one.zaroop

AUTHOR