แค่ได้ยินทำนองก็รู้แล้วว่าเป็นเพลงของใคร-ประโยคนี้ใช้ได้ดีกับเพลงของวงดนตรีโฟล์กชวนหลับตาฟัง Youth Brush ที่มีสมาชิกหลักหนึ่งเดียวคือ
ดุ่ย-วิษณุ ลิขิตสถาพร ซึ่งเพิ่งจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเต็มอันดับ 3 ‘Old Man on His Heaven’ ไปหมาดๆ และเป็นหนึ่งเหตุผลที่เราอยากพูดคุยกับเขาถึงงานดนตรีและชีวิตฉบับอัพเดตว่าซุ่มทำอะไรอยู่นานถึง
2 ปีกว่าจะปล่อยเพลง-ที่แค่ได้ยินทำนองก็รู้แล้วว่าเป็นเพลงของใคร-ออกมาให้เราฟังกัน
“หลักๆ คือเรียน ทำทีสิสให้จบ
และไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นกับ Two Million Thanks ครับ” ดุ่ยตอบคำถามที่เราสงสัยอย่างซื่อๆ
นิ่งๆ และเล่าต่อว่า จริงๆ เขาก็ซุ่มทำเพลงในอัลบั้มที่ 3 มาตลอด
แต่ก็ยังคงอุดมการณ์ว่าอยากทำสบายๆ ไม่บังคับว่าต้องเสร็จตอนไหน
“ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าทำอัลบั้มนี้ผมคิดอะไรอยู่
Youth Brush มันเหมือนการทำเล่นๆ
น่ะ แต่พอเรียนจบ มันก็เหมือนเป็นอาชีพของเราแล้ว ก็น่าจะออกอัลบั้มอย่างน้อยปีละครั้ง
และถ้าเราตั้งใจจะทำจริงจังก็คิดว่ามันน่าจะอยู่ได้นะ” ดุ่ยขยายว่าภาพรวมของเพลงในอัลบั้มนี้จะขยายจากเรื่องราวส่วนตัวออกไปใส่ใจประเด็นที่แตะคนฟังมากขึ้น
เป็นเพลงที่ฟังง่ายๆ และมีเนื้อหาคอมมอนมากกว่าเดิม
“เรามีเพลงรักก็จริงแต่ไม่ได้รักแบบงมงาย
เป็นเพลงใสๆ จีบกันอย่างเพลง
55 ประโยคที่ว่า ‘อากาศกับฉันเธอจะเลือกใคร‘ ก็มาจากผมไปเห็นคอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊กอันนึงที่โพสต์ว่าระหว่าง
DotA กับผู้หญิงเธอจะเลือกใคร
เราก็เปลี่ยนมาเป็นอากาศแล้วกัน หรืออย่างที่เอาคำว่า 55 มาใช้ก็เหมือนเพลง
9,999,999
Tears
เราคิดว่าถ้ามีตัวเลขในเพลงจะเป็นเลขอะไรดี และ 55
ก็เป็นเลขที่คนไทยเข้าใจกันแล้วฮัมได้สนุกด้วย” ดุ่ยเล่าที่มาของเพลงในอัลบั้มสนุกซะจนเราไม่เชื่อคำที่เขาบอกมาก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ได้คิดอะไร
อย่างน้อยวัตถุดิบเรื่องดนตรีและศิลปะที่ดุ่ยสะสมมาก็ปรากฏในงานของเขาอย่างชัดเจน
Led Zeppelin, AC/DC, Stevie Ray
Vaughan, Tracy Chapman, Norah Jones ไปจนถึง Maroon 5 คือตัวอย่างศิลปินที่ดุ่ยยกมาประกอบการเล่าว่าตัวเขาสนใจฟังเพลงหลากหลายขนาดไหน
ซึ่งทั้งหมดซึมซับมาจากเพลงฝรั่งที่พ่อของเขาเปิดให้ฟังตอนเด็กๆ
ที่ร้านอาหารบนเกาะช้างของที่บ้าน
“แต่ถ้าเวลาหาเรเฟอร์เรนซ์ทำเพลงก็จะเลือกเจาะฟังวงดนตรีที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก
ถ้ายิ่งไปฟังวงที่ตามใจตัวเอง เราก็จะได้คอมโพสต์ที่แตกต่าง อย่างเพลงที่ฟังสบายๆ มากแล้วอยู่ๆ
มีโน้ตหรือท่อนที่โดดขึ้นมา เราก็จะสงสัยล่ะว่าคนแต่งเขาคิดอะไรอยู่ ก็จะดึงไอเดียของคนอื่นมากลับด้านหน่อย”
ดุ่ยเล่าว่าอัลบั้มนี้จะมีกลิ่นของเพลงยุค 60 มาผสม ทั้ง Bee Gees, Carpenters ที่เขากลับไปฟังซ้ำจนสังเกตเห็นการร้องซ้อนๆ กัน หรือบางเพลงก็หยิบกลิ่นของ
Bon Iver ที่เป็นวงโปรดของเขามาใส่ด้วย
นอกจากดนตรีฟังสบายที่ตั้งใจอัดเสียงไม่ให้เนี้ยบ
เนื้อร้องที่ใช้คำง่ายๆ (แต่ร้องตามยากเพราะเนื้อเพลงยาวเหลือเกิน)
เกือบทุกเพลงก็เป็นสไตล์ของ Youth
Brush ที่แฟนๆ จดจำได้ ดุ่ยตอบเราแบบถ่อมตัวตามเคยว่าเขาไม่ได้เป็นคนชอบเขียนชอบอ่านอะไร
แต่เป็นคนชอบจำอะไรเด็ดๆ ที่เจอจากภาพยนตร์หรือในชีวิตประจำวันแล้วก็ฟลุกมาใส่ในเพลงได้เสียอย่างนั้น
แถมยังอาศัยแต่งไว้เยอะๆ
เพลงในอัลบั้มล่าสุดบางเพลงก็มาจากการหยิบเพลงที่แต่งค้างไว้ในสองอัลบั้มแรกมาเปลี่ยนคีย์
ปรับท่อนนั้นท่อนนี้ใหม่
“ผมเขียนแต่เพลงอย่างเดียว เพลงเลยเป็นไดอารี่ของผมนะว่าช่วงนั้นเราคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไรอยู่
แต่ก็ไม่รู้หรอกนะว่าเขียนไปแล้วเพราะหรือยัง เราแค่รู้สึกว่าพอใจแล้ว”
ความฟลุกจากการที่คนรู้จักดุ่ยในฐานะนักดนตรียังพาเขาออกไปเจอโอกาสสนุกๆ
ที่ใครหลายคนหยิบยื่นให้นอกวงการเพลงอีกด้วย ดุ่ยโชว์ความรู้เรื่องศิลปะที่เขาเรียนมาภาควิชาวิจิตรศิลป์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มารับเขียนรูปตกแต่งให้กับงานอินทีเรียในบริษัทรุ่นพี่
ทำซาวนด์ดีไซน์ให้กับหลายโปรเจกต์ของ Eyedropper Fill อย่างงานทดลองทางศิลปะ Dreamscape
และล่าสุดที่เรารู้มาคือเขากระโดดไปร่วมแสดงเป็นหนึ่งในตัวละครของภาพยนตร์เรื่อง
Motel Mist ฝีมือการกำกับครั้งแรกของปราบดา หยุ่นด้วย
“แต่โชคของเราก็อาจไม่ได้มีตลอดนะ
ข้อเสียของผมคือขี้เกียจ เป็นคนรอดวงเหมือนกัน แต่ถ้าตอนนี้ผมไม่หางานประจำที่เป็นหลักเป็นแหล่ง
อีกทางที่คิดไว้คือผมจะต้องมีวงดนตรี 4 วง และทำให้เป็นที่รู้จัก เท่าที่ผมทำอยู่ตอนนี้
น่าจะทำให้ผมอยู่ได้” ดุ่ยตอบคำถามที่เราสงสัยว่าการจะยืนระยะเป็นนักดนตรีในเมืองไทยเป็นไปได้จริงหรือเปล่า
และสวรรค์ของดุ่ยที่ตั้งใจว่าอยากจะเล่นในเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Glastonbury Festival หรือ Coachella
มันมีที่ทางจริงไหม
“เราก็ตั้งไว้ก่อน เพราะความฝันแรกสุดที่เราแค่อยากอยู่ค่าย
SO::ON DRY FLOWER ไปๆ
มาๆ ก็ได้อยู่ค่ายนี้ ตั้งเป้าว่าอยากไปแสดงที่ต่างประเทศก่อนเรียนจบก็ได้ไปมาแล้ว
มันก็เกินความฝัน บางทีมันก็อาจจะไปได้อีกก็ได้” ดุ่ยตอบพร้อมสายตาที่จริงจังที่สุดตั้งแต่เรานั่งคุยกันมาเกือบชั่วโมง
เพราะเขากำลังค่อยๆ ทำมันอยู่…ไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
“ตอนเด็กๆ
เรารู้สึกว่ามีปมด้อยด้วยแหละครับ เลยอยากทำให้ตัวเองดูมีอะไร มันผูกพันกับศิลปะ
กับดนตรีตั้งแต่เด็ก และคิดว่ามันน่าจะเท่ แต่พอเราโตขึ้นแล้วเราก็มองข้ามเรื่องนี้ไป
พอทำไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นสิ่งที่เราชอบไปแล้ว และเลี้ยงชีพเราได้”
ภาพ ลักษิกา แซ่เหงี่ยม