37 วันแห่งการเดินทางตามพระธุดงค์จาก Dharamsala สู่ Leh Ladakh

การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเพราะมีพี่ที่รู้จักแนะนำว่า วัดพระนอนฯ จังหวัดสิงห์บุรี ต้องการช่างภาพถ่ายสารคดีโครงการธรรมดายาตราปีที่ 3 ซึ่งเป็นการเดินธุดงค์ 700 กว่ากิโลเมตรของพระ ภิกษุณี แม่ชี พร้อมทั้งญาติโยมจิตอาสาต่างๆ จากเมือง Dharamsala ไปยัง Leh Ladakh ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม – 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

แม้จะต้องยกเลิกงานที่รับไว้ 2-3 จ๊อบ และไม่มีรายได้เข้าตลอดการเดินทางยาวนาน 37 วัน แต่เราก็ยอม เพราะก่อนหน้าจะถูกทาบทามราว 1 สัปดาห์ เราเพิ่งจะคุยกับพี่คนหนึ่งว่าอยากหาเวลาไปปฏิบัติธรรม หรือไปพักผ่อนเพื่อชาร์จพลังงานชีวิตบ้าง เพราะทำงานเหนื่อยมากจริงๆ แถมจุดหมายที่อยากไปก็คืออินเดียหรือเนปาลพอดีด้วย

อ้อ อีกเหตุผลที่ยอมเพราะไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร ที่พัก ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เราไม่ต้องเสียเองสักบาท (พกเงินไป 100 บาทไทย ตอนกลับบ้านยังมีเหลือตั้ง 60 บาท!) แถมพอไปเล่าให้คนอื่นฟังแล้วเขาดูอิจฉาที่เรามีโอกาสไปก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีจัง แต่จริงๆ ไม่รู้จักหรอกนะ ดารัมซาล่า หรือ เลห์ ลาดักห์​ มาดูรีวิวทีหลังถึงได้ว้าวกับภูเขาสูงใหญ่และหิมะ

ก่อนเดินทางก็ตื่นเต้นอยู่หรอกนะ แต่พอเอาเข้าจริง กว่าจะผ่าน 37 วันมาได้ก็ โอ้โห เหนื่อยแฮะ!

 

27-28 พฤษภาคม

ช่วงแรกของการเดินทาง เรานั่งรถเมล์จากเมืองพุทธคยาซึ่งอยู่ทางใต้ของอินเดีย ไปยังเมืองทางเหนืออย่างดารัมซาล่า ใช้เวลา กว่าจะต่อรถ เปลี่ยนรถ รวมแล้วกว่า 30 ชั่วโมง

ดารัมซาล่าเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขาท่ามกลางป่าสนที่สวยงาม มองเห็นยอดเขาหิมาลัยขาวโพลนด้วยหิมะ ที่นี่ถือเป็นเมืองศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณชาวทิเบต เพราะเป็นที่อยู่ขององค์ดาไลลามะ ซึ่งเราได้ไปเข้าพบก่อนจะเริ่มต้นธุดงค์

 

1-2 มิถุนายน

เราพักที่วัดไทยธรรมศาลา (Thai Dhama-Sala Charitable Society) อยู่ใกล้กับยอดเขาทริอูน (Triund Hill) ซึ่งเจ้าอาวาสให้เราเดินขึ้นยอดเขาไปพัก 1 คืนเพื่อซ้อมก่อนออกเดินธุดงค์จริงๆ

วิวทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างเดินขึ้น-ลงยอดเขาทริอูนอุดมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม มีแพะหรือแกะอยู่เป็นระยะ (เราสับสนสัตว์สองชนิดนี้ ต้องถามหลวงพี่ว่านี่แพะหรือแกะตลอดเวลา) เสียอย่างเดียวต้องคอยวิ่งหลบม้าขนเสบียงของนักท่องเที่ยวที่มักวิ่งมาเป็นฝูงใหญ่ ตรงดิ่งมาทางเราอย่างรวดเร็ว บางช่วงที่ถนนเข้าโค้งถึงกับต้องกระโจนเกาะกิ่งไม้ โขดหิน หรืออะไรก็ตามที่คว้าได้ วิ่งตัวใครตัวมัน หัวใจเต้นระรัว ที่สำคัญทางเดินมันแคบและชันน่ากลัวมาก ต้องมีสติท่องไว้ตลอดเวลาว่าหลบซ้าย ซ้ายเท่านั้น เพราะถ้าหลบขวาเมื่อไหร่ตกเขาทันที

พอไปถึงยอดเขา ยังไม่ทันได้เดินสำรวจอะไร จู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์หิมะและพายุกระหน่ำรุนแรงมาก มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จีวรพระ เต็นท์ที่ปักเอาไว้ ข้าวของเครื่องใช้ ถูกลมพายุพัดตกเขา พร้อมกับพาสปอร์ตของหลวงพี่ 2-3 รูป อุณหภูมิตอนนี้ราว -2 องศาเซลเซียส

เราเองก็เกือบจะปลิวไปตามลม แต่รีบกระโดดเข้าไปขอหลบพายุในบ้านพักหลังหนึ่งได้ทันเวลา ที่บ้านพักหลังนั้นมีคู่แม่ลูกมาจากนิวเดลี พวกเธอใจดีมาก ให้เราอยู่จนกว่าพายุจะสงบลง 

 

17-23 มิถุนายน

ตัดภาพมาช่วงกึ่งกลางของการธุดงค์ ช่วงนี้อากาศกำลังดี อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 18 ถึงลบ -3 องศาเซลเซียส หิมะตกสวยสดงดงาม

นี่เป็นหิมะแรกในชีวิตเรา และถือเป็นหิมะที่คุ้มค่ามาก เพราะตลอดเส้นทาง 700 กว่ากิโลเมตร เราได้เห็นหิมะในบริบทต่างๆ ทั้งบนถนน ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร ฯลฯ เพิ่งจะเข้าใจพลังงานและการสร้างสรรค์ของธรรมชาติจริงๆ ก็คราวนี้ ทำไมเปลี่ยนสีแปลงทรงได้มากขนาดนี้ ไม่มีเบื่อ ไม่มีซ้ำ

แต่ท่ามกลางความสวยงามทั้งหมดนี้เราก็ยังต้องทำหน้าที่ที่ขันอาสาไป วิ่งลัดเลาะเขาไปถ่ายแต่ละมุม แบกขาตั้งไปด้วย เหนื่อยมาก นิ้วแข็ง เล็บแตก น้ำมูกไหล กำเดาไหล มาครบเลย บางช่วงถึงกับต้องทิ้งตัวลงนอนไปเลย หายใจไม่ทัน หมดแรงจะก้าวเดิน เก็บไว้เป็นบทเรียนที่ดีดเกินกำลังตัวเอง

พอผ่านพ้นช่วงดีดมาได้ เราก็สงบสติตัวเองลง มองความนิ่งของหลวงพ่อ หลวงพี่ เรารู้สึกว่าพวกท่านอดทนและเจริญภาวนาได้สงบมาก ทั้งที่เราเข้าเขตพื้นที่เสี่ยง ที่ที่คนหมดสติได้ง่ายๆ อย่าง Baralacha La ที่ความสูง 4,890 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล Lachunglang La (5,079 เมตร) และ Taglang La (5,328 เมตร) ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกที่รถยังสามารถขับผ่านได้

แม้จะมีรถสำหรับทีมช่างภาพ แต่บางช่วงที่คณะธุดงค์เลือกเดินลัดเขา รถก็ผ่านไม่ได้ เราเลยต้องแบกขาตั้งไปดักรอถ่ายรูป มีความสุขกับการหามุมสวยๆ แต่มีครั้งหนึ่งเดินเพลินจนหาทางกลับเข้าเส้นทางหลักไม่ได้ หลงไปอีกทางที่มีลำธารเชี่ยวกรากกั้นกลาง เราเริ่มกังวล โชคดีที่มีหลวงพี่ 2 รูปมองมาทางเรา เห็นเราท่าไม่ดีก็เดินออกจากขบวนมาช่วย แต่ปรากฏว่าเดินมาเจอกันก็ได้แค่มองตากันโดยมีกระแสน้ำขวางอยู่ เราต้องเดินวนไปวนมา เดินขึ้นเดินลง หาจุดที่กระแสน้ำไม่เชี่ยวมากนัก ไม่ลึกจนเกินไป และพอมีก้อนหินยึดสำหรับเกาะ เราเตรียมตัวอย่างดี ถอดรองเท้า มัดประสานเชือกเข้าด้วยกัน แล้วห้อยที่คอ เก็บกล้องและขาตั้งกล้องไว้รอ พอเห็นตรงกันว่ามีจุดที่พอจะข้ามลำธารได้ หลวงพี่ก็ลงมารอครึ่งทาง พอเราถึงครึ่งทางก็ยื่นขาตั้งให้หลวงพี่ นาทีที่ท่านยื่นมือมาจับขาตั้ง น้ำตาเราจะไหลแต่ก็พยายามกลั้นไว้  

 

26 มิถุนายน

ในที่สุดก็มาถึงเลห์ ลาดักห์ เราดีใจที่มาถึงแต่ก็นับวันที่จะได้กลับบ้านแล้ว

มีเรื่องไม่สวยงามเหมือนภาพถ่ายเกิดขึ้นมากมายในการเดินทาง เราคาดเดาอะไรไม่ได้สักอย่าง ได้แต่เตรียมเปิดประสาทสัมผัส ใช้ไหวพริบ หมั่นสังเกตสิ่งรอบตัว เตรียมการตั้งรับและการเอาตัวรอดไว้ดีๆ

แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องประทับใจเยอะแยะไม่แพ้กัน อาหารอร่อย กินอิ่ม นอนหลับ พี่ๆ ดูแลดีมาก และได้เจอเพื่อนต่างชาติจากหลากหลายประเทศที่มาร่วมธุดงค์ เช่น อังกฤษ อเมริกา สเปน ฝรั่งเศส เม็กซิโก และเยอรมัน ทุกคนที่เจอนั้นสำรวม มีสติ มีมารยาท และเป็นมิตรมากๆ อย่างบางคนตื่นเช้ามาก็ชวนเราไปเล่นโยคะ อื้อหือ ไม่แคร์อากาศเลย เรานี่ขอยืดตัวในเต็นท์พอ ไม่สู้จริงๆ

สุดท้ายแล้ว เราถือว่าทริปนี้เป็นการไปเซอร์เวย์เส้นทาง ร้านอาหาร ที่พัก และที่เที่ยว ไว้ครั้งหน้าจะมากับคนรัก ครอบครัว แก๊งเพื่อน แต่ตอนนี้ร่างกายเพลียมาก ฝากไว้ก่อนนะเลห์ ลาดักห์ ไว้คราวหน้าเจอกันใหม่

AUTHOR