เป็นธรรมดาที่ใครหลายคนเลือกจะดูซีรีส์สักเรื่องเพื่อความบันเทิงเริงใจ พาตัวเองหลบหนีความเครียดในชีวิตจริง คนอินเดียก็เป็นเหมือนกับเรา พวกเขาเลยชื่นชอบหนังและซีรีส์ที่มีความแฟนตาซีเกินจริง ไม่ก็มาพร้อมฉากร้องรำทำเพลง สะบัดผ้าส่าหรีสุดอลังการ ซึ่งความจริงแล้ววงการบันเทิงแดนภารตะก็มีผลงานหนังและซีรีส์นอกกระแสเป็นทางเลือกที่ให้ผู้ชมดูแก้เลี่ยนงานในกระแสที่ครองตลาดคล้ายๆ กับบ้านเราและประเทศอื่นๆ
Delhi Crime คือหนึ่งในซีรีส์อินเดียเรื่องสำคัญที่ทำใครต่อใครติดใจในความดาร์กของเนื้อหา ซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศใน Netflix เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวนตอนเพียง 7 ตอน แต่คุกรุ่นไปด้วยความหดหู่และความสะเทือนใจที่มาจากเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์แห่งยุคสมัย ว่าด้วยผู้ร้าย 6 คนที่รุมทำร้ายคู่รักหนุ่มสาวบนรถบัส ฝ่ายหญิงถูกข่มขืนกระทำชำเราอย่างโหดเหี้ยมราวกับเธอไม่ใช่มนุษย์
แต่ละตอนมีความยาวประมาณ 45-50 นาที โดยแต่ละนาทีที่ผ่านไปมีแต่ความตึงเครียด แทบจะปราศจากเสียงหัวเราะ ไม่มีอิทธิฤทธิ์หรืออภินิหารเหนือมนุษย์มาช่วยไขคดี แต่ทุกนาทีกลับดำเนินไปได้อย่างน่าติดตาม ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่เราอยากชวนคุณมานั่งดูซีรีส์เรื่องนี้ไปด้วยกัน
ซีรีส์อาชญกรรมที่สร้างจากเรื่องจริง
ซีรีส์เรื่องนี้ถูกสร้างมาจากคดีอาชญากรรม Nirbhaya ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปี 2012 ทางตอนใต้ของเมืองเดลี เมืองที่มีประชาชนพลุกพล่านและหนาแน่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผู้คนกลับต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากความปลอดภัย ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไม่สามารถการันตีได้ว่าพวกเขาจะไม่พบเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญแบบนี้กับตัว คนเดลีไม่อาจทนกับสิ่งนี้ได้อีกต่อไปจึงตัดสินใจออกมาชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนักหน่วง สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงขั้นทำให้เหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงและคนของรัฐบาลนั่งไม่ติดเก้าอี้
ไม่เพียงแค่นั้น คดีนี้ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานภายใต้แรงกดดันและสายตาจับจ้องจากทั่วโลก หาวิธีตามจับคนร้ายให้ได้ในเวลาอันรวดเร็วท่ามกลางความไม่พอใจที่เกิดขึ้น หากเจ้าหน้าที่เลือกที่จะละเลยคดีอย่างที่เคยทำมาตลอด เปลวไฟจากความโกรธของคนเดลีก็จะค่อยๆ ลุกโชนจนอาจเผาไหม้สังเวยพวกเขาทั้งเป็น
ผลงานโดยผู้กำกับที่เก็บทุกรายละเอียด
Dehli Crime เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ Richie Mehta เขาได้ไอเดียการสร้างซีรีส์เรื่องนี้จากพูดคุยกับ Neeraj Kumar อดีตผู้บังคับการสถานีตำรวจกรุงเดลี และลงแรงอ่านเอกสารจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์นี้
เมห์ตาใช้เวลาในการสร้างหลายปี หลักๆ เขาหมดเวลาไปกับการขออนุญาตเหยื่อ ครอบครัวของเหยื่อ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ให้นำเรื่องราวนี้มาสร้างเป็นบทละคร โดยเขาดัดแปลงชื่อและเหตุการณ์เพื่อสงวนความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้อง นอกจากความรอบคอบแล้ว เมห์ตาใช้เวลาเก็บข้อมูลอย่างหนักเพื่อทำงานนี้ให้ออกมาเนี้ยบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งความทุ่มเทของเขาสะท้อนออกมาให้เราเห็นตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายของซีรีส์เลยทีเดียว
ซีรีส์สืบสวนที่มีตำรวจหญิงเป็นตัวละครนำ
เรื่องน่าสนใจคือ เมห์ตาเลือกเล่าซีรีส์เรื่องนี้ผ่านมุมมองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดยรองผู้บัญชาการหญิงวาร์ติกา (รับบทโดย Shefali Shah) ขณะที่คนอินเดียคิดว่าตำรวจไม่เอาการเอางาน ไม่กระตือรือร้น แต่ในซีรีส์คนดูจะได้เห็นกับตาว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนลุยงานหนักจนแทบไม่ได้หลับได้นอนเพื่อจะล่าตัวอาชญากรโหดมาลงทัณฑ์ให้ได้เร็วที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ คนดูจะรู้สึกผูกพันและอยากเอาใจช่วยตัวละครให้ผ่านภารกิจสุดตึงเครียดนี้ และภาวนาให้ตัวละครรอดพ้นจากภัยทางการเมือง ไม่กลายเป็นเหยื่อของคนเบื้องบนที่จ้องจะหาแพะมาสังเวย เพียงเพราะอยากได้ความพึงพอใจจากประชาชน
นอกจากเส้นเรื่องหลักที่วาร์ติกาต้องควบคุมหน่วยสืบสวนตามติดการตามล่า 6 วายร้ายจอมโฉดแล้ว วาร์ติกายังเป็นคุณแม่คนเก่งที่ต้องรับมือลูกสาวที่อยากย้ายไปเรียนต่อต่างประเทศใจจะขาด เพราะคิดว่าบ้านเกิดตัวเองไม่น่าอยู่เมื่อเทียบกับเมืองนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่วาร์ติกาไม่เห็นด้วยเลย สิ่งที่วาร์ติกาพยายามอย่างหนักคือการพาลูกสาวไปดูแง่มุมดีๆ ของเมืองเดลีที่เธออาจไม่เคยเห็นมาก่อน
แต่พอเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่ว่าขึ้นก็ทำให้เธออ้ำอึ้งกับคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกสาวเหมือนกัน ยิ่งสืบหาความจริงได้มากเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งค้นพบว่าเมืองเดลีไม่น่าอยู่และไม่ปลอดภัยกับลูกสาวของเธอจริงๆ แม้เธอจะมุ่งมั่นอยากเปลี่ยนให้เดลีเป็นเมืองที่ดีกว่านี้ แต่มันช่างยากเย็นเหลือเกิน ยากยิ่งกว่าการตามล่าผู้ร้ายในคดีเสียอีก
การแสดงของนางเอกอย่างเชฟาลี ชาห์ คู่ควรกับคำชื่นชมเอามากๆ ทุกครั้งที่เธอปรากฏตัว เธอตีบทแตกและทำให้คนดูเชื่อจริงๆ ว่าตัวละครวาร์ติกาคือตำรวจน้ำดี มีความพยายามอยากทำให้บ้านเมืองนี้สุขสงบ เป็นแสงแห่งความหวังที่แม้จะส่องประกายเพียงน้อยนิด แต่ก็มากพอจะทำให้หลายๆ คนมีกำลังใจอยากสู้ชีวิตในเมืองนี้ต่อไป
แง่มุมสะท้อนสังคมเมืองสไตล์ภารตะ
จุดเด่นที่เราข้ามไปไม่ได้เลยคือ การเล่าเรื่องเมืองเดลี ประเทศอินเดีย เมห์ตาเลือกกำกับภาพและออกแบบงานสร้างที่ถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ของเมืองเดลีออกมาให้ ‘ไม่น่าอยู่’ เลยสักนิด
เมืองเดลีในเรื่องมีทั้งความสกปรก ความอลหม่าน ผู้คนพลุกพล่าน และเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ชวนให้เราเชื่อจริงๆ ว่าเมืองนี้มีปัญหาหมักหมมจนเหม็นเน่า ซึ่งยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผ่าตัดใหญ่ครั้งเดียวแล้วเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้นได้
ท่ามกลางความตึงเครียดในทุกอณู Delhi Crime เป็นซีรีส์อินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในแง่คำวิจารณ์และจำนวนคนดู ซึ่งน่าจะสูงพอจนทำให้ Netflix ไฟเขียวสร้างซีซั่น 2 ไปแล้วเรียบร้อย เราเชื่อว่าหากเมห์ตารักษามาตรฐานของตัวเองได้ดี ผู้ชมจากทั่วทุกสารทิศน่าจะได้ดู Delhi Crime กันไปอีกยาวๆ เพราะดูเหมือนว่าเมืองเดลีจะมีวัตถุดิบที่มาในรูปของคดีอาชญากรรมอีกมากมายที่รอเมห์ตาหยิบมานำเสนออยู่
Delhi Crime ยังทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หากบ้านเราลองทำซีรีส์ Bangkok Crime บ้างจะเป็นยังไง จะหยิบคดีอะไรมานำเสนอในมุมที่ถึงพริกถึงขิงอย่างซีรีส์จากแดนภารตะเรื่องนี้ แต่ก็น่าจะทำได้แค่คิด (พร้อมกับถอนหายใจ) เพราะตราบใดที่เมืองไทยยังไม่เปิดกว้างให้มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องอื้อฉาวบางเรื่องในพื้นที่เปิด การที่คนทำหนังหรือซีรีส์จะหยิบจับด้านมืดในเมืองเทพสร้างมาชำแหละแล้วสร้างสรรค์เป็นผลงานก็คงต้องอาศัยความกล้าได้กล้าเสี่ยงส่วนตัวเป็นอย่างมาก
คิดแล้วมันก็เศร้าจริงๆ
เครดิตภาพ