ประวัติศาสตร์ Converse All Star รองเท้าที่อยู่เหนือกาลเวลาและสัญลักษณ์แห่งความขบถ

ว่ากันว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ดีไซน์ที่ดีสามารถคงอยู่ไปตลอดกาล ซึ่งคำพูดดังกล่าวคงไม่เกินไปนัก ถ้างานดีไซน์ที่ว่านั้นสวยงามสมบูรณ์แบบจนได้รับการยอมรับ 

ตัวอย่างหนึ่งที่อธิบายคำพูดที่ว่าอย่างเห็นได้ชัดคือรองเท้าผ้าใบกีฬาอายุมากกว่าร้อยปีที่ดีไซน์แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมายนัก และยังคงมีให้เห็นอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นที่เป็นรองเท้าสำหรับกีฬาบาสเก็ตบอล สู่สัญลักษณ์ของความคลาสสิก ความขบถ และเป็นรองเท้าที่มีอิทธิพลต่อแฟชั่นในยุคปัจจุบัน

รองเท้าที่ว่าคือ Converse Chuck Taylor All Star

Marquis Mills Converse อดีตผู้จัดการโรงงานรองเท้า ซึ่งขณะนั้นมีอายุย่าง 47 ปี ก่อตั้งบริษัท The Converse Rubber Shoe Company ขึ้นที่เมืองมัลเดน รัฐแมสซาชูเซตส์ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1908

ช่วงเริ่มแรกบริษัทผลิตเพียงแค่รองเท้าบูทยางสำหรับฤดูหนาวอย่างเดียวเท่านั้น ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีโรงงานของเขาก็พัฒนาจนมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตรองเท้ายางได้ถึงวันละ 4,000 คู่ แล้วความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มขึ้นในปี 1915 เมื่อเขาเริ่มมองเห็นลู่ทางใหม่และเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดรองเท้ากีฬา โดยในช่วงแรกโรงงานของเขาผลิตรองเท้ากีฬาสำหรับเทนนิส แต่มันกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ​Converse เกิดขึ้นในปี 1917 เมื่อมาร์ควิสมองเห็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นของกีฬาบาสเก็ตบอลที่ ณ เวลานั้นยังไม่มีรองเท้าสำหรับกีฬานี้โดยเฉพาะ หลังจากศึกษาและทำการบ้านถึงความต้องการและรูปแบบการเล่นของกีฬาชนิดนี้แล้ว รองเท้ากีฬาสำหรับบาสเก็ตบอลคู่แรกของ ​Converse ที่ชื่อ Non-Skids ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมีลักษณะเป็นรองเท้าผ้าแคนวาสหุ้มข้อทรงสูงและมีพื้นดอกยางที่เจ้าตัวเรียกว่า ‘CX’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นในขณะที่ทดลองผสมส่วนประกอบต่างๆ ในการผลิตยางจนเกิดเป็น Triple Tread Technology หรือพื้นดอกยางคุณภาพสูงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ โดยจุดเด่นอีกอย่างที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ Converse คือป้ายโลโก้รูปดาวที่เย็บติดอยู่ด้านในรองเท้า ก่อนที่หลังจากนั้นรองเท้ารุ่น Big Nine จะตามมาในปี 1909 

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของ Converse คือรองเท้าที่ออกวางขายในปี 1920 ที่ชื่อ All Star ซึ่งถูกพัฒนามาจากรองเท้ารุ่น Non-Skids และเป็นรองเท้าบาสเก็ตบอลคู่แรกในอเมริกาตอนเหนือที่ถูกผลิตขึ้นมาในแบบ mass-produced ซึ่งในช่วงแรกยอดขายของรองเท้าคู่นี้ไม่ได้ดีมากนัก

จนกระทั่งการมาถึงของผู้ชายที่ชื่อ Charles Hollis ‘Chuck’ Taylor

ชาร์ลส์ ฮอลลิส เทย์เลอร์ เกิดในปี 1901 เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลสโมสร Akron Firestone ที่หลงใหลในรองเท้ารุ่น All Star เป็นอย่างมาก

จุดเริ่มต้นการพบกันเกิดขึ้นในปี 1921 เมื่อเขาเดินเข้าไปในร้านขายรองเท้าของ Converse เพื่อนำเสนอถึงปัญหาที่ตัวเขาและนักกีฬาคนอื่นๆ ต้องพบเจอจากประสบการณ์การใส่รองเท้ารุ่นดังกล่าว เพื่อให้ทาง Converse ปรับปรุงรองเท้าให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ภายหลังเทย์เลอร์จึงถูกว่าจ้างจาก Bob Pletz ที่เป็นผู้บริหารของ Converse ในตำแหน่งพนักงานขายควบคู่ไปกับการเป็น brand ambassador ให้กับรองเท้ารุ่น All Star อาจถือได้ว่าเทย์เลอร์คือนักกีฬาคนแรกในโลกที่ได้เป็นพรีเซนเตอร์รองเท้ากีฬาในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้

การเข้ามาของเทย์เลอร์ได้พลิกโฉมรองเท้า All Star และ Converse ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเทย์เลอร์เองมีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุงรองเท้า All Star ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยเน้นไปที่การซัพพอร์ตข้อเท้าและเพิ่มความยืดหยุ่นของรองเท้า ที่สำคัญเทย์เลอร์ยังมีความเข้าใจถึงเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์และการตลาดเป็นอย่างดี เขาจึงเริ่มต้นแผนการตลาดของตัวเองในรูปแบบที่ว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปแข่งขันหรือโปรโมตรองเท้าในที่ใดก็ตาม เขาจะเปิดคลินิกสอนบาสเก็ตบอลควบคู่ไปกับการขายรองเท้า Converse All Star ตามโรงเรียนและค่ายเยาวชนในรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา และนั่นทำให้รองเท้า Converse All Star เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักกีฬาด้วยกัน

ไม่ใช่เฉพาะแค่กีฬาบาสเก็ตบอลเพียงอย่างเดียว แต่รองเท้ารุ่นนี้ยังเป็นที่นิยมไปถึงกลุ่มที่สนใจกีฬาอื่นๆ และกลุ่มวัยรุ่นในยุคนั้นด้วยเช่นกัน หลายคนเรียกชื่อเล่นของรองเท้า All Star ที่ถูกปรับปรุงใหม่คู่นี้ว่า ‘Chuck Taylor’ ตามชื่อของพรีเซนเตอร์ที่สวมใส่รองเท้าคู่นี้ ความสำเร็จของรองเท้า All Star ทำให้ ​Converse ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุน The American Basketball League หรือลีกบาสเก็ตบอลอาชีพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นลีกบาสเก็ตบอลอาชีพที่ภายหลังกลายมาเป็น National Basketball Association หรือ NBA นั่นเอง

รองเท้าของ Converse ได้รับความนิยมและยอมรับอย่างกว้างขวางจากผลงานความสำเร็จด้วยฝีมือของเทย์เลอร์ ทำให้ในปี 1932 ทาง ​Converse ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อรองเท้ารุ่นดังกล่าวด้วยการเพิ่มชื่อ Chuck Taylor เข้าไปเป็น ‘Chuck Taylor All Star’ เพื่อเป็นเกียรติให้กับเทย์เลอร์ซึ่งทำงานร่วมกับ Converse จนกระทั่งเขาเสียชีวิต

ในแง่การออกแบบ Converse Chuck Taylor All Star ในช่วงแรกสุดใช้ผ้าแคนวาสดิบสีน้ำตาลและเนื้อยางสีดำ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ผ้าใบสีดำและหนังสีดำในรุ่น All Star และมีเอกลักษณ์พิเศษอยู่ที่ป้ายผ้าวงกลมสกรีนโลโก้รูปดาวและตัวหนังสือ ​All Star ที่ยังคงเอกลักษณ์ดังกล่าวอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

ภาพรองเท้าแบบเก่าของ Converse เปลี่ยนไปในปี 1936 เมื่อบาสเก็ตบอลได้ถูกบรรจุเข้าสู่ Berlin Olympic Games เป็นครั้งแรก และทำให้ Converse กลายเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของทีมชาติสหรัฐอเมริกา (ตั้งแต่ปี 1936 จนถึงปี 1968) และนั่นเป็นครั้งแรกที่โลกได้เห็น​ Converse Chuck Taylor All Star สีขาวที่มีเส้นขอบยางรองเท้าสีแดงและน้ำเงินที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสีของธงชาติสหรัฐอเมริกา และได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสีคลาสสิกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของ ​Converse จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม Converse จึงหยุดการผลิตรองเท้ากีฬาเพื่อหันมาผลิตรองเท้าบูททหาร เครื่องแต่งกาย และชุดป้องกันต่างๆ ให้กับกองทัพ โดยเทย์เลอร์เองก็ถูกเกณฑ์เข้าร่วมในตำแหน่งกัปตันของกองทัพอากาศพร้อมกับการเป็นผู้ฝึกสอนให้กับทีมบาสเก็ตบอลของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าทหาร โดยเขาได้ใช้โอกาสนั้นพารองเท้า Chuck Taylor All Star สีขาวเข้าไปโปรโมตให้เป็นที่รู้จักจนกลายมาเป็นรองเท้าที่เอาไว้ใส่ฝึกซ้อมในกองทัพอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน 

This image has an empty alt attribute; its file name is Black_Chuck-1.jpg

หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสำเร็จของ Chuck Taylor All Star พาให้ Converse เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ในปี 1949 รองเท้า​ Chuck Taylor All Star ถูกนำเสนอในรูปแบบหุ้มข้อสีดำขอบยางขาว ซึ่งดึงดูดสายตาและเป็นที่ต้องการมากกว่าสีดั้งเดิมที่เป็นสีดำล้วน ประกอบกับกีฬาบาสเก็ตบอลกลายมาเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด การควบรวมกันของสมาคม The Basketball Association of America (BAA) กับ The National Basketball League (NBA) ทำให้กีฬาบาสเก็ตบอลเติบโตก้าวหน้าขึ้นไปอีก รองเท้า ​Chuck Taylor All Star กลายมาเป็นรองเท้าของผู้เล่นทั้งระดับอาชีพ มหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยม รวมไปถึงผู้เล่นทั่วไป รองเท้าสีดำ-ขาวกลายมาเป็นภาพลักษณ์ติดตาที่พบเห็นได้ในยุคนั้น

ในปี 1957 Converse ออกแบบรองเท้ารุ่น Chuck Taylor All Star OX (OxforCut) สไตล์ low-cut เป็นครั้งแรก จากการที่ได้เห็นนักกีฬาบางคนเลือกที่จะตัดรองเท้าในส่วนข้อเท้าบนออกเพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนไหว ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงและเป็นที่นิยมทันที ตามมาด้วยการอัพเดตวัสดุใหม่ๆ อย่างหนังและหนังกลับแทนที่จะเป็นผ้าใบแคนวาสเพียงอย่างเดียว ในปี 1971 Converse เริ่มผลิต Chuck Taylor All Star ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสีสันต่างๆ ตามคำขอของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งที่อยากจะสวมใส่รองเท้าที่มีสีเดียวกับชุดยูนิฟอร์ม นอกจากนั้นยังมีการเริ่มใช้วัสดุใหม่ๆ อย่างหนังและหนังกลับ แทนที่จะเป็นผ้าใบแคนวาสอย่างเดียว

ในช่วงเวลานั้น Converse แทบจะผูกขาดในตลาดรองเท้ากีฬาด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นรองเท้าของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาอีกต่อไป สถานะของ Converse Chuck Taylor All Star ไม่ได้เป็นเพียงแค่รองเท้ากีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นรองเท้าขวัญใจวัยรุ่น รวมไปถึงดารานักร้องต่างๆ มากมาย ซึ่งเครดิตเกินกว่าครึ่งมาจากผลงานที่ไม่เคยหยุดโปรโมตของเทย์เลอร์ที่ทำให้กีฬาบาสเก็ตบอลและรองเท้า All Star เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนเทย์เลอร์ถูกขนานนามว่าเป็น ambassador of basketball และถูกเสนอชื่อเข้าสู่ทำเนียบหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ในปี 1968 ก่อนที่เจ้าตัวจะเสียชีวิตลงในปีต่อมา

ไม่เพียงแค่ Chuck Taylor All Star ที่สร้างชื่อให้กับ Converse เท่านั้น ในปี 1972 Converse ได้ซื้อแบรนด์รองเท้า PF Flyers จากบริษัทผลิตยางล้อรถยนต์จากแคนาดา, BFGoodrich รวมไปถึงลิขสิทธิ์รองเท้ากีฬาแบดมินตันที่ออกแบบโดยนักกีฬาแบดมินตันชื่อดังชาวแคนาดา John Edward ‘Jack’ Purcell ซึ่งออกแบบมาตั้งแต่ปี 1935 และได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬาและผู้ที่เล่นกีฬาแบดมินตันรวมไปถึงเทนนิส 

ภายหลังในปี 1975 PF Flyers แยกออกจาก Converse ด้วยสาเหตุเกี่ยวกับกฎหมายการผูกขาดทางการตลาด แต่ ​Converse ยังคงถือลิขสิทธิ์รองเท้า Jack Purcell อยู่ และรองเท้ารุ่นนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในรองเท้าไอคอนิกอีกคู่หนึ่งของ Converse จวบจนถึงปัจจุบัน

Converse ผูกขาดตลาดอยู่นานจนถึงช่วงยุค 70s ที่เริ่มหมดความนิยม เพราะดีไซน์รองเท้าที่จำเจน่าเบื่อ ประกอบกับคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง PUMA และ Adidas ที่กระโจนเข้ามาในตลาดรองเท้ากีฬาบาสเก็ตบอลและแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดรองเท้ากีฬาไปจาก Converse มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการนำเสนอรองเท้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และใช้วัสดุที่ดีกว่า 

Converse จึงพยายามแก้เกมด้วยการออกรองเท้าบาสเก็ตบอลทรง low-cut หุ้มส้นอีกคู่ที่วางจำหน่ายในปี 1974 จนกลายมาเป็นไอคอนที่ทุกคนรู้จักและมีเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นกัน นั่นก็คือ Converse One Star ที่ในตอนแรกยังใช้ชื่อเรียกว่า Converse All Star ด้วยการพัฒนารองเท้า All Star OX ในแบบหุ้มส้นที่วางจำหน่ายในปี 1971 แต่นำเสนอวัสดุพรีเมียมอย่างหนังและหนังกลับ มีระบบรองรับแรงกระแทกที่ดีขึ้นกว่าเดิม และดีไซน์ให้โลโก้ดาวขนาบด้วยแถบข้าง 

ตอนที่วางจำหน่ายรองเท้าคู่นี้ Converse หวังให้ตลาดหันกลับมาสนใจอีกครั้ง แต่ก็ล้มเหลวและทำการตลาดอยู่ได้เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น จนสุดท้ายต้องหยุดการผลิตไป ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในอีกเกือบ 20 ปีต่อมาด้วยชื่อที่เรียกกันใหม่ว่า Converse One Star

สาเหตุที่ Converse นำ One Star กลับมาอีกครั้งเนื่องจากรองเท้าคู่นี้กลายเป็นที่ต้องการของบรรดาคนที่ชื่นชอบแฟชั่นสไตล์ American vintage / Ivy ในญี่ปุ่นช่วงยุค 80-90s ที่เดินทางมาสหรัฐอเมริกาเพื่อกวาดหาซื้อสต็อกรองเท้ารุ่นดังกล่าวทั้งหมดที่สามารถหาได้

ในยุค 90s นั้นเทรนด์รองเท้ากีฬาเน้นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งถูกนำเสนอโดยแบรนด์ใหญ่ และ Converse ก็ไม่ได้เป็นผู้นำในตลาดกีฬาอีกต่อไปแล้ว ยังไงก็ตามรองเท้าของ Converse กลับได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบความคลาสสิก รวมไปถึงในวงการดนตรีที่​ Converse กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความขบถและเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะบรรดาวงดนตรีร็อกและพังก์ที่นิยมเลือกใส่รองเท้า Converse ทาง Converse จึงนำรองเท้าคู่นี้ที่เคยทำตลาดอยู่แค่เพียงปีเดียวแล้วหายไปกลับมาทำใหม่อีกครั้งในปี 1993 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น Converse One Star โดยถอดเอาแถบข้างทั้งสองที่ประกบโลโก้ดาวออกและวางภาพลักษณ์ของรองเท้ารุ่น One Star ให้แตกต่างจากที่เคยเป็นรองเท้าสำหรับบาสเก็ตบอล

มี 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รองเท้า Converse One Star กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ปัจจัยแรกรองเท้า One Star กลายเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟกต์สำหรับกีฬาสเก็ตบอร์ด ด้วยความที่รองเท้ามีราคาถูก จับต้องได้ ใช้วัสดุพิเศษอย่างหนังกลับที่มีความคงทนและมีพื้นรองเท้าแบนเรียบ ให้พื้นที่สัมผัสกับแผ่นบอร์ดได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการทำการตลาดที่เจาะจงเข้าไปในกลุ่มผู้เล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ อย่างการลงโฆษณาในหนังสือ Thrasher Magazine การใช้ Spike Jonze ช่างภาพและผู้กำกับชื่อดังในการช่วยโปรโมต และมีนักสเก็ตชื่อดังมากมายสวมใส่ ทำให้มันได้รับความนิยมในทันที ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของดนตรีประเภท grunge rock ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีหัวหอกที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นในยุคนั้นอย่าง Kurt Cobain จากวง Nirvana ที่มีสไตล์การแต่งตัวแบบ anti-fashion อย่างเสื้อเชิ้ตตัวโคร่ง กางเกงยีนส์ขาด และมักจะสวมใส่รองเท้า Converse One Star ตลอดเวลา (แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เจ้าตัวก็ยังคงสวมใส่ Converse One Star) ปัจจัยทั้งสองอย่างทำให้ Converse One Star กลายมาเป็นคีย์ไอเทมที่สำคัญสำหรับวัยรุ่นในยุค 90s

ยังไงก็ตาม การที่ ​Converse มัวแต่พึ่งพารองเท้าแค่ 2-3 รุ่น ขาดการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่น่าสนใจใดๆ ในขณะที่คู่แข่งที่เคยตามหลังต่างแซงหน้าไปไกล การสูญเสียตำแหน่งทางการตลาดและไม่สามารถทวงคืนมาได้ บวกกับการบริหารที่ผิดพลาด ทำให้ยอดขายของ Converse ตกต่ำลงเรื่อยๆ และมีหนี้สินที่งอกเพิ่มพูนในช่วงปี 2000 จนในที่สุด Converse ก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการขอยื่นพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายในวันที่ 22 มกราคม 2001 บริษัทต้องเปลี่ยนมือและถูกซื้อกิจการโดย Marsden Cason และ Bill Simon ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน 

โดยผลที่เกิดขึ้นจากการมีหนี้สินมากกว่า 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Converse ยุติสายการผลิตทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาด้วยการปิดโรงงานทั้งหมด ปลดพนักงานออกนับพันคน และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงขายอาคารสำนักงานใหญ่ในเมือง North Reading ที่อยู่มานาน ซึ่งในช่วงปีแรกหลังจากเปลี่ยนมือ Converse สามารถทำยอดขายได้เพียงราวๆ 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2003 Converse ก็ถูกเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมดอีกครั้งโดย Nike ด้วยมูลค่าถึง 309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด ด้วยการลดผลิตภัณฑ์กีฬาของ Converse ลง และสร้างภาพลักษณ์ Converse ให้เป็นแฟชั่นที่มีประวัติศาสตร์และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมมากมายมายาวนาน พร้อมทั้งเพิ่มเติมความสดใหม่ให้กับ Converse ไม่ว่าจะเป็นลวดลายแปลกใหม่และวัสดุที่น่าสนใจ หรือการนำเทคโนโลยีบางอย่างของ ​Nike มาใช้ในรองเท้า Converse ยังไม่รวมถึงการคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ อีกมากมายที่ทำให้ Converse สามารถฟื้นกลับมาได้อีกครั้งด้วยรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เช่น ในปี 2017 ที่มีรายได้สูงถึง 2,042 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับโลกของสตรีทคัลเจอร์แล้ว Converse ทำงานร่วมกับผู้คนมากมายหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักร้องวงดนตรีต่างๆ และทำงานร่วมกับแบรนด์แฟชั่นทั้งไฮเอนด์และสตรีทแวร์มานับไม่ถ้วน รวมถึงเคยร่วมโปรเจกต์พิเศษต่างๆ จำนวนมาก เช่น โปรเจกต์การกุศลที่ Converse ร่วมมือกับองค์กรการกุศล (RED) ที่ก่อตั้งในปี 2006 โดย Bono นักร้องนำจากวง U2 และ Bobby Shriver เพื่อออกจำหน่ายสินค้าพิเศษที่จะนำรายได้มาช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค ด้วยการทำงานร่วมกับศิลปินและแบรนด์ต่างๆ มากมายหลากหลายแขนง ซึ่งการร่วมมือกับ Converse ภายใต้ชื่อเรียกว่า Converse (PRODUCT)RED ก็ได้ออกรองเท้าไลน์พิเศษเพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรนี้ โดยรองเท้าในไลน์นี้จะมีเอกลักษณ์ที่รูร้อยเชือกด้านบนสุดเป็นสีแดง

นอกจากนั้น การกลับมาของ Converse One Star ในปี 1993 ทำให้ Converse มองเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้ในตลาดกีฬาสเก็ตบอร์ดที่ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ​Converse กลับมาได้รับความสนใจ ในปี 2009 ทางแบรนด์จึงเปิดตัวไลน์สินค้าสำหรับสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ ‘CONS’ โดยนำรองเท้ารุ่นยอดนิยมอย่าง Chuck Taylor All Star และ One Star ที่เป็นตัวชูโรงมาอัพเกรดวัสดุและเทคโนโลยีซัพพอร์ตที่เหมาะสำหรับกีฬาประเภทนี้โดยเฉพาะ ซึ่งไลน์สินค้า CONS วางขายโดยเน้นไปที่ร้านขายสินค้าสำหรับสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังพัฒนารองเท้ารุ่นใหม่อื่นๆ สำหรับกีฬาประเภทนี้เช่นกัน ยังไม่รวมการอัพเกรดรองเท้า Converse ด้วยดีไซน์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยทาง Nike ที่ทำให้รองเท้าของ Converse มีความหลากหลายในปัจจุบัน

ย้อนไปในยุค 60-70s คนส่วนใหญ่จะนิยมใส่รองเท้ากีฬาในยิมหรือสถานที่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว และมองว่าการสวมใส่รองเท้ากีฬาข้างนอกเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับการใช้งาน Converse จึงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ โดยมีอิทธิพลต่อโลกแฟชั่นและดนตรี รวมถึงคนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคสมัยที่ต้องการแสดงออกในสิ่งที่แตกต่างจากกลุ่มคนหมู่มากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังถูกสวมใส่โดยดารา นักร้อง หรือศิลปินที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มวัยรุ่นมากมาย เช่น บุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์ของอเมริกันอย่าง James Dean และ Steve McQueen ที่สวมใส่รองเท้าของ Converse ทำให้มันกลายเป็นรองเท้าที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนคอร์ตสนามอีกต่อไป

และหากเจาะลึกลงไปในแวดวงดนตรีและภาพยนตร์ บรรดาวงดนตรีร็อกและพังก์ในยุคนั้น นอกจากเนื้อหาของเพลงที่นำเสนอจุดยืนที่แสดงออกถึงความขบถต่อสังคม แต่ละวงยังแสดงออกผ่านการแต่งตัวด้วยสไตล์ที่ต่างจากกระแสหลักและสวมใส่รองเท้ากีฬาอย่าง Converse เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการแหกกฎระเบียบของสังคมที่เคยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น Ramones, The Strokes, Pink Floyd, Iron Maiden, Def Leppard, Sid Vicious จาก Sex Pistols, Paul McCartney และ Kurt Cobain จาก Nirvana เป็นต้น 

นอกจากนั้นรองเท้าของ ​Converse ยังปรากฏตัวในฉากสำคัญในภาพยนตร์กว่า 700 เรื่อง เช่น Elvis Presley ในปี 1969 จาก Change of Habit, Sylvester Stallone ในปี 1976 จาก Rocky, Tom Hanks ในปี 1984 จาก Bachelor Party, Michael J. Fox ในปี 1985 จาก Back to the Future, Keanu Reeves และ Alex Winter ในปี 1989 จาก Bill & Ted’s Excellent Adventure, Leonardo DiCaprio ในปี 1995 จาก The Basketball Diaries และ Will Smith ในปี 2004 จาก I, Robot

ในวัฒนธรรมอเมริกัน Converse Chuck Taylor All Star ยังเป็นรองเท้าที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของการเป็นสมาชิกของกลุ่มแก๊งในฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา รองเท้า Chuck Taylor All Star สีแดงหมายถึงการเป็นสมาชิกของแก๊ง Blood ในขณะที่รองเท้าสีน้ำเงินหมายถึงการเป็นสมาชิกแก๊ง Crips นอกจากนั้น ​Converse Chuck Taylor All Star ยังมีอิทธิพลต่อการแต่งตัวของนักดนตรีในสไตล์ ​west coast hip hop ด้วยเช่นกัน เช่น วง N.W.A. ที่มี Ice Cube และ Dr. Dre หรือ Snoop Dogg และ ​Converse Chuck Taylor All Star ยังถูกพูดถึงในบทเพลงต่างๆ เช่น เพลง Lodi Dodi ของ Snoop Dogg ที่ร้องว่า ‘Threw on my white socks with my all-blue Chucks’ หรือเพลง Taylor Made ของ The Game ที่ร้องว่า ‘I wake up in the morning to Red Converse’ เป็นต้น

ในปี 2019 ทาง Converse ได้ย้อนกลับไปหารากเหง้าเดิมที่ทำให้ ​​Converse กลายเป็นที่รู้จัก นั่นก็คือตลาดรองเท้ากีฬาบาสเก็ตบอล โดยออกรองเท้ารุ่น All Star Pro BB ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Chuck Taylor All Star แต่อัพเดตด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากทาง Nike โดยเซ็นสัญญากับผู้เล่นลีกอาชีพ NBA หลายคน เช่น Kelly Oubre Jr. และ Draymond Green จากทีม Golden State Warriors รวมไปถึงลีกอาชีพผู้หญิงอย่าง WNBA ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า Converse เริ่มกลับมามองและให้ความสำคัญกับตลาดรองเท้ากีฬาบาสเก็ตบอลอีกครั้ง

สื่อแฟชั่นในโลกสตรีทคัลเจอร์จากสหรัฐอเมริกาอย่าง Complex เคยคาดการณ์ด้วยสถิติเอาไว้ว่ารองเท้าของ Converse Chuck Taylor All Star จะถูกขายไปทุกๆ 43 วินาที และว่ากันว่าประชากรเฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอเมริกาจะมีรองเท้า Converse อย่างน้อยคนละคู่ นั่นแสดงให้เห็นว่าความนิยมที่มีต่อรองเท้า Converse มีมากมายแค่ไหน 

Converse คือแบรนด์รองเท้าที่ผ่านจุดที่สูงสุดและต่ำสุดมาแล้ว เปรียบเหมือนนกฟีนิกซ์ไม่มีวันตาย และขึ้นหิ้งกลายเป็นรองเท้าไอคอนสุดคลาสสิกที่เป็นขวัญใจของคนทุกยุคทุกสมัย และเชื่อเหลือเกินว่ามันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล