Clean and Green Cities โปรเจกต์ปฏิวัติพื้นที่สาธารณะในอัฟกานิสถานเพื่อสันติภาพของทุกคน

บทบาทของพื้นที่สาธารณะเป็นได้ทั้งในระดับส่วนบุคคล ตั้งแต่ให้พื้นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และใช้เวลาร่วมกับคนรอบข้าง ไปจนถึงในระดับส่วนรวมที่คนในสังคมได้ประโยชน์พร้อมๆ กัน อย่างการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและกายภาพเมืองให้น่าอยู่น่ามอง เพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับคนตัวเล็กๆ ไปจนถึงประเด็นใหญ่ๆ อย่างสร้างสิทธิในเมืองของทุกคนให้เท่าเทียม หรือแม้แต่ความสงบและสันติภาพในเมือง

หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าพื้นที่สาธารณะจะเกี่ยวข้องกับสันติภาพได้อย่างไร แต่ในอัฟกานิสถาน ดินแดนที่สงครามและความขัดแย้งจากกลุ่มตาลีบันกำลังร้อนระอุ การเกิดขึ้นและมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะเล็กๆ ที่ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของและใช้งานได้อย่างอิสระเสรี อาจเป็นคำตอบที่พวกเขากำลังตามหาและสร้างมันขึ้นมา

สวนสาธารณะคือปัญหาใหญ่ของอัฟกานิสถาน คำว่าใหญ่ที่ว่าไม่ได้หมายถึงจำนวน เพราะในเมืองหลวงอย่างกรุงคาบูล (Kabul) มีสวนที่ชาวเมืองเข้าไปใช้งานกว่า 65 แห่ง แต่ปัญหาคือสวนเหล่านั้นถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยเฉพาะเพศหญิง

ในประเทศมุสลิมที่ยังบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเรื่องสิทธิในร่างกายและการใช้ชีวิตของผู้หญิง เช่น ผู้หญิงไม่สามารถออกนอกเคหะสถานได้หากไม่มีญาติผู้ชายไปด้วย ยังส่งผลต่อการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน พื้นที่นอกบ้านไม่ว่าจะเป็นสวน ตลาด หรือจัตุรัสกลางเมืองในอัฟกานิสถานถูกคิดขึ้นจากพื้นฐานความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งละเลยสิ่งอำนวยความสะดวก (Public Facilities) บางอย่างไป เช่น ถนนไม่มีไฟส่องสว่างมากพอ หรือสวนสาธารณะที่ไม่เหมาะแก่การใช้งานในตอนกลางคืน

ช่วงตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา หลังจากที่กลุ่มตาลีบันถูกสหรัฐอเมริกาโจมตีหลังก่อเหตุ 911 จนต้องถอนตัวจากการปกครองอัฟกานิสถาน เป็นช่วงเวลาที่ประเทศมุสลิมเริ่มรับอิทธิพลจากโลกตะวันตกมากขึ้น เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและวิถีชีวิตของชาวอัฟกันอย่างต่อเนื่อง ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือการรวมตัวของภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและระดับสากลที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีทั้งในและนอกบ้าน ทั้งสิทธิในการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าทำงานในตำแหน่งสูงทั้งในภาครัฐ สื่อมวลชน ไปจนถึงสิทธิทางการเมืองที่มีมากขึ้น

ในเชิงการออกแบบและพัฒนาเมือง อัฟกานิสถานได้รับความช่วยเหลือจากหลายๆ ประเทศ อย่างผังเมืองหลักของกรุงคาบูลที่มีตั้งแต่ปี 1964 ก็ได้นักผังเมืองชาวโซเวียตและตัวแทนจาก UN ร่วมออกแบบ หรือในปี 2012 Japan International Cooperation Agency (JICA) ก็เข้ามาปรับผังเมืองให้มีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่นอกบ้านหลายแห่งในกรุงคาบูลกลับมาเปิดและใช้งาน

หนึ่งในโครงการสำคัญคือการฟื้นฟูสวนประวัติศาสตร์ Babur Garden (Bagh-e Babur) ให้กลับมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้งในปี 2008 โดยกลุ่ม Aga Khan Trust for Culture (AKTC) ร่วมกับ German Archaeological Institute และ National Institute of Archaeology in Afghanistan ร่วมกันปรับปรุงใหม่หลังจากได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมือง Babur Garden ถือเป็นสวนสาธารณะมุสลิมต้นแบบมีประวัติศาสตร์ยาวนาน นอกจากจะมีมัสยิดและสุสานของบุคคลสำคัญในยุคจักรพรรดิ Babur ตั้งอยู่แล้ว ตัวสถาปัตยกรรมและรูปแบบการจัดสวนยังมีสัญญะสะท้อนโลกมุสลิม

ในปี 2010 ยังได้มีการเปิด Kabul Women’s Garden (Sharara Garden) ในกรุงคาบูล ซึ่งมีพื้นที่กว่า 8 เอเคอร์จัดสรรไว้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ และยังมีกิจกรรมการฝึกอาชีพหรือคลาสเรียนต่างๆ โดยเป็นไอเดียเริ่มต้นของ Karima Salik ผู้อำนวยการของฝ่าย Women’s Affairs ของกรุงคาบูลที่อยากฟื้นฟูสวนโบราณในเมืองให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่สำคัญ ชาวเมืองที่เข้ามาร่วมฟื้นฟูสวนแห่งนี้กว่า 50% ก็เป็นผู้หญิง การเกิดขึ้นของสวน Sharara Garden ถือเป็นหมุดหมายที่ดีที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงอัฟกันได้มีโอกาสออกมาใช้ชีวิตสาธารณะอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

UN Habitat Afghanistan คืออีกหน่วยงานระดับสากลที่ลงมาจับประเด็นพื้นที่สาธารณะ ผ่านโปรแกรมพัฒนาเมือง ชื่อว่า ‘Clean and Green Cities (CGC) Program’ โปรแกรมนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2016 โดยร่วมมือกับเทศบาลเมืองต่างๆ ในอัฟกานิสถาน 12 เมือง เช่น กรุงคาบูล จาลาลาบัด (Jalalabad) กันดาฮาร์ (Kandahar) หรือเฮราต (Herat) วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนพร้อมทั้งส่งเสริมการจ้างงานให้กับคนรายได้น้อย (Job For Peace) โดยตั้งคำถามถึงสิทธิของคนกลุ่มเล็กๆ ในเมือง เช่น ผู้หญิง เด็ก และกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และชวนให้พวกเขามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่สอบถามความต้องการ ระดมความเห็น และลงมือทำมันขึ้นมาให้เป็นจริง ผลลัพธ์ของโปรเจกต์นี้คือการฟื้นฟูสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวในเมืองกว่า 49 แห่ง ซึ่งหลายแห่งก็เป็นสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ กระบวนการแบบมีส่วนร่วมนี้ถือเป็นการปฏิวัติพื้นที่สาธารณะอย่างเงียบๆ ที่แทรกซึมไปในความคิดของชาวอัฟกันยุคใหม่เช่นกัน

สวนสาธารณะที่ออกแบบเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะในสังคมมุสลิมนั้นต้องเป็นอย่างไร งานวิจัยล่าสุดในปี 2021 ได้ศึกษารูปแบบการใช้งานพื้นที่สาธารณะที่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอัฟกันเพื่อเป็นไอเดียเบื้องต้นในการออกแบบพื้นที่นอกบ้านที่ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ โดยใช้กรณีศึกษาเป็นชาวเมืองคาบูลที่ออกมาสวนสาธารณะกว่า 15 แห่งในเมือง พวกเขาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงออกมาใช้งานพื้นที่นอกบ้านเพียงแค่ 30% และสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยจะมีสัดส่วนผู้หญิงเยอะที่สุดคือ 37% (ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยมากอยู่ดี)

งานวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เชื้อเชิญให้ผู้หญิงอัฟกันออกไปสวนสาธารณะ นอกจากที่ตั้งของสวนที่ใกล้บ้าน มีการเชื่อมต่อ (Connectivity) กับสถานที่ข้างเคียงที่สะดวก และความมีชีวิตชีวาของพื้นที่แล้ว การมีผู้ใช้งานจำนวนมากๆ รวมถึงมีผู้หญิงในพื้นที่เยอะก็เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความปลอดภัยและมั่นใจว่าจะไม่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ ปัจจัยรองลงมาอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น สวนมีการออกแบบที่สวยงาม มีทางเดินเท้าที่เข้าถึงได้ง่าย ความหลากหลายของกิจกรรมและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น การมีโซนออกกำลังกายหรือร้านค้าข้างเคียง งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกว่า การรับฟังความคิดเห็นและชวนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ เป็นกุญแจสำคัญที่นักผังเมืองต้องทำความเข้าใจหากอยากให้พื้นที่สาธารณะมีบทบาทไปถึงการสร้างโอกาสให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมสถานะทางสังคมของทุกคนให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

Jalalabad Female Park หนึ่งในผลลัพธ์ของ CGC Program ซึ่งเป็นสวนสาธารณะสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะแห่งแรกในเมืองจาลาลาบัดอาจเป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะกระบวนการเริ่มพัฒนาสวนแห่งนี้เริ่มจากการชวนผู้หญิงตั้งแต่ผู้ใหญ่และเด็กในเมืองมาออกความเห็นว่าต้องการพื้นที่นอกบ้านแบบไหน จนได้ผลลัพธ์มาเป็นสวนที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นจุดนั่งพัก ลานน้ำพุและสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ มากกว่านั้น สวนแห่งนี้ยังจ้างงานผู้หญิงชาวอัฟกันกว่า 100 คนให้ช่วยเป็นชาวสวนคอยดูแลต้นไม้ ซึ่งหากนับรวมทุกโปรเจกต์ CGC Program ได้สร้างอาชีพให้กับแรงงานหญิงกว่า 15% จากจำนวนแรงงานทั้งหมด

CGC Program ยังมีโปรเจกต์พื้นที่สีเขียวที่ฟื้นฟูขึ้นจากพื้นที่รกร้างในเมืองต่างๆ เช่น Timor Shahi Park ในเมืองกันดาฮาร์ที่เปลี่ยนลานทิ้งขยะเก่าโทรมๆ ให้เป็นพื้นที่ที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ ในสวนยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และระบบจัดการน้ำเป็นตัวอย่างของการใช้พลังงานแบบหมุนเวียนให้กับสวนสาธารณะอื่นๆ

นอกจากโปรเจกต์สวนสาธารณะแล้ว CGC Program ยังขยายไปถึงการสร้างเมืองให้น่าอยู่มากขึ้นด้วยการจ้างงานนักศึกษาศิลปะจบใหม่ให้มาวาดภาพลงบนกำแพงเมือง T-Walls ที่เคยทำหน้าที่ป้องกันอาคารบ้านเรือนจากระเบิดในสมัยสงครามกลางเมือง โปรเจกต์ Mural Arts นี้ได้เปลี่ยนกำแพงสีเทาๆ ที่ไม่น่ามองให้เป็นพื้นที่แสดงออกทางความคิดของเยาวชนในอัฟกานิสถาน ผ่านงานศิลปะและการ์ตูนที่สื่อสารประเด็นเรื่องสันติภาพและสังคมแบบง่ายๆ ไล่เลยไปจนถึงการเพนต์บ้านเรือนของชุมชนให้เป็นสีสันต่างๆ ดูแล้วอาจไม่ได้แก้ปัญหาอะไรมากนัก แต่ก็ทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาดูมีชีวิตชีวามากขึ้น

โปรเจกต์ CGC Program จบลงและวัดผลไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2019 โดยผลลัพธ์ที่น่าพอใจคือจำนวนผู้หญิงชาวอัฟกันที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบพื้นที่ต่างๆ สูงถึง 50% จากทุกโครงการ สะท้อนว่าสังคมมุสลิมอย่างอัฟกานิสถานเองก็ไม่ได้จำกัดสิทธิสตรีเหมือนเช่นในอดีต นอกจากนี้ พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ยังคงถูกดูแลรักษาโดยหน่วยงานท้องถิ่นในเมืองนั้นๆ รวมถึงภาคเอกชนในกรุงคาบูลก็เข้ามาจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมีเพียงแค่ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในอัฟกานิสถานที่ตึงเครียดอย่างทวีคูณหลังการเข้ายึดครองอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตาลีบันเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ทำให้การออกมาใช้ชีวิตของผู้หญิงอัฟกัน รวมถึงคนที่เห็นต่างจากแนวคิดของกลุ่มตาลีบันถูกจำกัดลงอย่างหนักอีกครั้ง แต่เราก็หวังอย่างลึกๆ ว่าในอนาคต ตัวตนของทุกคนในอัฟกานิสถานจะมีพื้นที่ให้มองเห็น และพื้นที่ที่เคยมีชีวิตชีวาเหล่านี้จะกลับมาเป็นของพวกเขาอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง

ขอบคุณภาพจาก > UN-Habitat

AUTHOR