เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน คือชื่อที่ครองตำแหน่งเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีเป็นลำดับต้นๆ ของอเมริกา ด้วยแนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผู้คนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย และยังเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ ให้ชาวเมืองได้พัฒนาตัวเอง แถมยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและเปิดกว้างต่อทางเลือกของทุกคน ไม่แปลกที่ใครต่อใครล้วนอยากย้ายไปอยู่พอร์ตแลนด์
แต่กว่าที่พอร์ตแลนด์จะมาถึงจุดนี้ก็ใช่ว่าที่นี่ไม่เคยมีปัญหามาก่อน
แนวคิดการใช้ผังเมืองแบบกริดของอเมริกาที่เอื้อให้ชาวเมืองใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลักก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ฝังแน่นไม่เว้นแม้แต่ที่พอร์ตแลนด์ กว่าที่ชาวเมืองจะสามารถทวงคืนผังเมืองที่เป็นระเบียบและมีขนส่งสาธารณะคุณภาพได้อย่างทุกวันนี้ พวกเขาต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ของประชาชนและผู้บริหารเมือง
เช่นกันกับปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะของย่าน ที่ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถมาพบปะกันได้บ่อยๆ เมื่อชาวพอร์ตแลนด์ทนไม่ไหวจึงขอลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตัวเอง

The City Repair Project คือโปรเจกต์ฟื้นฟูเมืองผ่านพื้นที่สาธารณะซึ่งริเริ่มโดย Mark Lakeman สถาปนิกผังเมืองผู้ตั้งคำถามว่าทำไมพอร์ตแลนด์ถึงไม่มีพื้นที่สาธารณะที่เป็นของชุมชนจริงๆ นอกเหนือไปจากพื้นที่ริมน้ำและสวนสาธารณะ
เลคแมนคิดว่าสี่แยกกลางถนนในย่านชุมชนเล็กๆ อาจเป็นคำตอบ เพราะหลังจากที่มีการปรับผังเมืองพอร์ตแลนด์ให้เอื้อต่อการเดินมากขึ้น สี่แยกเหล่านี้ก็ไม่ค่อยถูกใช้งานเหมือนเก่า
โชคดีที่ชาวเมืองพอร์ตแลนด์เห็นด้วยกับไอเดียนี้ กระบวนการซ่อมเมืองจึงเริ่มขึ้น
สิ่งที่เลคแมนชวนชุมชนมาทำนั้นง่ายมาก คือการวาดภาพระบายสีสี่แยกต่างๆ ให้มีสีสันไม่เหมือนใคร โดยเขาตั้งชื่อให้โปรเจกต์นี้ว่า Share-It Square ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2001 บนถนนย่านเซลล์วูด ก่อนจะขยายไปยังสี่แยกทั่วมุมเมือง ทั้งที่ Sunnyside Piazza และ Southeast 33rd Avenue จนตอนนี้ทั่วพอร์ตแลนด์มีสี่แยกสีสันสดใสกระจายไปกว่า 300 แห่งแล้ว!

การระบายสีพื้นถนนสามารถเปลี่ยนถนนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะได้ยังไง?
นอกจากความสวยงามแล้ว การระบายสีบนพื้นถนนด้วยลวดลายที่คนในชุมชนร่วมคิดและออกแบบกันเองก็เท่ากับประกาศว่าชุมชนคือเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ ไม่ใช่รถยนต์อย่างที่เคยเข้าใจกัน ในทางผังเมือง กระบวนการนี้เรียกว่า placemaking ที่ชุมชนช่วยกันระดมความเห็นและให้ความหมายใหม่แก่พื้นที่เดิม
ไอเดียสี่แยก Share-It Square ที่เลคแมนคิดยังย้ำว่า placemaking ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ที่ใหญ่โต แต่สามารถเริ่มได้ด้วยวิธีการที่ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และเห็นผลลัพธ์ได้ทันที นอกจากได้ลานนั่งเล่นใหม่ให้ชุมชนและสนามวิ่งเล่นของเด็กๆ การทาสีสันสี่แยกให้โดดเด่นยังช่วยให้รถยนต์ที่ขับไปมาเห็นชัดและเพิ่มความระมัดระวังเวลาขับผ่าน
และถึงแม้ว่าการวาดภาพระบายสีอาจจะไม่ใช่งานหนักที่ต้องใช้แรงมากเท่าไหร่ แต่มันจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าคนในย่านไม่เห็นพ้องต้องกันถึงไอเดียนี้และสละเวลาออกมาทาสีกัน (2 สัปดาห์คือระยะเวลาที่สั้นที่สุดนับตั้งแต่คนในชุมชนเริ่มคิด ออกแบบ และเนรมิตรสี่แยกขึ้นมาใหม่ให้สวยงาม) กระบวนการทำงานแบบคนตัวเล็กในโปรเจกต์นี้จึงนับได้ว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจมาก


ยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนอาจจะไปขอความร่วมมือและเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มาเพิ่มด้วยก็ได้ ส่วนโปรเจกต์อย่าง The City Repair Project ก็มีหน้าที่ประสานงานและชวนอาสาสมัครจากนอกพื้นที่มาช่วยเหลือกัน
สิ่งสำคัญกว่าผลลัพธ์รูปธรรมคือกระบวนการตั้งแต่ต้นที่พวกเขาไปชักชวนทั้งหนุ่มสาว ผู้สูงวัย และเด็กๆ ที่น่าจะสนุกกับกิจกรรมนี้เป็นพิเศษออกมาระบายสีร่วมกัน และหากมองให้ลึกลงไป นี่คือการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนที่นับวันก็ยิ่งห่างเหินในสังคมปัจจุบัน (ยังไม่นับช่วง 2 ปีมานี้ที่โรคระบาดทำให้เราเจอหน้าเพื่อนบ้านน้อยลงไปอีก)
เรามองว่าสี่แยกสวยๆ อาจเป็นแค่ผลพลอยได้ปลายทาง แต่การปลูกฝังความรู้สึกของคนในชุมชนว่าฉันสร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมาด้วยมือตัวเองต่างหากที่น่าจะยั่งยืนและต่อยอดกลายเป็นความรัก ความหวงแหน และการดูแลรักษาพื้นที่ที่อยู่อาศัยร่วมกันของชาวเมือง


ปัจจุบันไอเดียระบายสีสี่แยกดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพอร์ตแลนด์ แต่ขยายเครือข่ายไปยังเมืองและรัฐอื่นๆ ทั่วอเมริกาและแคนาดา แถมยังกลายเป็นต้นแบบขององค์กรอิสระที่ริเริ่มทำงานด้าน placemaking ในอีกหลายเมือง
ซึ่งนอกจาก Share-It Square ที่เชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กแล้ว โปรเจกต์เปลี่ยนเมืองอื่นๆ ของ City Repair ยังยึดมั่นในวิถีธรรมชาติและความยั่งยืน อย่างการปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูสวนในชุมชน และการใช้วัสดุธรรมชาติหรือวัสดุหมุนเวียนมาสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงอีเวนต์สนุกๆ ยิบย่อยอีกมาก ทั้งการจัดเวิร์กช็อประยะสั้น Village Building Convergence ให้กับศิลปินที่สนใจเรื่องการพัฒนาชุมชนผ่านงานศิลปะอย่างยั่งยืน หรือ Urban Permaculture Design Course คอร์สเรียนจริงจังที่สอนเรื่องการออกแบบเมืองอย่างใส่ใจธรรมชาติ (ดูรายชื่อโปรเจกต์ตลอด 20 ปีของพวกเขาได้ใน Annual Report 2020)

ท้ายที่สุด เป้าหมายขององค์กรคือการมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนในสังคมเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนเปราะบางในชุมชนอย่างคนไร้บ้านและกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ในสังคมที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกมากที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
คำถามหนึ่งที่ทีมงาน City Repair ต้องตอบอยู่บ่อยๆ คือ พื้นที่สาธารณะที่เปิดมากๆ เหล่านี้จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้คนไร้บ้านออกมาใช้มากขึ้นหรือเปล่า
สิ่งที่พวกเขาทำคือมองกลับไปถึงต้นตอของปัญหาและเริ่มต้นโปรเจกต์ทดลอง Houseless Village Building ที่เมืองแคลกคามัส รัฐออริกอน ด้วยการชวนคนไร้บ้าน 15 คนมาพูดคุยและรับสมัครอาสาสมัครมาออกแบบ sleeping pods ให้พวกเขากลับไปแทนซะเลย

The City Repair Project จึงนับได้ว่าเป็นตัวอย่างโมเดลการเปลี่ยนแปลงเมืองที่เรียบง่ายแต่ยั่งยืนมาก จากไอเดียเริ่มต้นของเลคแมนต่อยอดมาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีบอร์ดผู้บริหารและโครงสร้างองค์กรชัดเจน ซึ่งทุกคนล้วนเป็นอาสาสมัครที่ลงมือทำงานนี้ด้วยใจและจริงจังเหมือนงานประจำ สตาฟและอาสาสมัครหลักมีตำแหน่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งดีไซน์ไดเรกเตอร์, ethnographic consultant ไปจนถึงคนที่คอยดูแลเรื่องขนมของว่าง ยังไม่นับรวมอาสาสมัครหนุ่มสาวที่หมุนเวียนมาช่วยเหลือมากกว่าพันคน (ก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด องค์กรยังรับเด็กฝึกงานมาช่วยรันโครงการอีกด้วย)
โดยเงินสนับสนุนส่วนใหญ่ขององค์กรได้มาจากการบริจาคทั่วโลก ทั้งในรูปแบบเม็ดเงินและอุปกรณ์สำคัญอย่างแปรงทาสี สีชอล์ก และถุงมือ สำหรับให้ชุมชนใช้เพนต์ภาพลงบนถนน ซึ่งข้อมูลการเงินทั้งหมดยังมีรายงานเปิดเผยที่มาที่ไปอย่างชัดเจนจนน่าชื่นชม
สี่แยกสีสันสดใสที่เลคแมนและชาวเมืองพอร์ตแลนด์เริ่มต้นทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ย้ำให้เรารู้ว่าพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นได้จากคนตัวเล็กๆ และการรับฟังเสียงกันและกันด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ถึงจะเป็นแค่พื้นที่สี่แยกเล็กๆ แต่ถ้ามันตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนที่สร้างขึ้นมาด้วยใจ แค่นี้ก็คุ้มค่าที่จะลงมือทำโดยไม่จำเป็นต้องเป็นโปรเจกต์ใหญ่โตอะไรเลย
อ้างอิง