ฉันเพิ่มคำว่า ‘นาง’ เข้าไปก่อนคำว่า ‘นวล’ หลังได้รู้ชื่อจริงของเจ้าเหมียวที่ฉันเรียกขานตามเสียงร้องของมันอย่างสิ้นคิดมานาน ฉันเพิ่มคำว่า ‘นาง’ ไม่ใช่เพราะเพศของมัน หากเป็นเพราะชื่อ ‘นางนวล’ และพฤติกรรมของมันนั้นทำให้นึกถึงเจ้านกนางนวลในหนังสือของโจนาธาน ลิฟวิงสตัน ที่ไม่ได้ออกเดินทางเพียงเพื่อหาอาหาร แต่เพื่อฝึกฝนการออกเดินทางไปสู่อิสรภาพ
หลังจากคลอเคลียพะเน้าพะนอให้อาหารอยู่ร่วมปี กลางดึกคืนนั้นที่มีคนเดินตามหาแมวสีขาว ตาสีฟ้าจางๆ เราถึงได้รู้ว่า ‘นางนวล’ นั้นไม่ใช่แมวของเรา ด้วยความที่มีใครสักคนเรียก ‘นางนวล’ ว่าเป็นแมวของเขาเช่นกัน การแสดงความเป็นเจ้าของด้วยการตั้งชื่อเรียกขาน และคนที่เรียกก่อน ก็ดูย่อมจะได้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของมือหนึ่งเสมอ ทว่าคนที่น่าจะบอกได้ดีที่สุดว่าใครเป็นเจ้าของ หรือเป็นเจ้าของเนื้อตัวของมันเองก็คือ นางนวล นั่นเอง หาใช่คนที่เพียงเรียกขานอย่างเราๆ ไม่
รู้ทั้งรู้ แต่เราทั้ง 2 บ้านก็ดูจะยินยอมให้ความสนใจ ให้อาหารที่อิ่มที่สุดในทุกครั้งที่ ‘นางนวล’ กลับมา ‘บ้านของเรา’ เฝ้ามองหาเมื่อกลับบ้านมาแล้วไม่เห็นสิ่งมีชีวิตสี่ขากระโดดข้ามรั้วมานั่งรอหน้าระเบียง เฝ้ารออยู่อย่างนั้น แต่ไม่ข้ามเขตความเป็นส่วนตัวในการไปตามตัวเรียกหาใน ‘บ้านของเขา’ เราทั้งสองบ้านต่างไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไร ‘นางนวล’ จะกลับมา ไม่มีใครรู้ว่าเช้านี้จะมากินข้าวบ้านไหน ค่ำนี้จะนอนระเบียงบ้านเราหรือบ้านเขา ทำได้เพียงเป็นเจ้าบ้านที่ดีที่สุดในยามที่ ‘นางนวล’ หวนกลับบ้านของเราก็เท่านั้น
ถ้านางนวลเป็นคน ใครเห็นเข้าก็คงบอกว่าทำอย่างนี้ รังแต่จะทำให้นางนวลได้ใจ นึกอยากไปเมื่อไรก็ไป นึกอยากจะมาเมื่อไรก็มา
หากแต่นางนวลไม่ใช่คน และแม้ให้เป็นคนก็ตาม เราต่างทำได้ดีที่สุดในยามปฏิสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ทำได้ดีที่สุดในยามที่เรามีกันและกันอยู่ตอนนั้น นอกเหนือจากระยะมองเห็นและการปฏิสัมพันธ์ของเรา เราทำอะไรไม่ได้เลย หากจะมีความหวังอะไร ก็คงเป็นเพียงความหวังที่พอทำได้ในขอบเขตของเรา ก็คงเป็นเพียงความหวังในใจว่า การปฏิบัติอันอ่อนโยนและเต็มไปด้วยความปรารถนาดีที่จะให้อีกฝ่ายมีสุขนั้นทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสุขสบายกับมันมากพอ – มากพอที่จะอบอุ่นในชั่วขณะที่อยู่ด้วยกันในบ้านของเรา และคิดถึงกันบ้างยามอยู่ไกล จนต้องกลับมาหา ยามจากกันไปไกลตาก็พอ