นับเป็นอีกเรื่องราวที่น่าเศร้า เมื่อ ‘ฮง ซึงฮัน’ ประกาศออกจากวง RIIZE อย่างเป็นทางการ หลังจากต้องพักงานเป็นระยะเวลาร่วมปี เนื่องจากกลุ่มแฟนคลับเกาหลีใต้บางส่วนไม่พอใจกับภาพหลุดคู่แฟนในอดีต จนเกิดการประท้วง และจัดตั้งพวงหรีดจำนวนมาก ซึ่งเต็มไปด้วยข้อความเชิงลบ ณ บริเวณบริษัท SM Entertainment เพื่อต่อต้านการกลับมาร่วมวง RIIZE ของซึงฮัน
แฟนคลับ K-Pop ทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์นี้อย่างหนักว่า การกระทำดังกล่าวของแฟนคลับนั้นรุนแรงเกินกว่าเหตุ ถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องให้ค่าย SM Entertainment ออกมาปกป้องศิลปินในสังกัด ผ่านการขับเคลื่อนแคมเปญ We Want Seunghan Back! RIIZE is 7 ในเว็บไซต์ change.org ซึ่งมีผู้ลงชื่อสนับสนุนเกือบ 300,000 คน และรณรงค์งดซื้อสินค้าของวง RIIZE ส่งผลให้ SM Entertainment ประกาศดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิและทำลายชื่อเสียงของซึงฮันในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีศิลปินไอดอล K-Pop โดนโจมตี หรือได้รับกระแสเชิงลบ เพียงเพราะเขาหรือเธอมีความรัก ที่ผ่านมา กลุ่มคนบางส่วนซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘แฟนคลับ’ ได้ทำลายความฝัน ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ หรือแม้แต่ความสุขในชีวิตของศิลปินไปจำนวนไม่น้อย คล้ายกับว่า ถ้าแฟนคลับไม่ยอมรับความรักครั้งนี้ ศิลปินก็ต้องเลือกว่าจะจบความสัมพันธ์ หรือจบเส้นทางไอดอล
เหตุการณ์ของซึงฮัน วง RIIZE ยิ่งย้ำเตือนว่า ‘การมีแฟน’ ยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับไอดอล รวมถึงค่ายผู้ดูแลก็มิได้เตรียมรับมือปัญหาการคุกคามเกินขอบเขต หรือปกป้องศิลปินในสังกัดของตนให้ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ศิลปินกลายเป็นเหยื่อให้สาธารณชนรุมทึ้ง ทั้งที่เขาแค่มีความรัก

เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับไอดอลมีรูปแบบ Parasocial Relationship หรือ ‘ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง’ ซึ่งเป็นความรู้สึกใกล้ชิดและผูกพันที่เกิดขึ้นกับแฟนคลับเพียงฝ่ายเดียว แม้ไม่ได้รู้จักกับศิลปินอย่างแท้จริง แต่แฟนคลับกลับรู้สึกสนิทสนมกับศิลปินเป็นอย่างมาก ต้นสังกัดจึงพยายามให้ศิลปินสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับอย่างต่อเนื่อง ด้วยภาพลักษณ์แฟนหนุ่ม (Boyfriend Material) หรือแฟนสาว (Girlfriend Material) ส่งผลให้เมื่อศิลปินคนโปรดมีคนรัก แฟนคลับบางส่วนจึงรู้สึกไม่พอใจ หรือมองว่าตนเองมีอำนาจตัดสินชีวิตของศิลปินคนนั้น
a day จึงชวนแฟนคลับวงการ K-Pop และ T-Pop มาพูดคุยถึงประเด็น ‘การมีแฟนของศิลปินไอดอล’ ในภาพรวมของวงการนี้ ไม่เพียงแค่ในกรณีของซึงฮัน วง RIIZE เท่านั้น ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ และอยากให้อุตสาหกรรมไอดอลดำเนินต่อไปในทิศทางใด

ศิลปินคือมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับความรัก
“เราเป็นมนุษย์ ศิลปินก็เป็นมนุษย์ เรายังอยากมีความรักความสัมพันธ์ที่ดี ศิลปินก็ควรมีสิทธิ์ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ ตราบใดที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน ส่วนแฟนคลับก็ต้องรักศิลปินอย่างมีขอบเขต สนับสนุนในสิ่งที่สามารถทำได้ ถ้าศิลปินมีแฟนแล้วมีความสุข แฟนคลับก็น่าจะมีความสุขไปด้วย”
‘แพรรี่ – ภัทราภรณ์ คงศิริ’ อินฟลูเอนเซอร์ที่โด่งดังในหมู่แฟนคลับ K-Pop ซึ่งเริ่มชื่นชอบไอดอลเกาหลีใต้ตั้งแต่ TVXQ ปัจจุบันติดตามวง EXO NCT และ RIIZE กล่าวว่า เธอชอบเวลาศิลปินไอดอลมีความรัก และอยากให้ศิลปินได้เปิดเผยเรื่องความสัมพันธ์ตามที่เจ้าตัวต้องการ เพราะเธออยากสนับสนุนศิลปินคนโปรดในทุกด้าน
นอกจากนี้ยังมองไม่เห็นข้อดีหรือความจำเป็นในการโจมตีศิลปินไอดอลคนหนึ่ง เพียงเพราะเขามีแฟน การที่ใครสักคนจะมีความรัก มันเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นศิลปินที่เราชอบ เพื่อน พี่น้อง หรือคนรู้จักห่างๆ ก็ตาม และการยินดีกับความสุขของคนอื่นเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำได้ง่ายมาก
แฟนคลับบางส่วนรู้สึกผิดหวัง เพราะศิลปินไม่ได้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ ทั้งที่จริงแล้ว ศิลปินไม่ได้ผิดอะไรเลย สิ่งที่ผิดคือการคาดหวังในตัวศิลปินมากเกินไปต่างหาก เพราะเราไม่มีสิทธิ์ไปคาดหวังชีวิตคนอื่น ไม่มีสิทธิ์คาดหวังให้ศิลปินอยู่ในกรอบภาพลักษณ์ที่เราต้องการ หรือตามที่ค่ายวางไว้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรรักศิลปินเกินขอบเขตของแฟนคลับ
“แฟนด้อม T-Pop สร้างมาตรฐานไว้สูงมาก เพราะแฟนคลับสนับสนุนให้ศิลปินมีความรัก ส่งผลให้การเปิดเผยแฟนของไอดอล T-Pop กลายเป็นเรื่องปกติ แม้ศิลปินจะเปิดเผยว่ามีแฟน แต่แฟนคลับก็พร้อมสนับสนุนเหมือนเดิม ทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์ของเขา สะท้อนให้เห็นว่า แฟนคลับไม่ได้มองศิลปินเป็นแค่วัตถุบันเทิง แต่มองว่าศิลปินคือมนุษย์คนหนึ่ง”

ความฝันแลกความรัก ราคาที่ (ไม่สมควร) ต้องจ่าย
“ศิลปินจะอยู่ในวงการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของแฟนคลับ ดังนั้น แฟนคลับบางส่วนจึงอาจมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของชีวิตศิลปิน ทั้งที่ความเป็นจริง แฟนคลับไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้น เพราะอาชีพศิลปินก็เหมือนอาชีพอื่นๆ ที่สามารถแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันได้ เช่น ในเวลาทำงานก็เซอร์วิสแฟนคลับอย่างเต็มที่ แต่หลังเลิกงาน ศิลปินก็เป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตปกติ”
‘พัชราภา หาญมุ่งธรรม’ นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst หรือ DA) วัย 25 ปี เป็นแฟนคลับของ เน ณรัณ สมาชิกวง PERSES ประมาณ 2 ปี ตอบอย่างมั่นใจว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการห้ามไอดอลมีแฟน แต่อยากให้เขาสามารถเลือกเองได้ว่าจะเปิดเผยเรื่องราวความรักต่อสาธารณชนไหม ในขณะเดียวกัน หากแฟนคลับโจมตีไอดอลที่มีแฟน คนที่จะรับมือหรือแก้ปัญหานี้ได้คือค่ายหรือต้นสังกัด เพราะศิลปินเปรียบเสมือนบุคคลสาธารณะ ทำให้ชีวิตของพวกเขาโดนจับจ้องตลอดเวลาอย่างควบคุมได้ยาก
อย่างกรณี ‘ซึงฮัน วง RIIZE’ ค่าย SM Entertainment ไม่ได้ปกป้องศิลปิน แต่กลับปล่อยให้เขาออกจากวง ทั้งที่เขาเผชิญกับการคุกคามที่ไม่เป็นธรรม ถ้าค่ายยืนยันที่จะให้เขาทำงานในนามของวงต่อไป หรือออกมาปกป้องศิลปินจากการกระทำที่รุนแรงอย่างรวดเร็ว แฟนคลับหรือคนอื่นก็ไม่สามารถโจมตีศิลปินได้ ซึ่งสาเหตุที่ค่ายเมินเฉยต่อปัญหา หรือแสดงท่าทีแบบนั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะค่ายมองว่าศิลปินเป็นสินค้าที่ควรสร้างกำไรสูงสุดให้แก่ค่าย มากกว่าบุคลากรที่มีค่าในองค์กร
ถ้ามีศิลปินกลุ่มแรกๆ กล้ายอมรับว่ามีแฟนแล้ว ความนิยมอาจลดลง แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะคนอื่นก็จะกล้าเปิดเผยมากขึ้น นำไปสู่บรรทัดฐานปกติของวงการไอดอล รวมถึงค่ายเองก็ต้องร่วมมือสร้างบรรทัดฐานนี้ควบคู่ไปด้วย โดยไม่ปิดกั้นหรือไม่ตั้งกฎห้ามมีแฟน ทั้งศิลปิน ค่าย และแฟนคลับ ทุกส่วนต้องเข้าอกเข้าใจกัน
บรรยากาศในวงการ T-Pop น่าอยู่ เพราะแฟนคลับมองว่า การมีแฟนเป็นเรื่องปกติสำหรับศิลปิน เช่น ไม่มีใครต่อต้านการมีแฟนของ ‘ตาออม 4EVE’ เพราะตาออมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีแฟนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงาน วงการ T-Pop คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การมีแฟนไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

การสร้างตัวตนผ่านสื่อ นำมาซึ่งความคาดหวัง
“ในปัจจุบัน พื้นที่ในวงการไอดอล K-Pop ยังไม่เปิดกว้างเรื่องการมีแฟน รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น รสนิยมทางเพศ ไม่อยากให้ศิลปินสูญเสียความเป็นตัวเอง เพราะความคาดหวังของผู้คน”
เจน (นามสมมติ) อดีตผู้จัดการเกิร์ลกรุ๊ป T-Pop วัย 25 ปี ผู้เคยทำวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน (รูปแบบการสื่อสารในคอนเสิร์ต SEVENTEEN WORLD TOUR ‘ODE TO YOU’ IN SEOUL ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์แบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริงระหว่าง SEVENTEEN กับแฟนคลับ) ขณะศึกษาอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า โดยหลักแล้ว แฟนคลับจะมีมุมมองต่อศิลปินอยู่ 3 ด้านด้วยกัน
อย่างแรก มุมมองต่อศิลปินแบบโรแมนติก ซึ่งมักจะมากับความรู้สึกชื่นชอบในรูปลักษณ์ภายนอกหรือบุคลิกภาพของศิลปินในเชิงคนรัก
อย่างที่สอง มุมมองต่อศิลปินแบบมิตรภาพ ซึ่งมักจะมากับความรู้สึกอบอุ่นใจและขอบคุณในการมีอยู่ของศิลปิน
และสุดท้ายคือ มุมมองต่อศิลปินแบบบุคคลตัวอย่าง ซึ่งมักจะมากับความรู้สึกชื่นชมนับถือในความสามารถ และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ดังนั้น หากกลุ่มแฟนคลับมองศิลปินผ่านเลนส์ของความโรแมนติก และไม่สามารถแยกแยะชีวิตส่วนตัวกับบทบาทของความเป็นศิลปินได้ กลุ่มแฟนคลับนั้นจะรู้สึกเสียใจและผิดหวังเมื่อศิลปินที่ตนรักมีแฟน
การสร้างตัวตนของศิลปินผ่านสื่อ โดยเฉพาะฝั่งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไทย หรือญี่ปุ่น ค่อนข้างสร้างศิลปินในภาพลักษณ์ Boyfriend Material หรือ Girlfriend Material สร้างให้ไอดอลกลายเป็นที่รักเพราะลักษณะบุคลิกภาพและตัวตน มากกว่าผลงานของเขา ส่งผลให้แฟนคลับหลายคนผิดหวังเพราะศิลปินมีแฟน ซึ่งภาพสุดท้ายปลายทางที่แฟนคลับมองเห็นคือศิลปินโสด และมีโอกาสที่จะรักแฟนคลับได้ แม้ความคิดนี้จะไม่เกิดขึ้นจริง แต่คำว่า ‘มีโอกาส’ เป็นพื้นที่ในการจินตนาการที่ส่งเสริมให้ความรักรูปแบบแฟนคลับเกิดขึ้นอย่างมาก เมื่อศิลปินประกาศว่ามีแฟน พื้นที่ในจินตนาการนั้นจึงหายไป กลุ่มแฟนคลับที่คาดหวังต่อศิลปินในแง่ความโรแมนติกก็อาจหายไปเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรม K-Pop ขับเคลื่อนมาด้วยลักษณะนี้พอสมควร และไม่ได้เปิดกว้างให้ไอดอลมีแฟนตั้งแต่ต้น โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ เพื่อให้ศิลปินได้รับความนิยมหรือโด่งดังมากขึ้น ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ ทุกฝ่ายต้องแก้ไขร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแฟนคลับ
เหตุการณ์ ‘ซึงฮัน วง RIIZE’ ยืนยันว่า ศิลปินไอดอลเป็นอาชีพที่พิเศษ แต่กลับเป็นความพิเศษที่ไม่น่าอภิรมย์ เพราะศิลปินไม่ใช่อาชีพที่พึ่งพาแค่ความสามารถ แต่พึ่งพาเสียงของสังคมและแฟนคลับด้วย ความเจริญก้าวหน้าของอาชีพขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของสาธารณชน (Public Opinion) ซึ่งศิลปินไม่สามารถควบคุมได้
สังคมควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ เพื่อเปิดกว้างให้ไอดอลสามารถมีแฟนได้ เพราะการมีแฟนไม่ใช่เรื่องเสียหายที่ร้ายแรงจนถึงขั้นคว่ำบาตร (ฺBoycott) ถ้าแฟนคลับไม่พอใจในเรื่องนี้ แฟนคลับควรจัดการตัวเอง เช่น เลิกชอบศิลปิน หรือเดินออกจากแฟนด้อม โดยไม่แสดงออกเชิงลบ หรือโจมตีศิลปิน
แน่นอนว่า ในปัจจุบัน วงการไอดอลยังไม่ได้เปิดรับทุกความเป็นไปของตัวบุคคล ลักษณะบุคลิกภาพบางแบบอาจนำมาซึ่งความนิยมที่มากกว่า แต่การพยายามเป็นแบบที่คนอื่นชอบ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ความนิยมที่ได้รับมาก็จะไม่จีรังยั่งยืนเช่นกัน ขอเป็นกำลังใจให้ศิลปินไอดอลทุกคนรักษาความเป็นตัวเองไว้ และช่วยกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพื่อให้อาชีพศิลปินไม่จำเป็นต้องยืนอยู่บนทางเลือกระหว่างชีวิตส่วนตัวและความฝันอีกต่อไป
ในขณะเดียวกัน แฟนคลับก็ไม่ควรเอาความคาดหวังของตัวเองไปแขวนไว้กับศิลปิน เราชื่นชอบในตัวศิลปินได้ แต่อย่าเชิดชูในตัวบุคคลมากจนเกินไป รวมถึงต้องมีวิจารณญาณและรับรู้ว่า ภาพไอดอลที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ตัวตน 100 เปอร์เซ็นต์ของเขา เวลาเรามีแฟน ศิลปินไม่ได้มาชี้หน้าด่าเราฉันใด ถ้าศิลปินมีคนรัก แฟนคลับก็ไม่ควรไปชี้หน้าด่าเขาฉันนั้น
สำหรับค่ายต้นสังกัด อยากให้บริษัทปกป้องศิลปินอย่างเต็มที่ ทั้งเป็นพลังเชิงบวก เป็นเกราะป้องกันเพื่อไม่ให้ศิลปินโดนทำร้าย รวมถึงเป็นผู้ปกครองที่คอยชี้แนะแนวทาง และดูแลการสร้างตัวตนของศิลปินให้อยู่ในร่องในรอย หรือไม่หลุดออกจากความเป็นตัวเองมากเกินไป ด้วยความที่ธุรกิจนี้เป็นการทำงานผ่านตัวศิลปิน และสร้างกำไรจากแฟนคลับ ค่ายจึงควรรับผิดชอบทั้งความรู้สึกของศิลปินและแฟนคลับ เพื่อให้วงการก้าวหน้าไปในทางที่ดีกว่านี้
อย่างไรก็ตาม อยากให้แฟนคลับเชื่อว่า ความรักระหว่างแฟนคลับกับศิลปินนั้นพิเศษมาก และแฟนคลับเองก็เป็นคนสำคัญสำหรับศิลปินเช่นกัน การที่ศิลปินมีแฟนคือ เขาแค่มีความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งในชีวิต แต่ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับศิลปินจะพิเศษน้อยลง
“การทำอาชีพศิลปินคงยากและใช้ความพยายามมากจริงๆ ถ้าวันหนึ่งศิลปินที่เรารักมีแฟน แล้วสังคมต่อว่า เราอยากเป็นกำลังใจให้ทั้งศิลปินและแฟนของเขา”
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

การมีแฟนไม่ใช่เรื่องผิด แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น เพียงเพราะเขาเป็นศิลปินไอดอลที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของตัวเราเอง นี่ต่างหากที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีวันถูกต้อง
รักเกินรัก มักทำลาย… อย่าปล่อยให้ความรักของเรานั้นทำร้ายจิตใจของศิลปินที่เรารักจนเขาไม่อยากมีลมหายใจ เพราะหากถึงวันนั้น ต่อให้รู้สึกผิดมากแค่ไหน เขาก็คงไม่อยู่รอฟังคำขอโทษจากเราที่เป็นแฟนคลับแล้ว
ค่ายต้นสังกัด ศิลปิน และแฟนคลับต่างต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อประเด็นนี้ ทั้งยังต้องร่วมมือกันเพื่อให้การมีแฟนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเปิดกว้างเรื่องความรัก ไม่เมินเฉยต่อปัญหาการคุกคาม รวมถึงเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของศิลปินทุกชีวิต อันนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ในวงการไอดอล
อ้างอิง