Travelling Through : ร้านหนังสือที่ทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของคนทั่วโลก

มีร้านหนังสือไม่กี่ร้านในลอนดอนที่ฉันจดจำความรู้สึกตอนก้าวเข้าไปครั้งแรกได้ชัดเจน Travelling Through เป็นหนึ่งในนั้น

มันเป็นตอนสายของวันจันทร์ที่อากาศหนาวเหน็บและเงียบเชียบ แต่ร้านหนังสือเล็กๆ นี้กลับทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาดคล้ายอยู่ในห้องนั่งเล่นที่เต็มไปด้วยพลังบวกรายรอบ สิ่งที่บอกชัดว่าที่นี่เป็นร้านหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางมีเพียงชั้นหนังสือที่แบ่งหมวดหมู่ตามทวีปและนาฬิกาที่บอกเวลาของประเทศต่างๆ เรียงรายบนผนัง

โทษที ฉันพูดผิดไปที่บอกว่ามีเพียง 2 สิ่ง หลังจากได้สำรวจร้านนี้ลึกลงไป ฉันพบว่ายังมีอีกหลายอย่างที่บอกเล่าเรื่องราวจากทั่วโลกซ่อนตัวอยู่ในร้านอย่างแยบยล

วันนี้ฉันมีนัดกับ Emma Carmichael เจ้าของร้านสาวใหญ่ชาวบริติช เอ็มม่าชวนฉันลงมานั่งคุยในคาเฟ่สีเหลืองสดชั้นใต้ดิน ก่อนเร่ิมคุยกัน เธอรีบเดินเข้าครัวจัดแจงชงชาดอกไม้กลิ่นหอมฟุ้งมาเสิร์ฟให้ตรงหน้า

“ชาของคุณหอมไม่เหมือนใครเลยค่ะ” ฉันเอ่ยปากชมทันทีที่ควันอุ่นๆ ลอยมาแตะจมูก

“นี่เป็นชาเมดิเตอเรเนียนที่เพื่อนชาวแอลเบเนียตั้งใจผสมให้ร้านเราโดยเฉพาะ สมุนไพรและดอกไม้ในถ้วยนี้เดินทางมาจากภูเขากรีกและแอลเบเนียเลยนะ” เอ็มม่าเล่าต่อว่าแนวคิดหลักของร้านไม่ได้มีแค่หนังสือสถานที่ท่องเที่ยว แต่เธอยังอยากพาทุกคนไปเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนทั่วโลก คำว่า travelling through ไม่ใช่แค่การเดินทางผ่านประเทศ แต่อาจเป็นช่วงเวลา วัฒนธรรม ชุมชน หรือแม้แต่เรื่องนามธรรมเช่นปรัชญาก็ได้ เป็นการข้ามผ่านเพื่อเรียนรู้และเชื่อมโยงตัวเรากับโลก

ด้วยไอเดียนี้ หนังสือในร้านเลยไม่ได้มีแค่ไกด์บุ๊ก แต่ยังมีนิยาย สารคดี บันทึกการเดินทาง และประวัติบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ ความพิเศษคือหนังสือทุกเล่มไม่ได้จัดหมวดหมู่แบบร้านหนังสือทั่วไป แต่จัดเรียงตามทวีป

“นี่เป็นวิธีที่ฉันทำกับหนังสือในบ้านตัวเองน่ะ” เอ็มม่าพูดพร้อมหัวเราะเขินๆ “มันทำให้หาหนังสือยากขึ้นก็จริง แต่มองอีกมุมมันคือโอกาสที่นักอ่านจะได้สำรวจและค้นพบสิ่งใหม่ และยังทำให้เราเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนภูมิภาคนั้นๆ ได้มองพวกเขาในมุมอื่นที่เราอาจไม่เคยเห็น”

“การเข้าใจคนอื่นสำคัญกับการเดินทางขนาดนั้นเลยหรอคะ” ฉันถาม

เอ็มม่าเล่าย้อนให้ฟังว่าก่อนเปิดร้านหนังสือนี้ เธอเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม (Cultural Heritage Conservation) หน้าที่ของเธอคือการเปลี่ยนอาคารเก่าแก่ทรุดโทรมในประเทศต่างๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง งานนี้สอนเธอว่าคุณค่าของสถานที่ไม่ได้อยู่ในก้อนอิฐแต่คือการที่มันช่วยให้เราเรียนรู้และเชื่อมโยงกับผู้คน

และสิ่งที่ช่วยทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงนั้นได้ คือความเข้าใจ

“ตลอดชีวิตฉันเดินทางมาเยอะมาก ได้เจอกับผู้คนจากหลายวัฒนธรรมทำให้ฉันพบว่าการที่เราไม่เข้าใจกันทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายแค่ไหน เช่น การแสดงอารมณ์ การผงกหัว หรือการโบกมือ บางเรื่องที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยอาจเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายคิดว่าหยาบคายมากก็ได้ บางครั้งมันทำให้เราเข้าใจผิดกันอย่างรุนแรงทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีอะไรเลย ยิ่งเห็นโลกกว้างแค่ไหน ฉันก็ยิ่งรู้ว่าเราเข้าใจกันน้อยเหลือเกิน และนั่นยิ่งทำให้ฉันกระหายที่จะรู้จักโลกใบนี้ให้มากขึ้นไปอีก” เอ็มม่าเล่า พร้อมพูดต่อว่าความคิดที่จะทำร้านหนังสือก่อตัวในใจเธอมานานมากแล้ว

“มันเริ่มจากไอเดียเล่นๆ ว่าจะดีแค่ไหนนะถ้ามีสถานที่ที่ผู้คนที่รักการเดินทางได้มาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กันและกันฟัง ฉันคิดว่าหนังสือน่าจะเป็นแม่สื่อที่ดีที่ทำให้เกิดชุมชนเล็กๆ แบบนั้นได้ เพราะมันบันทึกวัฒนธรรมในแง่มุมที่หลากหลายในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน มันทำให้เราเข้าใจโลก และเป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่พาเราเดินทางไปที่ไหนในช่วงเวลาไหนก็ได้โดยที่เราไม่ต้องเดินออกจากห้องนั่งเล่นด้วยซ้ำ”

หลังจากเก็บความคิดนี้ไว้กับตัวมานานถึง 3 ปี เอ็มม่าตัดสินใจลาออกจากงาน และเริ่มต้นสร้างร้านหนังสือเล็กๆ ร้านนี้อย่างจริงจังบนถนน Lower Marsh ซึ่งเป็นบ้านของคนจากหลากหลายเชื้อชาติ เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและน่ารัก ตลอด 2 ข้างทางมีธุรกิจอิสระที่พร้อมสนับสนุนกันและกัน และที่นี่ยังอยู่ติดสถานีรถไฟ Waterloo จุดศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญในลอนดอน

ตอนเลือกหนังสือเข้าร้าน เอ็มม่าเล่าว่าส่วนหนึ่งคือหนังสือที่ตัวเองอยากอ่าน อีกส่วนมาจากการที่เธออีเมลไปหาเพื่อนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และถามพวกเขาว่าหนังสือเล่มไหนที่สะท้อนประเทศของคุณได้ดีที่สุด หนังสือที่จะช่วยเปิดตาให้เรารู้จักประเทศของคุณดีขึ้น จนถึงทุกวันนี้เธอก็มักถามคำถามเดียวกันกับลูกค้าเสมอ “และฉันคิดว่าฉันจะถามเธอด้วยเหมือนกัน” เธอพูดพร้อมหัวเราะกว้าง

อย่างที่ฉันบอกไปว่าวิธีที่เอ็มม่าบอกเล่าเรื่องราวจากทั่วโลกไม่ได้มีแค่หนังสือ นอกจากชาและกาแฟจากประเทศต่างๆ เมนูของหวานวันนี้ยังมีเค้กจากสโลวีเนีย บนผนังในร้านเป็นนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนที่เอ็มม่าตั้งใจชวนศิลปินนานาชาติเล่าเรื่องสถานที่และวัฒนธรรมมาแสดงและขายในร้าน บางค่ำคืนคาเฟ่ชั้นใต้ดินจะจัดอีเวนต์ดนตรีแจ๊สที่ชวนศิลปินหลายชาติมาแสดงสด

“การทำร้านหนังสือในยุคที่คนหันไปอ่านสื่อดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” เอ็มม่ากล่าว “แต่อย่างน้อยสิ่งที่ฉันได้กลับมาคือความพอใจที่ได้ทำให้คนอื่นมีความสุข อย่างการจัดอีเวนต์แล้วทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้มาพูดคุยกัน เหตุผลง่ายๆ แค่นี้แหละที่ทำให้ฉันยังคงทำสิ่งที่ทำอยู่” เอ็มม่าอธิบาย

“พอทำร้านนี้แล้วคุณยังรักการเดินทางเหมือนเดิมมั้ยคะ” ฉันถาม

“แน่นอน! ความรู้สึกอยากแบกเป้ออกจากบ้านไม่เคยจากฉันไปไหนเลย” เธอตอบ

“แล้วคุณยังได้ท่องเที่ยวเยอะเหมือนเดิมมั้ย” ฉันถามต่อพร้อมจิบชาแอลเบเนียหยดสุดท้าย

เอ็มม่าสายหัวช้าๆ “น้อยลงมากเลย แต่สำหรับฉันมันโอเคนะ เพราะร้านนี้ทำให้ฉันได้เดินทางผ่านสายตานักเดินทางมากมายอีกทอดหนึ่ง คนที่เข้ามาในร้านล้วนเป็นคนจากที่ต่างๆ ทั่วมุมโลก พวกเขามาเล่าเรื่องราวมากมายให้ฉันฟัง ฉันคิดว่าการเดินทางเพื่อเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องไปที่นั่นจริงๆ ก็ได้ แค่ต้องมีจิตใจที่เปิดกว้างจะเรียนรู้และอยากรู้ก็พอแล้ว”

พอพูดจบ เอ็มม่าก็ขอตัวไปรับออร์เดอร์จากลูกค้าในคาเฟ่ ฉันเพิ่งสังเกตว่าจากร้านที่เคยเงียบเชียบ รอบตัวฉันตอนนี้เต็มไปด้วยลูกค้าหลากสีผิวที่ทำให้ร้านยิ่งดูเล็กลงไปถนัดใจ แต่คงเป็นเพราะคำพูดของเอ็มม่าเมื่อครู่

ฉันกลับรู้สึกว่าร้านหนังสือเล็กๆ นี้กว้างใหญ่เหมือนโลกทั้งใบ

“หนังสือเป็นสิ่งบันทึกวัฒนธรรมในแง่มุมที่หลากหลายในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน มันทำให้เราเข้าใจโลก และเป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่พาเราเดินทางไปที่ไหนในช่วงเวลาไหนก็ได้โดยที่เราไม่ต้องเดินออกจากห้องนั่งเล่นด้วยซ้ำ”

Emma Carmichael


Traveling Through’s Best Seller


The Historian
โดย Elizabeth Kostova

นวนิยายชื่อดังที่ขึ้นแทนอันดับ1 หนังสือขายดีที่สุดของ New York Times ปี 2005 หนังสือเล่มนี้เป็นแนวที่ผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ การผจญภัย เรื่องลึกลับ และสืบสวนสอบสวน ไอเดียของเรื่องเกิดขึ้นเมื่ออลิซาเบธ นักเขียนค้นพบว่าศพของ Vlad the Impaler หรือท่านเคาต์แดร็กคูล่าตัวจริงยังไม่มีใครค้นพบ เธอเลยเกิดความคิดว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแดร็กคูล่ายังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน’ หนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของสองพ่อลูกนักประวัติศาสตร์ที่เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อตามหาหลุมศพของแดร็กคูล่า และได้พบกับปริศนาและเรื่องลึกลับมากมายระหว่างทาง

Traveling Through’s Recommend


Autumn
โดย Ali Smith

หนังสือนวนิยายเล่มแรกในซีรีส์ 4 ฤดู ฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความหนาวเหน็บแต่ก็เต็มไปด้วยสีสันเจิดจ้า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Daniel Gluck ชายชราวัย 101 ปีที่เคยเป็นนักแต่งเพลงผู้กำลังจะสิ้นใจ และ Elisabeth Demand หญิงวัย 32 ปีที่เคยเป็นเพื่อนบ้านของแดเนียลสมัยหนุ่ม เรื่องราวเล่าสลับกันไปมาระหว่างความฝันกึ่งหลับกื่งตื่นของแดเนียลและการย้อนระลึกความหลังถึงมิตรภาพสมัยก่อนของอลิซาเบธ ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือเป็นนิยายเล่มแรกที่พูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและการตัดสินใจของประชาชนหลังจากประเทศอังกฤษประกาศออกจากสหภาพยุโรปเมื่อ 2 ปีก่อน หนังสือเล่มนี้จึงได้ฉายาว่าเป็น ‘post-Brexit novel’

Travelling Through


Address :
131 Lower Marsh, London, SE1 7AE
hours : จันทร์ – อังคาร 11.00 – 18:30 น., พุธ – ศุกร์ 11:00 – 21:00 น., เสาร์ 11:30 – 16:30 น.
how to get there : นั่งรถใต้ดินมาที่สถานี Waterloo ออกจากสถานีแล้วเลี้ยวขวาไปที่ถนน Lower Marsh ใช้เวลาราวๆ 6 นาที
twitter |
@Trvllng_Thrgh

www.travellingthrough.co.uk


ภาพประกอบ
Faan.peeti

AUTHOR