WONDER : สัมผัสความงดงามของมนุษย์ผ่านตัวหนังสือและชีวิตไม่ธรรมดาของเด็กชายออกัสต์

ชื่อหนังสือ: Wonder
ผู้เขียน: R.J. Palacio
สำนักพิมพ์: Knopt Doubleday

เมื่อเห็นคำว่า Wonder หรือ ‘ความมหัศจรรย์’ เรามักนึกถึงเรื่องราวสุดประทับใจที่แสนหอมหวานเหมือนในนิทาน แต่บนหน้าปกหนังสือของ R.J. Palacio เล่มนี้กลับมีเพียงใบหน้าเด็กชายคนหนึ่งพร้อมตัวหนังสือบิดเบี้ยว ประกอบกับพื้นหลังสีฟ้าเรียบๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น เมื่อเห็นแบบนี้ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า นิยามคำว่า Wonder ของ R.J. Palacio คืออะไรกันแน่ จนเมื่อมีโอกาสพลิกกระดาษแต่ละหน้าและใช้สายตาไล่เรียงอ่านทุกตัวอักษร เราจึงได้เข้าใจความมหัศจรรย์ในรูปแบบที่ต่างออกไป

ออกัสต์ พูลล์แมน พระเอกของเราเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่มีความปกติทางพันธุกรรมบนใบหน้า ไม่ได้มีปราสาท หรือข้าวของเครื่องใช้คอยคุยเป็นเพื่อน และที่สำคัญ เขากลายร่างเป็นเจ้าชายรูปงามด้วยมนตร์วิเศษเหมือนการ์ตูน Beauty and the Beast ไม่ได้

‘You don’t have to be mean to be mean.’

‘คุณไม่ต้องเป็นคนใจร้ายเพื่อที่จะทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นหรอก’

คำพูดนี้ของเด็กชายออกัสต์มักลอดผ่านเข้ามาในความคิดเรายามค่ำคืน ช่วงเวลาที่เรามักได้ทบทวนเรื่องราวในชีวิตราวกับกรอหนังดู ช่วงเวลาที่บางคนได้รอยยิ้มเล็กๆ มาประดับไว้ข้างริมฝีปาก และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ใครอีกหลายคนแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ ราวกับแก้วที่ตกแตกและโดนเหยียบย่ำจนกลายเป็นฝุ่นผง

เมื่อนึกถึงเด็กชายออกัสต์ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าจนต้องได้รับการศัลยกรรมเป็นสิบครั้งในวัยเด็กที่มีเพื่อนจริงๆ อยู่ไม่ถึงห้าคนแล้ว เราก็อดคิดไม่ได้ว่าเขาต้องเป็นหนึ่งในแก้วเหล่านั้นแน่

สิ่งที่ทำร้ายความรู้สึกของเขาไม่ได้มาจากคนใจร้ายเท่านั้น แต่ยังมาจากความไร้เดียงสาของเด็กน้อยที่กรีดร้องใส่เขาราวกับเจอสัตว์ประหลาด ความคึกคะนองของเด็กประถมวัยเดียวกันที่อยากเล่นสนุกจนสร้างเกมซึ่งมีกฎว่าใครสัมผัสตัวออกัสต์แล้วต้องไปล้างมือในสิบวินาที การปกป้องที่เกินพอดีของพ่อแม่จนทำให้เขารู้สึกราวกับไร้แขนขา ไปจนถึงสายตาแสดงความสงสารและการเหลือบมองจากคน ‘ปกติ’ อย่างเรา เครื่องมือเหล่านี้สร้างความรู้สึกแบ่งแยกและหยิบยื่นความน้อยเนื้อต่ำใจให้เด็กชายออกัสเป็นอย่างมาก

นั่นแหล่ะ เราไม่ได้อยากทำให้เขาเจ็บใช่ไหม? ก็คงเหมือนหลายครั้งในชีวิตที่เราเผลอทำร้ายคนรอบข้างครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ตามมาก็คือบาดแผลที่มองไม่เห็นและการเยียวยาที่ไม่เคยได้รับ หลายคนบอกว่าการเป็นผู้ใหญ่ทำให้เราเห็นใจเพื่อนมนุษย์และรู้จักคิดก่อนพูด แต่การที่เรายังทำร้ายกันและกันนับครั้งไม่ถ้วนแสดงว่าในส่วนหนึ่งของเราคงยังเป็นเด็กอยู่เสมอ ยังมี ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความบริสุทธิ์’ ราวกับเด็กน้อยที่พูดจาโผงผางตามใจ โดยไม่เคยรู้และอาจไม่มีวันได้รู้ว่าสิ่งเล็กน้อยเหล่านั้นกำลังทิ่มแทงใครอยู่

การที่หนังสือเล่มนี้เลือกใช้คำพูดแบบเด็กๆ และมุมมองแบบเด็กๆ ใช้ไวยากรณ์ถูกบ้างผิดบ้าง ก็เพื่อให้เราได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ไม่มีการประดิษฐ์คำพูดหรือเก็บกักความรู้สึกนึกคิด เป็นเพียงผ้าขาวที่เมื่อแต่งแต้มลวดลายอะไรก็เห็นได้ชัดเจน

“หน้าเธอโดนไฟไหม้เหรอถึงเป็นแบบนี้” เด็กเหล่านี้อาจถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น แต่นึกถึงใจออกัสต์ดูสิ เห็นไหมว่า You don’t have to be mean to be mean.

สิ่งที่สร้างความมหัศจรรย์ให้หนังสือเล่มนี้อีกอย่างคือการเล่าเรื่องเดียวกันจากหลายมุมมอง เช่นในขณะที่พ่อแม่ดูแลออกัสต์อย่างไข่ในหิน โอลิเวีย พี่สาวของออกัส ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง แทบไม่เคยได้รับความห่วงใยในแบบที่น้องได้รับแม้แต่น้อย หรือแจ็ค เพื่อนของออกัสต์ ที่เล่าถึงความยากลำบากในการคบกับเขา ทั้งต้องถูกแบ่งแยกและล้อเลียนไปพร้อมกับออกัสต์ ทำให้ตระหนักได้ว่า แม้เราจะเห็นใจออกัสต์ เราก็ต้องไม่ละเลยความรู้สึกของคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความผิดปกติของเขาด้วย

R.J. Palacio กล่าวว่าเธอดีใจที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นตัวจุดประกายให้เยาวชนหันมาสนใจการอ่านและประเด็นผู้พิการ แรงบันดาลใจของเธอมาจากความรู้สึกผิดที่เธอเคยพาลูกเดินหนีเด็กสาวคนหนึ่งที่มีใบหน้าพิการ และยังอยากให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งเดียวกันนี้ในฐานะมนุษย์ เธอกล่าวอีกว่า เธอจะไม่แต่งภาคต่อของ Wonder อย่างแน่นอน เพราะเธอมีความสุขที่ได้เห็นเด็กๆ พยายามเขียนตอนจบของเรื่องในแบบของตัวเอง บางคนก็จินตนาการไปถึงมุมมองของเดซี่ หมาของออกัสต์ที่มีต่อออกัสต์เลยทีเดียว

สิ่งนี้เองคือความงดงามของมนุษย์ และความมหัศจรรย์สมชื่อหนังสือ Wonder เราอาจไม่มีทางเลิกทำร้ายกันโดยไม่รู้ตัวได้อย่างสมบูรณ์หรอก แต่การที่เราเริ่มหันมาสนใจกันและกันให้มากขึ้น คงช่วยให้บาดแผลเหล่านั้นลดน้อยลงและได้รับการเยียวยาบ้าง

เมื่อคิดมาถึงจุดนี้ ก็อดนึกไปถึงคำพูดของครูสอนวิชาภาษาอังกฤษของออกัสต์ไม่ได้ว่า “When given the choice between being right or being kind, choose kind.” เมื่อเธอต้องเลือกระหว่างความถูกต้องและความใจดี ให้เลือกความใจดี เธอไม่ผิดหรอกที่จะถามออกัสต์ว่า “หน้าเธอโดนไฟไหม้เหรอถึงเป็นแบบนี้” แต่เธอเลือกที่จะส่งยิ้มให้เขาโดยไม่พูดอะไรได้

เธอเลือกที่จะเป็นคนใจดีได้เสมอ

ความยากง่ายในการอ่าน : เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษในระดับสื่อสารได้ ตัวหนังสือถูกบอกเล่าในมุมมองแบบเด็กๆ เข้าใจง่าย ภาษาอังกฤษของเรื่องนี้เป็นธรรมชาติมาก เหมือนไม่ผ่านการประดิดประดอยมาก่อนเลย

AUTHOR