Homo Finishers : ในสวนดอกไม้ที่หน้าเส้นชัย

ถ้าติดตามนิ้วกลมทางโซเชียลมีเดีย อ่านเรื่องที่โพสต์ในช่วงปีที่ผ่านมา คงไม่ประหลาดใจที่เห็นเขาเขียนหนังสือเล่มนี้

หนังสือประเภทบันทึกประสบการณ์ จะว่าเขียนง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ความยากของมันคือ เล่าอย่างไรให้ ‘พอดี’ เขียนถึงความรู้สึกตัวเองมากเกินไปก็จะเลี่ยน ใส่ข้อมูลมากไปก็ไม่น่าอ่าน นิ้วกลมคือหนึ่งในนักเขียนที่หาจังหวะพอดีเจอมานาน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรมา บันทึกของเขาจะน่าอ่านเสมอ กับงานเขียนเล่มล่าสุด Homo Finishers ก็เช่นเดียวกัน มันเป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์การวิ่งของนิ้วกลมที่อ่านสนุกและมีบางสิ่งที่พิเศษกว่างานเขียนเล่มก่อนๆ ของเขาด้วย

นิ้วกลมเริ่มเล่าการวิ่งจากความสงสัย ตั้งคำถามกับวิถีของนักวิ่งว่าจะลำบากทำร้ายร่างกายขนาดนั้นไปเพื่ออะไร เขาออกวิ่งด้วยหลายเหตุผล อยากลดความอ้วน อยากแข่งกับเพื่อน และอยากพิชิตเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างการวิ่งมาราธอน เขาเริ่มวิ่ง 5 กิโลเมตรในหมู่บ้าน วิ่งแข่งกับเพื่อนในแอพ Nike+ RunClub วิ่ง 10 กิโลเมตรครั้งแรก ฮาล์ฟมาราธอนครั้งแรก ไปจนถึงมาราธอนครั้งแรกสำเร็จ (และมีครั้งที่ 2 ตามมาไม่นาน) เนื้อหาตรงไปตรงมา อ่านง่าย จังหวะพอดีแบบที่แฟนนิ้วกลมชอบและคุ้นเคย

เรื่องที่เราสนใจคือการที่ผู้เขียนพูดถึงปัญหาชีวิตตั้งแต่บทที่สอง นิ้วกลมยอมรับว่าในวัยใกล้เลข 4 กำลังหมดไฟ หมดใจ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม คนที่ตามอ่านงานของนิ้วกลมตั้งแต่ โตเกียวไม่มีขา คงไม่คิดว่านักเขียนซึ่งเชื่อเรื่องความฝันและแรงบันดาลใจจะประสบปัญหานี้

การยอมรับว่าบางเวลาเราก็อ่อนแออาจเป็นเรื่องแปลกในงานเขียนแบบบันทึกประสบการณ์ แต่กลับเป็นเรื่องดีมากเมื่อต้องเล่าเรื่องวิ่ง ทำให้บันทึกเรื่องการวิ่งไม่ได้เป็นเรื่องของนักวิ่งผู้ไร้เทียมทาน แต่เป็นนักวิ่งธรรมดาที่เริ่มต้นอย่างเหนื่อยหอบและค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเป็นนักวิ่งกลุ่มเดียวกับผู้เขียน รู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมวิ่ง ไม่ใช่ปรมาจารย์หรือเพซเซอร์ที่เราไม่มีวันวิ่งตามได้ทัน

การวิ่งเป็นกิจกรรมที่ปอกเปลือกเปลือยเปล่าตัวตน อยู่กับความรู้สึกตัวเอง เวลาเจ็บปวดไม่มีใครช่วยเราได้ นักวิ่งต้องขุดเค้นพลังภายในเพื่อต่อสู้กับตัวเอง และไม่ใช่ทุกครั้งที่เราชนะ การวิ่งทำให้เราเห็นด้านที่อ่อนแอชัดเจนพอๆ กับด้านที่เข้มแข็ง การยอมรับและทำความเข้าใจตัวเองจึงสำคัญกับการวิ่งมาก

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนหลงใหลการออกกำลังกายคือการได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง การที่คนออกกำลังกายถ่ายรูปตัวเองในกระจกหรือนักวิ่งทั้งหลายที่โพสต์ระยะที่ตัวเองวิ่งได้ในโซเชียลมีเดีย ไม่ได้แปลว่าพวกเขาหลงตัวเอง แต่มันคือการชื่นชมพัฒนาการ การออกกำลังกายแต่ละครั้งเป็นการลงทุนลงแรงที่ยากลำบาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายประเภทชายหรือหญิงเดี่ยว ต้องตื่นเช้า เจ็บปวดแสนสาหัส แลกกับการบรรลุเป้าหมายหรือเข้าเส้นชัยที่เงียบงัน ไร้การเฉลิมฉลอง มีเพียงความพึงพอใจเงียบๆ เป็นแรงผลักดันให้เข้าสู่เป้าหมายต่อไป

พัฒนาการ เป็นเหมือนคีย์เวิร์ดที่ขับเคลื่อนเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ จากที่ไร้แรงใจในการดำเนินชีวิต นิ้วกลมกลับมามีพลัง สนุกกับโลกแห่งการทรมานตัวเองที่แสนเบิกบาน การวิ่งยังเป็นเหมือนการต่อสู้ในใจอย่างหนึ่ง นิ้วกลมเปรียบการต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายว่าเหมือนร่างกายเรามีตัวตน Finisher และ ตัวตน DNF (Did not Finish) อยู่ในตัว ถ้าวิ่งได้ตามที่ตั้งใจ ก็เหมือนเลี้ยงตัวตน Finisher ให้เติบโต เสริมสร้างกำลังใจ ทำให้คำสัญญาของเราศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เหมือนปลูกฝังนิสัยการไม่เอาจริงเอาจัง จากเรื่องการวิ่งก็อาจลามไปสู่เรื่องอื่นโดยไม่รู้ตัว

ข้อคิดที่เขาได้จากการวิ่งบรรลุเป้าหมายทีละขั้นจาก 5 กิโลเมตร, 10 กิโลเมตร, 21 กิโลเมตร และ 42.195 กิโลเมตร ฉุดให้เราอยากออกไปวิ่งหลังอ่านจบ ไม่ใช่เพราะเขาพูดถึงเทคนิคการฝึกซ้อมที่น่าทำตาม แต่เพราะพลังที่นิ้วกลมได้จากการวิ่ง เป็นสิ่งที่คนยุคสมัยนี้กำลังไขว่คว้าค้นหาเช่นเดียวกัน

ด้วยหลายปัจจัยและเหตุผล เราจึงมักเห็นผู้คนบ่นว่าการใช้ชีวิตยุคนี้ช่างวุ่นวายและสับสน บางคนไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม เหตุผลในการมีชีวิตอยู่นั้นเลือนราง เหมือนกับที่นิ้วกลมเล่าเรื่องของทหารผ่านศึกที่กลับบ้านแล้วพบว่าชีวิตประจำวันแสนห่อเหี่ยว เพราะเขาขาด ‘ภารกิจ’ ในการดำรงชีวิตเหมือนตอนอยู่ในสนามรบ การออกกำลังกายโดยมีเป้าหมายให้พิชิตเป็นเหมือนการสร้างภารกิจให้ชีวิต ทำสำเร็จทีหนึ่งก็รู้สึกปลาบปลื้มในใจ ผลักดันให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดในครั้งต่อไป

เนื้อหาของหนังสือยังพูดถึงเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ที่เปลี่ยนไปตามวัย สิ่งที่ขับเคลื่อนวัยเด็กคือความสนุก ตื่นเต้น ได้เผชิญโลกใหม่ เมื่อแก่ตัวลง (สักประมาณเลข 3 ย่าง 4) เห็นโลกมากขึ้น เราจะเริ่มตัดเรื่องที่สนใจออกทีละอย่าง เหลือไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ยังคงอยู่ โลกที่เคยสวยงามเริ่มเผยด้านอัปลักษณ์จนเราไม่ค่อยอยากสนใจมันเหมือนเมื่อก่อน

สิ่งที่คนจะสนใจมากขึ้นเมื่อแก่ลงคือเรื่องภายในตัวเอง

โลกใบใหม่นี้เล็กลงแต่น่าอยู่มากขึ้น หลายคนหลงใหลโลกใบนี้เพราะมันช่วยรักษาใจให้มั่นคง เปรียบเหมือนได้มี ‘ชีวิตที่สอง’ อีกครั้ง เรื่องนี้เป็นทั้งธีมของหนังสือ และยังเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมคนธรรมดาที่ไม่มีแนวโน้มสนใจการออกกำลังกายถึงหันไปร่วมในงานวิ่งที่มีจัดถี่ยิบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์

บางคนอาจมองการวิ่งด้วยสายตาค่อนขอดว่ามันคือกระแสการออกกำลังกายที่ส่งเสริมการมองเห็นแต่ตัวเอง ไม่ใส่ใจโลกภายนอก แต่อ่านหนังสือเล่มนี้จบเรากลับคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นวิธีที่คนรับมือกับสังคมแห่งความผันผวนปรวนแปร การวิ่งคือวิธีการรักษาตัวตนและอยู่ร่วมกับโลกของคนยุคนี้ การวิ่งที่ดูโดดเดี่ยวกลายเป็นกิจกรรมที่มากกว่าการออกกำลังกาย แต่ช่วยสร้างกำลังใจในการดำรงชีวิตในสังคมที่เว้าแหว่ง โหยหาการแสดงออกตัวตน การวิ่งไม่ได้ทำให้ขามั่นคง แต่ยังทำให้ใจแข็งแรง พร้อมที่จะไปสู้สังคมภายนอกในเช้าวันรุ่งขึ้น

Homo Finishers เป็นหนังสือที่มีความเป็นส่วนตัวเยอะกว่าทุกเล่มของนิ้วกลมในช่วงหลัง ไม่ได้แปลว่ามันเป็นงานที่เอาแต่ใจ ด้วยทักษะการเล่าเรื่องที่แม่นยำทำให้มันเป็นหนังสือวิ่งที่แม้ไม่ได้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลหรือเทคนิคการวิ่ง แต่ก็ทำให้อ่านจบแล้วอยากรีบนอนแล้วไปวิ่งในเช้าวันรุ่งขึ้น สายตาและมุมมองที่นิ้วกลมเล่าในงานชิ้นนี้ดูจะสดใส ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งใหม่ มีกลิ่นอายของผลงานช่วงแรกๆ ซึ่งเราไม่ได้เห็นนานแล้วในงานของนักเขียนคนนี้

ไม่รู้จะปิดท้ายการเขียนแนะนำหนังสืออย่างไรให้ดีไปกว่าอยากชวนไปวิ่งหลังอ่านจบ แต่สำหรับบางคน สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่แค่อยากวิ่ง แต่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้

AUTHOR