Flowers for Algernon : จากผู้พิการทางสมอง สู่เส้นทางการเป็นอัจฉริยะ

เรารู้จัก Flowers of Algernon โดยบังเอิญเมื่อตอนไปอยู่ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ระหว่างนั่งเรียนกายวิภาคศาสตร์ เราเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้วางอยู่ในตะกร้าใกล้ๆ ชื่อเรียบๆ บนหน้าปกเชยๆ ทำให้ตัดสินใจหยิบมันขึ้นมาดู และเริ่มอ่านเรื่องย่อด้านหลังโดยไม่ใส่ใจเท่าไหร่ แต่พออ่านจบพร้อมพลิกไปอ่านประโยคแรกสุด เรากลับสะดุดในไวยากรณ์ภาษาแปลกประหลาดที่ชวนดึงดูดให้เราอ่านตามต่อ

“Dr Strauss says I shoud rite down what I think and remembr and evrey thing that happins to me from now on. I dont no why but he says its importint so they will see if they can use me.”

รู้ตัวอีกทีก็อ่านมาจนเกือบครึ่งเล่มซะแล้ว

นี่คือประโยคแรกสุดจากหนังสือเล่มนี้ที่ดึงให้ติดตามต่อได้เป็นชั่วโมง

Flowers for Algernon นวนิยายไซไฟแฟนตาซีที่มีชื่อไทยว่า ดอกไม้สำหรับอัลเจอนอน แต่งโดย ดาเนียล คีย์ส (Daniel Keyes) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐฯ เดิมทีเป็นเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ลง The Magazine of Fantasy & Science Fiction พร้อมรับรางวัลฮิวโก้สำหรับเรื่องสั้นขนาดยาวใน ค.ศ. 1960 และใน ค.ศ. 1966 ได้พัฒนาต่อไปเป็นนวนิยาย พร้อมกวาดรางวัลเนบิวลาในปีเดียวกัน Flowers for Algernon ยังได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครบรอดเวย์ และภาพยนตร์โทรทัศน์ในเวลาต่อมา

Flowers for Algernon เป็นเรื่องราวของหนุ่มวัย 32 ปีชื่อชาร์ลี กอร์ดอน เขามีระดับไอคิวอยู่ที่ 68 ซึ่งเป็นสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไปมาก ทำให้เขากลายเป็นตัวตลกและถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยๆ เขาได้เข้าร่วมเป็นมนุษย์ทดลองคนแรกในแบบเดียวกับหนูทดลอง ชาร์ลีเข้ารับการผ่าตัดสมองเพื่อพัฒนาระดับสติปัญญาให้มากขึ้นเป็น 3 เท่า จากชายสติไม่ดี เขาก็กลายเป็นอัจฉริยะในเวลาไม่นาน

เนื้อเรื่องอาจจะฟังดูไม่มีอะไรมากเท่าไหร่ แต่รูปแบบการเล่าเรื่องที่ลื่นไหลและน่าสนใจต่างหากที่ทำให้เราร่วมลุ้นและให้กำลังใจชาร์ลีจนจบเล่ม รูปแบบการเล่าเรื่องผ่านสมุดบันทึกของชาร์ลีให้ความรู้สึกเหมือนว่าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการทดลองเขาอยู่ เราจะค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสมองของชาร์ลีตั้งแต่เริ่มต้น เห็นการเขียนและการใช้ภาษาที่พัฒนาขึ้น รู้สึกคุ้นเคยกับชาร์ลีเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง ความกระตือรือร้นและใฝ่รู้ของชาร์ลีทำให้เราอยากร่วมเอาใจช่วยเขาให้เอาชนะตัวเองให้ได้ แต่พอถึงจุดที่ชาร์ลีฉลาดขึ้นมา เขาเริ่มรับรู้ถึงความทรงจำที่มืดมนต่างๆ และได้มองย้อนกลับไปยังตัวตนเก่าของเขา จุดนี้กลับทำให้เรารู้สึกสงสารเขามากขึ้นกว่าเดิม

“Only a short time ago, I learned that people laughed at me. Now I can see that unknowingly I joined with them in laughing at myself. That hurts most of all.”

เมื่อไม่นานมานี้เอง ฉันได้รู้ว่าผู้คนหัวเราะเยาะฉัน เดี๋ยวนี้ฉันได้เห็นว่าฉันได้ร่วมหัวเราะตัวเองไปกับเขาด้วยโดยไม่รู้เรื่อง นี่คือเรื่องที่ฉันเจ็บปวดมากที่สุด”

บทสรุปของหนังสือเล่มนี้กลับทำให้เราเจ็บปวดมากขึ้นเพิ่มไปอีก ซึ่งคืออะไรนั้นเราอยากให้ทุกคนลองหามาอ่านและติดตามกันเอง แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจาก Flowers for Algernon คงจะเป็นเรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวทุกคน และการไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ที่เราได้เห็นผ่านการต่อสู้ของชาร์ลี กอร์ดอน

ความยาก-ง่ายในการอ่าน: ในช่วงแรกของหนังสือจะอ่านได้ง่ายและไหลลื่น เหมือนกำลังอ่านหนังสือที่เด็กประถมเขียน เพราะคำศัพท์ไม่ซับซ้อนมาก แต่ช่วงกลางเล่มจะเพิ่มระดับขึ้นมานิดหน่อย มีศัพท์เฉพาะแต่ยังถือว่าอ่านได้ไม่ยากเท่าไหร่ หนังสือชวนติดตามทำให้เราอ่านได้เพลินและจบในไม่กี่วัน

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR