เห็นรายชื่องานวรรณกรรมที่เหล่าสำนักพิมพ์พร้อมใจกันแปลและตีพิมพ์ออกมาเปิดตัวในงาน
Bangkok Book Festival 2016 ที่จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครช่วงสุดสัปดาห์นี้แล้ว
หลายคนอาจยังลังเลใจว่าควรควักเงินซื้อเล่มไหนดีที่จะเหมาะกับตัวเอง
เพราะแต่ละเล่มก็มีสไตล์และเรื่องราวต่างกัน เราเลยขอรีวิวครบจบทั้ง 8 เล่มและบอกกันตรงๆ ว่าทำไมถึงต้องอ่านหนังสือเล่มนั้น ถ้าคิดว่าถูกชะตากับเล่มไหนก็ปรี่ไปซื้อได้ที่ร้าน
Bookmoby ในวันเสาร์อาทิตย์นี้กันเลย
1. กายวิภาคของความเศร้า
ผู้เขียน นิวัต พุทธประสาท
สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: นวนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในช่วงครบรอบ
20 ปีของผู้เขียนในวงการวรรณกรรม ผ่านการตกผลึกการผลิตเรื่องเล่ามาจนอยู่มือ
และด้วยความที่ตอนแรกของนวนิยายเขียนขึ้นห่างจากตอนจบถึง
18 ปี ตามที่ผู้เขียนบันทึกไว้ในหน้า
‘บันทึกนักเขียน’
แต่ละเรื่องเล่าในนวนิยายเล่มนี้จึงคล้ายบทบันทึกในแต่ละยุคสมัยผ่านบรรยากาศบ้านเมือง
สัมคม การเมือง อันไม่เป็นปกติ กิจกรรมชีวิต ความสัมพันธ์
ความรู้สึกและการแสดงออกของตัวละคร
โดยที่ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่
แต่ผู้อ่านอย่างเราสัมผัสได้
เรื่องเกี่ยวกับอะไร: ในมุมมองของเรา กายวิภาคของความเศร้า
นั้นคล้ายเป็นทั้งหนังสือรวมเรื่องสั้นและนวนิยายไปในตัว
โดยจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องสั้น 3 เรื่องที่ต่อเนื่องกันของนิวัต
ที่เคยตีพิมพ์ในหลากหลายที่ เมื่อนำมาเขียนเพิ่มเติมและเรียบเรียงจัดวางใหม่จนกลายเป็นนิยายเล่มนี้ เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายนวนิยายเล่มนี้ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไรด้วยประโยคสั้นๆ
โดยรวมมันคือนวนิยายที่พูดถึงความสัมพันธ์ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ
ในสภาพสังคมจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยสิ่งที่ถือเป็นเสน่ห์
เป็นลายเซ็นของนิวัตเสมอมาคือมวลอารมณ์เศร้าเหงามัวหม่นก็ยังลอบเล่นงานผู้อ่านอยู่ในระหว่างบรรทัด
ความยากง่ายในการอ่าน: ผู้เขียนได้ออกตัวไว้แล้วว่า
นวนิยายเรื่องนี้มีกาลเวลาเหมือนเขาวงกต แถมตัวละครในแต่ละตอนก็ไม่มีชื่อเพราะผู้เขียนเลือกใช้สรรพนามในการเล่าเรื่อง
เรื่องราวในแต่ละตอนจึงไม่ได้ต่อเนื่องตามสูตรแสนคุ้นเคย แต่เมื่ออ่านจนจบก็พูดไม่ได้ว่าไม่ได้เกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงกันทางใดทางหนึ่ง
แนะนำให้อ่านโดยละเลียดอารมณ์ในแต่ละตอน แต่ละย่อหน้า ไปเรื่อยๆ
จนถึงตอนสุดท้าย
2. ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ (84
Charing Cross Road)
ผู้เขียน Helene Hanff (เฮเลน แฮฟฟ์)
แปลโดย รังสิมา
ตันสกุล และ ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ บุ๊คโมบี้
เพรส
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: ถ้าเป็นคนที่อินกับการเดินเข้าร้านหนังสือเล็กๆ และละเลียดบรรยากาศความเป็นกันเองที่อบอวลอยู่ในนั้น
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ประทับใจหนังสือเล่มนี้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านและร้านหนังสือที่เชื่อมโยงกันด้วยตัวหนังสือนั้นน่ารักมาก
แถมวิธีเล่าของหนังสือที่ยกจดหมายมาทั้งฉบับโดยที่ยังคงรูปแบบการเขียนจดหมายอย่างที่เราเคยเรียนสมัยประถมก็ทำให้เราสนุกกับการสังเกตความสัมพันธ์ของพวกเขาจากวิธีการเขียน
คำลงท้าย ฯลฯ ที่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ จากคนแปลกหน้ากลายเป็นคนสนิท
ที่เราอาจจะหลงลืมไปเมื่อการสื่อสารแบบกด Send ในปัจจุบันเข้ามาทำให้ทุกความสัมพันธ์ไวไปหมด
เรื่องเกี่ยวกับอะไร: เรื่องจริงจากจดหมายโต้ตอบระหว่างเฮเลน แฮฟฟ์
นักเขียนชาวอเมริกัน (และเจ้าของหนังสือเล่มนี้)
กับเหล่าพนักงานของร้านขายหนังสือเก่า Marks & Co ในกรุงลอนดอน
ประเทศอังกฤษ ที่ส่งหากันในช่วงเวลาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นด้วยจดหมายสั่งซื้อหนังสือเหมือนคนทั่วไป
แต่เมื่อส่งหากันไปมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี
ทำให้ความสัมพันธ์ของเธอและพวกเขาแปรเปลี่ยนจากลูกค้าธรรมดาๆ
กลายมาเป็นเพื่อนที่รู้จักกันแบบไม่เคยเห็นหน้า ผ่านร้านหนังสือเล็กๆ
ที่ยากจะเห็นความสัมพันธ์แบบนี้ในยุคสมัยปัจจุบัน
ความยากง่ายในการอ่าน: ด้วยความเป็นจดหมาย
ทำให้ภาษาที่ใช้เป็นการคุยกันเหมือนเพื่อนส่งคุยกับเพื่อน
เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะซับซ้อนและอ่านยาก อย่างไรก็ตาม บางส่วนอาจจะยากบ้างในเรื่องของชื่อหนังสือเก่าที่ถูกอ้างถึงในเล่ม
ที่อาจต้องอาศัยการค้นคว้าสักนิดหากอยากรู้ว่าแต่ละเล่มที่เฮเลนสั่งซื้อไปเล่าเรื่องอะไร
แต่ถ้าไม่นับเรื่องนั้น นี่คือหนึ่งในหนังสือที่เราแนะนำให้อ่านในเซ็ตนี้เลยล่ะ
3. ชีวิตอยู่หนอื่น (La vie est ailleurs)
ผู้เขียน มิลาน คุนเดอรา
แปลโดย อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง
สำนักพิมพ์ กำมะหยี่
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: ตอบจากใจคือ
เรารักงานเขียนของนักเขียนชาวเชกผู้นี้
ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นเจ้าของรางวัลวรรณกรรมระดับโลก แต่ทัศนคติหดหู่มืดมน
เสียดสีปัญญาชน ขี้ประชด อีโรติกหน่อยๆ
มันทำให้ตัวหนังสือของเขาไม่เหมือนใครที่เราเคยอ่าน
แถมยังตั้งคำถามที่กัดกินเข้าไปข้างในตัวตนของชนชั้นกลางอย่างเราได้แบบเจ็บปวด
(หากใครเคยอ่านงานสร้างชื่อของเขา The Unbearable Lightness of Being หรือ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต
คงพอจะนึกความรวดร้าวนั้นออก) ชีวิตอยู่หนอื่น เป็นนวนิยายเรื่องที่ 2
ในชีวิตที่มิลานเขียนซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1973 น่าอ่านตรงที่ตัวละครหลักในเรื่องสะท้อนถึง
‘ชีวิต’ ของตัวนักเขียนเองที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดไปอยู่
‘หนอื่น’ ซึ่งก็คือฝรั่งเศส
ประเทศที่เขาพำนักอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง
เรื่องเกี่ยวกับอะไร: มิลานเชื่อว่ากวีคือความเยาว์วัย
นวนิยายเรื่องนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์แห่งวัยเยาว์ของเขา
ซึ่งเล่าผ่านตัวละครเด็กหนุ่มชื่อว่า จาโรมิล
ผู้ใช้พลังหนุ่มสาวไปกับการต่อสู้เพื่อโลกที่ดีกว่า พิสูจน์อุดมการณ์ของกวี
ความรัก และการปฏิวัติ แน่นอนว่าตามประสานักเขียนสายโหดอย่างมิลาน
เขาไม่ได้บันทึกอารมณ์ขบถของยุคสมัยแบบเรียบนิ่ง แต่เล่าอย่างเสียดสีและตั้งคำถามต่อคุณค่าของเรื่องต่างๆ
โดยเอาแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อนวนิยายมาจากประโยคที่ถูกเขียนอยู่บนกำแพงที่ฝรั่งเศส
ซึ่งเขียนไว้ว่า Life is
Elsewhere
ความยากง่ายในการอ่าน: เคี้ยวไม่ง่ายนัก
ด้วยวิธีคิดมืดหม่นและสำนวนภาษา แต่ถ้าต่อติดได้จะสนุกและรู้สึกร่วมอย่างมาก
เพราะเขียนราวกับถ่ายทอดออกมาจากความนึกคิดที่อยู่ภายในส่วนลึกของตัวละคร
พบเจอแนวคิดหรือประโยคคมคายสะเทือนใจอยู่มาก
เตือนว่าอาจไม่เหมาะกับคนที่นิยมเรื่องตลกโลกสดใส
4. มาตา (Génitrix)
ผู้เขียน FranÇois
Mauriac (ฟร็องซัวส์ โมริยัค)
แปลโดย วัลยา
วิวัฒน์ศร
สำนักพิมพ์ ไลบรารี่
เฮ้าส์
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: ถึงพล็อตแม่ผัวลูกสะใภ้จะฟังคล้ายละครหลังข่าวที่เราดูบ่อยจนเบื่อ
แต่ใครที่สนใจงานวรรณกรรมทั้งในเชิงเนื้อหาและการใช้ภาษาก็น่าจะซื้อเล่มนี้มาครอบครองไว้
เพราะสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ฟร็องซัวส์เลือกใช้ในเล่มนี้น่าศึกษามาก อย่างการบรรยายฉาก
สถานที่อย่างละเอียดจนไม่ต่างจากการเป็นตัวละครตัวหนึ่งซึ่งส่งผลต่อทิศทางของเรื่อง
บทสนทนาน้อยแต่สะท้อนจิตใจส่วนลึกของมนุษย์ได้ดี
และการพรรณนาอากัปกิริยาตัวละครอย่างเห็นภาพชัด
ก็น่าจะช่วยเปิดโลกการอ่านวรรณกรรมของคนสายแข็งให้กว้างขึ้น
ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นทางสังคม เฟมินิสต์
ที่อาจตีความได้หลังอ่านเล่มนี้จบลงด้วย
เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร: นวนิยายฝรั่งเศสว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างเฟลิซิเต้-แม่ผัว
กับมาตีลด์-ลูกสะใภ้ โดยมีแฟรนองด์ ลูกชายวัย 50 ปีผู้ถูกประคมประหงมหมือนสมบัติล้ำค่าของคนเป็นแม่
เป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ในคฤหาสน์หลังใหญ่นี้ เรื่องราวส่วนใหญ่เล่าหลังจากการตายของลูกสะใภ้
ที่ก็ไม่อาจยุติความอิจฉาริษยาที่เกิดจากความหวงแหนของแม่สามีได้
ความยากง่ายในการอ่าน: แบ่งออกเป็น 18 ตอน ตอนละสั้นๆ
ทำให้อ่านไม่ยากนัก แล้วก็อย่าเพิ่งกลัวย่อหน้ายาวๆ เพราะภาษาแปลสละสลวยพออ่านได้ง่าย
เห็นภาพชัดเจน แต่เพื่อความเข้าใจ อนุญาตให้อ่านซ้ำได้อีกหลายๆ ครั้ง
5. ห้องส่วนตัว (A Room of One’s Own)
ผู้เขียน เวอร์จิเนีย วูล์ฟ
แปลโดย มาลินี แก้วเนตร
สำนักพิมพ์ เคล็ดไทย
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: เอาเป็นว่าแค่รู้ว่างานนี้เป็นของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
นักเขียนหญิงในกลุ่มบลูมส์บิวรี่ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการวรรณกรรมอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่
20 เราก็อยากหยิบขึ้นมาเปิดอ่านแล้ว
วูล์ฟเป็นตัวอย่างของนักเขียนหญิงที่มีลายเซ็นในงานเขียนชัดเจนในแง่การคัดค้านบทบาทของเพศหญิงแบบวิกตอเรียนหัวเก่า
ซึ่ง ห้องส่วนตัว
คือหนึ่งในผลงานที่ปูทางการศึกษาเรื่องเฟมินิสต์ที่คนสนใจต้องมีไว้ใกล้ตัว
เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร: ความเรียงไม่สั้นไม่ยาวบันทึกการบรรยายของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
ในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่ช่วงปี 1928 – 1929
ที่ตั้งคำถามต่อตัวตนและบทบาทของเพศหญิงซึ่งถูกขังไว้ภายใต้พื้นที่ส่วนตัวที่สังคมกำหนดมาให้
ชื่อหนังสือ ห้องส่วนตัว
สะท้อนถึงแนวคิดว่าผู้หญิงก็ควรมีพื้นที่ในการทำอะไรตามใจฉันโดยไม่ถูกจ้องมองแบบจับผิดจากคนร่วมสังคม
ซึ่งก็น่าแปลกใจและน่าสงสัยว่าทำไมเรื่องราวเหล่านั้นยังใช้การได้ในยุคสมัยนี้
ความยากง่ายในการอ่าน: อ่านไม่ง่ายเท่าไหร่
ควรรู้ก่อนว่าวูลฟ์โดดเด่นด้านงานเขียนในแนวกระแสสำนึก
คือการเขียนเหมือนกระแสความคิดที่หลั่งไหลออกมาของตัวละคร คนที่ไม่คุ้นอาจต้องปรับตัวปรับใจกันหน่อย
นอกจากนี้
คุณยังจะได้เจอกับแต่ละย่อหน้าอันยาวเหยียดแบบที่งานคลาสสิกหรืองานเก่าหลายเล่มเป็นกัน
ซึ่งต้องการสมาธิจดจ่อและความอดทนระดับหนึ่งสำหรับคนที่เคยแต่อ่านสเตตัสสั้นๆ
บนเฟซบุ๊ก อีกอย่างคือ ถ้าใครมีพื้นฐานด้านปรัชญา
วรรณกรรมมาสักหน่อยจะเป็นประโยชน์มาก เพราะในเรื่องนี้มีการอ้างอิงถึงอยู่เยอะ
(แต่ถ้าไม่มีไม่เป็นไร บันทึกท้ายเล่มช่วยคุณได้)
เรียกว่าในภาพรวมเป็นงานที่ต้องตั้งใจอ่านพอสมควรทีเดียว
แนะนำให้อ่านช่วงว่างหน่อย เช่น ช่วงวันหยุดยาวนี้ไง
ป.ล. การอ่านงานยากๆ บ้างช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน
และคุณภาพของงานเล่มนี้ก็คุ้มค่าในการลงทุนลงเวลาอยู่นะ
6. สูญสิ้นความเป็นคน
(No Longer Human)
ผู้เขียน ดะไซ โอซามุ
แปลโดย พรพิรุณ กิจสมเจตน์
สำนักพิมพ์ JLIT
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: การเขียนที่บ่งบอกความกระอักอ่วนใจที่ผู้เขียนสั่งสมอยู่ภายในประโยคต่างๆ
ในเรื่องอย่าง ‘แม้กระทั่งใบหน้าของคนตายก็ยังมีสีหน้าหรือบางสิ่งติดตามากกว่านี้’ บอกเราชัดว่านี่ไม่ใช่การระบายออกหรือสำรอกเพียงครั้งเดียวของโอซามุ-ผู้เป็นหมุดหมายหนึ่งของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น-ที่กำลังเปิดเปลือยบาดแผลในชีวิตให้คนอ่านอย่างเรารู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปด้วย
เป็นหนังสือที่ผู้เขียนใช้เวลายาวนานเกือบทั้งชีวิตจมอยู่กับมัน
เลยควรค่าแก่การสละเวลาละเลียดอ่าน
เพื่อดำดิ่งลงไปสู่ด้านมืดของมนุษย์เราสักครั้งหนึ่ง
เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร: สูญสิ้นความเป็นคน
เล่าเรื่องราวบันทึก 3 ฉบับที่ซ่อนความจริงอันเจ็บปวดในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้เขียนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขยะแขยงความเป็นคนมากที่สุด
อีกทั้งยังต้องปกปิดเสแสร้งแกล้งทำเป็นคนปกติต่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา โอซามุขุดภาษาจากก้นบึ้งจิตใจของความลับส่วนตัวที่น่าอดสูให้คนแปลกหน้าอย่างเราได้ฟังโดยไม่สนใจอะไรอีกแล้ว
ความยากง่ายในการอ่าน: สามารถอ่านได้ทั้งแบบเรื่อยๆ
ให้เรารู้สึกตามผู้เขียนไปอย่างช้าๆ หรืออ่านเร็วๆ ให้เราเข้าถึงความเป็นไปเร็วๆ
ก็ได้ ใครอยากลองอ่านหนังสือแนวความคิดหรือการเขียนบันทึกชั้นครูลองอ่านเล่มนี้ดู ภาษาไม่ยากและจำนวนหน้าไม่เยอะ
แต่สิ่งที่ย้อนกลับให้เราครุ่นคิดมีมากมาย แต่บอกไว้ก่อนว่าอาจจะมีพลังงานด้านลบแฝงอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะเหมือนกันนะ
7. ฝันสิบราตรี
ผู้เขียน
นัตสึเมะ โซเซกิ
แปลโดย น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ, ปฐมพร แย้มสุขเสรี, พิมพิชา วานิชศิริโรจน์, สายัณห์ ทิพรส, กัลยาทรรศน์ วงษ์จันทร์
สำนักพิมพ์ JLIT
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้:
หนังสือเล่มนี้คือผลงานของนักเขียนชั้นครูที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อนักเขียนญี่ปุ่นรุ่นหลังมาจนปัจจุบัน
สำหรับคอวรรณกรรมญี่ปุ่น (ที่เราเชื่อว่าคงเคยได้ยินชื่อของ ‘ฝันสิบราตรี’ หรือ ‘นัตสึเมะ โซเซกิ’ มาบ้างแล้ว)
การอ่านเล่มนี้น่าจะช่วยให้เข้าใจรากแขนงหนึ่งของวรรณกรรมชนชาตินี้ได้ดีขึ้น
และเป็นพื้นฐานที่ดีในการต่อยอดไปสู่ผลงานอื่นๆ
ที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือมีกลิ่นอายมาจากหนังสือเล่มนี้ ส่วนใครที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณกรรมจากแดนอาทิตย์อุทัยเท่าไหร่
นอกจาก ฝันสิบราตรี จะเป็นผลงานคุณภาพที่ผู้คนยอมรับ ยังเป็นรสชาติแปลกใหม่น่าลอง เหมือนได้ลองชิมอาหารอื่นนอกจากอาหารญี่ปุ่นแบบที่เราคุ้นเคย
เรื่องเกี่ยวกับอะไร: ‘ฝันสิบราตรี’ คือผลงานรวมเรื่องสั้น 10 เรื่องที่ว่าด้วยความฝันใน 10
ค่ำคืนและเรื่องสั้น 1 เรื่องที่ชื่อว่า นกกระจอกชวา เราจะได้ท่องไปในโลกของความฝัน
ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการ ซึ่งพร้อมจะกลายเป็นความเหนือจริง หรือเหลื่อมซ้อนกับความจริงได้ทุกเมื่อ
นอกจากเป็นการเดินทางที่สนุกมีสีสันแปลกตา ยังชวนให้ตั้งคำถามว่า ความฝันที่เห็นอยู่สะท้อนถึงสิ่งใดในจิตใจผู้เขียน
และความฝันของเราเอง จินตนาการของเราเองที่จริงแล้วมีความหมายใดซ่อนอยู่
ความยากง่ายในการอ่าน: ต้องพูดว่าในแนวระนาบ
หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสั้นที่สั้นจริงๆ สนุก ติดตามเรื่องราวได้ง่าย
ไม่มีการใช้ศัพท์ยาก ถ้อยคำใหญ่ๆ ชวนปวดหัว แต่ถ้าไม่ได้อยากอ่านแค่ในฐานะเรื่องความฝันสนุกๆ
ก็ต้องบอกว่าในแนวดิ่ง เรื่องสั้นแปลกประหลาดเหล่านี้ชักชวนให้เราตั้งคำถาม ค้นหา
แปลความหมายไปไม่รู้จบ ในความฝันแปลกประหลาดที่ผู้เขียนอธิบายได้ชัดเจนเห็นภาพ
ที่จริงซุกซ่อนหรือหมายถึงอะไร ชวนปวดหัวดีเหมือนกัน
8. PAPER BOOKAZINE: อ่านทุกตัว
ผู้เขียน WAY Magazine
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้: จะพูดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหัวใจหลักของเทศกาล
Bangkok
Book Festival 2016 ก็คงไม่ผิด
เพราะวิธีคิดของมันตั้งต้นขึ้นจากประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัย ‘นี่คือช่วงขาลงของสื่อกระดาษใช่หรือไม่?’ ภายในเล่มจึงบรรจุทุกลมหายใจที่ประกอบขึ้นเป็น ‘ชีวิตของหนังสือ’
อยู่ในนั้น อ่านเล่มเดียวไม่เพียงเข้าใจวงการหนังสือ แต่ยังเก็บบันทึกยุคสมัยเอาไว้ด้วย
แนะนำว่าควรมีเก็บไว้ในครอบครองสัก
1 เล่ม
เรื่องเกี่ยวกับอะไร: เล่าชีวิตของหนังสือผ่านบุคคลที่เป็นลมหายใจของหนังสือ
ทั้งที่อยู่บนปกและหลบอยู่หลังปก
กว่าจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่งไม่ได้มีแค่นักเขียนและคนอ่าน
แต่ยังมีคนที่อยู่ระหว่างทางทั้งบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร ช่างภาพ โรงพิมพ์
สำนักพิมพ์ คนจัดจำหน่าย บรรณารักษ์ จัดทำโดยทีมคนทำหนังสือคุณภาพอย่าง WAY Magazine และภาพพิมพ์ Parbpim Printing
เราจึงไม่ได้สัมผัสแค่ความสวยงามของการออกแบบรูปเล่มที่พิมพ์ 4 สีทั้งหมด
แต่ยังสัมผัสได้ถึงความงามของหนังสือผ่านตัวอักษรในกระดาษที่อยู่ในมือเราไปแบบเต็มๆ
ความยากง่ายในการอ่าน: อ่านง่าย ปกเท่ รูปสวย เลย์เอาต์สบายตา ถ้าไม่อ่านก็ต้องโทษความขี้เกียจของตัวเองแล้วล่ะ