นี่คือ 10 หนังสือน่าสนใจมากที่เราไปคัดมาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่
44 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แบบสดๆ ร้อนๆ มีเล่มไหนบ้าง เชิญชมเชิญชิมกันเลย!
1.
ชือหนังสือ ชายหนุ่มผู้ไม่ทำอะไรเลย
ผู้เขียน องอาจ ชัยชาญชีพ
สำนักพิมพ์ เป็ดเต่าควาย
เราเริ่มรู้จักและหลงรักงานของโตโต้-องอาจ
ชัยชาญชีพ จากการ์ตูนเซ็ต ‘หัวแตงโม’ ที่เขาเคยอธิบายว่าเป็นเรื่องของคนที่แตกต่างจากคนอื่นแต่พยายามใช้ชีวิตอยู่ในสังคม
ส่วนหนังสือเล่มนี้ไม่มีแตงโมสักลูก แต่ดีงามน่าอ่านไม่แพ้กัน เนื้อหาแบ่งเป็นบทสั้นๆ
บันทึกเรื่องหลากหลายในชีวิตตั้งแต่ความทรงจำวัยเด็กจนถึงแมวที่เลี้ยง
บอกเล่าผ่านลายเส้นการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์ขององอาจสลับตัวพิมพ์ เป็นหนังสืออ่านง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเบาบางไม่มีอะไร เพราะมุมมองขององอาจน่าสนใจ
ชวนคิดตาม ทำให้การอ่านเรื่องรอบตัวในชีวิตผู้ชายคนนึงสนุกมาก
อ่านแล้วติดหนึบเฉยเลย
2.
ชื่อหนังสือ ‘ไม่ใช่บทกวี’ เพียงการปลอมแปลงทีพอจะมีฝีมืออยู่บ้าง
ผู้เขียน วิวัฒน์
เลิศวิวัฒน์วงศา
สำนักพิมพ์ ชายขอบ
‘วิวัฒน์เขียนอะไรก็กลายเป็นความมืด…’
นี่คือประโยคแรกของคำนำสำนักพิมพ์ที่แนะนำบทกวีเล่มเล็กบางของวิวัฒน์
เลิศวิวัฒน์วงศา นักเขียน นักวิจารณ์และจัดฉายหนัง นักแปล ฯลฯ
พอลองพลิกเข้าไปอ่านก็พบว่า นี่เป็นบทกวีที่เนื้อหาเน้นหนักไปเรื่องการเมือง สำนวนสละสลวย
สะเทือนอารมณ์ และมีบรรยากาศมืดหม่นอบอวล
(คงไม่ต่างจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาและเป็นอยู่…)
ถ้อยคำและพื้นที่ว่างบนหน้ากระดาษหลอมรวมกันเป็นแรงดึงดูดที่พาเราสู่โลกอีกใบที่ดาร์กและแปลกประหลาด
มีเสน่ห์จนต้องชวนให้ไปสัมผัสด้วยกัน
3.
ชื่อหนังสือ จักรวาลในหนึ่งย่อหน้า
ผู้เขียน อุทิศ เหมะมูล
สำนักพิมพ์ จุติ
เรารู้ว่าย่อหน้าแรกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานเขียน
แต่ในหนังสือเล่มนี้ อุทิศขีดเส้นใต้ความสำคัญที่ว่าด้วยการพาเราไปสำรวจ
(เรียกว่าชำแหละก็อาจไม่ผิดนัก) ย่อหน้าแรกของผลงานเขียนชั้นเลิศของนักเขียนทั่วโลก
เช่น แผลลึก หัวใจสลาย ของ Kazuo
Ishiguro และ คำยืนยันของเปเรย์รา ของ Antonio Tabucchi ซึ่งเปิดเผย เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ตามมาภายหลังแนบแน่น
อ่านแล้วเห็นถึงความประณีตในการทำงานของนักเขียนชั้นดีและเห็นพลังของย่อหน้าแรกที่อาจเปิดเผยจักรวาลได้จริงๆ
4.
ชื่อหนังสือ แฟรนนี่ กับ โซอี้
ผู้เขียน J.D. SALINGER
ผู้แปล ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ Lighthouse Publishing
นี่คือนิยายของ เจ.ดี. ซาลินเจอร์
ผู้เขียนหนังสือดังอย่าง The Catcher in the Rye เล่าเรื่องความรักของโซอี้ดาราหนุ่มสุดหล่อกับแฟรนนี่น้องสาวสุดที่รักที่หมกมุ่นเรื่องศาสนาจนเกิดความสับสนในชีวิต
(ทั้งสองคนเป็นสมาชิกของพี่น้องตระกูลกลาส
กลุ่มตัวละครที่ซาลินเจอร์มักหยิบยกมาไว้ในเรื่องสั้นของเขา) เรียกว่าเป็นหนังสือที่เน้นประเด็นหลักไปที่ความเชื่อทางศาสนา
ใครเป็นแฟนคลับของนักเขียนดังคนนี้อยู่แล้วจงไปซื้อ
ส่วนใครไม่เคยอ่านแต่อยากรู้จัก เจ.ดี.ซาลินเจอร์ ก็ลองซื้อเล่มนี้มาชิมดูได้นะ :
)
5.
ชื่อหนังสือ จุลินทรีย์แห่งความสำเร็จ
ผู้เขียน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
สำนักพิมพ์ a book
พวกผู้ใหญ่ชอบบอกเราว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน
ความสำเร็จอยู่ที่นั่น แต่ใน จุลินทรีย์แห่งความสำเร็จ เคน-นครินทร์
วนกิจไพบูลย์ นักเขียนที่วิเคราะโลกรอบตัวเฉียบขาดเสมอจะพาเราไปสำรวจเบื้องหลังบุคคลและแบรนด์ระดับโลก
ตั้งแต่ BANKSY นักวาดกราฟฟิตี้ตัวแสบ จนถึง Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นชื่อดัง
เพื่อชี้ให้เห็นว่าจะประสบความสำเร็จแบบนี้ได้ แค่ความพยายามอาจไม่พอหรอกนะ
ต้องมีส่วนผสมลับเข้ามาเป็นตัวช่วย แต่จะมีอะไรบ้างนั้น เชิญอ่านในเล่ม
เราไม่สปอยล์ให้เสียอรรถรสหรอก 😛
6.
ชื่อหนังสือ ปัญญากรีก-โรมัน
ผู้เขียน ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
สำนักพิมพ์ openbooks
เราเคยคิดว่าหนังสือของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จะอ่านยาก
แต่พอเปิด ปัญญากรีก-โรมัน มาอ่าน
ก็พบว่า เรื่องของสองอารยธรรมนี้ถูกนำมาบอกเล่าแบบย่อยง่ายและอ่านสนุก
ผ่านการจัดหมวดหมู่หัวข้ออย่างน่าสนใจ และการพูดคุยกับคน
(ซึ่งแน่นอนว่าบทสัมภาษณ์จากภิญโญดีมากอยู่แล้ว) คั่นเป็นระยะด้วยภาพสวยๆ เรียกว่าใครเคยขยาดหนังสือประวัติศาสตร์ข้อมูลแน่น เล่มนี้อ่านได้ไม่มีทางหลับแน่นอน
เรายืนยัน
7.
ชื่อหนังสือ The Selfish Gene
ผู้เขียน Richard Dawkins
ผู้แปล เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
สำนักพิมพ์ มติชน
หนังสือเล่มนี้หยิบยกสิ่งที่เราคุ้นๆ
กันอย่าง ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ขึ้นมานำเสนอในมุมมองใหม่ผ่านสายตาของหน่วยเล็กจิ๋วที่สุดของชีวิตอย่างยีน
เป็นงานเขียนที่บอกเราว่าพฤติกรรมซับซ้อนของมนุษย์ เช่น การเลี้ยงดูลูกหลานและการเสียสละล้วนวิวัฒนาการมาจาก
‘ความเห็นแก่ตัว’
ของยีนในร่างกายเราทั้งนั้น เตือนไว้ก่อนว่าเนื้อหาแน่นเต็มเล่ม
ต้องใช้สมาธิและพลังในการอ่านอยู่สักหน่อย
แต่สาระและประสบการณ์เปิดโลกที่ได้คุ้มค่าแน่นอน
8.
ชื่อหนังสือ Jazz Murakami
ผู้เขียน สิเหร่
สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
แฟนๆ งานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ
คงรู้กันดีอยู่แล้วว่าเพลงมักแทรกซึมอยู่ในผลงานของเขา โดยเฉพาะเพลงแจ๊ซ
แต่ถ้าอยากรู้ว่าเพลงเหล่านั้นคือเพลงอะไรบ้าง มีที่มาที่ไปยังไง เชิญอ่าน Jazz Murakami ที่แนะนำ
อธิบายเพลงแจ๊ซในผลงานเล่มต่างๆ ของมูราคามิอย่างรู้จริง เพราะสิเหร่-ผู้เขียน
คือนักวิจารณ์เพลงแจ๊ซฝีมือดีของบ้านเรา อ่านแล้วรับรองอ่านงานนักเขียนคนโปรดคนนี้ได้อินกว่าเดิมแน่ๆ
9.
ชื่อหนังสือ สนธิสัญญาฟลามิงโก
ผู้เขียน จิราภรณ์ วิหวา
สำนักพิมพ์ แซลมอน
นี่คือนิยายเล่มแรกที่เต้-จิราภรณ์
วิหวา นักเขียนสาวที่มีสไตล์งานเขียนแสนจะเป็นเอกลักษณ์ ซุ่มเขียนมานานนับปี
สนธิสัญญาฟลามิงโก เล่าเรื่องของความสัมพันธ์ผ่านตัวละครสัตว์คือแมวและฟลามิงโก
(เรื่องนี้ดำเนินไปด้วยสัตว์ล้วนๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จิราภรณ์ไม่เคยทำมาก่อน) เป็นผลงานที่คงความหม่นและบรรยากาศของโลกแปลกเพี้ยนแบบจิราภรณ์สไตล์ไว้ครบถ้วน
ขอเชิญลองพลิกอ่าน
10.
ชื่อหนังสือ แด่บัณฑิต
ผู้เขียน วรพจน์ พันธุ์พงศ์
สำนักพิมพ์ บางลำพู
นี่คือรวมความเรียงเล่มใหม่ล่าสุดของหนึ่ง-วรพจน์
พันธุ์พงศ์ นักสัมภาษณ์และนักเขียนฝีมือเยี่ยม
เนื้อหาว่าด้วยบทบันทึกหลากหลายหัวข้อจากระหว่างทางชีวิตและสิ่งที่อยากบอกแก่คนหนุ่มสาว
ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนที่พูด ที่แสดงความเห็น แล้วเราสนใจฟัง
แต่วรพจน์เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ได้บอกให้เห็นด้วยและเชื่อตาม แต่ประสบการณ์ ตัวตน
และมุมมองของวรพจน์-นักสัมภาษณ์ที่พบเจอ คลุกคลีกับผู้คนมากมาย และนักใช้ชีวิตผู้ผ่านโลกมาหลากมุมน่าสนใจเสมอ
เพราะงั้นลองสักหน่อยเถอะ เราแนะนำ : )