วัดความตื้นลึกของบ่อน้ำตากับ ‘ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน’

ชื่อหนังสือ ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน
ผู้เขียน: เคน โมริ
ผู้แปล: มารินา โคบายาชิ
สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

หนังสือชื่อแสนอบอุ่นเล่มนี้ หากเราไม่อ่านคำโปรย ไม่รู้ว่าหนังสือปกสีสันสดใสเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร หรือดูจากชื่อสำนักพิมพ์ อาจเข้าใจว่าอ่านแล้วคงเพลิดเพลินดีเหมือนวรรณกรรมเยาวชนทั่วๆ ไป แต่หากเพียงได้พลิกอ่านเพียงบทแรก น้ำตาอาจคลอเบ้าตาโดยไม่รู้ตัว ก่อนจะไหลเอ่อในบทถัดๆ ไป

ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน โปรยปกไว้ที่มุมซ้ายล่างว่า ‘เรื่องจริงของเด็กๆ และครอบครัวในเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น และการข้ามผ่านภัยพิบัติครั้งใหญ่ไปด้วยกัน’

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่โถมเข้าฝั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 คร่าชีวิตผู้คนและทำลายล้างบ้านเมืองไปอย่างจดจำภาพเดิมแทบไม่ได้ ข้อมูลในบทนำของหนังสือเล่มนี้บอกว่า มีผู้สูญหายและเสียชีวิตรวม 19,504 คน สิ่งปลูกสร้างเสียหายทั้งหลัง 120,142 หลัง และเสียหายบางส่วน 600,000 หลัง มีการตั้งศูนย์อพยพ 2,444 แห่ง และมีจำนวนผู้อพยพทันที 380,000 คน

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือผู้เขียนตั้งใจเล่าผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วยวิธีการคล้ายงานทดลอง นั่นคือเลือกเล่าเรื่องใหญ่ เรื่องที่สั่นสะเทือนหัวใจคนทั้งโลก ผ่านสายตาและตัวอักษรของเด็กน้อย

“ผมคิดว่าหากจะถ่ายทอดความเจ็บปวดนี้ในระยะยาว ถ้อยคำขาดๆ เกินๆ ของเด็กน่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าถ้อยคำสมบูรณ์แบบของผู้ใหญ่” เคน โมริ บอกถึงสาเหตุที่เลือกเล่าด้วยวิธีนี้

ผู้เขียนตระเวนไปยังศูนย์อพยพกว่า 50 แห่ง ใน 10 เมือง แล้วขอความร่วมมือจากเด็กๆ ในค่ายอพยพ ที่เพิ่งผ่านประสบการณ์อันแสนบอบช้ำ ให้ช่วยเขียนความเรียงเล่าเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้น ข้อแม้คือความเรียงเหล่านี้ไม่ได้บังคับ ไม่มีค่าตอบแทนให้ อาศัยความสมัครใจล้วนๆ ฟังเผินๆ ไม่น่าจะมีเด็กให้ความร่วมมือมากนัก เพราะในช่วงเวลานั้นคงไม่มีใครมีกะจิตกะใจมานั่งเขียนความเรียง แต่ผลกลับตรงกันข้าม มีเด็กให้ความร่วมมือมากมาย

เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด การเขียนอาจเป็นวิธีระบายไม่กี่วิธี เท่าที่สิ่งแวดล้อมขณะนั้นเอื้ออำนวย

เคน โมริ รวบรวมความเรียงของเด็ก 80 คน ตีพิมพ์ในนิตยสาร บุงเงชุนจุ ฉบับพิเศษ และได้รับการตอบรับในทางบวกอย่างล้นหลาม ก่อนจะต่อยอดเป็นหนังสือเล่มนี้

ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน เริ่มต้นแต่ละบทด้วยความเรียงของเด็กน้อย ต่อด้วยเรื่องเล่าเบื้องหลังของเด็กๆ เหล่านั้น ผ่านสายตาของผู้เขียนที่ลงไปคลุกคลีกับครอบครัวผู้ประสบภัย เรื่องเล่าเหล่านี้ทำให้เรายิ่งเข้าใจที่มาของความเรียงไร้เดียงสาบนกระดาษ และยิ่งขับให้แต่ละเรื่องทรงพลัง สั่นสะเทือนหัวใจผู้อ่านยิ่งกว่าเดิม

เรื่องราวที่ผู้เขียนคัดเลือกมาอยู่ในเล่มนั้นหลากหลาย ไม่ได้คัดเพียงผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดเท่านั้น เราจึงได้อ่านทั้งเรื่องราวของคู่พ่อลูกที่สูญเสียภรรยา ลูกชาย และญาติพี่น้องไป รวม 13 คน และเรื่องราวของครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่กันพร้อมหน้า แต่สึนามิก็เปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นจุดร่วมของทั้ง 10 บท ในหนังสือเล่มนี้ คือทุกตอนทำให้เราเห็นสิ่งสำคัญแท้จริงของชีวิตมนุษย์ การสูญเสียบ้าน สูญเสียรถยนต์ สูญเสียทรัพย์สิน กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสูญเสียพ่อแม่ สูญเสียลูก สูญเสียคนรัก

อย่างที่ผู้เขียนได้ถามเด็กชายผู้สูญเสียพ่อคนหนึ่งว่า สิ่งมีค่าที่สุดที่ได้รับจากคุณพ่อคืออะไร แล้วเด็กน้อยตอบทันทีว่า “สิ่งมีค่าของผมต้องเป็นตัวพ่ออยู่แล้วครับ”

อีกสิ่งสำคัญที่สัมผัสได้จากหนังสือเล่มที่เหมือนจะเต็มไปด้วยเรื่องราวหม่นเศร้าคือ ความหวัง เราได้เห็นแสงสว่างในความมืด เห็นการเยียวยาซึ่งกันและกันท่ามกลางความเจ็บปวด เหมือนที่เด็กชั้นมัธยม 4 เขียนเอาไว้ว่า “ตลอดชีวิต 16 ปี ผมประสบมาหมดแล้วทั้งความเศร้า ความทุกข์ ความเจ็บใจ ความเหงา ความทรมาน ความหวาดกลัว ความหิว ความยินดี ความสนุกสนาน และความดีใจ ผมไม่มีบ้านให้อยู่อีกแล้ว และยังต้องอยู่ที่ศูนย์อพยพต่อไป แต่ผมคิดว่าในเมื่ออุตส่าห์รอดชีวิตจากการถูกสึนามิไล่ล่ามาได้ จากนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะไม่ยอมแพ้ และพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไป”

กล่าวโดยสรุป, ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ทำให้เราเห็นว่า สึนามินั้นทำลายอะไรไปมากมาย และทำลายอะไรไม่ได้บ้าง

 

ความยากง่ายในการอ่าน: อ่านง่ายมาก แต่กลั้นน้ำตายากพอควร

AUTHOR