Little Chiangmai : ชุดหนังสือชวนเที่ยวเชียงใหม่ที่ทำให้เรา (เหล่าผู้รักกระดาษ) ต้องใจสั่นไหว

ชื่อหนังสือ: Little Chiangmai
ผู้เขียน: วชิรา รุธิรกนก, รัชนีกร วุฒิรัตน์, ไข่มุก แสงมีอานุภาพ, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์, ธีรภัทร ศรีวิชัย, สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

เที่ยวเมืองนอกยังพอเข้าใจได้
แต่ในยุคนี้แล้ว ถ้าเที่ยวเมืองไทยใครจะซื้อหนังสือไกด์บุ๊กมาอ่าน
ในเมื่อเรามีหลากแอพหลายเว็บไซต์ที่รีวิวการเที่ยวแบบอินไซต์ จะหาที่กิน
ที่เที่ยวก็มีพร้อมสรรพ
(หนังสือเที่ยวไทยที่นึกออกในความทรงจำก็มักจะค่อนข้างเชยด้วยจริงไหมล่ะ)
แต่พอเห็นหน้าตาเซ็ตหนังสือสีขาวๆ ดูกราฟิกๆ จากหน้าฟีดเฟซบุ๊ก
ไม่ใช่แค่คนในนั้นหรอกที่พากันคอมเมนต์กรี๊ดกร๊าด ฉันงี้แทบจะกลับคำพูด
อยากสอยไกด์บุ๊กเที่ยวเชียงใหม่ชื่อ Little Chiangmai เซ็ตนี้มาครอบครอง

เอาจริงก็ยังไม่ได้อยากเที่ยวเชียงใหม่อะไรหรอก
แค่อยากมีเซ็ตนี้ไว้ให้อุ่นใจ ตามประสาคนชอบหนังสือออกแบบสนุก แต่พอเปิดอ่าน
ฉันงี้แทบจะกลับคำพูด (อีกครั้ง) เพราะนอกจากหน้าตาสะสวย
อ่านนิดเดียวก็รู้ว่าเนื้อหาข้างในถูกปรุงรสทางการอ่านมาอย่างตั้งใจ
จนอยากจะเก็บกระเป๋าสะพายขึ้นรถไฟขบวนใหม่แล้วเที่ยวตามรอยเสียจริง

งานนี้ขอยกความดีให้คนออกแบบอย่าง rabbithood studio และเจ้าภาพจัดทำอย่าง
ททท. ที่สร้างสรรค์หนังสือชุดนี้ออกมาได้สำเร็จ Little Chiangmai เกิดขึ้นจากไอเดียการตั้งคำถามของ rabbithood studio ว่าหนังสือชวนเที่ยวที่เป็นกระดาษยังมีความหมายและทำงานกับคนยุคนี้ได้ดีอยู่ไหม
คอนเซปต์จึงเป็นการทำหนังสือที่โชว์ลูกเล่นเฉพาะตัวของกระดาษโดยเฉพาะ
ออกแบบล้อกับเนื้อหา 5 เรื่องที่แบ่งตามหัวข้อกิจกรรมต่างๆ คือ ปั่น วิ่ง
เที่ยวแหล่งศิลปะและความรู้ เข้าร้านหนังสือ และกิน!

การต่อสายถึง โจ้-วชิรา รุธิรกนก
บรรณาธิการของโปรเจกต์ ทำให้ฉันรู้ว่าไอเดียไดคัตหรือการเย็บเล่มสนุกๆ ทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป
เช่น เล่ม Gallery ที่มีการไดคัทช่องกระดาษเล็กๆ
ทะลุให้เห็นภาพของอีกหน้า มาจากไอเดียกรอบรูปที่เรามักเห็นในแกลอรี
(ฉันสนุกกับเล่มนี้มาก) เล่ม Restaurant ที่หนาเตอะเย็บเล่มด้วยหมุดเย็บกระดาษ
แถมยังมีหน้าว่างแทรกตัวอยู่อย่างแปลกประหลาด
ที่แท้มาจากไอเดียที่อยากให้คนแกะทั้งเล่มออกมาแล้วเลือกหยิบแผ่นพับข้อมูลร้านพกติดตัวไปได้
รูปขาวดำในเล่มตั้งใจสื่อเป็นนัยว่า ถ้าอยากเห็นบรรยากาศร้านของจริง
เธอต้องไปเยือนถึงถิ่นด้วยตัวเองเท่านั้น

เล่ม Bookstore ที่เรียงขอบกระดาษไม่เท่ากัน
ล้อมาจากกระดาษสารบัญที่เราคุ้นเคย เย็บกี่แล้วเปิดสันเปลือยสวยๆ ส่วนเล่ม Ride
และ Run ถึงจะมีลูกเล่นไม่จัดจ้านเท่าแต่ก็ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจเหมือนกัน
เล่มปั่นนี้เราสามารถกางหน้ากระดาษยาวๆ ออกมาซึมซับทิวทัศน์สวยๆ ให้เต็มอิ่ม
ส่วนเล่มวิ่งจะมีขนาดกะทัดรัดกว่า สมกับเป็นกิจกรรมขนาดกะทัดรัด
มีแค่รองเท้าก็ออกตัววิ่งคนเดียวได้สบายๆ ส่วนภาพเชียงใหม่เขียวๆ
ในทั้งสองเล่มต้องบอกว่าสวยระดับที่ทำให้ฉัน (ผู้ร้างลาการวิ่งมานมนาน)
อยากไปให้เห็นกับตา จะได้สูดอากาศจากต้นไม้เขียวๆ ให้เต็มปอด

ฉันชอบวิธีคิดที่พี่โจ้เล่าว่า “อยากให้คนอ่านรื่นรมย์กับการอ่าน
ใช้เวลากับกระดาษ เพราะพอเทียบออนไลน์ มันเร็วมาก แต่เล่มนี้จะดึงเวลาให้ช้าลง
คนอ่านต้องค้นหาประสบการณ์เองว่าเล่มนี้อ่านยังไงนะ
เป็นการเพิ่มเวลาในการอยู่กับกระดาษให้มากขึ้นกว่าแค่การพลิกหน้าเฉยๆ”

เนื้อหาทั้งหมดทั้งมวล คัดสรร
ส่งตรง ขัดเกลา โดยเจ้าบ้านชาวเชียงใหม่ผู้รู้จริงในเรื่องต่างๆ
ช่างกินก็เขียนเรื่องกิน ช่างปั่นก็เขียนเรื่องปั่น
ความอินไซต์ยิ่งเสริมพลังให้หนังสือชุดนี้ไม่สวยแค่เปลือก แต่ยั่วเย้าให้ออกเดินทางจริงๆ
สักที

ขออนุญาตยกตัวอย่างจุดที่ตกหลุมรัก : เล่มวิ่งที่โชว์ระดับความชัน
(เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองภูเขา) การคัดเส้นทางที่มีทั้งง่ายและยากปะปนกันไปให้รู้สึกท้าทาย
และเรื่องราวข้างเคียงกระจุกกระจิกอย่างตลาดนัดออแกนิกในเส้นทางวิ่งบางเส้น /
รายชื่อร้านอาหารเมืองไม่คุ้นหูแบบที่คนเชียงใหม่ไปกินจริงๆ
แนะนำเมนูคนเมืองจริงๆ อย่างแกงผักหวานใส่ไข่มดส้ม แอบผึ้ง แค่นี้ก็น้ำลายสอ /
ความหลากหลายของเล่ม Gallery ที่ไม่ได้แนะนำแค่พื้นที่ศิลปะ
แต่ยังมีพิพิธภัณฑ์สวนสัตว์แมลงสยาม หรือวัดที่เป็นอนุสรณ์สงครามโลกของครั้งที่ 2
เป็นต้น

เอาเป็นว่าไม่ต้องห่วงเรื่องเนื้อหา ห่วงแค่ว่าจะตามกินเที่ยวให้ครบได้เมื่อไหร่

“ผลตอบรับมันเกินคาดมาก” พี่โจ้ว่าเมื่อฉันแอบถามว่าทีมงานได้คำตอบเรื่องความเชื่อที่ตั้งคำถามไว้แต่แรกไหม
“พอเห็นแบบนี้ก็เชื่อว่าจริงๆ
แล้วงานกระดาษยังมีที่ทางของมันอยู่แน่ๆ แค่เราอาจจะจำเป็นต้องใช้ทักษะการออกแบบไปช่วยแก้ปัญหา
ทำยังไงมันถึงจะโชว์ศักยภาพของมันให้ได้มากที่สุด เพียงแต่คุณอาจจะต้องยอมทิ้งรูปแบบเดิมๆ
ความเชื่อเดิมๆ ที่ทำกับงานกระดาษ”

ฉันเชื่อที่พี่โจ้บอกว่านี่คืองานที่คิดเอามัน
ถึงจะมีบางจุดที่เปิดอ่านยากกว่าปกติสักนิด แต่เมื่อหักล้างด้วยความตั้งใจ
ความรู้สึกอิ่มทางใจของผู้รักกระดาษ และความน่ารักเล็กๆ ของเชียงใหม่ในเล่ม
ก็ต้องยอมรับว่ามันดีต่อใจจริงๆ

ความยากง่ายในการอ่าน: เนื้อหาอ่านง่ายมากถึงมากที่สุด ยากแค่อ่านยังไงให้รูปเล่มคงสภาพสวยงามเสมอเท่านั้นแหละ

ป.ล. Little Chiangmai ไม่ได้วางแผงทั่วไป ใครสนใจติดต่อสั่งที่ The Booksmith นะ

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR