When Breath Becomes Air : สบตาความตายแล้วก้าวเดินต่อไป

ชื่อหนังสือ: When Breath Becomes Air เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ
ผู้เขียน: Paul
Kalanithi
ผู้แปล: โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์: openworlds

ต้นฉบับ ‘When Breath
Becomes Air’
ของพอล กาลนิธิ เมื่อแปลเป็นไทยยาวเพียง 143 หน้า สาเหตุความบางคือผู้เขียนโดนโรคมะเร็งเล่นงานหนักจนไม่อาจเขียนต่อได้และจากไปในที่สุด

แต่ 143 หน้านั้นก็มากพอที่จะบรรจุประสบการณ์เผชิญหน้าความตายอันล้ำค่าของพอลเอาไว้
เป็นประสบการณ์ที่ชวนให้สะเทือนใจตั้งแต่เริ่มอ่าน เพราะเรามักยอมรับได้กับความตายในช่วงวัยชรา
แต่นี่คือบันทึกการเดินทางสู่ความตายของประสาทศัลยแพทย์หนุ่มวัย 36 ปีที่มีอนาคตรุ่งโรจน์รออยู่

บทแรกของหนังสืออาจเรียกได้ว่าเป็นการแนะนำตัวพอลให้ผู้อ่านรู้จัก
ตั้งแต่เด็ก พอลสนใจว่าสิ่งใดทำให้ชีวิตมนุษย์มีความหมาย
แรกเริ่มเขาตามหามันในงานวรรณกรรม นำไปสู่การเรียนด้านวรรณคดีอังกฤษ
จากนั้นเขาก็เริ่มตามหาคำตอบในดินแดนใหม่
จนจบเกียรตินิยมจากวิทยาลัยการแพทย์แห่งเยล ในบทแรกนี้เองที่เราได้รับอภิสิทธิ์ก้าวเข้าไปสำรวจโลกของแพทย์
โลกของผู้คนที่ทำงานหนัก แบกรับความรับผิดชอบในการดูแลชีวิตคน
ใกล้ชิดความตายแค่ปลายนิ้ว และเลี้ยงตัวอยู่ระหว่างศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ เช่น
เพื่อนร่วมชั้นของพอลที่อดหลับอดนอนจนแอบภาวนาให้มะเร็งของคนไข้แพร่กระจายจะได้ไม่ต้องผ่าตัด
แต่เมื่อมะเร็งแพร่กระจายจริงๆ เธอก็วิ่งออกมาร้องไห้เสียใจในสิ่งที่คิดนอกห้อง

แม้เป็นงานเหนื่อยหนัก การเป็นแพทย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ก็คืองานที่พอลรัก
ทุ่มเทชีวิตให้ และเขาก็ทำมันได้ดี ไม่น่าแปลกที่เมื่อมองไปข้างหน้า
พอลจะเห็นอนาคตสดใสทอดยาว มีหน้าที่การงานรุ่งเรือง
รวมถึงมีครอบครัวสมบูรณ์ด้วยสมาชิกใหม่ตัวน้อยๆ ทว่า จู่ๆ
ชายหนุ่มก็พบว่าตัวเองน้ำหนักลดและปวดหลังรุนแรง
ผลการตรวจจากโรงพยาบาลบอกว่าเขาเป็นมะเร็ง

อนาคตที่เห็นแค่เอื้อมคือสิ่งที่พอลไม่มีวันไปถึง

ในบทที่สองซึ่งเป็นบทสุดท้าย คือบันทึกช่วงเวลาการรับมือกับโรคร้าย
น้ำหนักของความตาย และการทบทวนกอบกู้ชีวิต ตอนเขียนต้นฉบับ พอลอาจปิดคอมและร่ำไห้ให้กับโชคชะตาตัวเอง
แต่ในตัวอักษรของเขา ฉันได้ยินน้ำเสียงที่เข้มแข็ง ไม่ฟูมฟาย
บอกเล่าสิ่งที่ผู้เขียนคิดและทำเมื่อเผชิญความเจ็บและความตายในระยะประชิด

แม้เป็นแพทย์ที่พบความตายอยู่แทบทุกวัน แต่เมื่อพอลเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ป่วยเสียเอง
ฉันก็ได้รู้ว่ามันไม่เหมือนกันเลย ขณะเดียวกัน เรามักได้ยินว่าความตายหรือการเฉียดใกล้ความตายเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต
พอลบอกว่ามันไม่ได้เปลี่ยนเขา ‘…แต่รู้สึกคล้ายมีใครบางคนวางระเบิดหนทางข้างหน้าจนราบ
ตอนนี้ผมต้องพยายามฝ่าฟันมันไปให้ได้’
การฝ่าฟันของพอลคือการพยายามเข้าใจโรคที่ตัวเองเป็น
ดูแลคนรอบข้าง ขณะเดียวกันก็หวนกลับมาถามตัวเองถึงสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตในยามนี้ สิ่งที่เขาเลือกคือการกลับไปเป็นแพทย์อีกครั้งนานเท่าที่โชคชะตาอนุญาต
และเลือกมีลูกสาวน่ารักชื่อ เคดี้ หากสิ่งที่มีความหมายก็ไม่ได้เป็นสิ่งเดิมเสมอไปตลอดช่วงเวลาที่เหลืออยู่
ฉันได้พบจากประสบการณ์ของพอลว่าการอยู่กับโรคร้ายไม่ได้มีแค่การคร่ำครวญหรือยอมรับ
แต่ยังมีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันหนึ่งคุณอาจมุ่งมั่นเป็นแพทย์
แต่อีกวันคุณอาจจะแค่อยากหันหน้าเข้าหาศาสนา ‘…ความตายอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดเพียงครั้งเดียว
ทว่าการมีชีวิตอยู่กับอาการป่วยระยะสุดท้ายคือกระบวนการอย่างหนึ่ง’

แน่นอนว่าผลการต่อสู้กับโรคร้ายและความตายของพอลคือการพ่ายแพ้
แต่ก่อนจะถึงปลายทางนั้น ฉันค่อนข้างชื่นชมที่พอลรับมือกับมันได้อย่างแข็งแกร่ง
ความยากเย็นหนึ่งของการเผชิญความตายในวัยหนุ่มสาวคือ
พวกเราอยู่ในวัยที่เต็มไปด้วยพละกำลัง สังคมสนับสนุนให้เราพุ่งทะยานไปข้างหน้า
และไม่มีใครคาดว่าเราจะตาย เมื่อคนอย่างพอลหยุดนิ่ง เขาจึงต้องเห็นเพื่อนวัยเดียวกันก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ยังไม่นับเหตุการณ์น่าสะเทือนใจอย่างวันที่เขาเข้าผ่าตัดคนไข้เป็นครั้งสุดท้าย
เพราะอาการหนักเกินกว่าจะมีครั้งต่อไป พอลรับมือสิ่งเหล่านี้ได้ดี อาจเสียใจ ทดท้อ แต่ไม่พังทลายหมดรูป เขาตัดสินใจก้าวเดินต่อไป
และครุ่นคิดทบทวนอยู่ตลอดเวลาที่เหลือ (พอลมีพื้นฐานด้านปรัชญาและวรรณกรรม
เราจึงได้พบสิ่งเหล่านี้สอดแทรกเสริมความเฉียบคมของสิ่งที่เขาคิดอยู่เป็นระยะ) ขณะเดียวกัน
เขาก็เริ่มหันกลับมาหาศาสนาและวรรณกรรมอันเป็นสิ่งที่ตอบสนองกับแง่มุมเชิงจิตวิญญาณ และในหน้าท้ายๆ ฉันก็พบว่าในที่สุดเขาก็มองว่าสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนไล่ตาม
แท้จริงคือการ ‘ไล่ตามสายลม’ ไม่ใช่พอลที่มีมุมมองเช่นนี้เป็นคนแรก
แต่เขาเป็นอีกคนที่ยืนยันในสิ่งที่เราเคยได้ยินกัน

ฉันไม่ใช่แพทย์ อาจไม่ได้จากโลกนี้ไปด้วยมะเร็ง และสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราทั้งคู่มีความหมายอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
แต่ฉันยังมองว่าประสบการณ์ของพอลเป็นเหมือนตำราอีกเล่มที่น่าลองอ่าน
เพราะสุดท้ายก็เป็นไปได้สูงที่เราจะเผชิญโรคร้ายเข้าสักวัน
และแน่นอนเหลือเกินว่าเราทุกคนล้วนมีความตายเป็นปลายทาง การเตรียมตัว
ตุนเสบียงบ้างย่อมดีกว่าการสู้รบมือเปล่า

ความตายจะรออยู่ในอีกสิบปีหรือมาเป็นเพื่อนร่วมเตียงในค่ำคืนนี้-ใครเล่าจะรู้

ความยากง่ายในการอ่าน: ไม่ง่ายมากแต่ไม่ยากจนเกินไป
คนที่มีพื้นฐานปรัชญาและวรรณกรรมน่าจะยิ่งอ่านได้อรรถรส

AUTHOR