งานศิลปะที่เราเห็นส่วนใหญ่อาจมาจากไอเดียที่ซับซ้อน ไม่ซ้ำใครและได้กลายมาเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ในความเป็นจริง การหยิบยกชิ้นส่วนธรรมดารอบตัวมาสร้างเป็นผลงานก็สามารถทำให้คนเสพงานศิลปะอย่างเรารู้สึกอิ่มใจและเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างได้เช่นกัน
จากความคุ้นชินที่มักจะหยิบดินสอขึ้นมาสเกตช์ภาพลงบนกระดาษแผ่นบางเพื่อบันทึกเหตุการณ์ สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ พา ‘พิแน’ หรือ ‘แพร–ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์’ ก้าวเข้าสู่โลกศิลปะที่ไร้จุดสิ้นสุด รวมถึงทำให้เธอตกหลุมรักในความธรรมดารอบตัวและได้ทดลองสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานหลายรูปแบบ
‘พิแน’ ศิลปินนักวาดอิสระที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักในฐานะเจ้าของผลงาน ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ หนังสือที่เล่าถึงความเหมือนและความต่างในบริบทสังคมที่เปลี่ยนยุคไปแล้วผ่านบทสัมภาษณ์วัยรุ่นของสองยุคสมัย และล่าสุดเธอได้มีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่เธอได้ลงมือทำเองตั้งแต่ต้นจนจบอย่างนิทรรศการ ‘บันทึกก่อนจากลา แด่เพื่อนเก่าของฉัน’
ในวันที่นิทรรศการล่าสุดเริ่มขึ้น เราจึงเดินทางไปพูดคุยกับพิแนด้วยความตั้งใจที่อยากจะบันทึกเรื่องราวบนเส้นทางศิลปะและความเป็นเธอให้มากที่สุด เหมือนกับที่เธอมอบใจและใส่ใจในทุกรายละเอียดให้กับผลงานทุกชิ้น
ไม่ว่าจะเป็นน้องตุ๊กตาหมีตัวโปรดในวัยเด็กหรือปลาคาร์ฟที่ว่ายอยู่ในบ่อปลาหน้าบ้าน ทุกสิ่งที่เรียบง่ายและแสนธรรมดาเหล่านี้สามารถเกิดเป็นงานศิลปะที่เล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และความพิเศษในแบบของมันที่เราคาดไม่ถึง จนทำให้คนที่เสพเรื่องเล่าผ่านภาพของเธอรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น ความเหงา ความสนุก และความผ่อนคลายจากแผ่นภาพบันทึกการเดินทางของเธอ
สังเกต เลือกสรร ทดลองทำ สูตรศิลปะ โดย พิแน
‘พิแน’ คือ ‘แพรนิ’ ก็คือเราเอง
“เพราะว่าเราไม่ต้องการให้มันเป็นใคร เราไม่อยากจะพยายามเป็นใคร
เรารู้สึกว่างานศิลปะก็คือเรา”
เบื้องหลังผลงานที่หยิบยกความธรรมดามาเติมแต่งของพิแนเริ่มมาจากความเคยชินในตอนที่เธอออกเดินทางหรือใช้เวลากับคนอื่น ท่ามกลางผู้คนที่พูดต่อบทสนทนากัน พิแนจะเป็นคนที่พูดน้อย แต่เธอจะตั้งใจฟังทุกบทสนทนา เลือกสิ่งที่เธอสนใจแล้วจึงเก็บความทรงจำเหล่านั้นผ่านการลากเส้นสเกตช์ ดังนั้นไม่ว่าผลงานไหนที่เธอหยิบขึ้นมา เธอก็สามารถเล่าให้ฟังได้ว่าเหตุการณ์ในรูปเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหนและเธอตั้งใจที่จะเล่าเรื่องอะไร ซึ่งเธอมองว่าการวาดรูปเหล่านี้เป็นการโชว์ความรู้สึก ณ ตอนนั้นของเธอ
“อย่างอันนี้เป็นภาพสวิงแดนซ์ที่ต่างประเทศ” พิแนชี้ไปให้เราดูภาพที่ฟุ้งไปด้วยสีสันสดใสของฝูงคนหลายคู่ที่กำลังจับมือเต้นรำ “เป็นภาพไวๆ ที่ไม่ได้จะเก็บโมเมนต์อะไรมาก แต่อยากให้มีสีเยอะๆ เพื่อสื่อว่าทุกคนกำลังเต้นอย่างมีความสุข ซึ่งสี ลายเส้นหรือแม้แต่เนื้อกระดาษ มันก็โชว์เรื่องราวบางอย่าง”
พิแนก็ไม่ต่างจากเราหลายคนที่เคยลองผิดลองถูกกับสิ่งที่สนใจ อย่างงานอดิเรกเล็กๆ ที่เริ่มจากความชอบจดบันทึกการเดินทางและสิ่งรอบตัว จนการทดลองนั้นได้แตกยอดออกมาเป็นการมองเห็นคุณค่าบางอย่างที่ผลักดันให้เติบโตมาเป็นตัวพิแนในปัจจุบัน
“พอเราทดลองทำออกมาเรื่อยๆ เราได้คุยกับตัวเอง ได้สื่อสารเรื่องที่เราอยากจะเล่า เรื่องนั้นมันเลยไปถึงคนดูและเขาได้ข้อความบางอย่างกลับไป เราเลยเห็นมูลค่าของงานนี้ ว่ามันทำให้เกิดบทสนทนาต่อ ได้สร้างคุณค่าขึ้นมา เราเลยอยากจะทำต่อ”
การสร้างศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นมาจากศิลปะ
แม้ปัจจุบันจะมีการเปิดกว้างและให้การยอมรับมากว่า ศิลปะนั้นไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังตัดสินว่าภาพๆ หนึ่งเป็นภาพที่สวยหรือไม่สวยตามมาตรฐานของสังคม พิแนเล่าย้อนไปถึงมุมมองในวัยเด็กต่อศิลปะที่ถูกหล่อหลอมด้วยกรอบอันจำกัดและตั้งมาตรฐานว่าศิลปะมีเกณฑ์ที่ทุกคนต้องทำตาม จนพาลให้ก่อนหน้านี้เธอมองศิลปะในแง่ลบและไม่ชอบศิลปะไปด้วย
“จริงๆ ตอนแรกเกือบจะไม่ชอบศิลปะแล้วด้วยซ้ำ เพราะอาจารย์ให้วาดรูปต้นไม้แล้วเราวาดเป็นแบบที่มันไม่ใช่รูปร่างปกติ แล้วเขาก็ตีเรา ตอนนั้นเราเลยเข้าใจว่าศิลปะมันเป็นเรื่องแบบมีถูกมีผิด แต่เราเพิ่งมาชอบจริงๆ ตอนที่ได้รู้ว่าศิลปะมันมีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด”
“ยิ่งได้ไปดูงานตามนิทรรศการในไทยที่นำเสนอผ่านสื่อหลายอย่างและไม่ได้มีแค่ภาพวาด เรายิ่งเห็นความเป็นไปได้และกระบวนการความคิดที่ศิลปะสื่อสารผ่านงานออกมาให้เราได้รับรู้ แล้วเรารู้สึกตามกับมัน หรือบางทีเราก็ได้รู้เรื่องราวของใครบางคนมากขึ้นผ่านงานศิลปะ”
เรื่องเล่าวัยเด็กของพิแนพาให้เราย้อนคิดถึงประสบการณ์ตอนเราในวัยประถมที่เราเองก็ชอบหยิบสีเทียนมาวาดขีดเขียนตามใจ แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีใครออกปากห้ามหรือตัดสินภาพที่เราวาด เลยเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าถ้าในตอนนั้นเราโดนตีกรอบให้วาดแต่ ‘ศิลปะที่ถูกต้อง’ เท่านั้น เราจะชอบศิลปะและอยู่กับมันมานานได้เหมือนพิแนไหมนะ
การเป็นนักเล่าเรื่องที่เป็นมากกว่าการเล่าเรื่องผ่านภาพ
ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่เราสามารถพึ่งพาอุปกรณ์หรือช่องทางต่างๆ ในการเก็บบันทึก พิแนกลับเห็นถึงคุณค่าและเสน่ห์ของการบันทึกความทรงจำด้วยการเขียนและการวาด เธอเล่าให้ฟังว่าการจดบันทึกนั้นต่างจากการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปหนึ่งแชะแล้วจบ เพราะมันเป็นสิ่งที่ใช้เวลา ความพยายามและความตั้งใจในการเก็บเกี่ยวเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น
“เราชอบหยิบความธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันมาทำให้มันกลายเป็นสิ่งพิเศษ เพราะเราใส่ความคิดเรา หรือเก็บบรรยากาศรอบตัว หรือเรื่องราวนั้นมาเล่าผ่านลายเส้นอีกทีหนึ่ง”
“ความทรงจำเราสามารถหล่นหายได้ทุกเมื่อ แล้วมันก็จำกัดมาก เหมือนไอโฟนเครื่องหนึ่งที่ถึงเราจะเพิ่มพื้นที่จัดเก็บแค่ไหน มันก็ต้องเต็มอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือจดสิ่งที่เราอยากจะจำจริงๆ”
“การจดบันทึกทำให้เราจำตัวตนเราได้ ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเราคิดอะไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเราทุกวันนี้ งานเรามันมีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เกินความจริง เป็นความทั่วไปธรรมดา บางทีคนมาเห็นเขาก็รีเลทกับชีวิตเขาได้เหมือนกัน มันก็เป็นทั้งการคุยกับตัวเองแล้วก็คุยกับคนดู”
ลายเส้นดิบๆ แต่แฝงไปด้วยรายละเอียดที่ตั้งใจจะเก็บ
ผลงานของพิแนไม่ได้มีเพียงภาพวาดบันทึกการเดินทางเท่านั้น แต่ยังมีหนังสือทำมือหรือที่พวกเราอาจจะคุ้นกันในชื่อ ‘ซีน’ (Zine) ซึ่งเธอได้นำเรื่องราวในแต่ละเล่มมาถ่ายทอดลงบนกระดาษ พิแนมองว่าแม้จะเป็นเพียงแผ่นกระดาษบางๆ แต่มันมีคุณค่ามากสำหรับเธอ แถมยังพูดให้ฟังอีกว่าเธอชอบกิมมิกของหนังสือที่ข้างนอกอาจจะดูธรรมดา แต่พอเปิดไปแล้วกลับมีสารพัดเรื่องราวให้เราได้ค้นพบอยู่ด้านใน
คอนเซปต์ผลงานของพิแนมักนำเสนอความรู้สึกที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งการแตกสลาย ความรู้สึกโดดเดี่ยวและความรู้สึกอบอุ่นหัวใจ แต่ผลงานทุกชิ้นของเธอจะมี ‘ความดิบ’ เป็นส่วนผสมหลักที่เธอใส่ลงไปในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นความดิบที่เนื้อเรื่อง สีที่เลือกใช้ หรือแม้แต่ลายเส้นและวิธีการวาด ซึ่งความดิบนี้ไม่ได้เกิดจากเวลาที่มีจำกัดหรือปัจจัยอื่นภายนอก แต่มาจากตัวตนภายในของเธอ
“เราว่างานเรามีความดิบทุกงานเลยนะ แต่เป็นความดิบที่เราตั้งใจและจริงใจ ไม่ได้เป็นงานเผาหรือลวก เพราะถ้ามีเวลาเยอะเราก็ยังอยากจะเขียนอย่างนี้อยู่ดี”
“ตอนแรกเราไม่ชอบสีเลย เราวาดขาวดำมาตลอด มันคือการวาดเก็บรายละเอียดแคปเชอร์ไวๆ เวลาไปไหนก็พกแค่สมุดแล้วก็ดินสอ 1 แท่ง เราเพิ่งมาใช้สีจริงๆ ตอนไปแลกเปลี่ยน เพราะเรามีเวลาได้ซึมซับแต่ละสถานที่มากขึ้น ซึ่งแต่ละวันเราจะเลือกสีไปแล้วก็วาดให้เสร็จ จะไม่มีการถ่ายรูปแล้วค่อยมาวาด”
ศิลปินผู้เติบโตจากธีสิสหนังสือทำมือ
สู่นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก
สมัยนั้น สมัยนี้ ความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างโดยช่วงวัย แต่ก็ยังเป็นมนุษย์เหมือนกัน
ถึงแม้พิแนจะเป็นคนที่มักจะเป็นผู้ฟังและพูดน้อย แต่เพื่องานที่เธอตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เธอเองก็มีผลงานที่เธอต้องคุยกับคนอื่นมากถึง 30 คน ซึ่งนับว่าเป็นการพูดคุยกับคนมากสุดในชีวิตของเธอที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นชื่ออย่างหนังสือ ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ ที่อาจเรียกว่าเป็นผลงานแจ้งเกิดของพิแนเลยก็ว่าได้
“เราชอบคุยกับคนที่เป็นผู้สูงวัยและชอบเรื่องราวบางอย่างที่เป็นบริบทที่เราเกิดไม่ทัน เลยอยากจะเอาเรื่องของผู้สูงวัยในบริบทต่างๆ มาเล่าในเชิงว่าเขาเจออะไรมาในวัยรุ่นสมัยนั้นและแชร์กลับไปในวัยรุ่นสมัยนี้ ดูว่าเราเจออะไรที่ต่างหรือเหมือนกัน ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าที่ผู้สูงวัยคิดต่างกับเรา มันเป็นเพราะบริบทที่ต่างกัน”
“พอกลับมาดู ตอนนั้นมันก็ท้าทาย สนุก แล้วก็เหนื่อยนิดหนึ่งที่ต้องคุยกับคน แต่ในระหว่างทางเราแฮปปี้มาก ที่มีคนมาอ่านแล้วเขามีบทสนทนาต่อกับคนที่บ้าน”
ตลอดบทสนทนาที่พิแนได้เล่าถึงผลงานของเธอหลายสิบชิ้น เราเห็นถึงประกายในตาของเธอทุกครั้งที่ได้มีโอกาสหยิบงานถัดไปขึ้นมาแนะนำให้เรารู้จัก จนเราเกิดคำถามขึ้นมาว่าในกองผลงานทั้งหมดของเธอ มีผลงานไหนที่เป็นผลงานที่ชอบที่สุดไหมนะ พิแนนั่งนิ่งใช้ความคิดสักพัก ก่อนจะตอบพร้อมรอยยิ้มบางๆ
“ชอบหมดเลย เราเป็นคนไม่มีลูกรัก ทุกคนคือลูกรักเรา
เพราะทุกอันตอนทำ เราให้ใจมากๆ
เรามองว่าศิลปะคือเรา ถ้าเราไม่ชอบมันเราก็ไม่ทำ แต่ถ้าเราชอบเราก็จะทำ”
คำตอบของพิแนทำเราประหลาดใจไปเลย เพราะขนาดเราที่แค่เรียนวิชาศิลปะสมัยมัธยมฯ เรายังมีผลงานชิ้นโปรดที่คิดว่าตัวเองทำออกมาดีที่สุด แต่สำหรับพิแน เธอเป็นคนมองศิลปะอย่าง ไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่มีสวยที่สุดหรือไม่สวยเลย เธอจะมองเพียงความเป็นงานศิลปะที่เธอตั้งใจและให้ใจเท่านั้น
เรายังคงมีคำถามติดอยู่ในใจว่าพิแนจะไ่ม่มีผลงานที่ชอบที่สุดจริงหรือ เราเลยลองให้เธอเลือกผลงานที่คิดว่าภูมิใจที่สุดในฐานะศิลปินแทน ซึ่งคำตอบของเธอก็ทำให้เรารู้สึกประทับใจอีกครั้ง
“คงเป็นนิทรรศการ ‘บันทึกก่อนจากลา แด่เพื่อนเก่าของฉัน’ เพราะว่าเป็นงานล่าสุด เป็นเราในเวอร์ชั่นนี้ก็เลยชอบที่สุด ซึ่งป็นงานที่ได้อยู่กับตัวเองเยอะกว่างานอื่นด้วย มันเป็นการกลับไปมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นตอนเป็นเด็ก แล้วเล่าออกมาเป็นนิทานหนึ่งเล่ม’”
“พบเจอ ออกเดินทาง เติบโต และจากลา”
‘บันทึกก่อนจากลา แด่เพื่อนเก่าของฉัน’ นิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราวของพิแนและเพื่อนสนิทอย่างเหล่าตุ๊กตาในวัยเด็กที่ได้เดินทางผ่านช่วงเวลาและเรื่องราวต่างๆ มาด้วยกัน แต่ในวันนี้พวกเขาต้องโบกมือลาจากกันไปเพื่อเติบโตและไปต่อ โดยในนิทรรศการนี้
พิแนได้ลองทำผลงานหลากหลายรูปแบบสมกับที่เธอมองว่างานศิลปะคือการทดลอง ซึ่งงานนี้เป็นงานที่เธอได้ทำหนังสือนิทานครั้งแรกที่เป็นความตั้งใจหลักและจุดเริ่มต้นของการต่อยอดไปยังผลงานรูปแบบอื่นที่พูดถึงเรื่องการจากลาและการเติบโต
ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานที่ต่อยอดจากหนังสือนิทานทำมือ ไม่ว่าจะเป็นการเย็บผ้าม่าน 8 ชิ้นที่นำเสนอนิทานทั้ง 9 ตอน ซึ่งพิแนยอมรับว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะเธอต้องใช้เครื่องเย็บผ้าเองนานกว่าหลายสัปดาห์ นอกจากนี้เธอยังลงมือเข้าสตูดิโอปั้นเซรามิกด้วยตัวเองอีกด้วย จนผลงานทั้งหมดได้ร้อยเรียงกันเป็นบันทึกการเดินทางที่เล่าถึงเส้นทางการเติบโตของตุ๊กตาเหล่าเพื่อนสนิทในวัยเด็ก ตัวเธอในอดีตและตัวเธอในปัจจุบัน
“จริงๆ ทุกคนต้องจากลากับบางสิ่งบางอย่างอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรที่ถาวร แต่ว่ามันจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง เด็กเองก็เจอกับการจากลาได้เหมือนกัน”
“งานนี้เหมือนเป็นการพูดถึงการจากลาก็จริง แต่อยากจะบอกทุกคนที่มาดูว่า การจากลามันก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต เราจากลาเพื่อเราจะได้เรียนรู้และไปต่อ แล้วก็เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น”
“มันไม่ใช่งานอาร์ตที่ทุกคนมาดูแล้วจบ เพราะเราคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการส่งต่อ เลยเกิดเป็นกิจกรรมกระบวนการร่วมกับเด็กจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กของวัดดวงแข แล้วพอวันที่จัดกิจกรรมมันเกิดขึ้น เรารู้สึกตื้นตันมาก ทุกๆ วันนี้ที่เลยมาก็มีความสุขมาก ที่เหลือต่อจากนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นมันคือกำไรของงานแล้ว”
“เราเขียนผนังกำแพงนิทรรศการเป็นอย่างสุดท้ายเพราะทำใจประมาณหนึ่ง ตอนที่เขียนเราเลยรู้สึกอยากร้องไห้ เพราะรู้สึกว่าเมสเซจที่เขียนเหมือนเราได้คุยกับตัวเองในวัยเด็ก น้องหมีที่ทำในนิทานเป็นตัวแทนของเราในวัยนั้น ส่วนเด็กผู้หญิงในนั้นก็คือเราที่เติบโตขึ้นแล้วต้องไปต่อกับบางอย่าง”
ความธรรมดาที่เป็นทั้งการจุดประกายไอเดียสร้างงานชิ้นใหม่และพื้นที่ฮีลใจเวลาหมดแรง
แรงบันดาลใจและเรื่องราวที่พิแนหยิบมาเล่าผ่านผลงานมักจะมาจากสิ่งรอบตัว แต่ความธรรมดาเหล่านี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ซ้ำเดิม และขาดความน่าตื่นเต้น ถ้าหากเป็นบางคนอาจจะรู้สึกเบื่อและหมดไฟได้ง่ายๆ แล้วพิแนที่ขยับจากงานอดิเรกอย่างการสเก็ตช์วาดเล่นๆ มาสร้างงานศิลปะเป็นอาชีพจะเคยหมดไฟบ้างไหมนะ
“บ่อยเหมือนกัน เราว่าทุกคนที่ทำงานอะไรก็ตามต้องมีความรู้สึกนี้ เหมือนบางทีเราอยากจะเติบโตหรือทำอะไรที่สร้างคุณค่ามากๆ แต่พอกลับมามอง มันไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้”
“หลังจากกลับมาจากไปแลกเปลี่ยน เราก็กลับมาอยู่บ้านนานๆ เลยจะมีงานวาดที่เป็นรูปปลาคาร์ฟหรือรูปหมาตัวเอง นี่ก็เป็นอะไรง่ายๆ ที่ไม่ต้องไปเที่ยว แต่ก็ยังเป็นภาพวาดที่มีเรื่องราวอยู่ดี” พิแนตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจพร้อมอมยิ้มเล็กๆ
ภาวะหมดไฟเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างไรก็ตามการก้าวข้ามของพิแนกลับเป็นวิธีที่เรียบง่ายสมกับแนวคิดการทำงานในแบบของเธอ เพียงกลับมามองสิ่งรอบตัวที่เราเจอในทุกวัน ไม่ต้องกดดันตัวเองให้สร้างงานที่ยิ่งใหญ่หรือประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดก็ได้ เพราะไม่ว่ายังไงสิ่งที่เราทำต้องมีคุณค่าในแบบของมันแน่ๆ
“ทุกอย่างคือการผิดพลาดเพื่อเรียนรู้และไปต่อ”
หัวใจของการเป็นศิลปินอิสระ จาก ศิลปินอิสระคนหนึ่ง
พิแนเองก็เป็นหนึ่งในศิลปินนักวาดอิสระที่ได้เจอผู้คนหลากหลายและได้รับความคิดเห็นมากมายทั้งดีและไม่ดี แล้วเธอมีอะไรที่อยากจะบอกกับศิลปินอิสระบ้าง
“ไม่ว่าผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง อย่าเพิ่งท้อ เพราะว่ามันไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนที่ทำ”
“ในปัจจุบันมันมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าการที่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเยอะ เลยอยากให้เชื่อในตัวเองมากๆ ถ้าเราจริงใจกับมันแล้วเราเชื่อในสิ่งนี้ เราจะเจอสิ่งที่ใช่สำหรับเราหรือสถานที่หรือผู้คนที่ถูกดึงดูดด้วยสิ่งที่เราทำ สำหรับเรา ในฐานะคนที่เสพงานคนอื่น ถึงงานมันจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่เราดูออกว่าคนนี้ตั้งใจมาก”
ยิ่งได้คุยกับพิแน เรายิ่งเห็นถึงความเป็นไปได้ของศิลปะอันไม่รู้จบอย่างที่เธอได้พูดไว้ช่วงแรก แล้วในอนาคตเธอยังมีอะไรที่อยากทดลองทำอีกบ้างไหมนะ
“อยากจะทดลองหลายๆ สื่อ มันมีอีกหลายฟอร์มของงานศิลปะที่ทำได้ แต่มีอย่างหนึ่งที่เคยอยากทำมากคือพวกงานเคลื่อนไหว เพราะว่างานเรามันดูขยับได้”
“การทำหนังสือนิทานเด็กเราก็อยากทำมานาน ซึ่งในนิทรรศการนี้ก็เป็นการทำครั้งแรก มันก็ค่อนข้างท้าทายเหมือนกันเพราะว่าเราไม่เคยวาดสีทั้งเล่ม แล้วก็ใช้เวลานานมากประมาณ 2 เดือน เพราะปกติเราวาดไวๆ พอทำเสร็จแล้วก็เลยรู้สึกคอมพลีตตัวเองประมาณหนึ่ง”
คุยกันมาสักพักจนถึงคำถามสุดท้ายที่เป็นความตั้งใจหนึ่งของเราที่อยากจะให้บทความนี้เป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความทรงจำเล่มหนึ่งไว้ให้พิแนได้กลับมาอ่านและเปิดโอกาสให้อีกหลายคนได้มาทำความรู้จักตัวตนและผลงานของเธอ
“ถ้าเปรียบคำถามนี้เป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความทรงจำ อยากบอกอะไรกับตัวเองในอดีตและตัวเองในอนาคตบ้าง”
“ขอบคุณที่ทำมัน ขอบคุณที่วาดออกมา ขอบคุณที่เขียนออกมา”
“พอเราได้กลับมาอ่านในสิ่งที่เราเคยทำ เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
แล้วก็เห็นการเติบโตของตัวเอง”
“อยากให้ยังคงชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ
แล้วก็ It’s okay มากถ้าจะรู้สึกว่าสิ่งนี้มันใช่หรือไม่ใช่
เราไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ ทุกอย่างคือการผิดพลาดเพื่อเรียนรู้แล้วก็ไปต่อ”
“เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับลายเส้นหรือตัวตนใดตัวตนหนึ่ง”
“ชีวิตคือการทดลอง งานศิลปะก็เป็นการทดลองเหมือนกัน”
พอได้ฟังพิแนส่งความในใจถึงตัวเองในอดีตและอนาคตแล้ว มันทำให้เราเองได้กลับมาตกตะกอนและคิดกับตัวเองลึกๆ เหมือนกันว่า ถึงแม้จะมีช่วงเวลาไหนที่เราก้าวพลาดและผิดหวัง หรือมีปัจจัยภายนอกและภายในที่ทำให้เราหรือตัวตนของเราเปลี่ยนไป แต่มันก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงมันก็คือเราในช่วง ณ ขณะหนึ่งที่จะพาให้เราได้เติบโตในโลกที่กว้างใหญ่ไปกับความใฝ่ฝันที่ยังมาไม่ถึงในวันข้างหน้า
สุดท้ายในอนาคตที่เราหันกลับมา เราอาจจะกำลังขอบคุณตัวเองเหมือนกับที่พิแนได้พูดกับตัวเองในวันนี้ก็ได้