คุยกับ ‘อั่งอั๊ง–อัครสร โอปิลันธน์’ ในวันที่การเมืองดับฝันเด็กไทย

Highlights

  • พริวิเลจ ระบบการศึกษา และบทบาทของเยาวชนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือสามสิ่งที่ อั่งอั๊ง–อัครสร โอปิลันธน์ หยิบยกมาอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกครั้งที่มีโอกาส อย่างในบทความ Young, rich and ignorant: an indictment of privileged kids หรือสปีชของเธอในงาน What’s wrong with Thailand’s education system
  • “เพราะการมีพริวิเลจมันไม่ผิด ในเมื่อคนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำยังไงกับต้นทุนทางสังคมที่เรามี เราจะใช้มันไปในทางที่ถูกต้องหรือเปล่า ทุกวันนี้หนูก็กำลังพยายามจะออกมาใช้ต้นทุนทางสังคมของหนูสร้างประโยชน์กับสังคมมากที่สุด”
  • “เมื่อค่านิยมที่ถูกปลูกฝังผ่านโรงเรียนคือ การสอนให้เราเงียบ ฟัง และมีหน้าที่แค่ทำตามไปอย่างเดียว ไม่กล้าโต้แย้ง คนในสังคมทุกวันนี้จึงกลายเป็นคนที่เงียบ เมื่อผู้มีอำนาจเบื้องบนกดขี่เรา เราก็ไม่กล้าที่จะพูดหรือตั้งคำถาม และกลายเป็นสังคมจำยอมในที่สุด ต่อให้เกิดคอร์รัปชัน คนในสังคมก็ไม่กล้าพูดหรือตั้งคำถาม ซึ่งนั่นแปลว่าสังคมเราจะไม่มีทางจะพัฒนาไปข้างหน้าได้เลยหากคนยังไม่มี critical thinking อยู่แบบนี้”

Young, rich and ignorant: an indictment of privileged kids คือชื่อบทความของ อั่งอั๊ง–อัครสร โอปิลันธน์ ที่ชวนผู้อ่านตั้งคำถามถึงปัจจัยแวดล้อมที่หล่อหลอมให้ ‘เด็กอินเตอร์’ ส่วนใหญ่เลือกเพิกเฉยต่อการเมือง หรือมองเห็นการเมืองเป็นเพียงเทรนด์ในโลกออนไลน์ 

งานเขียนชิ้นนี้ทำให้เราได้รู้จักเด็กหญิงวัย 16 ปีคนนี้เป็นครั้งแรก

“I am one of them and I am ashamed.” เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าเธอเองก็เป็นหนึ่งในเด็กอินเตอร์ที่เติบโตมาบนกองพริวิเลจ และนั่นทำให้เธอรู้สึกละอายใจ 

หลังจากนั้นไม่นาน เราได้สัมผัสน้ำเสียง สำเนียง และจังหวะการพูดอันฉะฉานของเธอจากเวทีเสวนา What’s wrong with Thailand’s education system ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ซึ่งวิธีการที่เธอวิเคราะห์และวิพากษ์ระบบการศึกษาอย่างเข้าเป้าตรงประเด็น ก็เป็นจุดสำคัญที่สร้างความประทับใจจนสปีชถูกแปลและแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง

ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ชื่อของอั่งอั๊งเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพการให้สัมภาษณ์สดเป็นภาษาอังกฤษกลางพื้นที่ชุมนุมของเธอกลายเป็นคลิปที่ผ่านเข้ามาในนิวส์ฟีดของเรานับครั้งไม่ถ้วนในทุกแพลตฟอร์ม

อั่งอั๊ง อัครสร

แต่นอกเหนือจากพื้นที่บนหน้าสื่อที่กล่าวมาทั้งหมด ในอีกมุมหนึ่ง เธอยังมีบทบาทในฐานะสื่อรุ่นใหม่อีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนผ่านมา ก่อนที่เธอจะเริ่มเขียนบทความของตัวเอง อั่งอั๊งรวมกลุ่มกับเพื่อนอีก 3 คนเพื่อก่อตั้ง choosechange.co แพลตฟอร์มที่นำเสนอบทความว่าด้วยประเด็นสังคมและการเมืองไทยเป็นภาษาอังกฤษฉบับเข้าใจง่ายและไม่น่าเบื่อ ด้วยความตั้งใจที่อยากชวนเพื่อนๆ เด็กอินเตอร์ให้หันมาสนใจความเป็นไปในสังคมมากขึ้น 

“ตอนแรกเราทำกัน 3-4 คน ทั้งเขียน อีดิต และดีไซน์กราฟิก ทำเองกันหมดเลย แต่ผ่านมา 3-4 เดือนเราก็เริ่มเปิดรับสมัครทีมงานเพิ่ม ปัจจุบันเรามีนักเขียน 70 คนจาก 13 ประเทศ และกราฟิกดีไซเนอร์อีกประมาณ 20 คน” อั่งอั๊งเล่าพร้อมรอยยิ้มภูมิใจ

พริวิเลจ ระบบการศึกษา และบทบาทของเยาวชนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือสามสิ่งที่อั่งอั๊งหยิบยกมาอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกครั้งที่มีโอกาส และในบทสนทนาต่อไปนี้ก็เช่นกัน 

แต่ก่อนที่จะไปถึงประเด็นเหล่านั้น เราขอย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น สิ่งกระตุ้นให้เด็กอินเตอร์คนหนึ่งรู้สึกละอายใจเหลือเกินกับต้นทุนทางสังคมในมือ และเลือกที่จะทุ่มเททั้งแรงและเวลาเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน กระทั่งชื่อของเธอกลายเป็นที่คุ้นเคยของชาวเน็ตอย่างรวดเร็ว 

 

ตอนที่ยังเด็ก (กว่าตอนนี้) คุณเป็นเด็กแบบไหน

เป็นเด็กเงียบๆ อยู่แต่กับหนังสือ จนช่วง ป.5 ก็ถูกคุณแม่บังคับให้ไปแข่งสุนทรพจน์ภาษาจีน เพราะที่บ้านก็พูดภาษาจีนเป็นภาษาแม่อีกภาษาหนึ่ง

 

แล้วจากเด็กเงียบๆ ที่ถูกส่งไปแข่งสุนทรพจน์ คุณหันมาสนใจการเมืองได้ยังไง

หลังจากที่ไปแข่งแล้วแพ้ในปีแรก หนูก็ลงแข่งติดต่อกันทุกปี ชนะติดกันอยู่ 2-3 รอบโรงเรียนเขาก็ไม่ให้แข่งแล้ว เลยไปสมัครเข้าชมรมโต้วาที Model United Nations (MUN) หรือสหประชาชาติจำลอง ที่เป็นแหล่งรวมเด็กจากโรงเรียนนานาชาติให้มาถกเถียงกันเกี่ยวกับปัญหาสังคม ทำให้เราสนใจปัญหาสังคมมากขึ้น และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศ

จนเมื่อปีที่แล้ว ช่วงปิดเทอม ม.3 หนูได้ไปเรียนซัมเมอร์ที่อเมริกา คอร์สที่เลือกเรียนชื่อ Law Ethics and Democracy เนื้อหาก็จะเกี่ยวกับประชาธิปไตยกับกฎหมาย และวิธีการที่สองสิ่งนี้จะอยู่ควบคู่ไปด้วยกันได้

 

ทำไมถึงเลือกเรียนคอร์สนั้น

สิ่งที่เราสนใจที่สุดตอนนั้นคือกฎหมาย เพราะมีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็เลยอยากรู้ว่ากฎหมายจะเชื่อมโยงกับการเมืองได้ยังไงบ้างในมุมที่จับต้องได้

ตอนไปเรียนที่นั่น เป็นครั้งแรกที่หนูเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมในต่างประเทศเขาคุยเรื่องการเมืองกันอย่างเปิดเผยขนาดนั้น เพราะเราได้เห็นว่าเด็กที่นั่นเขามีความคิดเห็นที่เปิดกว้างกว่าเรามาก การเมืองเป็นเรื่องปกติสำหรับเขามากๆ แม้แต่เด็กที่ไม่ได้มาเรียนคอร์สการเมือง อย่างเด็กที่มาเรียนหมอ แต่ถ้าเราถามเรื่องปัญหาทางการเมืองเขาก็มีความคิดเห็นเหมือนกัน พอย้อนมองย้อนกลับมาที่ประเทศเราแล้ว ทำไมการเมืองถูกนิยามว่าเป็นเรื่องสกปรก ในหมู่เพื่อนๆ หนูเองก็ไม่เคยออกมาคุยกันเรื่องการเมือง หรือแม้แต่เรื่องความเท่าเทียม

 

อั่งอั๊ง อัครสร

 

การเปิดกว้างทางความคิดที่คุณได้ไปเห็นที่นั่นมันเป็นยังไง

โห จำได้แม่นเลยค่ะ คลาสที่หนูไปเรียนมันเหมือนเลกเชอร์ของมหา’ลัย ในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 40 คน เรานั่งเรียนกันเป็นวงกลม ใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมงต่อวัน เราจะนั่งฟังอาจารย์สอนเรื่อง context ต่างๆ แค่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียน ส่วนเวลาที่เหลืออาจารย์จะใช้วิธีตั้งคำถามใหญ่ขึ้นมาคำถามหนึ่ง แล้วเปิดเวทีให้นักเรียนดีเบตกันเอง โดยที่เขาก็อาจเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นของตัวเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่เด็กทุกคนจะหันมาคุยกันเอง 

เทียบกับวิธีการเรียนที่ประเทศไทย ต่อให้เป็นโรงเรียนนานาชาติที่หนูเรียนอยู่ มันก็ไม่ใช่แบบนั้น เพราะจะมีแต่อาจารย์ที่สอนอย่างเดียว เราไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของเรามากนัก เทียบกับตอนไปที่นั่น สิ่งที่หนูได้เรียนรู้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มันมาจากเพื่อนๆ หมดเลย มันจึงแตกต่างมาก เด็กทุกคนกล้าพูดมาก อยู่ที่นี่หนูเป็นประธานชมรมโต้วาทีของโรงเรียน แต่ไปที่นู่นรู้สึกตัวเองกลายเป็นคนพูดไม่เก่งไปเลย มันขนาดนั้นเลยจริงๆ เบิกเนตรมากๆ

 

ผ่านมาหนึ่งปีนับจากตอนนั้น คุณยังอยากเป็นทนายอยู่ไหม

ก็ยังอยากอยู่นะคะ แต่พอเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้นและได้เห็นปัญหาในระบบตุลาการของไทย ก็เลยทำให้ความเชื่อมั่นที่เคยมีเริ่มลดลง ภาพตัวเองในอนาคตที่เราเคยเห็นมันก็ไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังพยายาม explore ความเป็นไปได้ในด้านอื่นๆ อยู่ อย่างตอนนี้ก็เริ่มสนใจงานวารสารศาสตร์มากขึ้น เพราะเราก็มีโอกาสได้ทำงานเขียน ซึ่งตรงนี้ก็ยังคงเกี่ยวกับสังคมและการเมืองอยู่เหมือนเดิม

 

ในงานเขียนชิ้นแรก Young, rich and ignorant ว่าด้วยพริวิเลจของเด็กอินเตอร์ คุณเล่าว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้น อยากรู้ว่าคุณเริ่มตระหนักถึงสิ่งนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ครั้งแรกนึกถึงคำว่าพริวิเลจ คือหลังจากที่ได้อ่านหนังสือกฎหมายและปรัชญา อย่างเรื่อง Utilitarianism (ลัทธิประโยชน์นิยม) ของ John Stuart Mill หรือทฤษฎีของอริสโตเติล ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องพริวิเลจผ่านระบบศักดินา แต่ ณ ตอนนั้นเรายังไม่เคยโยงเรื่องนี้สู่ตัวปัจเจกบุคคล

จนช่วงที่มีข่าวการตายของ George Floyd ซึ่งเกิดไล่เลี่ยกับข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่เขียนไว้ในบทความเลยว่า เด็กนานาชาติทุกคนออกมาพูดถึง จอร์จ ฟลอยด์ และการเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ แต่ไม่มีใครออกมาพูดถึงการหายตัวไปของวันเฉลิมเลย มันทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า เพราะเรามีพริวิเลจ เราจึงไม่ต้องออกมาพูดก็ได้ ยังไงเรื่องวันเฉลิมมันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตอยู่ดี อีกอย่างคือครอบครัวของเพื่อนๆ หลายคนก็ทำธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากรัฐประหารครั้งนี้อีกด้วย ตั้งแต่ตอนนั้นก็เลยหันมาสนใจเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นมากขึ้น ทำให้เข้าใจสิ่งที่คนอื่นเขาพูดกันในทวิตเตอร์ ว่าระหว่างชนชั้นกลางกับความพริวิเลจที่เรามีอยู่ มันแตกต่างกันขนาดไหน

 

 

คุณบอกว่า I’m one of them and I’m ashamed อะไรทำให้คุณละอายใจกับการมีพริวิเลจ

อย่างแรกคือ หนูก็เป็นคนไทยเหมือนกันกับทุกคน แต่ทำไมถึงรู้เรื่องการเมืองของอเมริกาดีกว่าการเมืองในประเทศบ้านตัวเองอีก มันเริ่มไม่ใช่แล้วไหม นั่นคือจุดแรกที่ทำให้รู้สึก ashamed 

อีกเรื่องคือ หลังจากที่เราได้เข้าไปลองเป็นผู้ประท้วงเอง ได้ฟังปราศรัยของพี่ๆ หลายคน ทำให้เราได้รู้ว่า ทุกอย่างมันเกี่ยวกับเรา การเมืองคือเรื่องของทุกคน แต่เราไม่เคยออกมา แค่เพราะเราเป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนทางสังคม ทั้งที่เราก็อยู่ในกลุ่มคนที่มีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ทุกคนกลับเงียบกันหมด ไม่มีใครออกมาพูดเลย หนูก็เลยรู้สึกละอายกับตัวเองมากๆ

 

แล้วคุณจัดการกับความรู้สึกนั้นยังไง

การออกไปม็อบก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ ขณะเดียวกันก็หาความรู้ให้ตัวเองด้วย หนูรู้สึกว่าอย่างน้อยเราต้องเริ่ม aware ด้วยตัวเองก่อน แต่ช่วงหลังพอมีคนหันมาฟังเรามากขึ้น มีคนอ่านและรีทวีตในสิ่งที่เราพิมพ์ มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่าวันหนึ่งตัวเองจะมาอยู่ในจุดนี้ แต่ในเมื่อเรามีพริวิเลจด้านนี้เพิ่มมาแล้ว เราก็ควรใช้มันให้เป็นประโยชน์เหมือนกัน

การมีพริวิเลจมันไม่ผิด ในเมื่อคนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำยังไงกับต้นทุนทางสังคมที่เรามี เราจะใช้มันไปในทางที่ถูกต้องหรือเปล่า ทุกวันนี้หนูก็กำลังพยายามจะออกมาใช้ต้นทุนทางสังคมของหนูสร้างประโยชน์กับสังคมมากที่สุด ซึ่งมันก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกนั้นได้ค่ะ

 

การตัดสินใจออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนทำให้คุณกลัวบ้างไหม

ตอนแรกไม่ได้กลัวเลย เพราะหนูเริ่มจากการเขียนบทความเรื่องพริวิเลจกับเด็กอินเตอร์ ซึ่งก็ไม่ได้แตะต้องการเมืองตรงๆ และสำหรับตัวเอง รวมถึงเพื่อนๆ วัยรุ่นอีกหลายคน เราอยู่ในวัยที่ไม่ค่อยกลัวอะไร ด้วยความไฟแรงของเราในตอนนี้ และความฝันที่เรามี มันก็ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่ออกมาทำตอนนี้ ถ้ามันไม่ใช่หนู แล้วใครล่ะจะสู้เพื่ออนาคตของหนูเอง 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความกลัวมันก็ต้องมีอยู่แล้ว และเราก็มีต้นทุนที่เราต้องจ่ายเหมือนกัน อย่างล่าสุดเลยคือ อยู่ๆ หนูก็เห็นประวัติของครอบครัวตัวเองไปโผล่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยออกมาพูดถึงหรือเปิดเผยเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่สมมติถ้าเราต้องเสีย privacy ของเราไปในตอนนี้ ในอนาคตถ้าเราจะได้ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกลับมาแทน คิดว่าก็ยอมเสียตรงนั้นได้ เพราะถ้าเรามีแต่ความกลัว เราก็คงจะไม่ได้ไปถึงจุดนั้นสักที 

 

อั่งอั๊ง อัครสร

 

หนึ่งในประเด็นที่คุณพูดถึงและผลักดันมาตลอดก็คือปัญหาในระบบการศึกษา ในฐานะที่ตัวคุณเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ต้องเผชิญปัญหานั้น คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่กระทบตัวคุณมากที่สุด

อำนาจนิยมในโรงเรียน (ตอบทันที) เมื่อครูและนักเรียนหลายท่านยังยึดถือในระบบศักดินา ซึ่งเป็นความเคารพแบบผิดๆ เพราะความเคารพที่แท้จริงคือเราเคารพเขาแล้ว เขาก็ต้องเคารพเราเหมือนกัน 

ณ ตอนนี้ในหลายโรงเรียนมันไม่ใช่ respect แต่มันคือ obedience หรือการจำยอม เป็นสังคมที่ปลูกฝังให้เราต้องเป็นฝ่ายยอม คนไทยจึงชอบพูดว่า ‘อะไรก็ได้’ แต่ถ้าเราเอาแต่อะไรก็ได้มากเกินไป ก็จะกลายเป็นการลดคุณค่าความเป็นคนของเราไปด้วย

การศึกษาแบบนี้สอนเราว่า เราควรจะรู้สึกโอเคและยอมรับเมื่อครูมาดุด่าว่าตีเรา แม้มันจะไม่สมเหตุสมผลก็ตาม ซึ่งมันไม่ใช่ เราไม่ควรจะรู้สึกโอเคกับการที่ใครจะมาลดคุณค่าความเป็นคนของเรา

 

ทุกวันนี้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เราควรแก้ปัญหานี้ยังไง

เรื่องนี้ถ้ามีแค่หนูคนเดียวก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะมันต้องเริ่มด้วยการ deconstruct ระบบโครงสร้างการศึกษาและอำนาจนิยม ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าไม่ว่าคุณจะเป็นครูหรือนักเรียน คุณก็เป็นคนเหมือนกัน เป็นคนเท่ากัน และมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ถ้าเกิดว่านักเรียนไม่สามารถตีครูได้ แล้วทำไมครูถึงจะมีสิทธิตีนักเรียนได้

แต่เรื่องนี้เราแก้แค่ครูไม่พอ ต้องแก้ที่นักเรียนด้วย ให้ทุกคนเข้าใจว่าหากคุณถูกกระทำแบบนี้คุณต้องลุกขึ้นและต้องไม่ยอม คุณห้ามยอม ถ้าคุณยอมนั่นแปลว่าเขาใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่เราได้สำเร็จ

 

 

การถูกกดขี่หรือลิดรอนสิทธิในโรงเรียน นอกจากจะลดคุณค่าและศักดิ์ศรีของเราแล้ว ปัญหานี้ส่งผลต่อระบบโครงสร้างของสังคมอย่างไร

เพราะโรงเรียนคือสถานที่ที่หล่อหลอมความคิดของเรา ตั้งแต่ช่วงอนุบาลจนอายุ 18 ปีคือวัยที่สมองเราจะเติบโตและมีพัฒนาการมากที่สุด คนเราจึงมักยึดถือค่านิยมตามที่ได้เรียนจากในโรงเรียนนั้นไปตลอดชีวิต หลังจากพ้นวัยนี้ไปความคิดหรือค่านิยมของเรามันก็จะไม่ได้เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่แล้ว 

เมื่อค่านิยมที่ถูกปลูกฝังผ่านโรงเรียนคือการสอนให้เราเงียบ ฟัง และมีหน้าที่แค่ทำตามไปอย่างเดียว ไม่กล้าโต้แย้ง คนในสังคมทุกวันนี้จึงกลายเป็นคนที่เงียบ เมื่อผู้มีอำนาจเบื้องบนกดขี่เรา เราก็ไม่กล้าพูดหรือตั้งคำถาม และกลายเป็นสังคมจำยอมในที่สุด ต่อให้เกิดคอร์รัปชั่น คนในสังคมก็ไม่กล้าพูดหรือตั้งคำถาม ซึ่งนั่นแปลว่าสังคมเราจะไม่มีทางจะพัฒนาไปข้างหน้าได้เลยหากคนยังไม่มี critical thinking อยู่แบบนี้

 

คุณเชื่อว่าการศึกษาคือรากฐานของปัญหาในสังคม

ใช่ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักเลย

 

นั่นแปลว่าถ้าการศึกษาดีแล้วทุกอย่างจะดีตามหรือเปล่า

ก็อาจจะ แต่มันก็ยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น ครอบครัวและระบบการเมือง ที่จะต้องเอื้อและสนับสนุนความสามารถของเด็ก ถ้าทำตามนี้ได้ หนูคิดว่าประเทศเราก็จะดีขึ้นได้ในระดับก้าวกระโดดเลย

 

แต่เราคงไม่สามารถเปลี่ยนทุกโรงเรียนให้เป็นเหมือนโรงเรียนอินเตอร์ได้ในทันที แล้วการศึกษาไทยต้องดีแค่ไหนจึงจะเพียงพอ

เคยมีคนมาถามหนูเหมือนกันว่า จะทำยังไงให้เด็กๆ พูดภาษาอังกฤษได้เหมือนกับที่หนูพูดได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเรียนอินเตอร์ฯ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน เพราะการศึกษาที่ดีต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการ decentralize ไม่ให้ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำไมเด็กที่เรียนต่างจังหวัดถึงต้องหวังจะสอบติดมหา’ลัยท็อปๆ ในกรุงเทพฯ ทำไมพ่อแม่เขาต้องฝากความหวังกับลูก อยากให้ลูกสอบติดและทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะได้ส่งเงินกลับบ้านไปให้พ่อแม่ 

อีกส่วนที่สำคัญคือหลักสูตรการศึกษาที่พัฒนา critical thinking ต้องทำให้เด็กรู้จักคิดได้เอง โดยการเปิดให้เด็กตั้งคำถามแทนการบอกให้เขาท่องจำ อย่าปิดกั้นเขาด้วยคำว่าไม่ได้ แต่ต้องหันมาอธิบายว่าทำไมถึงไม่ได้

ระบบการศึกษาทุกวันนี้เหมือนเครื่องจักรที่ผลิตเด็กออกมาเป็นล็อต แต่ละเครื่องก็จะผลิตเด็กคนละเกรด เกรดเอ เกรดบี เกรดซี ตามระดับโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐบาล แต่แทนที่เราจะยึดติดกับระบบนั้น เราควรหันมาคิดว่า เด็กทุกคนคือเมล็ดพืชที่มีพันธุ์แตกต่างกัน พืชบางชนิดต้องการน้ำมากกว่า บางชนิดต้องการแสงแดดเยอะกว่า คุณไม่สามารถ one and done กับเด็กทุกคนได้ หน้าที่ของโรงเรียนคือหว่านเมล็ดพืชลงไป หล่อเลี้ยงเขาด้วยน้ำและแสงแดด แล้วปล่อยให้เขาเติบโตด้วยตัวเอง

 

อั่งอั๊ง อัครสร

 

สาเหตุที่คุณและเพื่อนๆ ตัดสินใจทำ choosechange.co เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีพื้นที่สำหรับเยาวชนที่สนใจสังคมและการเมืองมาก่อนถูกไหม

ใช่ค่ะ มันไม่เคยมี เราไม่เคยมีอะไรที่เจาะจงเรื่องปัญหาสังคม ไม่เคยมีชมรมเกี่ยวกับการเมืองในโรงเรียนมาก่อน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าหลายโรงเรียนเขาไม่สนับสนุนเรื่องการเมือง ดังนั้นเราจึงตัดสินใจออกมาก่อตั้งเอง เราไม่ต้องรับการสนับสนุนจากโรงเรียน เราทำเองด้วยความฝันของตัวเองที่อยากให้วัยรุ่นเข้ามาอ่านข่าวพวกนี้ ข่าวที่เขียนโดยวัยรุ่น เพื่อวัยรุ่น มันคือความเข้าใจกันและกัน เรารู้กันอยู่แล้วว่าเพื่อนๆ เขาอยากอ่านอะไร

 

คิดว่าอะไรทำให้เด็กสมัยนี้ไม่อยากอ่านสื่อกระแสหลัก

หนูคิดว่ามันเป็นเพราะเทคโนโลยีด้วย ทุกวันนี้ใครอยากจะเขียนข่าวก็เขียนได้ เราถึงได้มีปัญหาเฟคนิวส์มากมาย จนคนไม่รู้ว่าควรจะเลือกเชื่อสื่อไหนเพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลาง แม้แต่ choosechange เองเราก็ไม่ใช่สื่อที่เป็นกลาง เพราะจุดยืนของเราไม่ใช่สำนักข่าว เราคือแพลตฟอร์มสำหรับ liberal progressive opinion 

 

ในฐานะคนทำสื่อคนหนึ่ง คุณคิดว่าความเป็นกลางมีอยู่จริงไหม

อันนี้พูดยากเนอะ (นิ่งคิด) หนูคิดว่าถ้าความเป็นกลางแบบ pure เลยมันก็คงไม่มีหรอก เพราะคนเราทุกคนก็เกิดมาพร้อม bias อยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคืออยากสนับสนุนให้ทุกคนมีจุดยืนของตัวเอง มากกว่าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นกลางและไม่สนับสนุนอะไรเลย 

สิ่งที่พยายามทำมาตลอดคือชวนให้คนหันมาสนใจการเมือง ให้คนออกมาเป็น active citizen อยากให้เขาสนใจว่า เขามีหน้าที่อะไรบ้างในฐานะคนคนหนึ่งในสังคม หรือในวันที่เขาอายุครบ 18 แล้วเพื่อนๆ จะเลือกพรรคอะไร ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องเลือกพรรคเดียวกันกับเรา แต่เราบอกว่าคุณจะต้องมีจุดยืนของตัวเอง และรู้ว่าคุณจะเลือกอะไรที่คุณคิดว่าถูกและดีสำหรับสังคมมากกว่า

หลายคนถามหนูว่า ระหว่าง ignorance กับคนที่เขาเห็นต่างกับเรา อันไหนแย่กว่ากัน หนูตอบเลยว่า ignorance และ apathy แย่กว่า เพราะอย่างน้อยถ้าคุณมีจุดยืนทางการเมืองคุณก็ยังมีความหวังว่าอนาคตจะไปทางไหน แต่ถ้าคุณไม่มีจุดยืนมันเหมือนกับว่าประตูมันปิด มันมืดไปหมดทุกทางเลย 

 

 

ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าหน้าที่ของเด็กคือการเรียน เด็กไม่ควรยุ่งกับการเมือง เอาเข้าจริงแล้วมันจำเป็นแค่ไหนที่นักเรียนในวัยแบบเราจะต้องออกมาเรียกร้องทางการเมือง

มันสำคัญมาก เพราะอนาคตในอีก 20-30 ปีข้างหน้าของเราจะอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ หากคุณไม่ออกมาแล้วคุณจะหวังพึ่งใครให้เขามาทำเพื่ออนาคตของคุณล่ะ ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็สู้เพื่ออนาคตของตัวเองทั้งนั้น หนูเชื่อว่า activist หลายคนรวมถึงตัวเอง ตอนที่ตัดสินใจออกมาพูดเรื่องปัญหาการเมืองในตอนแรก มันก็เป็นเพราะเราหวังที่จะมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม 

หนูหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หนูจะไม่ต้องกลัวว่าอะไรพูดได้พูดไม่ได้ หนูหวังว่าเราจะสามารถวิจารณ์อะไรหลายๆ อย่างได้อย่างเปิดเผย หนูอยากมีอนาคตที่ไม่ต้องมาหมกมุ่นเรื่องคุณภาพชีวิต และเอาเวลาไปทำตามฝันของตัวเองได้ นั่นคือเหตุผลที่เราออกมาสู้ 

 

ถ้าการเมืองดี และเราไม่ต้องออกมาเรียกร้องเรื่องทั้งหมดที่ว่ามานี้อีกแล้ว ความฝันของคุณคืออะไร

ความฝันของหนูตอนนี้คือสิทธิพื้นฐานและความเท่าเทียมของทุกคน เพราะที่ผ่านมาหนูเรียกร้องและฝันเห็นสิ่งเหล่านี้มามากจนไม่ได้เอาเวลามาคิดถึงความฝันของตัวเองจริงๆ เลยด้วยซ้ำ นี่แหละคือความฝันของหนู ซึ่งตรงนี้มันก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมเนอะ กับการที่เด็กอย่างเราต้องมากังวลถึงปัญหาความไม่มั่นคงและคุณภาพชีวิตในอนาคต จนสุดท้ายเราไม่เหลือเวลามาคิดถึงความฝันของตัวเองจริงๆ 

 

อั่งอั๊ง อัครสร

 

หากสิทธิขั้นพื้นฐานและความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง แปลว่าพริวิเลจของ upper class ในวันนี้อาจลดลง พวกเขาควรรู้สึกกลัวไหม

หนูคิดว่าคนที่มีพริวิเลจเขาอาจกลัวในแวบแรก แต่อยากบอกเพื่อนๆ และทุกคนที่มีพริวิเลจว่า แทนที่คุณจะกลัว คุณควรจะมอบความหวังดีให้กับคนอื่นบ้าง เพราะพริวิเลจที่คุณยึดถือมาตลอดมันก็สามารถหายไปได้ในพริบตา ดังนั้นคุณต้องคิดเสมอว่าหากในอนาคตคุณไม่มีสิ่งที่เคยมีอีกต่อไป วันนี้เราต้องใช้สิ่งที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด 

เปิดกะลาของคุณออกมา และหันมองสิ่งที่มันเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราบ้าง ใช่ว่าคุณมีพริวิเลจ มีชีวิตที่ดี แล้วคุณจะเลิกสนใจสิ่งที่อยู่รอบข้างได้ ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคน เราก็ต้องเห็นความเป็นมนุษย์ เราต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน

 

อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าหากสิ่งที่คุณเรียกร้องยังไม่เกิดขึ้นจริง คุณจะทำยังไงในวันที่ตัวเองมีภาระหน้าที่ในชีวิตมากขึ้น และมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น

ต่อให้เป็นอีก 10 ปีข้างหน้า หนูก็ยังมองเห็นตัวเองออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ ถึงตอนนั้นเราอาจจะไม่ได้ออกมาลงถนนด้วยตัวเอง แต่หัวใจของเราก็ยังเป็นหัวใจประชาธิปไตยอยู่ดี เรารู้ดีว่า civil resposibility คืออะไร เราเป็นคนไทย เราก็ต้องมีความหวังดีต่อเพื่อนคนไทย 

สำหรับอีกหลายคนที่รู้สึกว่า ยังมีหลายอย่างสำคัญมากกว่าการเมือง หนูก็อยากจะบอกว่า ท้ายที่สุดแล้วการเมืองมันก็คือทุกอย่าง ไม่ว่าโตขึ้นจะทำอาชีพอะไร สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นเสมอเมื่อออกจากบ้านไปที่ทำงาน นั่นก็คือการเมือง ท้องถนนของเราคือการเมือง บีทีเอสถึงจะเป็นรัฐวิสาหกิจมันก็คือการเมือง ทุกอย่างมันคือการเมือง คงไม่มีวันไหนที่เราจะเลิกสนใจมันได้หรอกเพราะการเมืองมันอยู่รอบตัวเรา

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด