‘La Petite Tristesse’ AFTER SEX CONVERSATION ของปอ เปรมสำราญ

‘ผมอ่านมาร์เกซครั้งแรกตอนอายุ 25’

คือสเตตัสที่มียอดไลก์ยอดแชร์ถล่มทลายเมื่อหลายปีก่อน จนทำให้ใครหลายคนรู้จักชื่อ ‘ปอ เปรมสำราญ’ นามปากกาของ นัทธมน เปรมสำราญ เป็นครั้งแรก

จากกระแสช่วงนั้น ส่งผลให้หนังสือรวมเรื่องสั้น Abstract Bar ความจริงเพียวเพียว ที่ปอออกกับสำนักพิมพ์ P.S. เมื่อปี 2559 ขายหมดเกลี้ยง ก่อนปอจะออกหนังสืออีกเล่มชื่อ ไม่มีใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์ (I’ve never met a SUNSET I didn’t like.) หลังจากนั้นเธอใช้วิชาการละครที่เรียนมาเขียนบทละครเวทีเรื่อง Make Love, Not War รักและ/หรือรบ ซึ่งต่อมาบทละครเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ P.S. ด้วยเช่นกัน

จุดเด่นของงานเขียนเธอคือบทสนทนายาวๆ ของตัวละครที่ชวนคิดและติดตาม บ้างเป็นเรื่องความสัมพันธ์ บ้างเป็นเรื่องการเมือง บ้างเป็นเรื่องชีวิต ซึ่งทุกครั้งที่เราอ่านงานของเธอก็มักได้ไตร่ตรองทบทวนมุมมองของตัวเองไม่มากก็น้อยเสมอ

3-4 ปีที่ผ่านมาปอขยับไปทำงานศิลปะและละครเวทีจนวางมือไปจากวงการหนังสือชั่วคราว ทว่าครั้งล่าสุดที่เราได้สนทนากัน ปอบอกกับเราว่าช่วงนี้เธอกำลังซุ่มเขียนนิยายเล่มใหม่อยู่ ถ้าไม่ผิดพลาดอะไรปีนี้ก็อาจออกมาให้อ่านกัน

แต่กว่าจะไปถึงตอนนั้น เราอยากชวนคุณมาอ่านเรื่องสั้นในโปรเจกต์ AFTER SEX CONVERSATION ที่เราชวน 5 นักเขียนสุดร้อนแรงจากสำนักพิมพ์ P.S. มาบันทึกบทสนทนาหลังจากมีเซ็กซ์ และปอคือหนึ่งในนั้น

La Petite Tristesse คือชื่อเรื่องสั้นของเธอ ปอนิยามกับเราว่ามันคือบทสนทนาว่าด้วยภาวะร้องไห้หลังมีเซ็กซ์ ซึ่งเป็นพล็อตของนิยายแชตเรื่อง La Petite Tristesse ที่กลุ่มเพื่อนสาวคุยกันถึงภาวะนี้ของ ‘ภูเขา’ เพื่อนในกลุ่มที่เพิ่งมีความสัมพันธ์อย่างจริงจังครั้งแรกกับชายหนุ่มอายุน้อยกว่า 

ความพิเศษคือนี่เป็นโปรเจกต์เรื่องสั้นที่นำเสนอในรูปแบบนิยายแชต ซึ่งไม่ต่างจากนักเขียนคนอื่นในโปรเจกต์–นี่เป็นครั้งแรกที่ปอได้จับงานแนวนี้ 

และเราคงเสียดายถ้าได้อ่านนิยายแชตเรื่องแรกในชีวิตของเธอแต่ไม่ได้คุยถึงเบื้องหลังของมัน นั่นคือที่มาของบทสนทนาในบรรทัดถัดไป

คำแนะนำในการอ่าน

  1. ถ้าอ่านผ่านโทรศัพท์มือถือ แนะนำให้อ่านในแอพพลิเคชั่น readAwrite
  2. เนื้อหาเหมาะสมกับผู้มีอายุมากกว่า 18 ปี
  3. อ่านเรื่องสั้นก่อนอ่านบทสัมภาษณ์ จะได้อรรถรสมากขึ้นนะ

หลังจากได้ยินบรีฟโปรเจกต์ AFTER SEX CONVERSATION ในหัวคุณคิดอะไรอยู่

น่าสนใจ เพราะปกติเราไม่เขียนเรื่องเซ็กซ์ อาจจะเมนชั่นว่าตัวละครบางตัวมีเซ็กซ์บ้างแต่เราไม่ได้เขียนฉากอีโรติก แล้วโดยคอนเซปต์ AFTER SEX CONVERSATION มันดูกว้างพอที่จะลองคิดลองเล่น ก็ถือว่าท้าทายเราเหมือนกัน

คิดนานไหมกว่าจะมาเป็น La Petite Tristesse

ตอนแรกเราคิดถึง La petite mort (อาการสำเร็จความใคร่) ซึ่งเป็นวลีที่หลายคนอาจจะคุ้นเคย แต่เราก็คิดว่าถ้าไม่เป็น La petite mort แล้วจะเป็นอะไรได้อีก เลยไปคุยกับเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งสิ่งที่สนุกคือบทสนทนากับเพื่อนนี่แหละ เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่เขายอมเล่าให้เพื่อนฟัง พอมาเขียนเลยต้องผสมผสานระหว่างสิ่งที่ได้จากเพื่อนกับมุมมองที่อยากบอกว่าภาวะหลังมีเซ็กซ์สามารถเป็นไปในรูปแบบไหนได้บ้าง

ความท้าทายของการเขียนนิยายแชตเรื่องนี้คืออะไร

พอเป็น La petite mort เราคิดถึงความรู้สึกเศร้า เพราะเป็นความรู้สึกที่เรารีเลตได้อยู่แล้วแต่ไม่รู้จะเล่าออกมายังไง ก็คุยกับเพื่อนๆ ว่ามีประสบการณ์แบบไหนบ้างจนออกมาเป็นนิยายแชตแบบที่เห็น 

ตอนแรกเพื่อนบอกเราว่ามันดูไม่น่าจะเขียนยาก เพราะถ้าดูจากลักษณะงานที่เราเคยเขียน มันก็เป็นเรื่องของคนสองคนกับบทสนทนาในพื้นที่ที่ค่อนข้างปิด แต่เราบอกว่าไม่สิ มันยากเพราะมันเป็นแชต เพราะมันแปลกถ้าคุณกับพาร์ตเนอร์มีเซ็กซ์แต่ไม่คุยกันตั้งแต่ตอนนั้น แต่ดันมาคุยในแชต มันทำให้เกิดคำถามว่าทำไมไม่คุยกันไปเลย ซึ่งเพื่อนเราก็คิดเหมือนกันว่าจะคุยในแชตทำไมวะ (หัวเราะ)

ทีนี้ก็ต้องมาคิดพล็อตว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหนได้บ้างโดยที่แชตยังดูสมจริง แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ใช่เชิงแชตหลุด ให้อ่านแล้วเชื่อมโยงได้ว่าถ้าเป็นเราก็คงเอาไปปรึกษาเพื่อนเหมือนกัน

แล้วกลายเป็นบทสนทนาในกลุ่มเพื่อนถึงภาวะร้องไห้หลังมีเซ็กซ์ได้ยังไง

เพราะเราเคยเป็น เพื่อนเราก็เคยเป็น แต่ไม่ใช่ทุกครั้งนะ 

เราเลือกเขียนประเด็นนี้เพราะเป็นเรื่องที่คุยกับใครยาก แหล่งสืบค้นข้อมูลที่เป็นภาษาไทยก็ไม่ค่อยมี เอาเข้าจริงต่อให้เรากับเพื่อนที่เป็นสายลิเบอรัลหน่อยก็ยังไม่เคยคุยกันถึงประเด็นนี้ ถ้าไม่มีอะไรจุดประกายมันก็ไม่มีใครถามว่า ‘หลังมีเซ็กซ์มึงร้องไห้เปล่าวะ’ ขึ้นมาหรอก

แต่เราคิดว่านอกจากเรากับเพื่อน มันน่าจะเคยเกิดขึ้นกับคนอื่นด้วย แล้วพอมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือทุกครั้งก็อาจคิดว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่เศร้าหรือเจอเรื่องหนักๆ ในชีวิตมา แต่พอไปรีเสิร์ชข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษก็พบว่ามันเป็นเรื่องปกติ บางคนเป็นทุกครั้งด้วยซ้ำ เราคิดว่ามันน่าสนใจดี ถ้าใครมาอ่านนิยายแชตเรื่องนี้จะได้รู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นคนเดียว

ที่เขียนเรื่องนี้เพราะคุณอยากสื่อสารว่าภาวะนี้มันไม่ใช่โรคหรือความผิดปกติด้วยหรือเปล่า

ใช่ แต่มันก็มีเลเวลของความเศร้านะ บางคนรู้สึกเศร้าหลังจากมีเซ็กซ์เป็นชั่วโมง ซึ่งค่อนข้างคาบเกี่ยวกับภาวะทางจิตนิดนึง หรือบางคนอาจโดนหล่อหลอมด้วยค่านิยมบางอย่างมาทั้งชีวิต ยกตัวอย่างค่านิยมห้ามมีอะไรก่อนแต่ง แล้วมันฝังไปในตัวเรา ทำให้เราจำไปแบบนั้น ทีนี้พอมีเซ็กซ์ความรู้สึกที่เหมือนว่าเราทำอะไรผิดไปก็ตีขึ้นมาตอนหลัง โดยคนที่มีภาวะนี้อาจไม่ได้คิดถึงจุดนั้น หรืออย่างบางคนเศร้าเพราะตีความว่าตอนมีเซ็กซ์กันคือการที่สองร่างกายรวมเป็นหนึ่ง พอเสร็จแล้วมันแยกจากกัน ทำให้อาจเกิดความรู้สึกว่าบางส่วนของเราหายไปก็ได้ มันมีหลายประเภทอยู่

มีตัวละครหรือฉากไหนในเรื่องที่เขียนมาจากตัวเราหรือเรื่องจริงไหม

เอาเข้าจริงมันใกล้กับเรื่องจริงมาก แต่เรามักจะบิด เพราะต่อให้เป็นเรื่องของเพื่อนหรือเรื่องของเราเองก็ตาม มันก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นเวลาหยิบมาใช้ก็จะไม่ได้เขียนตรงๆ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวนั้นไว้ มันเลยเป็นการบวกสองคนมาเป็นคนเดียว หรือผสมเสี้ยวของคนนั้นกับคนนี้เข้าด้วยกันมากกว่า

แต่คาแร็กเตอร์จะมีตัวที่ชัดไปเลยอย่างตัว ‘สวนดอกไม้’ ที่มีแฟนเป็นจิตแพทย์ชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีมุมมองโลกแบบหนึ่ง ส่วน ‘น้ำตก’ ที่ชอบการมีเซ็กซ์และ ‘ชายหาด’ ที่คบกับผู้หญิงก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง และตัวละคร ‘ภูเขา’ ที่อาจไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก พอมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ก็เลยพยายามสำรวจมิติต่างๆ ซึ่งที่ต้องสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละครให้ชัดเพราะคนอ่านจะได้แยกออกง่ายๆ ด้วย ไม่งั้นจะสับสนว่าตกลงอันนี้ใครพูดนะ

คุณคาดหวังอะไรกับนิยายแชตเรื่องนี้

อยากทำให้คนอ่านที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว ต่อให้เป็นการร้องไห้หรือภาวะแบบอื่นก็ตาม เข้าใจว่ามันมีความซับซ้อนของอารมณ์ทำนองว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกแบบนี้ ซึ่งเราคิดว่าบางทีเขาอาจโทษตัวเองอยู่ก็ได้ เราอยากให้เขาคิดได้ว่ามันก็มีมุมอื่นให้มอง

กลุ่มเพื่อนในเรื่องมีการคุยเรื่องเซ็กซ์กันอย่างตรงไปตรงมา คุณว่าคนในสังคมปัจจุบันเป็นแบบนั้นไหม

ตอบไม่ได้ เพราะเพื่อนเราค่อนข้างเป็นลิเบอรัลกันเยอะแล้วมันคุยกันปกติอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไปเราคิดว่าเซ็กซ์ก็ยังเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยคุยกันอยู่ดี ยกเว้นใครจะเปิดประเด็นมาแล้วก็ค่อยๆ คุยกัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลุ่มเพื่อนที่พร้อมฟังแบบไม่ตัดสิน ซึ่งอาจจะยาก เพราะหลายคนก็จะเอาเราไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์ตัวเอง แล้วพอคุณไม่ได้เป็นแบบเขา เขาก็จะคิดว่าคุณแปลกหรือมีอะไรผิดปกติ

แล้วในความสัมพันธ์ล่ะ เราจะปฏิบัติต่ออีกฝ่ายยังไงให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนตัดสิน โดยเฉพาะเรื่องเซ็กซ์

เราว่ามันต้องคุยกัน อย่าไปคาดหวังมากว่ามันจะเหมือนภาพในหนังที่ดูมา แต่เราเข้าใจว่าทุกคนเรียนรู้เรื่องนี้จากสื่อก่อนโดยที่ยังไม่รู้ว่าความจริงเป็นยังไง ความคาดหวังเลยอาจจะเยอะ ทีนี้พอคู่ของเราหรือแม้แต่ตัวเราไม่ได้เป็นแบบที่คิดก็จะรู้สึกว่ามันผิดหรือเปล่า แม้กระทั่งช่วงหลังจากมีเซ็กซ์หรือช่วงไหนๆ ก็ตาม การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ เราก็เลยเขียนให้ตัวเอกไม่กล้าบอกแฟนเรื่องภาวะร้องไห้หลังมีเซ็กซ์ แต่สุดท้ายก็เลือกแล้วว่าต้องคุยกัน

ในเรื่องมีการเมนชั่นถึงการเมืองและการไปม็อบ ทำไมคุณถึงจับมันมาเชื่อมโยงกับเรื่องสั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์และเซ็กซ์

ก่อนหน้านี้หลายปีที่เหตุการณ์ยังไม่รุนแรงขนาดนี้ เราคิดว่ามันแยกกันได้ เราสามารถเขียนเรื่องความสัมพันธ์โดยที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองได้ แต่ในปัจจุบันเรารู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์แบบแฟน แต่ต่อให้เป็นเพื่อนกัน ครอบครัวเดียวกัน หรือกระทั่งคนรู้จัก มันก็ไม่สามารถแยกการเมืองออกไปได้ อาจเพราะต้องเลือกแล้วว่าเราโอเคกับสิ่งไหน แล้วเราก็คิดว่าความสัมพันธ์ในสังคมที่มีภาวะแบบนี้มันต้องมีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อนอยู่

อย่างตัวละครในเรื่องที่เราเขียนมีจุดยืนทางการเมืองเหมือนกัน ไปม็อบเดียวกัน แต่ก็มีความซับซ้อนของความสัมพันธ์อีกว่าแล้วภาวะทางการเมืองมันกระทบกับคู่ของเขาเท่ากันไหม เพราะถึงแม้จะคิดเห็นเหมือนกันแต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในม็อบจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกเหมือนกัน อย่างภูเขาที่นึกถึงคนอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนจากม็อบ ในขณะที่คู่ของเขาอาจไม่คิดถึงขั้นนั้น

เรารู้สึกว่าตอนนี้มันมีบรรยากาศบางอย่างที่ครอบทุกคนอยู่ ซึ่งมันทำให้ทุกคนรู้สึกไม่ค่อยจะโอเคอยู่แล้ว และมันก็จะส่งผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงระดับรุนแรงในบางวันโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราเลยคิดว่าความสัมพันธ์ในปัจจุบันมันแยกการเมืองออกไปไม่ได้หรอก

AUTHOR