ตามลายแทงนิทรรศการ #aday200 เอาใจชาวศาลายา-นครปฐม

อธิบายก่อนว่าในการจัดนิทรรศการ ‘#aday200 The Magazine Exhibition’ เราพยายามกระจายตัวให้นิทรรศการของเราไปจัดแสดงในหลากหลายสถานที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาในแต่ละเล่มนั้นด้วย หลังจากลองรวมสถานที่ใกล้เคียงมาไว้ด้วยกันก็พบว่ามีหลายที่ที่สามารถไปตามดูกันได้ในแบบ one day trip เส้นทางแรกที่อยากแนะนำเลยกรุงเทพฯ ไปนิดเดียวทางนครปฐมนี่เอง เผื่อวันหยุดสุดสัปดาห์นี้จะชวนแก๊งเพื่อนไปเที่ยวแล้วแวะถ่ายรูปกับนิทรรศการของเราสักหน่อยก็ดีนะ 🙂

a day 2

a
day ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนตุลาคม 2543

ภาพปก:
อำพล ลำพูน
ออกแบบ:
ทรงพล จั่นลา

• ไม่ได้โอ่อ้าง แต่เล่มแรกดันทะเล่อทะล่าดังขึ้นมาจนต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 ใน 2 อาทิตย์ ซึ่งเล่ม 2 ที่จะคลอดต่อไปก็ต้องกดดันเป็นธรรมดา แต่ด้วยความเชื่อว่าขาหลักของคอนเซปต์ที่วางไว้ซึ่งได้แก่ somebody,
idea, nostalgia นั้นแข็งแรงพอให้เราดิ้นได้พลิ้วๆ เลย เล่มที่ 2 นี้ เราเลยคิดถึงเรื่องย้อนอดีตขึ้นมาว่าอยากจะทำอะไรให้คนวัยเดียวกันได้คิดถึงร่วมกันบ้าง

• แล้วหน้า อำพล ลำพูน ในบทน้ำพุก็ลอยขึ้นมาตามประสาคนชอบพี่หนุ่ยเป็นการส่วนตัว

• จากประโยคคลาสสิกเมื่อกี้ พาเราย้อนไปค้นเรื่องราวเก่าๆ ของภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำเรื่องนี้ด้วยข้อมูลเก่าๆ เท่าที่พอจะรวบรวมได้ และไปค้นบางความในชีวิตของ สุวรรณี สุคนธา แม่ผู้ถ่ายทอดความผิดพลาดของชีวิตเป็นนวนิยาย

• แต่ดูเหมือนว่าเพียงเท่านั้นจะแห้งและแล้งเกินไป เราจึงติดต่อ 3 บุคคลหลักของหนังเรื่องนี้คือ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน, พี่หง่าว-ยุทธนา มุกดาสนิท และพี่หนุ่ย-อำพล ลำพูน เพื่อขอสัมภาษณ์และโชคดีมากที่ทุกคนกรุณาเราให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


หลังวางแผง a
day ฉบับนี้ ถ้าพูดภาษาเราต้องบอกว่า “ขายตาย!”
เพราะแปลกประหลาดดีที่อยู่ดีๆ แมกกาซีนของเด็กรุ่นใหม่ก็เล่นเรื่องย้อนอดีต ซึ่งกระแสของเล่มนี้บวกกับเล่มมานะมานีถือว่ามีส่วนในการปลุกกระแส good
old days ขึ้นมา

สถานที่ตั้งนิทรรศการ: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)


a day 65

a
day ปีที่ 6 ฉบับที่ 65 เดือนมกราคม 2549

ภาพปก: ชาลี แชปลิน
ออกแบบ: ทรงพล จั่นลา

• เริ่มต้นเรื่องนี้ เราคุยกันว่าคงจะสวยดีถ้าชาลี แชปลิน อยู่บนปก a day

• แต่แหม ใครจะไปคิดง่ายๆ แค่นั้นล่ะ จริงๆ แล้วเราได้รู้จักแชปลินผ่านหนังสือชีวประวัติหลากหลาย หนังเงียบมากมายของเขาที่เวลาดูแล้วเรามักจะได้ยินเสียง (บางครั้งมากกว่าเสียงหัวเราะ) และเรื่องเจ๋งๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าตลกหนวดจิ๋มคนนี้เป็นและทำ เราก็อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังเป็นธรรมดา

• ค้นไปค้นมาก็พบว่ามันไม่ธรรมดาขั้นสุดยอด ตลกคนนี้ทำหนังด่านาซีขณะที่ฮิตเลอร์ชื่นชอบเขาขนาดไว้หนวดนั่นตาม

• และจากข้อมูลเข้มข้น ขบขัน และขมขื่น มากมายที่เราพบจากชีวิตของแชปลิน มีอยู่เรื่องนึงที่เราอดยิ้มไม่ได้นั่นคือความจริงที่ว่าเคยมีการจัดแข่งขันคนหน้าเหมือนชาลี แชปลิน ครั้งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา แชปลินก็นึกสนุกแอบเข้าไปแข่งด้วยและผลการแข่งขันในวันนั้นเขาได้ที่ 3

• ยิ้มกว้างจนต้องเอามาไว้หน้าสุดท้าย

สถานที่ตั้งนิทรรศการ: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)


a day 90

a
day ปีที่ 8 ฉบับที่ 90 เดือนกุมภาพันธ์ 2551

ภาพปก:
ต้นไม้
ออกแบบ:
ทรงพล จั่นลา

ภาพประกอบ:
ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์


จะเชื่อไหมถ้าจะบอกว่าไอเดียของเมนคอร์สว่าด้วยต้นไม้ฉบับนี้ไม่ได้มาจากกระแสภาวะโลกร้อนอันเชี่ยวกรากเลยแม้แต่นิดเดียว เนื้อหาข้างในก็ไม่มีอะไรพูดถึง แต่ไม่รู้ทำไมคนส่วนใหญ่ชอบตั้งชื่อเล่นให้เล่มนี้ว่าเล่มโลกร้อนกันจัง


เรื่องนี้มันเริ่มง่ายๆ แค่วันนั้น a
team นั่งล้อมวงคุยกันอยู่ใต้ต้นไม้และคุยเรื่องเพาะถั่วเขียวตอนประถมขึ้นมา จากนั้นทุกคนก็พรั่งพรูเรื่องต้นไม้แบบไม่ยอมน้อยหน้า จนต้องยุติการสนทนาด้วยการชวนว่ามาทำธีมต้นไม้กันเถอะ!


และไอเดียไม่มียั้งจนถึงขั้นเสนอว่าแจกเมล็ดพันธุ์ให้คนอ่านเอาไปปลูกจริงๆ เลยดีกว่า a
team ก็เลยเข้าไปตีสนิทกับเจียไต๋ บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศแล้วเล่าไอเดียนี้ให้ฟัง ปรากฏว่าเจียไต๋นึกสนุกอยากเล่นด้วย ดอกไม้ทั้งหกพันธุ์นี้จึงได้ใส่ซองพะยี่ห้อ ‘Love
at First Seed’ แจกจ่ายคุณผู้อ่านช่วงวาเลนไทน์หอมหวานกันพอดี


หลายคนที่ได้รับไปโทรมาถามว่าดอกอะไร เราก็ตอบไปว่าบอกไม่ได้ เพราะถ้าอยากรู้ก็ปลูกกันดูสิ

• แต่ในโอกาสนี้เฉลยดีกว่า เพราะบางต้นลาโลกใบนี้ไปโดยที่เจ้าของยังไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่าต้นอะไร ดาวเรือง-001 ทานตะวัน-002 ดาวกระจายเหลือง-003 ดาวกระจายชมพู-004 ผักบุ้ง-005 และผักกาดหอม-006 (ว่าแต่ผักกาดหอมมันเป็นดอกตรงไหน)

• และด้วยความที่เรื่องนี้มีแต่ต้นไม้ ต้นไม้ และต้นไม้ ก็กลัวว่าจะเบื่อกันไปข้าง จึงมีการใช้ภาพประกอบแทนทั้งลายเส้นสีน้ำ สีไม้ กันหลากหลายน่าดูชม โดยภาพประกอบส่วนใหญ่ในเล่ม ณัฐจรัส เองมหัสสกุล ในเวอร์ชันกองบรรณาธิการรับหน้าที่วาดให้ในชื่อ kit-chen
ซึ่งผลงานนี้ก็เข้าตากรรมการเสียจนต้องทาบทามให้เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการศิลปกรรมกันเลยทีเดียว

สถานที่ตั้งนิทรรศการ: Little Tree Garden นครปฐม


a day 186

a
day ปีที่ 16 ฉบับที่ 186 เดือนกุมภาพันธ์ 2559

ภาพถ่าย:
สลัก แก้วเชื้อ

ออกแบบ:
จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

• ในเดือนกุมภาพันธ์แห่งความรัก สิ่งที่มาคู่กันและเรายังไม่เคยพูดถึงสักทีก็คือ ‘ดอกไม้’

• ไอเดียเกิดจากการที่เราได้ไปคุยกับ เตย-ดร.เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งคนรู้จักในสายวิทยาศาสตร์ของเรา

• เตยเล่าให้ฟังถึงเรื่องดอกไม้ที่มากไปกว่าการเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช ทั้งการใช้เป็นสีน้ำมาทำเป็นชา ใช้เป็นยารักษาโรค ตำรับยาไทยโบราณเกี่ยวกับดอกไม้ เลยเถิดไปถึงการทับดอกไม้ที่เธอทำเป็นงานอดิเรก

• เราเลือกหยิบวลี ‘ดอกไม้ให้คุณ’ มาเป็นคอนเซปต์วิธีเล่า เพราะดอกไม้จะมีคุณค่าอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มอง

• เราได้ไปพบกับอาจารย์นักพฤกษศาสตร์ คนทำดอกไม้ประดิษฐ์ นักเลงกล้วยไม้ จนถึงคนขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาดเพื่อค้นหาว่าคุณค่าของดอกไม้ในแง่มุมต่างๆ จากสายตาของแต่ละคนเป็นอย่างไร

• ไหนๆ ก็ทำเล่มดอกไม้แล้ว ชาว a team เลยอยากจัดอีเวนต์เล็กๆ เกี่ยวกับดอกไม้ให้ผู้อ่านได้มาเจอกันในเวิร์กช็อปทับดอกไม้ชื่อว่า ‘ดอกไม้ดอกไม้จะแบน’

• ต้นคิดไม่ใช่ใคร อดีตบรรณาธิการสารคดี สลิลา มหันต์เชิดชูวงศ์ ที่ชาว a team ทุกคนรู้ว่าเธอชอบคิดอะไรเพี้ยนๆ ทำนองนี้เล่นอยู่บ่อยๆ พอได้ใช้งานจริงก็เลยภูมิใจมาก

• ด้วยความร่วมมือจากเตยน้อย เราเลยได้จัดกิจกรรมเล็กๆ นี้ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และมีคนสมัครเข้ามาทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพกว่า 500 คน!

สถานที่ตั้งนิทรรศการ: อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

อ่านกติการ่วมสนุกกันได้ที่นี่ และ คลิกดูรายละเอียดแผนที่นิทรรศการ a day ในแคมเปญ #aday200 ทั้งหมดได้ที่นี่นะ

AUTHOR