First Jobber to First Jobber กับรสชาติของการเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้หอมหวานดังใจหวัง

“เรียนจบตั้งนานแล้ว ได้งานทำหรือยัง” 
“อย่าทำงานนี้เลย ได้เงินเดือนน้อย”
“จะก้าวหน้าเหรอทำงานแบบนี้”

หลายคนมักจะได้ยินประโยคเหล่านี้จากผู้ใหญ่อยู่เสมอ รวมไปถึงคำบอกเล่าจาก First Jobber (รุ่นพี่) ที่คล้ายคำขู่ว่า “หลังเรียนจบ = สนามรบของชีวิตที่แท้จริง” เราไม่มีทางเข้าใจกับคำกล่าวนี้ จนกว่าเราจะมีชะตากรรมเป็น First Jobber ด้วยตัวเอง 

เราก็เป็นคนหนึ่งที่เพิ่งรู้ซึ้งกับการก้าวเป็น First Jobber มือใหม่ ซึ่งอยู่ดีๆ กราฟชีวิตก็รวนไปหมด โลกทั้งโลกเหมือนพร้อมใจกันเหวี่ยงความเครียด ความกดดัน และสารพัดปัญหาเข้ามาหาเราแบบไม่หยุดยั้ง แม้จะตั้งใจนอนนิ่งๆ ไม่คิดอะไร แต่เราก็สบายใจกับช่วงเวลานั้นได้เพียงชั่วพริบตา ก่อนจะต้องลืมตาขึ้นมาพบกับโลกความเป็นจริงที่รอเราอยู่ข้างหน้า

ช่วงเวลานี้เปรียบเสมือน ‘จุดเปลี่ยนผ่าน’ ที่สำคัญของชีวิต เราจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ หนึ่งในแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามา คงหนีไม่พ้นเสียงจากคนรอบข้างที่เหมือนจะรู้จักเราดียิ่งกว่าตัวเราเองเสียอีก และประโยคคำถามแสดงความห่วงใยอีกร้อยแปดพันเก้า ที่บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนกำปั้นทุบเข้าที่กลางหลังอย่างจัง 

และไม่รู้ว่าเป็นเพราะช่วงสิ้นปีแบบนี้ด้วยหรือเปล่า ที่เต็มไปด้วยงานเทศกาล งานรับปริญญา และงานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งการพบปะวงสังคมเพื่อความรื่นเริงใจเหล่านี้ สุดท้ายกลับกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่น แล้วมีความกังวลเกี่ยวกับแพลนในอนาคตของตัวเองมากขึ้น 

แต่ใครจะรู้ล่ะว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิต First Jobber เท่านั้น สถานีถัดไปบอกเลยว่ามีความท้าทายอีกมากรอให้เราพิสูจน์ความ อึด-ถึก-ทน ของรสชาติความเป็นผู้ใหญ่ จะมีบททดสอบไหนบ้างลองไปดูกัน! 

จุดเริ่มต้นที่เครื่องยนต์สตาร์ตติดๆ ดับๆ

หลังจากเรียนจบ โยนกองหนังสือทิ้ง และกระโดดขึ้นเตียงนอนสบายๆ สักระยะ ปัญหาที่ตามมาก็คงจะเป็นเจ้าความขี้เกียจตัวดี ทำให้การขุดตัวเองออกจากเตียง เพื่อเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้พลังกายและใจสูงมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรืออยากทำอะไร จะยิ่งรู้สึกหมดไฟ และผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็เห็นเพื่อนทยอยได้งานกันไปทีละคนๆ 

และอีกหนึ่งคำถามในใจคงเป็น ‘อยากทำงานอะไร?’ ซึ่งเป็นจุดสตาร์ตที่ยากที่สุดเลยก็ว่าได้ เหมือนพาเราย้อนกลับไปช่วงค้นหาตัวเองตอนมัธยมอีกครั้ง ว่าอยากเรียนคณะอะไร แต่คราวนี้กลับมาพร้อมกับภาระหน้าที่ที่หนักอึ้งมากขึ้น 

แต่ละคนต่างมีความกังวลเกี่ยวกับอาชีพในอนาคตที่ไม่เหมือนกัน เพราะบางคนอาจมีสิ่งที่ชอบ แต่ไม่ได้อยากทำเป็นอาชีพ บางคนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่รายได้ของงานนั้นสวนทางกับค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง บางคนรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘มนุษย์เป็ด’ ที่ทำทุกอย่างได้ครึ่งๆ กลางๆ หรือแม้แต่บางคนก็อาจรู้สึกว่า ตัวเองไม่เก่งพอที่จะทำงานอะไรได้ 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจเหล่านี้ล้วนเป็นตาข่ายดักจับให้เราสูญเสียความมั่นใจตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มหย่อนใบสมัคร แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไปนะ อย่างน้อยแค่เราเริ่มต้นจะลงมือทำอะไรสักอย่างก็นับว่าเป็นการเอาชนะใจตัวเองไปแล้วครึ่งทาง 

รอนานๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ

อีกช่วงเวลาชวนผวาคือ การรอติดต่อกลับจากที่ทำงานสักแห่งบนโลก ทำเอาใครหลายคนนอนไม่หลับ และหลอนกับเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ไปเลย ในใจลึกๆ ทุกคนก็คงอยากได้บริษัทที่ต้องการมากที่สุด แต่พอรอไปนานๆ แค่มี HR สักที่ติดต่อกลับมาก็ทำให้เราใจชื้นได้ไม่เบา 

ช่วงเวลาหลังจากการสัมภาษณ์ก็เป็นด่านทดสอบใจสุดโหดไม่แพ้กัน มีทั้งคนที่ได้ไปสัมภาษณ์หลายที่ แต่ไม่ถูกคอนเฟิร์มกลับมา หรือที่น่าเศร้ากว่าคือ การไม่ได้รับข้อความใดๆ ติดต่อกลับมาเลย จนทำให้ First Jobber อย่างเราเริ่มผิดหวัง และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เรามีข้อผิดพลาดตรงไหน’ หรือ ‘เรายังเก่งไม่พอหรือเปล่า’ 

การหันกลับมาทบทวนตัวเองก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจตัวเองด้วยนะ จงเชื่อมั่นเสมอว่า ‘ที่ไหนที่เป็นที่ของเรา มันจะดึงดูดเราเข้าไปเอง’ การผิดหวังจากงานหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเราดีไม่พอ แต่งานนั้นแค่ยังไม่เหมาะกับเรา ไม่แน่นะ อาจมีงานที่ดีกว่ารอเราอยู่ก็ได้ ระหว่างนี้ก็ถือว่าได้พักผ่อน ได้หากิจกรรมทำอัปสกิลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาถึงในอนาคต

เมื่องานแรก ≠ งานที่ใช่

เมื่อเริ่มทำงานแล้ว ใช่ว่าจะมีความสุขไปตลอดรอดฝั่ง เรายังต้องเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งในแง่ของการทำงาน การใช้ชีวิต และสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตัวแปรสำคัญที่สุดคงเป็นเรื่อง ‘คน’ ที่เราจะต้องทำงานร่วมกับคนหลายช่วงอายุ ซึ่งเติบโตมาในสังคมต่างกัน 

ถ้าใครได้งานแรกที่ถูกจริต รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่ทำให้เราต้องกินยาพาราเป็นประจำก็ถือเป็นลาภอันประเสริฐ แต่สำหรับใครที่โชคไม่ดีนัก เพราะต้องทำงานที่ไม่ตอบโจทย์ด้วยเหตุผลประการต่างๆ  ครั้นจะยื่นใบลาออกก็ต้องเจอกับคำครหาที่เด็กในยุคนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ‘ไม่อดทน ไม่สู้งาน’ ก็คงจริงอย่างคนเขาว่ากัน แต่ทำไมเราต้องใช้ชีวิตทำงานแบบ ‘อดทน’ ในสิ่งที่ไม่ควรอดทนด้วยล่ะ 

แม้ว่าในช่วงชีวิตของคนเราจะเจอกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ช่วงเวลาของ First Jobber นับเป็นหนึ่งในด่านหฤโหดที่สุดของชีวิต ซึ่งเปิดประตูพาเราเข้าสู่ ‘การเป็นผู้ใหญ่’ อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเจอเส้นทางที่ตัวเองชอบ แล้วก้าวเดินบนเส้นทางนั้นได้ราบรื่นเสมอไป เพราะชีวิตจริงล้วนมีขวากหนามและอุปสรรคให้ฝ่าฟันอยู่เสมอ นี่สินะ ปีเตอร์แพนจึงบอกว่า “อยากเป็นเด็กตลอดไป” เราเพิ่งเข้าใจประโยคนี้อย่างถ่องแท้ก็วันนี้แหละ

เพราะความผิดพลาดทำให้เราเติบโต

ในชีวิตเราตั้งแต่เด็กจนโต ทุกวันมีเรื่องใหม่ๆ ให้เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แค่เหตุการณ์ที่เจอในวันนี้ก็ไม่เหมือนกับที่เจอในเมื่อวานแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีทางใดเลยที่เราจะใช้ชีวิตได้แบบไม่มีข้อผิดพลาด แต่พอลองมองย้อนกลับไปดู ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ทำให้เราเติบโตขึ้นไม่ใช่เหรอ? กับชีวิตการทำงานก็เหมือนกัน เราก็เพิ่งเคยทำงานจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก การจะพลาดบ้าง ผิดหวังบ้างก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่เชื่อเถอะว่าเราจะเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเราคนเมื่อวานอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ อยากส่งกำลังใจให้ First Jobber หน้าใหม่ หรือใครก็ตามที่กำลังพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต แค่อยากบอกให้รู้ว่าคุณไม่ได้เดินอยู่บนเส้นทางแห่งความสับสนนี้เพียงลำพัง อย่างน้อยก็มีเราเป็นเพื่อนร่วมผจญภัยไปด้วยนะ เราเชื่อว่า มันไม่ง่ายเลยที่จะเริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง แต่อย่ากดดันตัวเองมากขนาดนั้นเลย ทุกคนมีจังหวะชีวิตและช่วงเวลาผลิบานที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าวันนี้ไม่ใช่วันของเรา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบนี้ไปตลอด 

อยากให้มองเห็นข้อดีของช่วงเวลานี้ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า เราจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่อีกครั้งเมื่อไหร่ อย่าลืมออกไปหาของกินอร่อยๆ ดูหนังเรื่องที่ชอบ ไปเที่ยวที่ที่อยากไป บางทีเราอาจจะค้นพบทางที่ใช่ของเราระหว่างการเดินทางครั้งนี้ก็ได้นะ 🙂

AUTHOR