‘สานฝันน้องด้วยประสบการณ์ของพี่’ GOOD HOPE #2 โปรเจกต์ที่ประสานเสียงหัวใจคนดนตรีไว้ด้วยกัน

Highlights

  • GOOD HOPE #2 คือโปรเจกต์ที่เปิดให้เหล่านักดนตรีรุ่นใหม่หรือคนมีฝันอยากเข้าวงการดนตรีส่งเดโม่เพลงที่ตัวเองแต่งขึ้นมา ตามหา 6 บทเพลงสุดท้ายที่จะได้รับโอกาสพัฒนาให้กลายเป็นบทเพลงที่ปล่อยออกสู่ท้องตลาดจริงๆ ร่วมกับ 6 โปรดิวเซอร์ 6 สไตล์ ได้แก่ รัฐ Tattoo Colour, กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่, ภูมิ วิภูริศ, อ๊อฟ Big Ass, นะ Polycat และ โซ่ ETC. แอบกระซิบหน่อยว่าบทสนทนาด้านล่างนี้มีทิปเล็กๆ จากทีม A&R ว่าเสียงแบบไหนกันนะที่พวกเขากำลังตามหาอยู่
  • ในซีซั่น 2 นี้นอกจากจะมีการปรับกติกาให้เข้มข้นขึ้น ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมใหม่อย่าง GOOD HOPE DAY อีเวนต์ที่รวบรวมทุกโอกาสดีๆ ของคนดนตรีมาไว้ในที่เดียวตั้งแต่โชว์จากวงดนตรีในโปรเจกต์ GOOD HOPE เวิร์กชอปเกี่ยวกับการทำเพลง ตลอดไปจนถึงการเปิดเดโม่และให้คำวิจารณ์เกี่ยวกับเพลงกันแบบสดๆ 

ผ่านมา 1 ปีเต็ม ประตูแห่งความหวังของคนดนตรีรุ่นใหม่ก็เปิดขึ้นมาอีกครั้งกับโปรเจกต์ GOOD HOPE #2 โปรเจกต์ที่ไม่ได้เพียงแค่เปิดโอกาสให้เหล่าคนดนตรีรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การทำเพลงจากศิลปินมืออาชีพ แต่ยังเป็นอีกหนึ่งประตูที่ช่วยให้เหล่าผู้มีฝันสามารถก้าวเข้าไปใกล้ความฝันในการเป็นศิลปินมากยิ่งขึ้น

โปรเจกต์ GOOD HOPE #2 คือหนึ่งในโครงการของ GOOD HOPE Music Academy สถาบันดนตรีออนไลน์ที่ขอทำหน้าที่ส่งต่อความหวังดีจากศิลปินรุ่นพี่ในวงการไปสู่รุ่นน้องนักดนตรีรุ่นใหม่ นำทีมโดยสมาชิกหน้าเก่า อย่าง บาส–เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ CEO หนุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท ZAAP PARTY ผู้ดำรงตำแหน่ง academy director ประจำโปรเจกต์และ ตั๊ด–วิรชา ดาวฉาย นักร้องนำวง YOUNG MAN AND THE SEA และนักแต่งเพลง เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เสริมทัพด้วยทีม A&R มือฉมังอย่าง Welfare 6 ประกอบไปด้วย บิว–รังสรรค์ ปัญญาใจ นักร้องนำวง Lemon Soup, รัฐ พิฆาตไพรี มือกีตาร์วง Tattoo Colour และ อ๊อฟ–อนุชา โอเจริญ ผู้บริหารค่ายเพลง Rats Records

การกลับมาคราวนี้ GOOD HOPE ได้ปรับเปลี่ยนกติกาใหม่ที่บอกได้เลยว่าเข้มข้นกว่าปีที่แล้ว พร้อมกับจัดเทศกาลเพื่อให้คนดนตรีทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง หรือแม้แต่นักดนตรีมือสมัครเล่นมาพบเจอและสนุกสนานด้วยกันโดยใช้ชื่อว่า GOOD HOPE DAY ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ด้วย

บทสนทนาต่อไปนี้คือ ‘พรีสเตจ’ เรียกน้ำย่อยคนดนตรีและเหล่าผู้มีฝันอยากเป็นนักดนตรี เบื้องลึกเบื้องหลังของ GOOD HOPE ปีนี้จะสนุกสนาน ประสบการณ์จากโลกดนตรีที่พวกเขาอยากมอบให้คนรุ่นน้องจะจัดหนักจัดเต็มแค่ไหน วงสนทนาเรายังมีที่ว่าง Let’s rock and roll baby!

 

หนึ่งปีผ่านไปกับโปรเจกต์ GOOD HOPE Music Academy ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

รัฐ : ตั้งแต่จบโปรเจกต์มาก็มีผลตอบรับเข้ามาเรื่อยๆ เลยครับ อย่างเมื่อคืนไปเล่นคอนเสิร์ตที่ลาดกระบังก็มีน้องๆ แก๊งนักดนตรีเดินเข้ามาหาหลังเวที น้องเขาก็บอกว่า ‘ปีที่แล้วผมก็ส่งเพลงไปที่ GOOD HOPE นะ แต่พี่ด่าเพลงผมยับเลย’ (หัวเราะ) แต่น้องๆ ที่เข้ามาก็ไม่ได้โกรธแค้นอะไร ทุกคนดูมีความสุข เราก็ถามไปว่ารู้หรือยังว่าปีที่ 2 มาแล้วนะ น้องๆ เขาก็บอกว่าได้ข่าวแล้วครับพี่ เดี๋ยวปีนี้พวกผมจะส่งไปใหม่

ในฐานะที่พวกคุณเป็นคนริเริ่มโปรเจกต์นี้ขึ้นมารู้สึกอย่างไรกับผลตอบรับอย่างล้นหลาม

ตั๊ด : ตั้งแต่ต้นเลยบาสบอกกับเราว่าอยากให้โปรเจกต์นี้เป็นเหมือนประตู เป็นประตูอีกบานสำหรับคนที่รักและอยากที่จะทำเพลงแต่ยังไม่รู้ว่าประตูบานไหนบ้างที่เขาจะเข้าไปได้ เราอยากให้ประตูบานนี้เป็นประตูที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองเข้ามาทำในสิ่งที่เขารักดู ซึ่งผลปรากฏว่าประตูบานนี้มันไปไกลกว่าที่เราคิดมาก

หลังจากจบโปรเจกต์มีน้องๆ หลายวงได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Rocketman ที่ไปอยู่ค่าย Rats Records กับพี่อ๊อฟ, ONEONE ได้ไปอยู่กับค่าย BOXX MUSIC หรือ When Children เองก็ได้เซ็นสัญญากับค่าย genie records อยู่ในโปรเจกต์นักดนตรีน้องใหม่ genie new folder กับพี่อ๊อฟ Big Ass พอผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบนี้ เราเองก็ดีใจที่ได้เห็นว่าน้องๆ ที่เลือกเดินเข้ามาในประตูนี้ได้ก้าวต่อไปข้างหน้าและได้ทำงานในวงการดนตรีจริงๆ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประตูที่เราสร้างไว้มันขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ

จาก GOOD HOPE #1 มาสู่ GOOD HOPE #2 ความแตกต่างแบบไหนที่กำลังรอคนดนตรีปี 2019 อยู่

ตั๊ด : อย่างแรกเลยคือกติกา เราเปลี่ยนกติกาเป็น 1 วง 1 เพลง ต่อ 1 เดือน จากเดิมที่เราเปิดโอกาสให้ทุกวงส่งเพลงเข้ามาเท่าไหร่ก็ได้ พวกเราก็จะฟังกันทั้งหมด ซึ่งมันสนุกนะ แต่ก็พบว่ากราฟมันแกว่งมาก ต้องรอรับการเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา (หัวเราะ) รอบนี้เราเลยปรับกติกาให้มันเข้มข้นขึ้นหน่อย เป็นใน 1 เดือนแต่ละวงสามารถส่งเพลงเข้ามาได้ 1 เพลง หลังจากนั้นทีม A&R ก็จะคัดให้เหลือ 10 เพลง เพื่อหา 1 เพลงสุดท้ายที่จะได้ทำงานร่วมกันกับ 6 โปรดิวเซอร์ 6 สไตล์ที่จะเข้ามาร่วมช่วยน้องๆ ทำเพลง มี รัฐ Tattoo Colour, กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่, ภูมิ วิภูริศ, พี่อ๊อฟ Big Ass, นะ Polycat และพี่โซ่ ETC. วนกันตลอด 6 เดือนหลังจากนี้ แทนที่เราจะมีโอกาสมอบความหวังดีเพียง 1 ครั้ง มันก็เพิ่มเป็น 6 ครั้ง และด้วยความที่มันเหลือเพลงเดียวเราว่ามันจะทำให้แต่ละวงตั้งใจเลือกเพลงและมีเวลาในการทำเพลงมากขึ้น เท่ากับว่าคุณมีโอกาสแก้ตัวได้ถึง 6 ครั้งเลยนะ

บาส : อย่าง ZAAP ถนัดเรื่องอีเวนต์อยู่แล้ว ปีนี้เราก็เลยอยากทำอะไรที่มันพิเศษไปกว่าปีก่อน บาสอยากพาสิ่งที่เราเคยได้เห็นในเฟซบุ๊กหรือในเว็บไซต์ของ GOOD HOPE เดินทางออกจากโลกออนไลน์มามีชีวิตและจับต้องได้จริงๆ เลยเกิดเป็นอีเวนต์ชื่อว่า GOOD HOPE DAY ขึ้นมา เป็นอีเวนต์ที่จะรวมโอกาสดีๆ ของคนดนตรีทั้งหมดมาไว้ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโชว์ของวงต่างๆ จากทั้ง 2 ซีซั่น เวิร์กช็อปเกี่ยวกับการทำเพลง มีการเปิดเดโม่และวิจารณ์กันสดๆ อะไรที่เขาได้เห็นในออนไลน์ก็จะได้มาเจอกันจริงๆ ในวันนั้น

ตั๊ด : เชื่อไหมว่าพวกบริษัททำความสะอาดเขามีมหกรรมโชว์เครื่องมือทำความสะอาดด้วยนะ แต่น่าแปลกที่พอเป็นวงการดนตรีกลับไม่มีงานอะไรอย่างนี้เลย เราเลยอยากที่จะทำตรงนี้ขึ้นมา แล้วเรารู้ว่า ZAAP เข้าใจหัวใจของวงการดนตรี วงการดนตรีรักกันเสมอ ดังนั้นผมเลยรู้สึกว่าถ้ามันมีสักวันหนึ่งที่ทำให้คนที่รักในเสียงดนตรีได้มาเจอกัน ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเปิดโอกาสให้น้องๆ นักดนตรีรุ่นใหม่ได้มาฟังคำแนะนำจากพี่ๆ สุดท้ายเมื่อตรงนี้มันกลายเป็นสังคม เรามั่นใจว่ามันจะไม่ได้หยุดอยู่แค่พี่รัฐ พี่อ๊อฟ หรือพี่บิวแน่ๆ แต่พี่ๆ ในวงการทุกคนก็จะเข้ามาช่วยกัน

พอจะบอกได้ไหมว่าพลังงานจากคนรุ่นใหม่แบบไหนที่ GOOD HOPE #2 กำลังตามหา

รัฐ : จริงๆ เราเคยพูดไว้ตั้งแต่ตอนที่ถ่ายคลิปโปรโมตโปรเจกต์ GOOD HOPE #2 แล้วว่า ปีนี้เราคาดหวังพลังและลีลาใหม่ๆ เราเชื่อว่าในซีซั่นนี้คนน่าจะส่งมาเยอะกว่าซีซั่นที่แล้ว มั่นใจเลยว่าคู่แข่งในปีนี้ก็น่าจะเคี่ยวมากขึ้น น่าจะมีความลำบากในการคัดพอสมควร ฉะนั้นเราอาจจะต้องมีตัวตนบางอย่างเพื่อโผล่ขึ้นมาให้ได้

อ๊อฟ : สำหรับผมอยากเห็นคนที่มีแนวทางเป็นตัวของเขาเอง ไม่พยายามที่จะเหมือนศิลปินที่เคยมีอยู่ เอาง่ายๆ อย่างวงดนตรีจากต่างประเทศบางวง เดี๋ยวนี้เราระบุหรือจำกัดแนวทางเขาไม่ได้แล้วนะ ก็เรียกว่าเป็นแนวของวงนี้ไปเลย มันต่างจากสมัยก่อนที่ต้องระบุว่าเป็นแนวร็อกหรือแนวป๊อป แม้กระทั่ง ‘ภูมิ วิภูริศ’ ศิลปินที่ผมทำอยู่ ผมเองก็ยังพูดไม่ได้ว่าเป็นแนวอะไรวะเนี่ย แต่รู้ว่านี่คือแนวภูมิ ตอนนี้มันเป็นยุคโพสต์โมเดิร์นแล้ว ทุกอย่างถูกนำมาผสมตีรวมกันหมด คราวนี้อยู่ที่เขาแล้วว่าจะผสมเพลงของเขาด้วยอะไร มีกลิ่นอายแบบไหน และนำทุกอย่างเข้ามาปั้นรวมกันให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

บิว : ส่วนผมอยากเห็นพลังงานความฮึด ความตั้งใจ ความขยันขึ้นกว่าซีซั่นที่แล้ว ในเมื่อมันผ่านมาแล้ว 1 ปี น่าจะต้องรู้แล้วว่าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ถ้ายังไม่สามารถก้าวข้ามอันเดิมไปได้ ผมว่ามันจะเหนื่อย เพราะฉะนั้นเราคาดหวังที่จะเห็นความตั้งใจ ซึ่งเอาจริงๆ ฟังจากเพลงก็รู้ได้แล้วว่าคนนี้แม่งตั้งใจทำเพลงมาจริงๆ เราอยากเห็นพลังงานแบบนั้น

 

แล้วถ้าเทียบกัน ‘สมัยนี้’ กับ ‘สมัยพวกคุณ’ การเป็นศิลปินมันยาก-ง่ายขึ้นยังไงบ้าง

ตั๊ด : ใช้คำว่า ‘สมัยพวกคุณ’ เลยเหรอ พวกเราเพิ่งสามสิบต้นๆ กันเองนะ (หัวเราะ)

รัฐ : ยุคนี้มันง่ายขึ้น ทุกวันนี้เราทำเพลงได้ด้วยตัวเองหมดแล้ว อย่างถ้าอยากจะอัดเสียงก็อัดในห้องนอนได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปเข้าห้องอัดเหมือนสมัยก่อน หรือก่อนที่จะมีโปรเจกต์ GOOD HOPE ทุกคนก็ล้วนมีช่องทางออนไลน์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยูทูบหรือเฟซบุ๊กก็ตาม ซึ่งช่องทางพวกนี้เป็นช่องทางเผยแพร่งานได้หมดเลย มันก็ช่วยให้คนเห็นงานเราได้มากขึ้น

ตั๊ด : สมัยก่อนต้องได้รับอนุญาตให้เป็นศิลปิน คือถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นศิลปินก็หายเลยนะ แต่มันก็จะมีบางวง เช่น มาลีฮวนน่า ที่ขายอยู่หน้ารามฯ แล้วดันมีคนชอบ มันก็มีทางเป็นไปได้ แต่โอกาสแบบนั้นมันเกิดขึ้นน้อยมาก กลับกันในสมัยนี้ไม่มีอะไรแบบนั้นอีกแล้ว ลองไปดูเพลงที่ติดท็อปชาร์ตในแอพพลิเคชั่นมิวสิกสตรีมมิงต่างๆ ก็เป็นเพลงที่ทำกันเองซะส่วนใหญ่ ฉะนั้นผมว่าโลกมันค่อยๆ เคลื่อนไปแล้ว

อ๊อฟ : สมัยนี้มันง่ายขึ้นในการที่จะเป็นศิลปิน แต่มันยากที่จะเป็นศิลปินดัง เพราะว่าการแข่งขันมันเยอะขึ้น อย่าลืมว่าตัวเราง่าย คนอื่นก็ง่ายเหมือนกัน แต่ถ้าถามถึงเรื่องการเป็นศิลปิน ตอนนี้ทุกคนเป็นศิลปินได้อยู่แล้ว

ถ้าเป็นศิลปินได้ง่ายขึ้นแล้วทำไมเหล่านักดนตรีรุ่นใหม่ถึงควรลองส่งเพลงมาโปรเจกต์ GOOD HOPE #2 ดูสักครั้งในชีวิต

ตั๊ด : ผมคิดว่ามันไม่ได้มีประตูที่นี่บานเดียว เฟซบุ๊ก ยูทูบ ล้วนเป็นประตูของทุกคน แต่ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้ประตูบานนี้ต่างออกไป ผมว่ามันคงต่างกันตรงที่บานนี้เป็นประตูที่จะช่วยเติมเต็มความฝันน้องๆ ด้วยประสบการณ์ของพี่ๆ เรามีทีม A&R ที่จะคอยดูแล ให้คำปรึกษา จนกว่าเพลงจะออกมาเสร็จสมบูรณ์ มันน่าจะเหมือนสิ่งที่บาสบอกมาเสมอตั้งแต่โปรเจกต์ GOOD HOPE #1 คือเราไม่ได้เป็นประตูที่พาไปสู่ความสำเร็จ ไม่ได้มีรางวัลให้ แต่สิ่งที่มีคือประสบการณ์จากคนทำจริงๆ ประสบการณ์อีกแบบที่อาจจะหาจากที่อื่นได้ยากหน่อย

บิว : ไม่แน่ว่าการมาที่นี่มันอาจทำให้หาตัวเองเจอก็ได้นะ พอได้มาทำงานจริง มาเจอโปรดิวเซอร์ มันอาจทำให้รู้ตัวว่า เฮ้ย! เราเหมาะกับการทำงานกับโปรดิวเซอร์ว่ะ หรืออาจจะได้รู้ว่าเราเหมาะกับการทำงานด้วยตัวเอง เพราะเราเป็นคนทำงานเองแล้วสบายใจกว่า อีกอย่างโปรเจกต์นี้มันไม่ใช่การทำเพลงที่แค่น้องเอาเพลงมาแล้วพี่แก้ให้ มันไม่ใช่แบบนั้น มันมีทั้งการกอดคอกันไปหรือถกเถียงกันบ้าง ที่นี่เปิดโอกาสให้เรามาแลกประสบการณ์กัน เพราะฉะนั้นระหว่างทำเพลงมันเลยสนุกมาก

รัฐ : โปรเจกต์ GOOD HOPE ถ้ามองทั่วไปๆ มันอาจจะเหมือนเรากำลังมองหาศิลปินใหม่ๆ แต่จริงๆ แล้วผมมองไปมากกว่านั้น ผมเองก็อยากเจอกับโปรดิวเซอร์ใหม่ๆ นักแต่งเพลงใหม่ๆ มือเบสใหม่ๆ ด้วยเหมือนกัน น้องบางคนอาจจะไม่ใช่สายร้องแต่อยากเป็นโปรดิวเซอร์ ก็ส่งเพลงกันเข้ามาได้ แล้วอาจจะเขียนบอกเราเพิ่มว่าคุณอยากทำอะไร ชอบอะไร ถ้าพวกเรารู้ว่าคุณอยากเป็นอะไร เราเองก็จะมีวิธีพิจารณาอีกแบบหนึ่ง จริงๆ คนทำงานเบื้องหลังก็จำเป็นและยังขาดมากๆ ก็ส่งเข้ามากันได้นะครับ (หัวเราะ)

สำหรับนักดนตรีน้องใหม่โปรเจกต์ GOOD HOPE #2 คือโปรเจกต์ที่จะช่วยเติมเต็มความฝันและสำหรับพวกคุณโปรเจกต์นี้ช่วยเติมเต็มอะไร

รัฐ : อย่างแรกเลยมันเป็นการได้กลับมาทำดนตรีกับเพื่อนๆ อีกครั้งหนึ่ง เอาจริงๆ แค่ได้กลับมาทำดนตรีด้วยกันแค่นี้ก็โอเคแล้ว แต่สิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือโปรเจกต์นี้ให้ประสบการณ์ ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างวันนี้เรามานั่งสัมภาษณ์กัน แค่มานั่งอยู่ตรงนี้แล้วได้ฟังเพื่อนๆ ให้สัมภาษณ์ เราก็เก็บไปคิดกับตัวเองได้ว่าพวกนี้แม่งเจ๋งว่ะ แล้วเจ๋งยังไงวะ การที่ได้มาเจอกับกลุ่มคนเก่งๆ มันให้อะไรเราเยอะมาก พอเราได้รับความรู้สึกตรงนี้มา เราก็อยากที่จะส่งต่อ ฉะนั้นลองมาจอยกับเราดู เราทุกคนตั้งใจให้เท่าที่เราจะให้ได้ ถ้าเกิดมีโอกาสก็ส่งเพลงมาเถอะ วงร็อกก็ส่งมาเยอะๆ ด้วย ปีที่แล้วบ่นกันว่าไม่มีวงร็อกเลย ถ้าอย่างนั้นปีนี้ก็ส่งมา (หัวเราะ)

บิว : สำหรับผม ตอนเด็กผมโอกาสน้อย เมื่อก่อนเราทำเพลงอยู่ต่างจังหวัด การจะเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ แล้วเจอใครสักคนแนะนำเรื่องการทำเพลงเป็นเรื่องที่ยากมาก อินเทอร์เน็ตอะไรก็ไม่มี ยิ่งการฟังเดโมยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราพรีเซนต์ไม่ดีแผ่นนั้นอาจจะไม่ได้ถูกรับฟังเลย แต่ผมว่าโปรเจกต์ GOOD HOPE เนี่ยมันฟังทุกเพลงจริงๆ เป็นการมอบโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่จริงๆ เรารู้สึกว่าได้ตอบแทนโอกาสที่เคยได้รับมาก่อนจากพี่ๆ ในวงการผ่านโปรเจกต์นี้ สำหรับวงดนตรีบางทีมันอาจจะขาดแค่โอกาส มันมีของของมันอยู่ มันขาดแค่ประตูที่จะเปิดโอกาสให้ได้แสดงตัวตน ที่นี่น่าจะเป็นประตูที่ดี

อ๊อฟ : คงคล้ายๆ กับพี่บิว เราอยากจะช่วยน้องๆ แหละ เพราะเมื่อก่อนเวลาทำเพลงแต่ละทีมันยากลำบากเหลือเกิน สมัยผมเริ่มทำแรกๆ ก็ไม่รู้ว่าโปรแกรมใช้ยังไง อุปกรณ์ก็ไม่มี ต้องบินไปต่างประเทศเพื่อไปซื้ออุปกรณ์บางชนิดแล้วเอากลับมาทำเพลงในไทย ยุคนั้นคอมพิวเตอร์มิวสิกก็ยังไม่ค่อยเข้ามาเลย เราจำได้ว่าตอนนั้นต้องศึกษาโดยการดูคลิปจากต่างประเทศอย่างเดียวเลย ไม่มีคนสอน ไม่มีคนแนะนำ มั่วกันตลอด พอมันเกิดโปรเจกต์นี้ขึ้นเราก็อยากสอน อยากให้เขาได้เรียนรู้ของจริง ได้เห็นการทำเพลงที่จริงจัง เอาแค่จบโปรเจกต์นี้เด็กๆ กลับไปทำเพลงเองได้เก่งขึ้น แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว

บาส : โปรเจกต์นี้ช่วยตอบโจทย์ของตัวบาสเอง มันเปิดโอกาสให้เราได้คืนสิ่งที่ได้รับมาจากวงการดนตรี ที่มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะเสียงเพลงนำเราไปทั้งนั้น บาสได้รับอะไรมาเยอะแล้วเลยอยากจะทำอะไรให้คนอื่นบ้าง การสร้างโปรเจกต์ GOOD HOPE เลยเป็นเหมือนมูลนิธิทดไว้ในใจของเรา เพราะบาสคงไม่สามารถไปทำเหมือนคนอื่นเขาได้ แต่เรามอบความหวังในแบบของเราได้ เรารวมกลุ่มกันและส่งต่อโอกาสให้คนอื่นได้จริงๆ เราอยากจะสร้างตรงนี้และคืนสู่สังคมในแบบที่เราทำได้แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ บาสรู้สึกว่าแค่นี้ก็โอเคแล้ว

ตั๊ด : ส่วนของผมคือโปรเจกต์นี้ช่วยตอบคำถามที่ผมมีอยู่ในใจ เมื่อก่อนผมเคยทำงานเป็นครีเอทีฟจูเนียร์ที่ค่ายเพลงค่ายหนึ่ง หน้าที่ของผมคือยกลังเดโมที่ส่งมาที่ค่ายขึ้นไปวางไว้บนชั้น ซึ่งบนชั้นเต็มไปด้วยลังเดโมอัดแน่นทุกชั้น เชื่อไหมตั้งแต่วันแรกจนวันที่ผมลาออกแม่งยังไม่มีการหยิบออกมาฟังสักแผ่นเลย ผมเลยรู้สึกว่าไม่ว่าอย่างไรเพลงมันต้องได้รับการฟังนะ ความตั้งใจของคนต้องได้รับการฟัง ฟังอย่างเดียวไม่พอต้องได้รับคำแนะนำด้วย เพราะผมรู้สึกว่าการที่เราได้รับคำแนะนำหรือแค่ได้มาคุยกับพี่ๆ ถึงสิ่งที่พวกเรารัก อะไรพวกนี้มันช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจและยังคงพัฒนางานไปในแบบที่เราเชื่อ ฉะนั้นถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสส่งต่อได้ เราก็ยินดีที่จะส่งต่อสิ่งที่เราได้รับมาให้กับน้องๆ ของเรา

 

งาน GOOD HOPE DAY จะจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 ณ เมืองไทย GMM LIVE HOUSE ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/GOODHOPEMusicAcademy/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น