คนไทยมักรับมือกับปัญหาด้วยความตลกขบขัน ไม่ว่าปัญหาจะเล็กระดับน่ารำคาญใจ หรือใหญ่ระดับคับประเทศ เราก็ค้นพบแง่มุมตลกเฮฮา หาช่องยิงมุกต่อมุกกันได้บรรเจิดเลิศล้ำเสมอ
ตัวอย่างสำคัญอย่างวิกฤติบีทีเอสขัดข้องเป็นเวลานานราวหนึ่งสัปดาห์เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา นอกจากเสียงบ่นครวญของคนกรุงที่อื้ออึงไปทั้งโลกออนไลน์แล้ว อีกสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันและน่าสนใจจนเราอยากชวนคุยนั่นคือ ‘มีม’ ที่ออกมาล้อเลียนแกมถากถาง สร้างเสียงหัวเราะให้พวกเราได้ทันท่วงทีภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แน่นอนว่าเราทั้งขำทั้งขมขื่นไปกับมัน แต่สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามต่อจากนั้นก็คือ แล้วมีมเหล่านี้จะสามารถส่งพลังไปได้ไกลมากกว่าเสียงหัวเราะหรือเปล่า
ในฐานะสิ่งประดิษฐ์แห่งยุคอินเทอร์เน็ต มีมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแนวคิด ความรู้สึกผ่านวัฒนธรรมป๊อป แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคิดของผู้คนได้แยบยล รู้ตัวอีกทีจากแค่เป็นผู้เสพ เราก็นำมันมาผลิตซ้ำ แล้วส่งต่อไปให้เพื่อนอีกไม่รู้จบ แม้จะมีท่าทีการแสดงออกแบบตลกเฮฮาตั้งแต่กระตุกยิ้มที่มุมปากไปจนถึงขำก๊าก แต่มีมจำนวนไม่น้อยก็มีสิ่งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด แทรกอยู่ในภาพนิ่งจากหนังดังหรือการ์ตูนที่เราคุ้นตา ต่างก็สะท้อนประเด็นที่น่าสนใจไว้ด้วยเช่นกัน

Post by Urban Memes Crushing NIMBY Dreams
ด้วยความง่ายของการสื่อสารที่มองปราดเดียวก็เข้าใจได้ทันที ไม่ว่าใครก็เก็ตหากอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน หรือมีชุดข้อมูลที่ประกอบเข้าด้วยกันได้ลงล็อก ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิง การเมือง การแพทย์ กีฬา การศึกษา ฯลฯ ทุกอย่างถูกนำเสนอผ่านมีมมาแล้วทั้งนั้น
ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 ซึ่งมีการนำมีมมาใช้ในการสื่อสารตอบโต้กันระหว่างคู่ชิงอย่าง Hillary Clinton และ Donald Trump เพื่อสื่อสารกับมิลเลเนียลชาวอเมริกันให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น
แล้วทำไมวงการขนส่งสาธารณะจะทำบ้างไม่ได้ล่ะ
สัปดาห์ก่อน MAYDAY! ได้รับคำชวนจากมิตรสหายให้เข้าไปจอยกรุ๊ปในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า NUMTOT: New Urbanist Memes for Transit-Oriented Teens ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสมาชิกจากทั่วโลกมากถึง 107,581 คน (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 สิงหาคม 2561) ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-25 ปี ผลัดเปลี่ยนกันมาโพสต์มีมเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะกันเป็นรายนาที เนื้อหามีตั้งแต่ข่าวสารการสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่เอี่ยมในกรุงมะนิลา แนวคิดการพัฒนาเมือง สิทธิคนเดินเท้า สิทธิคนใช้จักรยาน การใช้งบประมาณของรัฐกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างไม่สมเหตุสมผล นำเสนอผ่านกราฟิกแบบบ้านๆ ที่ใช้โปรแกรมสุดพื้นฐานแปะข้อความลงไปบนภาพ ทั้งชวนขำและชวนให้คิดตามไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่าแทบทุกโพสต์จะมีคนมาช่วยต่อมุก แชร์ประสบการณ์ หรือแปะเรเฟอเรนซ์ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง นั่นทำให้พื้นที่เสมือนอันมีสมาชิกมหาศาลกลายเป็นบ้านที่อบอุ่นของคนรักขนส่งสาธารณะได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Post by Haze Elle
จุดเริ่มต้นของคอมมิวนิตี้คนเพี้ยนที่อยากเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาจากการรวมตัวของ Juliet Eldred กับ Emily Orenstein นักศึกษาจาก University of Chicago และ Jonathan Marty จาก New York University ทั้งสามสนใจและศึกษาประเด็นด้านการพัฒนาเมือง การวางผังเมืองอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ต่างมีศาสดาคนเดียวกันนั่นคือ Jane Jacobs นักข่าว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชาวอเมริกัน-แคนาเดียน ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Death and Life of Great American Cities งานของเธอมุ่งไปที่การปฏิเสธแผนพัฒนาเมืองที่คิดทุกอย่างเพื่อรถยนต์ แต่ค้านว่าเมืองที่ดีควรจะเป็นเมืองของระบบขนส่งสาธารณะและการเดินเท้ามากกว่า จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นภาพหญิงวัยกลางคนผมสั้นคนนี้ถูกนำมาทำเป็นมีมอยู่บ่อยๆ
“มีมคือรูปแบบของสื่อที่สำคัญที่สุดที่ผู้คนในยุคสมัยเราสร้างขึ้นและเป็นเจ้าของมันจริงๆ” มาร์ตี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ถึงพลังของมีมที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีวิธีการแสดงออกทางความคิด สื่อสารกับคนที่สนใจสิ่งเดียวกันได้อย่างรวดเร็วและทรงพลัง

Post by Haze Elle
แม้ความตั้งใจเริ่มแรกจะเป็นเพียงการหาแนวร่วมที่มาสร้างมีมตลกๆ แลกเปลี่ยนกันเพื่อความรื่นรมย์ แต่ใช่ว่าเราจะได้แต่ตลกไปวันๆ ด้วยความเป็นกลุ่มก้อนของ NUMTOT ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น จากปากคำของผู้ก่อตั้ง พวกเขาเล่าว่าสมาชิกจำนวนไม่น้อยนัดพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดอย่างจริงจัง บางคนก็สมัครเรียนคอร์สการวางผังเมือง ไปจนถึงสมัครเข้าไปฝึกงานหรือทำงานกับหน่วยงานที่ดูแลเมืองของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าด้วยการรับรู้ว่ายังมีคนที่เชื่อแบบเดียวกัน คุยภาษาเดียวกันกับพวกเขานี่แหละที่ทำให้หลายคนมั่นใจที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนเมืองให้เป็นจริง ตั้งแต่ระดับความร่วมมือของผู้คนตัวเล็กๆ ไปจนถึงระดับนโยบาย
กลับมาที่คำถามของบ้านเราที่ว่า มีมเหล่านี้จะสามารถส่งพลังไปได้ไกลมากกว่าเสียงหัวเราะได้หรือไม่ อาจถึงเวลาที่เราต้องมองให้ไกลกว่าความตลกขบขันของวิธีการสื่อสาร มองให้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น แล้วอาศัยพลังการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาของขนส่งสาธารณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันผ่านความง่ายและใกล้ตัวของมีม แล้วผลักดันต่อให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างที่เราต้องการได้เลย ณ ตอนนี้ เวลานี้
ไม่ต้องรอให้เกิดดราม่าระคายใจหน่วยงานที่รับผิดชอบจนทนไม่ไหวค่อยลุกขึ้นมาแก้เพียงฝ่ายเดียว เพราะเราต่างก็เป็นเจ้าของเมืองแห่งนี้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกสื่อสารเรื่องราวที่เราคับข้องใจออกไปด้วยวิธีใดเท่านั้นเอง
เข้าไปจอยกรุ๊ป NUMTOT ได้ที่ facebook.com/groups/whatwouldjanejacobsdo/
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2012/10/2012102914110457228.html
- https://www.teenvogue.com/story/the-rise-of-political-memes-could-have-a-major-effect-on-america
- https://www.allthingsdank.com/the-cultural-impact-of-internet-memes/
- https://www.wikiwand.com/en/New_Urbanist_Memes_for_Transit-Oriented_Teens
- https://1stwebdesigner.com/power-internet-memes/
- https://edition.cnn.com/style/article/yugoslavia-concrete-architecture/index.html?utm_term=multi-image&utm_content=2018-07-17T07%3A08%3A04&utm_source=twCNNi&utm_medium=social
- https://medium.com/wonk-bridge/the-power-of-the-meme-an-alternative-reading-of-history-3b6665cd0268
- https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2012/10/2012102914110457228.html
- https://www.citylab.com/life/2018/03/new-urbanist-memes-for-transit-oriented-teens/556790/
- http://www.chicagomag.com/city-life/March-2018/Meet-the-61000-Transit-Nerds-of-Facebooks-New-Urbanist-Memes-for-Transit-Oriented-Teens/
- https://www.theguardian.com/cities/2018/jul/05/meet-the-numtots-the-millennials-who-find-fixing-public-transit-sexy-urbanist-memes