ทำยังไงเราจึงจะได้ใช้บัตรแมงมุมสักที

แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน

เพราะเป็นเวลาเกือบ 12 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เริ่มต้นโครงการนี้ขึ้นมา เราได้แต่ชะเง้อคอมองบัตร EZ-Link ของสิงคโปร์ บัตร Octopus ของฮ่องกง หรือบัตร Oyster ของอังกฤษที่ใช้งานกันได้ครอบจักรวาล ในขณะที่ชาวกรุงเทพฯ ยังคงกระเป๋าตุงไปด้วยสารพัดบัตรสำหรับการเดินทางแต่ละรูปแบบ (และเหรียญทอนจากเครื่องอัตโนมัติ) เพราะระบบตั๋วร่วมยังมัวแต่ให้ความหวังแบบผลุบๆ โผล่ๆ เหมือนคนไม่มีใจ เลื่อนกันมาเรื่อยๆ จนนับครั้งไม่หวาดไม่ไหว

แม้ในที่สุดวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา จะมีการทยอยแจกบัตรแมงมุมสองแสนใบแรกให้ประชาชนได้นำไปใช้งานกันอย่างไร้รอยต่อแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นแค่รอยต่อเดียวระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงเท่านั้น ล่าสุดแผนการพัฒนาระบบได้ขยายเวลาออกไปอีก นั่นหมายความว่า จนกว่าจะถึงปลายปี 2562 เราจึงจะใช้งานระบบตั๋วร่วมได้อย่างเต็มรูปแบบ

ระหว่างที่รอเขา เมล์เดย์ชวนเราทุกคนมานั่งวิเคราะห์กันว่า อะไรบ้างที่จะเป็นปัจจัยให้เราได้ใช้บัตรแมงมุมได้เต็มรูปแบบ (และเป็นปัจจัยที่ทำให้เราไม่ได้ใช้) สักที

จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

แม้จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ให้มาเป็นผู้คอยควบคุมดูแลการบริหารจัดการเงิน จัดสรรรายได้ระหว่างผู้ประกอบการแล้ว แต่ก็ใช่ว่าเรื่องจะจบ เพราะความแตกต่างของลักษณะการให้บริการแต่ละบริษัท ระบบการจ่ายเงิน อุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่างๆ ล้วนแต่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน

การเจรจากับผู้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วม เพื่อจัดทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการทั้งหมด ตั้งแต่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ผู้ให้บริการรถประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนยืดยาวราวกับศึกมหาภารตะ เพราะโจทย์คือการหาสมดุลความอยู่รอดของผู้ให้บริการเหล่านี้ และผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการอย่างเราทุกคน

อยากให้เธอไปคุย เธอไปคุยกับเขาก่อน

แม้กระทรวงคมนาคมจะเห็นชอบให้นำระบบ EMV (ย่อมาจากอักษรตัวหน้าของ 3 บริษัทบัตรเครดิตที่ร่วมกันสร้างระบบนี้ขึ้นมาอย่าง Europay MasterCard และ Visa ปัจจุบันมีเครือข่ายอื่นๆ เข้าร่วมด้วยอีกเพียบ) มาใช้ร่วมกับบัตรแมงมุม โดยใช้วิธีติดชิปเข้ากับเครดิตการ์ด เพื่อให้ใช้งานได้กับห้างร้านต่างๆ ทั่วไปด้วย เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการออกบัตรใหม่และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมแบบเดิมได้ครึ่งต่อครึ่ง

การปรับเปลี่ยนจากระบบปิดที่บัตรใช้งานได้กับขนส่งสาธารณะเท่านั้น กลายมาเป็นระบบเปิดที่ใช้งานได้กับธุรกรรมการเงินอื่นๆ ได้ด้วย จึงยังต้องการเวลาพัฒนาซอฟต์แวร์และปรับปรุงเครื่องอ่านบัตรใหม่กันอีกรอบ หลังจากที่วางแผนจัดซื้อสเปกเครื่องแบบเก่ามาหลายปี ซึ่งแต่ละเจ้าต่างก็มีปัญหาติดขัดที่แตกต่างกันไป ทั้งเงินลงทุน การทำสัญญากับบริษัทที่ติดตั้งระบบจ่ายเงิน ไปจนถึงการเชื่อมต่อระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ตอนนี้จึงยังต้องรอกันไปก่อน

ถ้าเธอพร้อม ฉันก็พร้อมไปด้วยกัน

แม้ ขสมก. จะประกาศว่าพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม และนำร่องติดตั้งเครื่องอ่านบัตรไปแล้วบ้างบางส่วน (คาดว่าจะครบ 2,600 คันในตุลาคม 2561 นี้) แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถแตะบัตรจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ได้ทุกคัน เพราะยังมี ‘รถร่วมบริการ ขสมก.’อีกหลายพันคันที่บริหารโดยเอกชน เจ้าของอู่รถเมล์ เจ้าของสายรถเมล์รายย่อยๆ ก็ยังคงรีๆ รอๆ ไม่อยากเสี่ยงลงทุนหารถใหม่ ไม่อยากรีบติดตั้งเครื่องอ่านบัตร เพราะรอท่าทีของกรมการขนส่งทางบกอยู่ว่าจะประกาศเรื่องการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลขึ้นมาใหม่อีกเมื่อไหร่ (จำหน้ากากรถเมล์ปีที่แล้วได้ไหม โครงการนั้นแหละ) หลังจากที่ถูกเบรกตัวโก่งไปเมื่อกลางปีก่อนด้วยคดีหน้ากากรถเมล์อันลือลั่น

ความยุ่งยากของเรื่องนี้จึงไม่ได้มีเพียงว่าแต่ละหน่วยงานจะเอาด้วยหรือไม่ แต่เกี่ยวโยงกันเป็นใยแมงมุมเหนียวหนึบที่หากคนหนึ่งไม่พร้อม อีกหลายคนก็ยากที่จะไปต่อ ซึ่งหากเฟสทางบกยังไม่พร้อม เฟสต่อไปที่จะขยายพื้นที่ไปยังการเดินทางทางน้ำ ก็จะยิ่งต้องถูกเลื่อนออกไปอีก

อีกนานไหม เธอจะทำใจได้หรือเปล่า

ไม่ใช่แค่ความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ ไม่ใช่แค่ความพร้อมของระบบ แต่อีกปัจจัยที่จะทำให้การใช้งานตั๋วร่วมเป็นไปได้อย่างราบรื่น นั่นก็คือผู้คนที่เกี่ยวข้อง เราอาจจะต้องถามย้อนไปว่าทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการจ่ายเงินแบบใหม่นี้มากน้อยเพียงใด พร้อมใช้งานหรือพร้อมจ่ายเงินในอัตราค่าโดยสารแบบใหม่หรือไม่ พนักงานของแต่ละระบบการเดินทางพร้อมรับสถานการณ์แค่ไหน หากคนขึ้นรถเมล์ไปแล้วแต่เครื่องไม่สามารถอ่านบัตรได้ หรือเงินในบัตรไม่เพียงพอจะต้องดำเนินการอย่างไร หากเกิดภาวะขัดข้องทั้งระบบจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ยังไงบ้าง การวางแผนรับมือเหตุไม่คาดฝันนั้นมีความรีบเร่งของผู้โดยสารนับล้านเป็นเดิมพัน จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญที่จะทำให้ตั๋วร่วมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเดินทางได้จริงๆ


อ้างอิง

http://www.otp.go.th/index.php/post/view?id=612

http://www.realist.co.th/blog/บัตรเเมงมุม

https://www.thaipost.net/main/detail/6419

https://www.thairath.co.th/content/1257331

https://www.estopolis.com/article/บัตรแมงมุมคืออะไร-ดียังไง-ซื้อที่ไหน-มีกี่ประเภท

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/797414

http://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2560/nov2560-1.pdf

https://gnews.apps.go.th/news?news=16725

http://www.thansettakij.com/content/26415

https://voicetv.co.th/read/By-ATZ-jzhttps://www.khaosod.co.th/economics/news_833586

http://www.bltbangkok.com/article/info/8/465

http://www.bltbangkok.com/CoverStory/ยืดเวลาใช้ตั๋วร่วมอัพเกรดระบบเป็นEMVแมงมุม40

https://www.kobkid.com/news-condominium/เมื่อรัฐสนับสนุน-emv-และลดบทบาทของบัตรแมงมุมลง-เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีโลก

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา