คอเมดี้ ติ๊กถูก
ดราม่า ติ๊กถูก
แอกชัน ติ๊กถูก
ตัวละคร LGBTQ+ ที่ไม่ได้ถูกทรีตเป็นแค่ตัวตลก ติ๊กถูก
โมเมนต์สุดจิ้น ติ๊กถูก (หลายๆ ครั้งเลย)
หากเราจะเปิดหนัง LGBTQ+ ดูสักเรื่อง จะมีอะไรที่เราต้องการไปมากกว่านี้ และเพราะว่าติ๊กถูกได้ทุกข้อ ฉัน (และมั่นใจว่าเพื่อนชาวสีรุ้งอีกหลายคน) จึงยกให้ Marry My Dead Body หรือ แต่งงานกับผี เป็นหนึ่งในหนังขึ้นหิ้งในใจหลังจากได้ดูครั้งแรกบน Netflix เมื่อหลายปีก่อน
แน่นอนว่าเมื่อค่ายหนังอารมณ์ดี GDH ประกาศว่าจะนำมารีเมกเป็นเวอร์ชันไทย แถมยังได้ศิลปินคู่จิ้นดัง บิวกิ้น-พีพี มานำแสดงและเป็นหนังเรื่องแรกที่พวกเขาได้นำแสดงคู่กัน ฉันก็นับวันรอดูแทบไม่ไหว
และหลังจากได้ดูด้วยตาของตัวเอง Marry My Dead Body เวอร์ชันไทยหรือ ซองแดงแต่งผี ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยสักนิด

ความสัมพันธ์แบบแอกชัน-ดราม่าดี้ของสายตำรวจกับผี
ซองแดงแต่งผี แทบจะถอดเรื่องราวมาจาก Marry My Dead Body ฉบับไต้หวันแบบเป๊ะๆ จะมีเพียงรายละเอียดบางอย่างที่ถูกเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสังคมไทย และบทสรุปของตัวละครบางตัวที่ไม่เหมือนกับต้นฉบับ แต่ก็เรียกรอยยิ้มได้ดี
หนังเล่าเรื่องราวของ ‘เม่น’ อดีตโจรกิ๊กก๊อกที่ผันตัวมาเป็นสายตำรวจ ซึ่งวันหนึ่งดันดวงซวยไปหยิบ ‘ซองแดง’ ที่บรรจุเล็บและเศษผมของ ‘ตี่ตี๋’ เกย์หนุ่มที่วางแผนกำลังจะแต่งงานแต่กลับประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตซะก่อน ซึ่งเป็นแผนของอาม่าของตี่ตี๋ที่เชื่อว่าวิญญาณของหลานชายจะยังวนเวียนไม่ไปไหนหากยังไม่ได้แต่งงาน เม่นจึงต้องจำใจแต่งงานหลอกๆ กับตี่ตี๋
แต่เรื่องยังไม่จบเท่านั้น เพราะหลังงานแต่ง วิญญาณของตี่ตี๋ได้ย้ายเข้ามาอยู่กับเม่นฉันสามีภรรยา นำไปสู่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีที่โคตรจะแตกต่าง ทว่าก็เข้ากันได้ดีอย่างน่าประหลาด และการไขปริศนาว่าทำไมวิญญาณของตี่ตี๋จึงไม่ไปผุดไปเกิดเสียที ยังมีอะไรที่ติดค้างอยู่หรือเปล่า
ซองแดงแต่งผี คงความกลมกล่อมของ Marry My Dead Body ที่เป็นส่วนผสมของคอเมดี้ แอกชัน ดราม่ามาได้อย่างครบถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจมาตั้งแต่ฉบับไต้หวัน คือการเล่าเรื่องของ ‘ชายแทร่’ และ ‘เก้งออกสาว’ ที่คิดเล่นเห็นต่างกัน แต่กลับต้องมาอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีทางเลือก

มิตรภาพของชายแทร่กับตัวแม่ตัวมัม
ว่ากันตามตรง เม่นเป็นชายแทร่ที่ยังมีทัศนคติไม่ดีต่อกลุ่ม LGBTQ+ อย่างกับคนรุ่นเก่า (หนังไม่ได้เล่าเยอะว่าทำไมเม่นถึงคิดแบบนี้ แต่ขอเดาว่าอาจเติบโตมากับค่านิยมโบราณ หรืออยู่ในสังคมที่ไม่ได้เปิดกว้างต่อชาวเพศหลากหลายนัก) และบางทีเขาก็เผลอเหยียดโดยไม่รู้ตัว ในขณะตี่ตี๋ก็เป็นตัวแม่ตัวมัมตัวมารดา ผู้ที่ไม่ได้โอบรับความเฟมินีนในตัวเองเท่านั้น หากเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เขายังเป็นคนต่อสู้เรียกร้องเรื่องเพศและอีกหลายเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ
มันจึงสนุกมากที่เห็นคน 2 ขั้วมาเจอกัน เขม่นกัน และปะทะกัน ในทางหนึ่ง การที่ตี่ตี๋เข้ามาในชีวิตเม่นอาจดูเป็นการดัดสันดานเขากลายๆ ให้กลายเป็นคนที่เปิดกว้างทางความคิดมากกว่านี้ ซึ่งจากในหนังเราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วเม่นไม่ได้เป็นคนเลวร้ายและไม่ได้อยากทำร้ายใคร เขาแค่ต้องการการ ‘เปิดก๊อก’ ทางความคิด เปิดอกรับฟังเรื่องราวของคนที่ไม่เหมือนเขา จนสามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจและเคารพความแตกต่างได้ในที่สุด
แม้ว่าจะดูผิดที่ผิดเวลา แต่สำหรับเรา การพบกันของเม่นกับตี่ตี๋จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ยิ่งพัฒนากลายเป็นมิตรภาพก็ยิ่งยืนยันว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นสิ่งสวยงาม
และนั่นแหละคือความหมายของมิตรภาพ มันช่วยให้เราได้มองเห็นตัวเองอย่างเต็มตา ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น และค้นพบแง่มุมใหม่ที่ตัวเองไม่คิดว่าจะมีอยู่ในตัว

วิชาความเท่าเทียม 101 ของคนดู
นอกจาก ซองแดงแต่งผี จะมีด้วยรสชาติแบบหนังคอเมดี้ของ หมู ชยนพ และความฟีลกู้ดแบบ GDH ที่เราคุ้นเคย ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้หนังสนุกขึ้นมาก คือพลังดาราของบิวกิ้น-พีพี ที่ฉายความความเป็นซูเปอร์สตาร์ได้อย่างโชนแสง มากกว่าสวมบทบาทให้เราขำทั้งน้ำตา ทั้งสองยังมอบเพลงประกอบที่เพราะมากๆ ให้กับเรื่องนี้อีก
แต่สิ่งที่ชอบที่สุดของเรื่องนี้ ยังเป็นการหยอดใส่ประเด็นปัญหาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญได้อย่างลงตัว นอกจากตัวเม่นที่ตี่ตี๋จะต้องไฝว้แล้ว เขายังต้องต่อสู้กับพ่อของตัวเองที่ตั้งท่าจะไม่ยอมรับการแต่งงาน

บางคนอาจสงสัยว่า ปี 2025 แล้ว เรายังต้องดูหนังเกี่ยวกับพ่อแม่ที่ไม่ยอมรับในตัวลูกที่เป็นเกย์อีกเหรอ ประเด็นนี้ถูกเล่าซ้ำๆ มาในหนังหลายเรื่องแล้ว และการเล่าแบบไม่ได้สำรวจลงลึกมากใน ซองแดงแต่งผี ยังจำเป็นอยู่ไหม
สำหรับเรา คำตอบคือยังจำเป็น แม้ประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่โอบรับความหลากหลาย สิทธิเรื่องความเท่าเทียมของเราจะก้าวหน้าไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ แต่ตราบใดที่ยังมีเด็กๆ ที่ยังไม่กล้าเป็นตัวเองอย่างเต็มที่เพราะกลัวพ่อแม่ไม่ยอมรับ และตราบใดที่ยังมีพ่อแม่ที่ยังไม่เปิดกว้างทางความคิดในเรื่องเพศ หนังอย่าง ซองแดงแต่งผี ก็ยังจำเป็น
เพราะอย่างไรเสีย การจะสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลายอย่างแท้จริงนั้นต้องใช้ 2 สิ่ง นั่นคือการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิไปพร้อมกับการปลูกฝังทัศนคติที่ดีในสังคม
แล้วจะมีอะไรที่ดีไปกว่าหนังที่มีฉากหน้าคล้ายอมยิ้มหวานแต่สอดไส้ประเด็นรสขมอ่อนๆ สักเรื่องกันล่ะ คุณว่าไหม