‘เจ้านาย’ คำสั้นๆ ที่ทำหลายคนใจสั่นแค่เพียงเอ่ยปากพูด และทรงพลังถึงขนาดที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้ทุกวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีกลายเป็นวันเจ้านายแห่งชาติที่เราทุกคนควรเคารพ
สำหรับมนุษย์ออฟฟิศตัวเล็กๆ การมีเจ้านายดี ถือเป็นรางวัลใหญ่พอๆ กับถูกหวย เพราะนั่นหมายความว่าชีวิตการทำงาน จะราบรื่นไร้รอยต่อราวกับผ้าปูที่นอนแบรนด์ดัง แต่หลายครั้งที่เราถูกความจริงตีแสกหน้า เพราะการถูกหวยไม่ได้ง่าย และเจ้านายที่ดีก็ไม่ได้มีในทุกบริษัท จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นหลายคนยอมยกธงขาว ยื่นจดหมายลาออก เพื่อไปเสี่ยงดวงกับที่ใหม่ในวันข้างหน้า นี่จึงเป็นที่มาของคำครหาที่ตราหน้าเด็กไทยว่า “เด็ก Gen Z ไม่มีความอดทน เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น” แต่ถ้าการทนอยู่กับความ Toxic คือกีฬา งั้นเราก็ขอมอบเหรียญทองให้เหล่ารุ่นพี่ แล้วยอมออกจากการแข่งขันไปด้วยสุขภาพจิตที่ดีแทนละกัน
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาเจ้านายสามวันดีสี่วันไข้ แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ ก็เป็นผู้ประสบภัยในการทำงานไม่ต่างจากเรา แถมเผลอๆ จะโดนหนักกว่า
ในปี 2565 BBC ได้รายงานว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่คนนอนไม่หลับมากที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดและความกดดันในการทำงาน หนึ่งในสาเหตุ ก็คือวัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโส เรามักจะเห็นฉากพนักงานสาวรินโซจูให้หัวหน้าผู้ชาย หรือเด็กฝึกงานที่วิ่งเต้นซื้อกาแฟให้รุ่นพี่จนไม่ได้ทำงาน นี่ไม่ใช่แค่ซีนในซีรีส์ แต่คือภาพชีวิตจริงที่เห็นได้จนชินตาของคนเกาหลี
ก่อนจะเกิดวิกฤตสมองไหลเพราะคนไม่อยากทำงาน เกาหลีใต้จึงขอใช้ท่าไม้ตายอย่าง ‘Soft Power’ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าคนทำงาน ด้วยซีรีส์สายอาชีพสุดเข้มข้น รวมไปถึงการสร้างคาแรกเตอร์ของหัวหน้ายุคใหม่ให้เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ จนทำคนดูอย่างเรารู้สึกมีไฟอยากร่วมงานด้วยขึ้นมาทันที
และถ้าพูดถึงเจ้านายในฝันจากซีรีส์ที่ถูกเขียนบทมาให้เป็นตัวเอกสุด Green Flag จะขาด 3 ตัวละครอย่าง พัคแซรอย จาก Itaewon Class คิมซาบู จาก Dr. Romantic และ ฮงดูชิก จาก Hometown Cha-Cha-Cha ไปไม่ได้เด็ดขาด และเนื่องในวันเจ้านายแห่งชาติ เราอยากพาทุกคนไปไขความลับว่าทำไมพวกเขาถึงเป็นต้นแบบเจ้านายที่ใครๆ ก็อยากทำงานด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็แอบหัวหน้าให้ดีๆ แล้วไปอ่านกันเลย~
พัคแซรอย (Itaewon Class) : ต้นแบบของหัวหน้าที่มองว่า ‘ทีม = ครอบครัว’

‘พัคแซรอย’ เถ้าแก่ร้านทันบัม แห่งย่านอิแทวอน ที่ไม่ได้จบมาสูง หรือมีปริญญาสาขาบริหารธุรกิจเป็นเครื่องการันตีความสามารถ แต่สิ่งที่เขามีมากกว่าใครคือความพยายามและมุ่งมั่น รวมไปถึงเป้าหมายชัดเจนที่อยากจะล้ม ‘ชางแดฮี’ ประธานบริษัทอาหารอันดับหนึ่งของเกาหลีอย่าง ‘ชางกา’ ให้จนได้
แม้จะเต็มไปด้วยไฟแห่งความทะเยอทะยาน แต่ในมุมของการเป็นหัวหน้า เขากลับใจเย็นและเปิดกว้าง พนักงานทันบัมทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติ ไปจนถึงความชอบส่วนตัว เพราะพัคแซรอยเคารพในคติที่ว่า ‘ชีวิตใคร คนนั้นมีสิทธิ์เลือก’
อีกหนึ่งข้อที่ทำให้เถ้าแก่แห่งทันบัมกลายเป็นหัวหน้าในอุดมคติ คือแนวคิดที่ว่า ‘ทีม = ครอบครัว’ ครอบครัวที่ไม่ได้หมายถึง กาสะลอง-ซ้องปีบ แต่หมายถึงการโอบกอดข้อผิดพลาด และมอบโอกาสให้พวกเขาได้แก้ตัว ตัวอย่างเช่น การส่ง ‘มาฮยอนอี’ ที่ทำอาหารไม่ได้เรื่องในตอนแรก ไปเรียนทำอาหารจนในที่สุดเธอก็สามารถแข่งทำอาหารจนชนะได้ในที่สุด ความสำเร็จอันแสนน่าภูมิใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าพัคแซรอยไม่ให้โอกาสเธอในตอนแรก
คิมซาบู (Dr. Romantic) : ต้นแบบของหัวหน้า ‘ผู้แน่วแน่’ ในอุดมการณ์

‘คิมซาบู’ (หรือชื่อเก่า คือบูยงจู) ศัลยแพทย์อัจฉริยะแห่งโรงพยาบาลทลดัมที่ไม่ว่าจะเคสหนักแค่ไหน ถ้าได้ผ่านมือเขา จะกลายเป็นเคสเบาในทันที! เป็นอาจารย์หมอปากแซ่บ ที่บุคลิกโผงผาง ใจกล้า พูดจาขวานผ่าซาก เอาดีๆ นี่เป็นคุณสมบัติที่ไม่น่าจะมีใครยกธงเขียวให้ผ่าน
แต่ถ้าคุณใจเย็นอีกนิด ทำความรู้จักเขาขึ้นอีกสักหน่อย คุณจะตกหลุมรักในตัวละครตัวนี้อย่างหาทางขึ้นไม่ได้ เพราะภายใต้เปลือกนอกแข็งกระด้างเหล่านั้น ซ่อนอาจารย์หมอแสนอ่อนโยนที่รักในลูกศิษย์เอาไว้
ตลอดทั้ง 3 ภาค เราจะเห็นว่ามีเหล่า ‘พระเอก-นางเอก’ ที่แวะเวียนมาเป็นลูกศิษย์เขาเสมอ และคิมซาบูนี่แหละที่เป็นคนคอยผลักดัน สอนบทเรียนอันมีค่า และช่วยให้เขาและเธอก้าวข้ามผ่านปมในชีวิตไปได้ นี่คือจริยธรรมของความเป็นครูอย่างแท้จริง
นอกจากนั้นในมุมหัวหน้า ‘ความแน่วแน่ในอุดมการณ์’ คือสิ่งที่คิมซาบูมีเหนือกว่าใครๆ ตั้งแต่ตอนที่ยังใช้ชื่อเก่าว่า ‘บูยงจู’ เขาเป็นคนเปิดโปงการโกงกินของโรงพยาบาล จนทำให้ตัวเองโดนไล่ออก และเปลี่ยนชื่อเป็นคิมซาบูในที่สุด โดยถ้าเปรียบกับการทำงาน คงจะดีไม่น้อยถ้าเรามีหัวหน้าที่ซื่อสัตย์ เคารพในอาชีพของตัวเอง เหมือนอย่างคุณหมอคิมคนเก่ง!
ฮงดูชิก (Hometown Cha-Cha-Cha) : ต้นแบบของหัวหน้าที่ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’

‘ฮงดูชิก’ ฟรีแลนซ์รับจ็อบสารพัดประโยชน์แห่งหมู่บ้านกงจิน ผู้มีใบอนุญาตการทำงานนับสิบใบเป็นมรดกต่างหน้าให้ลูกหลาน แม้จะทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ แต่ชาวบ้านทุกคนต่างพร้อมใจเรียกเขาด้วยฉายาว่า ‘หัวหน้าฮง’
นี่คือหัวหน้าที่ไม่ได้ถูกเรียกเพราะจำใจ แต่มาจากความเต็มใจของคนในเกาะ ฮงดูชิกทำให้เราเห็นว่า ถ้าอยากได้ใจใคร ก็ต้องให้ใจพวกเขาก่อน เป็นคนที่มาพร้อม EQ ที่สูงลิบ เข้ากับคนเก่ง แทบจะเป็นทูตสัมพันธไมตรีประจำหมู่บ้าน ใครติดขัดอะไร ก็พร้อมพุ่งเข้าไปช่วยเหลือโดยที่ไม่อิดออด
ด้วยนิสัยเข้าอกเข้าใจนี้เอง ทำให้เขากลายเป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่หัวทันสมัยอย่าง ‘ยุนฮเยจิน’ กับ ‘คนเฒ่าคนแก่’ ในหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น การเตือนเธอเรื่องชุดวิ่งออกกำลังกายวับๆ แวมๆ ที่ทำเหล่าอาจุมม่าใจหล่นถึงตาตุ่ม หรือตอนที่แนะนำให้นางเอกเอาต็อกไปฝากเพื่อนบ้านในตอนที่เปิดร้านทำฟันแรกๆ และอีกสารพัดเหตุการณ์น่ารักๆ ตลอดทั้งเรื่องที่เชื่อว่าใครที่ได้ดู ก็คงตกหลุมรัก ‘หัวหน้าฮง’ คนนี้อย่างแน่นอน
นอกจากหัวหน้าในฝั่งของผู้ชาย จะเห็นได้ว่าซีรีส์ยุคใหม่ มีการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งสำคัญๆ มากขึ้น เช่น ‘จางมันวอล’ เจ้าของโรงแรม Hotel Del Luna ซีอีโอสาวสวยแซ่บที่พาโรงแรมซอมซ่อให้เติบโตหรูหราระดับ 5 ดาว แต่แม้จะเก่งกาจแค่ไหน แต่ในซีรีส์เราจะเห็นด้านอ่อนไหวที่โชว์ความเป็นผู้หญิงของเธออยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะนิสัยเสพติดการช็อปปิงที่ผู้จัดการโรงแรมต้องขอเตือนอยู่บ่อยๆ ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนบางส่วนที่ยังคงมองว่า ‘เจ้านายผู้หญิง’ มักจะใช้อารมณ์ก่อนเหตุผลเสมอ
แต่เราเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นเจ้านายที่ดีได้ เพียงแค่มีจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และให้โอกาสคนในทีมเสมือนเป็นคนในครอบครัว เหมือนดั่ง 3 ตัวละครที่เราหยิบยกมาข้างต้นนั่นเอง เอาล่ะ! อ่านจบแล้ว ได้เวลาทำตัวเป็นลูกน้องที่ดี กลับไปตั้งใจทำงานกันต่อได้เลย 🙂