เผื่อว่าใครยังไม่รู้จัก ‘ถั่วงอกและหัวไฟ’ นิยายภาพของทรงศีล ทิวสมบุญ เราจะเล่าให้ฟังคร่าวๆ
เรื่องราวเริ่มจาก ‘ถั่วงอก’ เด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งอยู่บนกองขยะ ลืมตาขึ้นมาพบกับ ‘หัวไฟ’ เด็กเร่ร่อนที่มีความฝันอยากยึดครองโลก และ ‘บุบบิบ’ ไม่ใช่น้องหมาแต่คือเพื่อน ทั้งคู่กำลังเดินทางไปสร้างงานศิลปะบนกำแพงเพื่อถ่ายทอดแนวคิดสุดโต่งของหัวไฟตามเมืองต่างๆ ถั่วงอกจึงขอร่วมเดินทางไปด้วยโดยจะรับหน้าที่เป็นลิ่วล่อให้บุบบิบตามคำสัญญา
และต่อจากนี้คือการเดินทางของเหล่าเด็กชายขอบที่โหยหาความรัก ความฝัน และการฝ่าฟันสังคมอันมืดหม่นที่มีเหล่าคนชุดดำจ้องจะทำร้ายพวกเขา ที่นักวาดคนนี้หยิบยกชีวิตจริงของเขามาผสมโลกจินตนาการสุดดาร์ก ถ่ายทอดผ่านนิยายภาพทั้ง 10 เล่ม
เล่มแรกออกเมื่อปี 2548 และจนถึงวันนี้เขาก็ยังไม่เฉลยสักทีว่า หัวไฟได้ครองโลกตามที่ตั้งใจไว้ไหม แต่เราในฐานะแฟนหนังสือที่มองเห็นชีวิตของเขาผ่านตัวละครและเรื่องแต่งมาตลอดกลับสนใจต่อว่า ทรงศีลจะไปสุดและหยุดที่ตรงไหนกันนะ
เพราะตั้งแต่เริ่มอาชีพนักวาดภาพประกอบในคอลัมน์ให้กับ a day สมัยที่ยังเป็นนิตยสาร เขาก็ใช้แรงปรารถนาปลุกสร้างเหล่าตัวละครและจับมือพวกเขาทำตามความฝันมากว่า 20 ปี

จากหนังสือ กระโดดโลดแล่นสู่ FIREHEAD : Soul Liberate นิทรรศการเดี่ยว ‘ถั่วงอกและหัวไฟ’ ที่เคยจัดไปเมื่อปี 2566 ทรงศีลเล่าให้ฟังอย่างยิ้มๆ ว่า เขาอยู่กับตัวละครมานานจนพวกเขามีชีวิตจริงๆ และเพราะได้ยินเสียงจากตัวละครว่าไม่อยากอยู่แค่ในหนังสือ เขาในฐานะเพื่อนร่วมทางเลยจับมือหัวไฟและถั่วงอกท่องสู่โลกความจริง
แม้วันนี้เขาจะไม่ได้วาดภาพให้ a day แล้ว แต่การกลับมาที่นี่กลับทำเขาพยักหน้าบอกเราว่า บรรยากาศและไฟของคนที่นี่ยังคงเหมือนเดิม ส่วนตัวเขาแม้ห่างเหินจากนิตยสาร a day เล่ม 91 ไปนานถึง 16 ปี กลับมีเรื่องราวมากมายที่คาดว่า น่าจะยังไม่เคยเล่าให้ใครฟัง
ทรงศีลหยิบนิตยสารที่มีหน้าปกเป็นลายเส้นของเขาขึ้นมา มองแค่พริบตาก็พูดออกมาอย่างเบาๆ ว่า “ชีวิตในตอนนั้นเหมือนกำลังนั่งรถไฟเหาะที่เราไม่มีความรู้สึก และที่ผ่านมา สิ่งที่เรายึดใช้กับการทำงานศิลปะมาตลอดนั่นก็คือ ความไม่รู้”
ถ้างั้นขอพาทุกคนกระโดดขึ้นรถไฟทั้ง 6 ขบวนไปดูชีวิตและความไม่รู้ของเขากัน
ขบวนที่ 1
สิ้นสุดความฝันนักดนตรี แต่ ‘ที่ว่าไม่ดี มันอาจจะดี’
“ตอนนั้นหน้าตาเราเป็นตัวละครที่อยู่บนปกนี้เลย (หัวเราะ) เราอายุ 27 ปี ซึ่งยังจำได้ดีเลยว่าชีวิตมันค่อนข้างเข้มข้นมาก ทุกอย่างมันให้ความรู้สึกราวกับนั่งรถไฟเหาะแต่เราไม่ค่อยมีความรู้สึกกับสิ่งรอบตัวเลยว่ามันสำคัญขนาดไหน เราไม่รู้ตัวจริงๆ ซึ่งเราก็คิดนะว่า อยากรู้สึกตัวกับชีวิตให้มากกว่านี้นิดหนึ่งด้วยซ้ำ
คือก่อนหน้านี้ ตอนอายุ 25 ปี เป็นชีวิตขาลงสุดสำหรับวัยรุ่นคนหนึ่งเลย เพราะเราตกงาน เลิกกับแฟน เรายังจัดการกับความรู้สึกไม่เป็นในบางเรื่อง ก็เลยส่งผลต่อชีวิตค่อนข้างมาก และทำให้เกิดเป็นรูกลวงในตัวเราขึ้นมาด้วย อย่างเช่น เราเคยมีความฝันอยากเป็นนักดนตรี และเรามีวงดนตรีที่เรารักมากๆ แต่วงกลับแตกและหายไปเลย คือมันเป็นเรื่องอุปนิสัยของเรา เราเริ่มสร้างปัญหาให้กับวงจากการที่เราไม่ชอบนอนดึก ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ อันนี้คือปัญหาหลักของเรา เพราะวงต้องเล่นดนตรีกลางคืน ซึ่งแม้จะเป็นวงดังหรือไม่ดังก็ต้องเล่นเพลงซ้ำๆ ซึ่งเราทนกับเรื่องนี้ไม่ได้ กลายเป็นว่า เราชอบที่จะอยู่ในห้องอัด ชอบสร้างสรรค์มากกว่าที่จะชอบออกไปเผชิญหน้า
พอไม่ได้เป็นนักดนตรีแล้ว มีช่วงหนึ่งเราเอาแต่นั่งวาดรูปแล้วก็รู้สึกว่า ดีเว้ย ไม่ต้องเอาตัวออกไปไหนนานๆ มันสบาย ไม่ต้องมีใครมายุ่งกับเรา เราเลยค่อยๆ เรียนรู้ว่า ตัวเราอาจไม่ได้เหมาะกับความอยากนั้นๆ เราอาจจะอยากเพราะได้รับแรงกระตุ้นจากการไปเห็น Rock Star หรืออะไรต่อมิอะไร แต่พอกลับมาใช้เวลากับตัวเองแล้วเราไม่ได้เหมาะจะเป็นสิ่งนั้น ไอที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ มันเหมาะกับความเป็นตัวเรามากกว่าเยอะ
เราเลยชอบพูดคำหนึ่งมากๆ ได้ยินครั้งแรกตอนอายุ 15 ว่า “ที่ว่าไม่ดี มันอาจดีก็ได้” ตอนแรกไม่ค่อยเชื่อนะ แต่ว่าชีวิตช่วง 25 ปี ดำเนินมาถึง 27 ปี ทำให้เราเข้าใจประโยคนี้อย่างถ่องแท้เลยว่า ในช่วงที่แย่มันอาจจะมีอะไรที่ดี จะดีขนาดไหนหรือจะดีกับเรื่องอะไร เราก็แค่ยังไม่รู้ตัว
ถ้าถามว่าเราออกแบบปกนี้ยังไง คำตอบอาจจะไม่ค่อยว้าวนะ ก็คือ เราแทบไม่รู้ตัวเลยว่าทำอะไรอยู่ช่วงนั้น เรารู้แค่ว่าเราจะได้ทำปก a day และมีเรื่องราวชีวิตตัวเองเป็น Main Course เราก็นึกถึงแต่สิ่งที่เราอยากใส่ลงไปและใช้สัญชาตญาณอย่างเดียวเลย ไม่มีกระบวนการ ไม่มีแบบแผน แค่อะไรที่จะทำให้ตัวเรารู้สึกสนุกที่สุด สนุกจนถึงขั้นทำเสร็จแล้วอยากอวดให้โลกเห็นจะแย่ว่า เราภูมิใจมาก แต่เราไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเลยว่าเล่มนี้จะต้องขายดี เราแค่อยากจับมันโยนออกไปหมดเลย นั่นคือใจความของชีวิตช่วงนั้นของเราเลย สิ่งที่เราจำได้มีเพียงแค่ เรารักตัวละครของเราทุกตัวมากๆ
ดูเหมือนชีวิตวัยรุ่นของเราอาจไม่สมหวังนะ แต่ถ้าย้อนกลับไปได้ เราก็จะไม่เปลี่ยนตัวเอง เราชอบเราคนนั้น เพราะเขามีความสดในแบบของเขา ช่วงชีวิตวัยรุ่นมันต้องไม่รู้เรื่องมันถึงจะสนุก รู้ไปหมดจะสนุกได้ไง ไปโดนผู้หญิงหลอก ฟูมฟายมา เขียนเพลง แต่งหนังสือนั่นน่ะดี (หัวเราะ) เราว่ามันดีแล้วที่เราอดทนจนเราได้กลายเป็นเราในทุกวันนี้”

ขบวนที่ 2
เปิดโต๊ะนักวาดและหนังสือภาพเล่มแรกของทรงศีล
“เราสร้างตัวละครโดยที่เราเองก็ไม่รู้ว่า ตัวเองกำลังทำอะไร แล้วทำไมเราถึงสร้างถั่วงอกและหัวไฟให้เป็นเด็กเร่ร่อน พอเราโตขึ้นก็มองย้อนกลับไป เออกูป่วยอะไรวะ (หัวเราะ) แต่เรามาคลี่คลายมันทีหลัง เราว่า เรารู้สึกเป็นคนนอกของสังคม มันเป็นความรู้สึกที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วแม้แต่กับครอบครัว โรงเรียนก็เคยรู้สึก สิ่งนี้ก็อาจจะสะท้อนออกไปผ่านตัวละครทุกตัวเหมือนตัวแทนของเราในมุมต่างๆ สิ่งที่เขาพูดก็มาจากความคิด ความรู้สึกของเราในหลายๆ บุคคลิก หัวไฟมีความฝันอยากครองโลก มีความทะเยอทะยานซึ่งเรามีมาตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว และเราต่างก็ชอบดนตรีร็อกเหมือนกัน เขารักหมามากๆ ผมก็รักมาจนไม่กล้าเลี้ยง ส่วนถั่วงอกมีความเปราะบางมีความเห็นอกเห็นใจ มีสายตาที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเราก็มี
การที่ตัวละครเป็นเด็กเร่ร่อน ไม่มีครอบครัว อย่างถั่วงอกที่เคยพูดว่า เหมือนตัวเองเป็นจิ๊กซอว์ที่หาไม่เจอว่าควรจะไปต่อยังไงดี ในแง่หนึ่งมันก็เหมือนเป็นพรวิเศษนะ เพราะอย่างน้อยถึงจะเข้ากับคนอื่นได้ไม่ดี แต่เราก็ยังรู้ตัวว่าเราชอบอะไร มีความสุขกับอะไรโดยไม่สับสนหรือลังเลกับการตั้งคำถามถึงสิ่งนี้เลย เราค่อนข้างที่จะสนิทกับตัวเองพอสมควร
ตอนที่เราทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบคอลัมน์ให้ a day มันเหมือนเป็นการค่อยๆ สะสมประสบการณ์และหาสิ่งที่ชอบให้ตัวเอง จนกระทั่งเราจะทำหนังสือเล่มแรก เราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้แม้จะผ่านการทำคอลัมน์มามันก็ยังให้ความรู้สึกยากเป็นพันเท่า
แต่เรามองว่า แค่มีแรงปรารถนาเยอะมากๆ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วนะ เดี๋ยวมันจะหาทางทำจนได้เองต่อให้มันต้องถลอกปอกเปิกแค่ไหนเดี๋ยวมันก็จะเจอจนได้แหละ
ดังนั้นหนังสือภาพถั่วงอกและหัวไฟเล่มแรกจึงนับว่าเป็นอะไรที่บริสุทธิ์สุดแล้ว เราสร้างงานด้วยการอยู่คนเดียว อยากทำอะไรก็ใส่ลงไปโดยไม่ได้นึกถึงคนอ่าน และไม่รู้ว่าโลกภายนอกคืออะไร เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่พอหนังสือถูกพิมพ์ออกสู่สังคม ซึ่งตีพิมพ์มากกว่าที่เราคิดอีกนะ เรียกว่าเสียงจากโลกภายนอกรั่วไหลเข้ามารวดเร็วมาก อย่างเราเพิ่งมารู้ว่าลายเส้นของเราไม่ค่อยเหมือนคนอื่นหรือมันผิดแผก คือเราไม่รู้เลยว่าลายเส้นของเรามันเป็นยังไง
แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เราค้นพบตัวเองตรงที่ว่า ช่วงเวลาที่นั่งทำงานเราไม่ค่อยจะสนใจโลกภายนอกเท่าไหร่ เราเขียนเล่ม 1 หรือเล่มต่อๆ ไป ขายไปเยอะมาก มันไม่ได้รู้สึกว่ามีคนชอบหรือไม่ชอบ แต่เรากลับไปโฟกัสกับความรู้สึกที่ว่า เล่มนี้ของเราก็ดีนะ แต่เรายังมีทีเด็ดที่ดีกว่านั้นอีก ซึ่งยังไม่รู้หรอกแต่เดี๋ยวจะทำให้ดู
คือเราชอบท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ กับงานชิ้นต่อๆ ไปมากกว่า ส่วนเสียงจากโลกภายนอกที่ไหลเข้ามาก็เป็นสารที่ดีกับตัวเรา เพราะมันกระตุ้นให้เราอยากจะพูดอะไรบางอย่างต่อโลกใบนี้ จากเล่มแรกที่อยู่กับตัวเอง เล่มต่อไปจะเริ่มกว้างขึ้น ไปวิพากษ์สังคมมากขึ้น เพราะเราเริ่มเผชิญกับโลกและเจอผู้คนมากขึ้นไปด้วย”

ขบวนที่ 3
ในวันที่ถั่วงอก หัวไฟกระโดดออกจากหนังสือ โลดแล่นบนโลกความจริง
“เราไม่ได้มองว่านิยายเป็นเรื่องแต่ง แต่เรามองว่าเป็นความจริงอีกแบบหนึ่ง ตัวละครเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นแค่ตัวละคร เรามองหน้ามันก็รู้สึกว่ามันปฏิเสธเราได้ หัวไฟเขาก็มีเรื่องที่เขาปฏิเสธ เขาบอกไม่ทำ ไม่ยอมเต้นแต่ดูดบุหรี่แทน เราบังคับไม่ได้ก็ต้องเขียนแบบนั้น ทุกตัวจะเป็นแบบนี้ เราสร้างเขาขึ้นมาแล้ว เขาก็จะมีชีวิตที่เป็นของตัวเองในระดับที่เราต้องเรียนรู้เขาเหมือนเป็นเพื่อน ที่เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง
พอดีกับเราเป็นคนที่อยากนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ตอนที่ทำหนังสือเล่มแรก เราไม่อยากเขียนทั้งเล่มเพราะมันไม่สนุก หรือถ้าจะตีช่องวาดเหมือนการ์ตูนก็ไม่ค่อยชอบไม้บรรทัด การทำหนังสือมันจะเป็นแค่กระดาษที่เย็บเข้าด้วยกันเป็นปึกๆ แค่นั้นจริงหรอ กฎเกณฑ์ต่างๆ มันเกิดขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายของมัน แต่มันอาจไม่ตรงกับเรา ดังนั้นเราเลยไม่ค่อยเชื่อในกฎเกณฑ์
ความคิดแรกที่เข้ามามันคือคำว่า Speaker of This Generation เรามองว่าทุกอย่างเป็นมากกว่าตัวมันเองได้หมด ขึ้นอยู่กับว่ามันจะทำปฎิกิริยายังไงกับผู้คนและสังคม เราว่าสิ่งนี้สำคัญ ดังนั้นเราอยากพาตัวละครของเราไปที่อื่นๆ เพื่อสื่อสารกับผู้คนที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เพราะเราอยากรู้ว่าเขาจะรู้สึกยังไงที่พบเจอตัวละครของเรา เราก็เลยจัดแสดงผลงานภาพวาดเป็นนิทรรศการของตัวเองขึ้นมา เพื่อชวนผู้คนมาอยู่ในบรรยากาศนี้ด้วยกันที่ไม่ใช่อยู่แต่ในหน้าหนังสือ
แต่พอทำนิทรรศการและงานอื่นๆ จนไม่ได้เขียนหนังสือมา 2 ปี ก็มีเถียงกับตัวเองนะว่า ทำไมไม่เขียนอะ แต่พอมองหน้าตัวละครพวกนี้ ก็จะมีเสียงหัวไฟถามเราพร้อมดูดบุหรี่ไปด้วยว่า ‘เหรอ บอกตอนไหนว่าอยากอยู่แค่ในหนังสืออะ’ ถ้าเป็นความคิดของถั่วงอก เขาคงจะกลัวๆ แบบ ‘เราจะไปทางนั้นกันเหรอ’ อาจจะมีเหงื่อหยด เขาก็คงอึดอัด แต่ก็ไปก็ได้ แล้วก็หิ้วกระเป๋าไป”
ขบวนที่ 4
เพราะความฝันคือการครองโลก หัวไฟจึงออกเดินทางสร้างงานศิลปะรอบโลก
“หัวไฟก็ยังเดินอยู่ในความฝันของตัวเองนั่นแหละ แต่ว่าจะครองโลกได้หรือเปล่า ในนิยายก็ไม่ได้ตอบ บางทีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เราก็สงสัยนะว่าเขาอยากครองโลกจริงๆ หรือมีตรงนั้นไว้เพื่อให้เขาไฟลุกโชน เพื่อเดินต่อไปหน้าข้างได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ เราว่าหัวไฟคงไม่ได้อยากครองโลกจริงๆ หรอก คือเขาผ่านอะไรมาเยอะแต่ บุคลิกเขาไม่น่าจะเป็นคนแบบนั้น

เราเองก็เหมือนกัน ความฝันตอนวัยรุ่นกับตอนนี้มันเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนั้นเราเคยบอกว่าอยากจะทิ้งอะไรไว้หลังจากที่เราตายไปแล้ว ให้มันเป็นสมบัติต่อโลกใบนี้ คือแบบคิดอะไรอยู่วะ ตายไปมึงก็ไม่รู้แล้วว่าโลกจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เผลอๆ โดนดาวเสาร์พุ่งชนโลกไม่มีใครเห็นงานอีกต่อไปเลยก็ได้ (หัวเราะ) ตอนนี้เราสนใจแค่เวลาปัจจุบันและอนาคตระยะใกล้ แค่อยากมีไฟ มีความเร้าใจ มีเรื่องราวใหม่ๆให้ชีวิตได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ จริงๆ เราก็แค่อยากทำงานไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าเป็นความสุขที่แท้จริงสำหรับเราเลย เหมือนกันกับที่หัวไฟเล่นกับบุบบิบ หรือนั่งคุยกับถั่วงอกมันก็คือความสุขที่เขาต้องการจริงๆ ก็ได้
เราไม่ใช่คนที่ดีนะ แต่เราเป็นห่วงโลก เรารักผู้คนมากๆ อยากให้โลกมันดีขึ้นกว่านี้ อย่างน้อยๆ ก็แถวรอบๆ ตัวตรงที่เราอยู่ก็ได้ เรามองว่าอะไรที่ยังขาดอยู่เราก็จะลองนำเสนอผ่านการทำงานศิลปะ เพราะเราเชื่อว่ามันสร้างแรงกระเพื่อมและความรู้สึกให้กับผู้คนหรือสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมได้”
ขบวนที่ 5
การเดินทางด้วยความไม่รู้
“บางครั้งการเป็นตัวของตัวเองมันไม่ได้เกิดจากการรักสิ่งต่างๆ เยอะๆ แล้วก็มาตกตะกอนเพียงอย่างเดียว แต่เราว่ามันเกิดจากความไม่รู้ก็มี เราอยากจะบอกว่างานศิลปะ หนังสือ หรือสิ่งที่เราสื่อสารกับผู้คนในทุกๆ จังหวะชีวิตเนี่ย เคล็ดลับเราไม่มีนะ สิ่งที่เราใช้มาตลอดก็คือ ‘การด้นสด’ ให้เกิดความเป็นไปไม่ได้ที่ตัวเราเองก็คาดไม่ถึง มันทำให้ทั้งชีวิตและงานน่าติดตาม
คำว่า ‘ไม่รู้’ มันมีมิติของมัน และเราสนับสนุนความไม่รู้ในการทำงานศิลปะ เพราะมันนำมาซึ่ง ความบริสุทธิ์และความจริงใจในการทำงาน วิธีนี้มันมีอยู่ในการทำงานศิลปะของเราเลยนะ เช่น ถ้าถามเราว่า ทำไมตัวละครหัวไฟถึงมีหัวเป็นไฟ เราก็จะตอบจริงๆ ว่า ‘ไม่รู้’ มันเกิดขึ้นเอง แต่หากมองในรายละเอียดของชีวิตตอนนั้น เราชอบแฟรงเกนสไตน์ ชอบฝีแปรงของแวน โกะห์ ด้วยนิดหนึ่ง แล้วก็ความร้อนต่างๆ มันก็อาจมีอยู่ในตัวเรา มันก็เลยสื่อสารออกมาอย่างนั้นในแบบที่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่า เราจะได้ต้นแบบจากตัวเราที่ไม่ได้รู้ตัวเลยมาเป็นต้นทางในการทำงาน ซึ่งจริงๆ วิธีแบบนี้มันเหมือนจะสูญหายไปกับหลายๆ บทบาทของการทำงานในโลกยุคปัจจุบันไปแล้วเลย”

ขบวนที่ 6
จากทรงศีล ถึง ทรงศีล และผู้คนที่ฝ่าฟันความฝันบนโลกความจริง
“ตอนนี้อายุ 43 พยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้เหมือนเด็กคนนึงก็พอ ความฝันกับความจริงมันอยู่ห่างกันนิดเดียว อยู่ที่ความรู้สึกและมุมมองของเราเลยจริงๆ เราคิดว่า ความฝันกับความจริงจะต้องเจอกันและคุยกันบ่อยๆ ความฝันอันแรงกล้า บางครั้งก็อาจจะไม่สู้เรื่องเรียบง่ายที่มีความสุข มันไม่ได้หมายความว่า คนมีความฝันจะงดงามกว่า และก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีแล้วจะงดงามกว่า อยู่ที่ความคิดที่จะเปลี่ยนกันได้แค่เสี้ยววินาทีแค่นั้นเอง
ถ้าเกิดว่ามีความฝันอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่ดีตรงที่เราได้เห็นแสงสว่าง มีพลังที่ทำให้รู้สึกอยากลงมือทำ แต่ในขณะเดียวกันมีชีวิตที่ดีโดยที่ไม่มีความฝัน มันก็มีแสงสว่างและมีความสุขได้เหมือนกัน
บางทีการแค่อยากจะตื่นมาให้อาหารแมวอาจจะยิ่งใหญ่เท่ากับคนที่อยากเป็นร็อกสตาร์ก็ได้นะ
สำหรับเราในวัยนี้รู้สึกแบบนี้เลยเรายังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ ก็ยังพยายามจะบาลานซ์ตัวเองอยู่นะ ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มหาศาลเลย การเดินทางมาถึงจุดนี้บางเรื่องในชีวิตเราก็พึ่งรู้ว่า เราแทบไม่รู้อะไรเลยถึงขนาดนี้เชียวหรอเนี่ย แต่ก็ดีรู้ว่าไม่รู้ มันสนุกดีนะ ชีวิตมันจะได้มีเรื่องให้นำเสนออีกเยอะ ไม่ต่างไปจากตอนเราอายุ 27 ที่เขียน a day เล่มนั้นก็ได้ ช่วงวัยที่ต่างกันแต่สิ่งที่ยังมีให้ตามหาก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลยสำหรับเรา”
สุดท้ายนี้ ‘ขอให้โลกรักคุณ’
เช่นเดียวกันกับที่ทรงศีลในวันนั้นบอกลาทุกคนด้วยความรักและหวังว่าเราจะพบกันอีกครั้งในการเติบโตครั้งหน้า