Yayoi Kusama Museum และความพยายามทำความเข้าใจตัวเอง

อีกด้านของสถานีรถไฟ Waseda ฝั่งตรงข้ามของมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ในย่านที่อยู่อาศัย ที่เงียบสงบของเขตชินจุกุ ด้วยระยะเดินไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ Natsume Soseki นักเขียนรางวัลโนเบลของญี่ปุ่น จะมองเห็นอาคารสีขาวสูง 5 ชั้น ที่ก่อสร้างขึ้นในสไตล์โมเดิร์น 

อาคารนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Yayoi Kusama หรือว่า ‘คุณป้าฟักทอง’ ที่เราหลายคนเรียกกัน ภายใต้ความเรียบและทันสมัยของตึก จะมองเห็น ‘ลายจุด’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณป้าได้ตั้งแต่ไกล

หากมาในช่วงกลางวัน พิพิธภัณฑ์ของคุณป้ามองดูโดดเด่น แต่ถ้ามาช่วงใกล้ค่ำ แสงสีขาวท่ามกลางความมืดจากทั้ง 5 ชั้นของพิพิธภัณฑ์ จะเป็นเหมือนกับแสงสว่างที่นำพาเราสู่จุดหมายปลายทาง

ก่อนจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ Yayoi Kusama

คุณป้า ‘ยาโยอิ คุซะมะ’ เป็นที่รู้จักทั่วโลกในระดับแมส ขนาดที่พบเห็นงานศิลปะของคุณป้าได้ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ทั่วทุกมุมโลกมายาวนาน แต่ใครจะรู้ว่าเส้นทางชีวิตคุณป้าเป็นอย่างไร? กว่าที่จะเป็น ‘คุณป้าฟักทอง’ ดังเช่นในวันนี้

คุณป้าเข้าเรียนวิชาภาพวาดญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยศิลปะเกียวโต และใช้เวลาค้นหาแนวทางของตัวเองเป็นเวลาหลายปี ในระยะแรกคุณป้าทดลองการใช้เทคนิคต่างๆ ทั้งการวาดสีน้ำ สีกวอชและสีน้ำมัน แล้วค่อยๆ ค้นพบประติมากรรมดังเช่นปัจจุบัน

คุณป้าตัดสินใจย้ายไปยังกรุงนิวยอร์กในช่วงที่วงการอาร์ตมีความคึกคักและเฟื่องฟูที่สุด ศิลปะแนว Avant-Garde (อาว็อง-การ์ด) ของคุณป้าเป็นที่กล่าวขานในช่วงปลายยุค 50 และยุค 60 ด้วยความมีเอกลักษณ์ ความกล้าในการแสดงออก และความหมายที่สื่อในผลงาน เช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการต่อต้านสงคราม นับได้ว่าเป็นศิลปินหญิงจากซีกโลกตะวันออกที่ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะระดับโลกในช่วงเวลานั้น

หลังจากเดินทางกลับมายังประเทศญี่ปุ่น คุณป้าเริ่มเขียนหนังสือและบทกวี โดยที่ยังคงสร้างสรรค์งานอาร์ตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับมากเท่ากับในนิวยอร์กก็ตาม

 แต่ผลงานของคุณป้าก็ค่อยๆ เป็นที่สนใจมากขึ้นในญี่ปุ่น จนเกิดเป็นนิทรรศการที่ Mori Art Museum ในโครงการ Roppongi Hills เมื่อปี 2004 ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของแวดวงศิลปะ เพราะรปปงงิฮิลส์ซึ่งเพิ่งเปิดทำการเมื่อปีก่อนหน้านั้น เป็นโครงการนำร่องย่านการค้า ที่อยู่อาศัย และศิลปะวัฒนธรรมขนาดยักษ์แห่งแรกๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งยกระดับให้ทัดเทียมโครงการนำสมัยในหลายประเทศทั่วโลก

รปปงงิฮิลส์เป็นการประกาศศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นสู่สายตาโลก พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริจึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมศิลปะญี่ปุ่นเข้ากับโลกปัจจุบัน และยังพลิกโฉมวงการศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่น ด้วยการจัดแสดงผลงานของศิลปินแถวหน้าของญี่ปุ่นอย่าง Takeshi Murakami และคุณป้าฟักทอง 

นิทรรศการของคุณป้าในครั้งนั้น จึงเป็นการแนะนำให้โลกรู้จักกับผลงานงานอาร์ตร่วมสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้คุณป้าเป็นหนึ่งในตัวแทนศิลปินชาวญี่ปุ่นที่สายตาชาวโลก

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คุณป้าได้รับเชิญให้จัดแสดงผลงานหลากหลายรูปแบบในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งภาพเขียน ไปจนถึงประติมากรรม และยังได้รับเกียรติจาก Lousiana Museum of Modern Art ให้วาดภาพประกอบวรรณกรรมระดับตำนานของโลกเรื่อง ‘The Little Mermaid’ ของ Hans Christian Andersen

ที่มาของลายจุด

ความรู้สึกละเอียดอ่อนและความชอกช้ำทางจิตใจที่สะสมมาเป็นเวลานาน ได้รับการแสดงออกผ่านงานศิลปะของคุณป้า

ตอนเด็กๆ คุณป้าวาดภาพวงกลมซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น แทนที่จะวาดภาพบ้านและครอบครัวเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ วงกลมที่ว่า ก็เหมือนกับความรู้สึกที่วนเวียนไปมาในจิตใจ คุณป้าวาดไปเรื่อยๆ จนเป็นหนึ่งเดียวกับตัวตนของตัวเอง

มองจากภายนอก คุณป้าดูเหมือนคนไม่ค่อยพูด เก็บตัว และแสดงออกทางสีหน้าด้วยความขึงขังและเคร่งขรึม แต่การวาดรูปและการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนที่มีอยู่ในจิตใจของคุณป้า

ภาพวาดที่ประกอบด้วยวงกลมนับพันวงที่ค่อยๆ วาดอย่างประณีตจนกลายเป็นแพตเทิร์น การลงสีด้วยด้วยความระมัดะวัง การนำสิ่งที่เวียนวนในความรู้สึกมาสร้างสรรค์ผลงาน

คุณป้าจะลงมือวาดรูป เมื่อต้องการหลีกหนีโลกแห่งความจริง ศิลปะช่วยเยียวยาความกลัว ความกังวล และบาดแผลในจิตใจของคุณป้า จนวันหนึ่งคุณป้าค้นพบว่า ‘ศิลปะ’ ทำให้คุณป้ามีชีวิตอยู่ได้ในโลกใบนี้

ทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองที่พิพิธภัณฑ์ Yayoi Kusama

พิพิธภัณฑ์ยาโยอิ คุซะมะ ดำเนินงานโดยมูลนิธิยาโยอิ คุซะมะของคุณป้า เปิดให้เข้าชมเป็นรอบ รอบละ 90 นาที ในราคาเพียง 1,100 เยน (ประมาณ 300 บาท) สำหรับผู้ใหญ่ และ 600 เยน (ประมาณ 180 บาท) สำหรับเด็กอายุ 6-18 ปี โดยจะต้องจองรอบในการเข้าชมและซื้อตั๋วล่วงหน้าทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์

เหตุผลหนึ่งน่าจะเพื่อดูแลให้จำนวนผู้เข้าชมในแต่ละรอบไม่มากหรือหนาแน่นจนเกินไป การชมงานศิลปะของคุณป้าต้องใช้การตีความและทำความเข้าใจ แล้วส่วนใหญ่ยังสวยสะดุดตาจนต้องกดถ่ายรูป จำนวนผู้เข้าชมที่กำลังดีจึงมีส่วนช่วยให้ประสบการณ์การชมพิพิธภัณฑ์ของคุณป้าเป็นไปอย่างรื่นรมย์

ในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงทั้งนิทรรศการถาวร และนิทรรศการหมุนเวียนซึ่งเปลี่ยนปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดเป็นนิทรรศการชื่อ ‘Yayoi Kusama: Portraying the Figurative’ 

นิทรรศการนี้เป็นการนำเสนอภาพวาดจากในสมุดสเกตช์ของคุณป้าในช่วงที่เป็นวัยรุ่น จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของคุณป้าตั้งแต่ช่วงแรกอย่างชัดเจน ทั้งการใช้สีเข้มและโทนสีสดใส การวาดลายจุดซ้ำไปซ้ำ และลายแพตเทิร์น เราจะมองเห็นความสดใสและสนุกสนานในผลงานช่วงวัยรุ่นของคุณป้า แต่จะค่อยๆ ลดลงจนดูขรึมขึ้นตามเวลา

ส่วนที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาดคือบริเวณชั้น 5 ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงประติมากรรมรูปฟักทองลายจุดของคุณป้า จุดนี้เป็นจุดที่ถ่ายรูปสวยที่สุดจุดหนึ่งในพิพิธภัณฑ์

เวลาชมงานอาร์ตของคุณป้า วินาทีแรกจะรู้สึกเหมือนกำลังมองภาพลวงตา วินาทีต่อมาจะรู้สึกสงสัย

วินาทีต่อๆ ไปจะพยายามทำความเข้าใจ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากการที่เรามองดูสิ่งต่างๆ บนโลกเลย

ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น ความจริงที่เรามองเห็น ความจริงที่เป็นอยู่อย่างแท้จริง

สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่ความจริง แต่เป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดขึ้นซ้ำไปมาในความคิด จนไม่อาจสลัดออกไปได้ 

คุณป้าถ่ายทอดสิ่งที่คุณป้ารู้สึกนึกคิดออกมาให้โลกชื่นชมได้อย่างงดงาม จนเราพยายามทำความเข้าใจในความรู้สึกของตัวเองดูบ้าง…

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.instagram.com/yayoikusamamuseum?igsh=N3hncWswdXFubDYw

AUTHOR

ILLUSTRATOR

สุชานันท์ นามดี

เด็กเด๋อ ใช้ชีวิตเรื่อยๆ ไปวันๆ แต่อยากถูกรางวัลที่ 1 แค่เดือนละ 2 งวดก็ยังดี