The 8th Continent: หนังสือภาพถ่ายรวมสุดยอดผลงานของ 6 ช่างภาพใต้น้ำไทยที่โด่งดังระดับโลก

“แม้คุณจะไม่เคยเห็นหรือสัมผัสมหาสมุทร แต่มหาสมุทรสัมผัสคุณทุกลมหายใจ ในอาหารทุกคำที่เรากิน ในน้ำทุกหยดที่เราดื่ม เราทุกคนล้วนเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับมหาสมุทร”

ดร.ซิลเวีย เอิร์ล นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับแนวหน้าของโลก

หากพูดถึงทะเล คุณจะนึกถึงอะไร

หลายคนอาจนึกภาพการนั่งเล่นริมชายหาด มองพระอาทิตย์ตกดิน หรือออกไปโต้คลื่น แต่จริงๆ แล้วทะเลมีความเชื่อมโยงกับเรามากกว่านั้น นับตั้งแต่ออกซิเจนกว่าครึ่งที่เราหายใจมีที่มาจากแพลงก์ตอนพืชเล็กจิ๋วในทะเล น้ำทุกหยดที่เราดื่มก็ล้วนมีวงจรเกี่ยวข้องกับมหาสมุทร สภาพอากาศของโลกที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ซึ่งต้องขอบคุณกระแสน้ำในมหาสมุทรที่ช่วยกระจายความร้อนจากแถบศูนย์สูตรไปสู่แถบขั้วโลก

และที่สำคัญคือ ทะเล ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของชีวิตทั้งมวลบนดาวเคราะห์ดวงนี้

“ถ้าสมมติให้จุดเริ่มต้นของชีวิตใต้ท้องทะเลนั้นถือกำเนิดขึ้นมาในวันที่ 1 มกราคม กว่าที่จะมีสิ่งมีชีวิตปรากฏขึ้นบนแผ่นดินนั้นก็ล่วงเข้าไปในราวๆ กลางเดือนธันวาคมแล้ว และเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงนาทีสุดท้ายของคืนวันที่ 31 ธันวาคม ต้นกำเนิดสายพันธุ์มนุษย์จึงได้เริ่มต้นขึ้นมาบนโลกใบนี้”

นี่คือประโยคหนึ่งที่อยู่ในบทนำของหนังสือ The 8th Continent – หนังสือภาพถ่ายทางทะเลระดับมาสเตอร์พีซของประเทศไทย ผลงานของช่างภาพใต้น้ำคนไทย 6 คน ที่รวมตัวกันในชื่อ Deep VI Photography ประกอบด้วย นัท สุมนเตมีย์, พิพัฒน์ โกสุมลักษมี, บารมี เต็มบุญเกียรติ, ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล, ธนากิจ สุวรรณยั่งยืน และ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

หากใครเคยประทับใจกับความสวยงามของภาพจากสารคดีระดับโลก ผลงานของพวกเขาในหนังสือเล่มนี้นั้นไม่แพ้กัน โดยพวกเขาจะพาเรา #เที่ยวทิพย์ ไปทั่วโลก ตั้งแต่ชายฝั่งเมืองไทยไปจนถึงหมู่เกาะของทวีปอเมริกาใต้ พาเราไปพบกับความยิ่งใหญ่ของฝูงกระเบนปีศาจ ความสวยงามของปะการังหลากสีสัน ไปสบตากับสัตว์ทะเลตัวน้อยอย่างมังกรทะเล ปูแต่งตัว กุ้งสาหร่าย และสัตว์หน้าตาแปลกๆ มากมายที่ทำให้เราต้องทึ่งกับความมหัศจรรย์ของวิวัฒนาการบนดาวเคราะห์ดวงนี้

ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้อยู่แค่ที่ภาพถ่ายสุดเทพเท่านั้น แต่คือเรื่องเล่าจากผืนทะเล ที่พวกเขาร้อยเรียงอย่างตั้งใจผ่านเรื่องเล่า 7 บท ตั้งแต่ Boundary – ณ ชายขอบแห่งสองโลก, Forest – ป่าดิบใต้ผืนน้ำ, Desert – ทะเลทราย, Metropolis – มหานครปะการัง, Azure – โลกสีคราม, Abyss – พื้นที่ลี้ลับ ไปจนถึง Impact – ทะเลที่เปลี่ยนไป… จากภาพหลายพันภาพ ได้ถูกคัดเลือกอย่างเข้มข้น ผ่านการร้อยเรียงและจัดวางอย่างพิถีพิถัน จนได้ลำดับภาพที่กลมกล่อมและลงตัว

The 8th Continent

“เราใช้เวลานานมากในการจัดเรียง การเล่าเรื่องด้วยภาพก็ไม่ต่างจากการเล่าด้วยตัวอักษรที่ถ้าสลับประโยค มันก็ไม่ไหลลื่น เราต้องดูทั้งเนื้อหาในภาพว่าเข้ากับบทความที่เขียนเปิดไว้ ต้องดูองค์ประกอบและคู่สีว่าเข้ากับภาพถัดไปหรือไม่ และเรื่องราวต้องร้อยเรียงต่อกับภาพต่อๆ ไปได้” ศิรชัยเล่าถึงความละเอียดของกระบวนการทำงาน ซึ่งในเล่มนี้ก็ได้ Photo Editor อย่างชุตินันท์ โมรา มาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญ

นอกจากหนังสือแล้ว ภาพถ่ายเหล่านี้ยังถูกคัดเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการที่ Woof Pack ศาลาแดงซอย 1 ซึ่งนิทรรศการเพิ่งจบลงไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราชวนหนึ่งในช่างภาพของหนังสือเล่มนี้ ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพมือรางวัลระดับโลก เจ้าของภาพถ่ายพะยูนน้อยมาเรียมในอ้อมกอดนักวิจัยที่ทุกคนคุ้นตา มาเล่าว่ากว่าจะมาเป็นภาพสวยๆ ที่เราเห็น ต้องผ่านกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง

Insert Memory Card

ภาพที่ดีสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ สำหรับชินเองก็เช่นกัน เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายธรรมชาตินับตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ของเขามักซื้อหนังสือและวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับทะเลมาให้เป็นประจำ แม้หลายครั้งจะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่เขาอ่านไม่ออก แต่ภาพที่สวยงามก็ทำให้เด็กชายหลงใหล โดยเฉพาะฉลามที่เด็กชายชื่นชอบเป็นพิเศษ

“ครั้งหนึ่งผมไปห้าง แล้วเห็นปกนิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนมกราคมปี 1997 ชื่อเรื่อง Beneath the Tasman Sea เป็นภาพถ่ายฉลามฟันเลื่อย ซึ่งโคตรสวยเลย David Doubilet เป็นคนถ่าย ก็ขอให้ที่บ้านซื้อมาให้ ตอนนั้นก็อ่านไม่ออกนะ ได้แต่นั่งดูภาพ ซึ่งสุดยอดมาก”

จากความประทับใจฉลามในวัยเด็ก ได้นำพาให้เขาเติบโตมาเป็นนักวิจัยฉลาม ระหว่างทำงานวิจัยปริญญาโท เขาต้องเดินทางไปตามสะพานปลา ไปคุ้ยหาซากฉลามที่ติดมากับเรือประมงเพื่อศึกษา จำแนกชนิด เก็บข้อมูลทางสถิติ ซึ่งทำให้เขาพบว่า ประชากรฉลามในประเทศไทยหลายชนิดลดลงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก แต่ความน่าเศร้าก็คือ ข้อมูลที่ต้องใช้เวลาเป็นปีในการวิจัยเพื่อหาคำตอบ กลับไม่สามารถสื่อสารถึงผู้คนทั่วไปในวงกว้างได้… นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้นักวิจัยหนุ่มตัดสินใจจับกล้องเพื่อสื่อสารประเด็นการอนุรักษ์

“ผมมองว่าภาพถ่ายเป็นตัวกลางที่มีพลังมากในการสื่อสารให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ภาพถ่ายสามารถแสดงให้เห็นความเป็นจริงที่สถิติและตัวเลขแสดงออกมาให้ดูไม่ได้ ผมอยากให้ภาพถ่ายเป็นตัวเชื่อมช่องว่างในการสื่อสารระหว่างวงการอนุรักษ์กับสังคมในวงกว้าง” ชินกล่าวประโยคนี้ไว้บนเวที TED Talk ในปี 2017

หนึ่งในภาพถ่ายที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขา ก็คือภาพถ่ายชิ้นส่วนครีบฉลาม ที่ถูกจัดเรียงตามตำแหน่งของร่างกาย โดยที่ส่วนลำตัวหายไป ซึ่งเขาได้เล่าถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังภาพไว้ว่า

“ตอนนั้นไปเก็บข้อมูลกระดูกสันหลังฉลาม ทีนี้พอผ่าและเก็บตัวอย่างเสร็จ พ่อค้าก็สับๆ จะเอาไปทำอาหารต่อ พอผมเห็นชิ้นตัวอย่าง จังหวะและภาพในหัวมันก็บอกให้ถ่ายรูปนี้ขึ้นมา” ภาพถ่ายนี้ ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับโอกาสหลายอย่าง เช่น ได้ทุนจากต่างประเทศ จนกระทั่งเริ่มก้าวเข้าสู่วงการในฐานะช่างภาพเชิงอนุรักษ์

“หนึ่งในคนที่เป็นแรงบันดาลใจของผมก็คือ Thomas Peschak เขาเป็นช่างภาพของ National Geographic แล้วก็เป็นนักวิจัยด้วย เขาวิจัยการลักลอบจับหอยเป่าฮื้อของแอฟริกา และเป็นคนที่ทำให้ผมได้รู้จักแนวคิดของการถ่ายภาพเชิงอนุรักษ์ สิ่งที่เขาสอนอย่างหนึ่งคือ ถ้าได้ภาพที่ชอบแล้ว นั่นคือเวลาเริ่มต้นทำงาน หมายถึงภาพนั้นคือขั้นต่ำของเรา เราต้องปั้นให้ขึ้นไปอีกระดับ”

The 8th Continent

Jump into the Water

สำหรับการเป็นช่างภาพเชิงอนุรักษ์ ศิรชัยเล่าว่า สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้การกดชัตเตอร์ก็คือประเด็นที่จะเล่า

“เราต้องหาอะไรอ่านเยอะมาก แล้วคิดประเด็นว่าจะทำเรื่องอะไร ถ้าจะทำเนื้อหานี้ ต้องใช้ภาพอะไรบ้างเพื่อให้มันครบเครื่องในการเล่า แล้วออกแบบภาพที่อยากได้ ต้องคิดว่าทำยังไงให้ไม่น่าเบื่อ โทนสีควรเป็นยังไง เทคนิคอะไร ต้องไปที่ไหน ช่วงไหน ติดต่อใคร คือต้องใช้เวลาวางแผนพวกนี้เยอะพอสมควร”

หลังจากวางแผนแล้ว สิ่งสำคัญถัดมาก็คือการลงพื้นที่ไปถ่ายภาพ ซึ่งก็มีทั้งการสื่อสารด้านที่เป็นความสวยงาม และด้านที่เป็นปัญหา โดยบางครั้งกว่าจะได้ภาพที่ต้องการ ก็ต้องใช้เวลารอคอยเป็นปี เช่น ภาพปะการังเขากวางท่ามกลางฉากหลังทางช้างเผือกแห่งเกาะบุโหลน

“ภาพนี้วางแผนไว้เป็นปี เราจินตนาการไว้แล้วว่าอยากได้แบบนี้ แต่ก็ต้องเดินทางไปกลับเกาะ 5-6 รอบกว่าจะถ่ายได้ เพราะต้องรอให้ทุกอย่างประจวบเหมาะพร้อมกัน คือต้องเป็นคืนเดือนมืด ระดับน้ำลงต่ำสุด แล้วตำแหน่งทางช้างเผือกก็ต้องได้ เราก็ใช้แอปฯ คำนวณ วางแผน แต่ภาพนี้ผมไม่ได้เลือกมาลงในหนังสือ เพราะรู้สึกว่าคนเห็นเยอะแล้ว”

ในขณะที่บางภาพต้องวางแผนและรอคอยอย่างยาวนาน บางภาพก็ต้องตัดสินใจกะทันหัน เช่น เมื่อได้ข่าววาฬหัวทุยเกยตื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในช่วงสายของวันหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินไปภูเก็ตในเย็นวันนั้นเลย และขับรถต่ออีกค่อนคืน เพื่อได้ถ่ายภาพตอนเช้า ซึ่งการเดินทางหลายครั้งของเขา ก็เป็นการเดินทางโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ตีพิมพ์ที่ไหนด้วยซ้ำ

“เราแค่รู้สึกว่าต้องถ่าย อย่างตอนที่ได้ข่าววาฬ ก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นยังไง ซึ่งภายหลังผลชันสูตรออกมาว่ามีพลาสติกในท้อง ก็เป็นประเด็นที่จะเล่าได้ ซึ่งภาพนั้นก็ได้รับผลตอบรับดีพอสมควร”

นอกจากนั้น ภาพบางภาพก็ต้องสมบุกสมบัน อดหลับอดนอนกว่าจะได้มา ดังเช่นภาพการประมงกลางทะเลที่เขาขอติดไปกับเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งตลอดทั้งคืนเขาต้องนอนขดตัวในห้องกัปตัน หลับๆ ตื่นๆ เพื่อรอคอยแสงเช้าสาดส่อง แล้วกระโดดลงน้ำท่ามกลางทะเลเปิดอันเวิ้งว้าง ไร้เกาะหรือชายฝั่งใกล้ๆ “ตอนนั้นก็กลัวนะ เพราะเราไม่เคยทำแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง” เขาเล่าบรรยากาศในการทำงาน ซึ่งจากความตื่นเต้นตอนกระโดดลงน้ำ ได้เปลี่ยนไปเป็นความสะเทือนใจสุดจะบรรยาย

“ทีนี้พอเขาดึงอวนขึ้นมา เราก็ได้เห็นว่าปลาในนั้นมันเยอะมาก อัดแน่นเต็มไปหมด อวนผืนใหญ่มากไม่รู้เท่าไหร่ แล้วด้วยน้ำหนักที่เยอะ ทุกอย่างก็กดไปข้างล่าง ก็จะเห็นปลาตัวล่างๆ ถูกน้ำหนักกดบี้ทะลุเป็นเศษๆ ออกมาจากตาอวน เลือดไส้ไหลฟุ้งไปในน้ำ เป็นภาพที่เราไม่เคยคิดว่าการประมงมันคือขนาดนั้น ตอนที่ปลาเป็นหมื่นตัวดิ้นอยู่ตรงผิวน้ำ หางของมันตีน้ำพร้อมๆ กัน เสียงดังลั่นไปหมด มันเป็น sensory overload มาก” ต่อมาภาพนั้นก็ถูกใช้ในการสื่อสารเรื่องปัญหาการประมงเกินขนาด ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกในยุคนี้

นอกจากเทคนิคของการถ่ายภาพแล้ว ช่างภาพมือรางวัลก็แนะนำคนที่อยากถ่ายภาพเพื่อสื่อสารงานอนุรักษ์ว่า ต้องหมั่นหาข้อมูลความรู้อยู่เสมอ

“วันหนึ่งผมดูรูปเป็นร้อยๆ ภาพ นอกจากเทคนิคการถ่าย แสง สี องค์ประกอบแล้ว ผมให้ความสำคัญกับความสดใหม่ ความไม่ซ้ำใครของภาพ ซึ่งสำหรับผม ภาพที่จับตาคือสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เนื้อหาที่เราไม่เคยรู้ ซึ่งการที่เราจะถ่ายภาพแบบนี้ได้ เราต้องหาข้อมูล ทำความเข้าใจประเด็น ต้องรู้จักเรื่องที่จะเล่าก่อน ยิ่งมีข้อมูลเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเนื้อหาที่พูดออกไปได้มากขึ้น

“อย่างเช่นถ้าพูดถึงขยะทะเล ก็เป็นผลกระทบจากพวกเราบนฝั่ง แต่ถ้าเราค้นมากขึ้น ก็จะรู้ว่าความพิเศษของช่วงนี้คือทิศทางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามาทางชายฝั่งอันดามัน ข้อมูลตรงนี้ก็จะทำให้เนื้อหาพิเศษเพิ่มขึ้นได้ เป็นความเชื่อมโยงของมหาสมุทร ข้อมูลความรู้พวกนี้ก็เหมือนเป็นขุมคลังอาวุธที่เราจะใช้ในการเล่าเรื่อง ก็ต้องอย่าหยุดหาอะไรอ่าน”

ด้วยความที่ศิรชัยมีพื้นฐานเป็นนักวิจัยมาก่อน สิ่งนี้ก็ยิ่งเสริมให้ภาพถ่ายของเขามีมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การที่เขาเคยไปดำน้ำกับกลุ่มอนุรักษ์ที่เกาะเต่า ก็ทำให้ได้รับรู้งานวิจัยการออกไข่ของปะการัง (coral spawning) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่หนึ่งครั้งในรอบปี

The 8th Continent

“การมีพื้นฐานเป็นนักวิจัยช่วยให้เรามีเพื่อน มีอาจารย์ มีเครือข่าย ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ให้เราไปค้นต่อ เพื่อให้เรื่องเล่าไม่ซ้ำ ไม่น่าเบื่อ แล้วก็ช่วยเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ พอเขารู้ว่าเราทำงานด้านไหน เป็นคนในวงการ การเข้าพื้นที่ก็ง่ายขึ้น มันมีความไว้ใจกันในระดับนึง”

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่เขาคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ ในการถ่ายภาพ ก็คือการทำงานของเขาต้องไม่ไปรบกวนสัตว์ทะเลหรือรบกวนการทำงานของนักวิจัย

“เราต้องไม่ทำงานแบบฉาบฉวย แค่ให้ได้รูปปังๆ แล้วจบ เพราะความสัมพันธ์กับนักวิจัยในพื้นที่คือสิ่งที่สร้างกันมานาน ถ้ารูปไหนยังไม่พร้อมเผยแพร่ เราก็จะยังไม่ลง เราจะคิดเสมอว่าทำยังไงที่จะสนับสนุนการทำงานของพวกเขาได้”

The 8th Continent

Save As…

หากภาพหนึ่งภาพคือสิ่งทดแทนถ้อยคำหลายล้านถ้อยคำ ภาพถ่ายของศิรชัยก็น่าจะหมายถึงถ้อยคำที่ชวนผู้คนให้มามองเห็นคุณค่าของท้องทะเลและช่วยกันรักษาไว้ ก่อนที่ทุกอย่างจะเหลือแค่เพียงภาพถ่าย

“ภาพที่สวยดึงดูดความสนใจของคนได้ แต่สำหรับผม งานมันไม่จบแค่นั้น ผมอยากให้คนได้อ่านข้อมูลในแคปชั่นของภาพด้วย และถ้าสนใจ ก็อยากให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อ สิ่งที่ผมหวังก็คือ เมื่อเขาแคร์และห่วงใยสิ่งเหล่านี้ เขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้” ช่างภาพหัวใจอนุรักษ์เล่าถึงความหวังที่อยากให้เกิดขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นพลังของภาพถ่าย ก็คือกรณีของ ‘น้องมาเรียม’ ลูกพะยูนเกยตื้นที่เกาะลิบง ซึ่งชินได้ถ่ายภาพการทำงานของเหล่าสัตวแพทย์ จนกระทั่งเรื่องราวของน้องมาเรียมกลายเป็นกระแสให้คนทั้งประเทศหลงรัก และตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก
ตลอดหลายปีของการทำงานเป็นช่างภาพใต้น้ำ ทำให้เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางด้านบวกและด้านลบของโลกใต้น้ำเมืองไทย

“ผมดำน้ำมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2005 สิ่งที่เห็นคือมันค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ อย่างที่สิมิลัน สมัยไปช่วงแรกนี่สุดยอดมาก ปะการังแน่น ฉลามเพียบ หลังจากนั้น 1-2 ปี คือไม่เจอฉลามอีกเลย ส่วนอีกที่ที่น่าเสียดายมากคืออ่าวโตนด เกาะเต่า สมัยก่อนมันสวยมาก ตรงน้ำตื้นมีสัตว์เต็มไปหมด แต่จากนั้นไม่นาน เกาะเต่ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำบนยอดเขา แต่ควบคุมพื้นที่ไม่ดี ฝนตกมา ชะตะกอนไหลลงอ่าวโตนดหมด ปะการังโดนตะกอนทับ ตายเกลี้ยงเลย น่าเสียดายมาก”

ชินเล่าถึงความสูญเสียที่ไม่น่าเกิดขึ้น ซึ่งคนเกาะเต่าตอนนั้นจะเห็นอ่าวโตนดเปลี่ยนจากสีฟ้ากลายเป็นสีชานม
อย่างไรก็ตาม โลกใต้ทะเลก็ยังไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว เขาเล่าว่า นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ที่ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาการประมงหลังจากได้ใบเหลืองจาก EU ก็ทำให้ได้เห็นการฟื้นตัวในหลายพื้นที่ แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม

“การที่ทุกวันนี้คนดำน้ำมากขึ้น กล้องถ่ายรูปใต้น้ำเข้าถึงง่ายมากขึ้น ผมถือว่าเป็นข้อดีนะ ทำให้เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับทะเลไทยเพิ่มขึ้นเยอะมาก เช่น การพบเจอสัตว์ทะเลหายาก หรือพื้นที่ไหนถูกคุกคาม เช่น อวนที่โลซิน ก็ได้ข้อมูลมาจากนักดำน้ำที่ถ่ายรูปไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแก้ปัญหาทันท่วงทีก่อนที่จะมีความสูญเสีย”

อย่างไรก็ตาม ชินย้ำว่าการถ่ายภาพใต้น้ำก็มีข้อควรระวัง เพราะถ้าควบคุมการลอยตัวไม่ดี ก็อาจไปสร้างความเสียหายให้ปะการังหรือชีวิตใต้น้ำได้ และที่สำคัญคือ ต้องไม่ให้ความอยากได้ภาพอยู่เหนือสวัสดิภาพของสัตว์ทะเล

แม้การถ่ายภาพใต้น้ำจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น แต่รอยต่อที่จะทำให้สิ่งนี้กลายเป็นอาชีพหลักกลับไม่ได้ง่ายนักในประเทศไทย ด้วยช่องทางการเผยแพร่ที่มีน้อย และแหล่งทุนที่มีจำกัด

“ต้องยอมรับว่าที่ผมทำงานทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นงบฯ จากต่างชาติ คือประเทศเราไม่ค่อยให้คุณค่าเรื่องงานสื่อสาร การให้ค่าศิลปะก็ไม่ได้มีเยอะ เสรีภาพสื่อปัจจุบันก็ไม่ได้เยอะ” ชินสะท้อนถึงปัญหาที่อยากให้ได้รับการแก้ไข เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสในเส้นทางสายนี้มากขึ้น

“การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และรุ่นปัจจุบันได้ทำอะไรแบบนี้มากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราได้เห็นแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มันช่วยผลักดันให้คนสนใจประเด็นเหล่านี้ได้มากขึ้นขนาดไหน ผมก็อยากให้มีการสนับสนุนคนที่ทำเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น เช่น ในเชิงสื่อ ถ้ามีช่องทางให้เผยแพร่ผลงานมากขึ้นก็ดี หน่วยงานรัฐ ถ้ามีทุนสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารไปมากขึ้นก็ดี ส่วนภาคประชาชน ก็อาจช่วยได้โดยเสพงานอย่างนี้ แล้วก็แสดงความเห็นว่าชอบสิ่งเหล่านี้ อยากให้มีสิ่งเหล่านี้มากขึ้นก็ยิ่งดี”

สุดท้าย ในฐานะคนทำงานสายอนุรักษ์ที่ต้องเจอข่าวชวนทดท้ออยู่ทุกวัน เราอยากรู้ว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เขายังคงมุ่งมั่น ลุกขึ้นถือกล้องไปถ่ายภาพและสื่อสารเรื่องราวของท้องทะเลต่อไป

“งานนี้เหมือนเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว เรารักในอาชีพนี้ รักการออกไปเรียนรู้ เจอผู้คนดีๆ มากมาย รักในเนื้อหาที่อยากนำเสนอ ยิ่งมันมีปัญหาเยอะ เราก็ยิ่งอยากสื่อสารให้คนรับรู้มากขึ้น แม้ช่วงโควิดจะต้องมาถ่ายในเมืองมากขึ้น แต่สำหรับผม งานหลักก็ยังเป็น conservation photography ทุกวันที่ตื่นมาก็คิดถึงการทำอาชีพนี้”


** สนับสนุนการสัมภาษณ์โดยโครงการ B-DNA, IUCN **

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย